วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/ใครเป็นใครใน (รวม) ประชาชาติ

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ใครเป็นใครใน (รวม) ประชาชาติ

หนังสือพิมพ์ (รวม) ประชาชาติ ฉบับสุดท้าย เป็น “ฉบับแรก” ประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม 2519 พิมพ์ออกวางแผงตั้งแต่บ่ายวันพุธที่ 6 ตุลาคม เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ “กรอบบ่าย” ของแต่ละฉบับ ยกเว้น “สยามรัฐ” ที่เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย ออกวางแผงตรงวัน มีภาพและข่าวของค่ำและเช้าวันที่ 6 ตุลาคม

หลังคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 5 ข้อ 1.ให้หนังสือพิมพ์รายวัน และสิ่งพิมพ์ต่อประชาชนอื่นๆ ที่เสนอข่าวและข้อเขียนแสดงความคิดเห็นทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ หยุดทำการพิมพ์ออกจำหน่ายจ่ายแจกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ จนกว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะมีคำสั่งเป็นอื่น

เชื่อว่า คนในกองบรรณาธิการประชาชาติ และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น หยุดพิมพ์ข่าวและการทำงานเพื่อรับทราบคำสั่งให้ “ตกงาน” จากอำนาจคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน อย่างไม่เต็มใจ

ความเงียบที่เกิดขึ้นในวินาทีนั้น หมายถึงทุกคนต่างรู้ชะตากรรมของตัวเองว่าไม่รู้จะตกงานอีกนานเท่าใด เพราะ “จนกว่าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะมีคำสั่งเป็นอื่น”

คํ่าวันนั้น หลายคนไม่รู้ว่าจะไปไหน บ้างกลับบ้าน บ้างยังเอ้อระเหยอยู่ในกองบรรณาธิการ บ้างชวนกันไป “หาอะไรกิน” แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไรหลังจากนั้น คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 9 เรื่อง ห้ามประชาชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครออกนอกเคหสถาน หรือที่เรียกว่า “เคอร์ฟิว” ความว่า

ตามที่ได้มีประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เวลา 19.10 นาฬิกา เป็นต้นไปแล้ว / จึงห้ามมิให้ประชาชนในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 24.00 นาฬิกา ถึง 05.00 นาฬิกา / ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ค่อยยังชั่วหน่อยที่ประกาศห้ามตั้งแต่เวลา 24.00 นาฬิกา หรือเที่ยงคืน หมายความว่าให้ทุกคน “กลับถึงบ้านในเวลาไม่เกินสองยาม” แต่ไม่บอกว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร หรือจะทำอะไร

ยุคสมัยที่ “พวกเรา” ซึ่งเคยเลิกงานก่อนเที่ยงคืนไม่นาน จากนั้นจึงมารวมกลุ่มกันเสพเสวนาใน “วงเหล้า” ที่เรียกว่า “กินข้าวต้มคนละกั๊กสองกั๊ก” ก่อนแยกย้ายกันกลับ “เคหสถาน” ประมาณตีสอง คืนนั้นต้องรีบกลับก่อนเที่ยงคืน มิฉะนั้นอาจต้องหาโรงแรมนอน หรือเข้าไป “ดื่ม” ต่อในโรงแรม

ยิ่งใกล้เที่ยงคืนเท่าไหร่ ผู้คนยิ่งรีบเร่งเดินทางกลับบ้าน ทั้งที่กลับด้วยรถโดยสารประจำทาง ทั้งที่กลับด้วยรถแท็กซี่ ซึ่งต้องเรียกหลายคัน ด้วยคันที่เรียกไม่ไป เหตุเพราะบ้านไม่ได้อยู่ทางเดียวกัน

หลังประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งคือการปฏิวัตินั่นเอง บรรดาทหารในชุดฝึกเต็มที่มีอาวุธครบมือออกมายึดตามจุดสี่แยกและพื้นที่สำคัญ ขณะที่รถถังเคลื่อนตัวออกมาประจำจุดที่ยึดครองไว้

การที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติเมื่อ 16 กันยายน 2500 และปฏิวัติตัวเองเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 หลังกลับจากรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา และตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายพจน์ สารสิน ปี 2506 ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม จอมพลถนอม กิตติขจร รับช่วงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนั้น

หลายปีต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร จัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ปฏิวัติตัวเองเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2514 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ กระทั่งกลุ่มนิสิตนักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอีกครั้ง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิวัติรัฐประหารแต่อย่างใด เป็นเพียงการขับไล่เผด็จการทหารและฝ่ายที่ได้รับการเรียกว่า “ทรราช” ออกไปนอกราชอาณาจักร

ประชาชนทั่วไปจึงไม่รู้จัก “เคอร์ฟิว” หรือการห้ามออกนอกบ้านในเวลากำหนด ที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเรียกว่า “ออกนอกเคหสถาน”

ระหว่างนั้น ผู้ที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติทุกคนจึง “ตกงาน” อย่างไม่เป็นทางการ ขณะที่ข่าวการกวาดล้างนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ซึ่งได้รับการ “กาหัว” ว่าเป็นผู้นิยมคอมมิวนิสต์ มีปรากฏขึ้น โดยเฉพาะการนำนิสิตนักศึกษาไปกักขังเป็นจำนวนมาก นักเขียน นักข่าว และนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งจึงหายออกจากกรุงเทพมหานคร

หลายคนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติหายหน้าไปจากสำนักงานตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม บางคนหายไปในวันที่ 6 ตุลาคม ขณะผู้ที่อยู่ยังปฏิบัติหน้าที่ แต่ต่างคนต่างไม่ไว้ใจในสถานการณ์ขณะนั้น ด้วยเหตุที่ก่อนหน้านั้นชมรมวิทยุเสรีซึ่งมีฐานออกอากาศที่สถานีวิทยุยานเกราะ เคยนำรายชื่อของผู้ปฏิบัติงานในหนังสือพิมพ์ประชาชาติไปออกอากาศหลายครั้ง

ครั้งนั้น การลงรายชื่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดมีปรากฏในส่วนบนของบทบรรณาธิการ จึงไม่จำเป็นต้องไปเสาะหาจากที่ใด นับตั้งแต่บรรณาธิการถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอื่น

รายชื่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติลงตีพิมพ์ทั้งหมดปรากฏ ใน “ฉบับแรก” ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2519 มีดังนี้

บรรณาธิการ : พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร

บรรณาธิการผู้ช่วย : สุจิตต์ วงษ์เทศ ถวัลย์ วงศ์สุภาพ บรรณาธิการบริหาร ถวิล มนัสน้อม

กองบรรณาธิการ : ไพบูลย์ วงษ์เทศ ไพสันต์ พรหมน้อย ทรัพย์ศิริ สิงหลกะ แสงไทย เค้าภูไทย ศิริพร ภูพงษ์ไพบูลย์ นฤนารท พระปัญญา เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ขนิษฐา อังกาบสี สำเริง คำพะอุ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ รัฐกร อัศดรธีรยุทธ์ อัศวิน อภัยวงศ์ ทวีป แก่นทับทิม ประภาส เชยชื่นกลิ่น สมัย อาภาภิรม สงวน พิศาลรัศมี ศิลา ยิ่งสุขวัฒนา สุชิน ชิระกุล พิชิต จงสถิตย์วัฒนา เสถียร จันทิมาธร

ดนัย เยาหะรี ไพโรจน์ ปรีชา เสริม พูนพนิช สุวัฒน์ ศรีเชื้อ อรุณ วัชระสวัสดิ์ พิจารณ์ ตังคไพศาล นิพนธ์ พิศภูมิวิถี สุวิทย์ มณีนพรัตน์ หาญ ทองนิ่ม วิทยา ฐิตะโลหิต ประทักษ์ ธานิศะพงศ์ อารักษ์ คคะนาท ปาริชาติ อุทัยกาญจน์ พงษ์ศักดิ์ บุญชื่น สถาพร คล่องวิทยา สุรพล อังศุวิทยา

เชวง ภริตานนท์ ปริชาดา หนูศรีม่วง สมจิต รุจินาท ประสพชัย อาธารมาศ เฉลิมศรี จอมแก้ว วิยะดา ประสาทกิจ ธารทิพย์ เสรินทวัฒน์ กลอยใจ แสวงสิน

กรรมการผู้จัดการ ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่าย ยงยุทธ สฤษดิ์วนิช ผู้จัดการฝ่ายบัญชี สมถวิล หุตะนานันทะ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา สิน โรจนาวุฒานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายโฆษณา ปราโมทย์ สวัสดี

กรรมการบริหารบริษัท ประชาชาติ จำกัด นายสงบ พรรณรักษา นายสุทธิชัย หยุ่น นายขรรค์ชัย บุนปาน นายสุจิตต์ วงษ์เทศ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร