มองไทยใหม่ : เสียงควบกล้ำใหม่ในภาษาไทย ในวันที่มีอิทธิพลดาราเกาหลี(สูง)

ย้อนอ่าน เสียงควบกล้ำใหม่ในภาษาไทย (๑)

คราวก่อนได้ตั้งคำถามไว้ว่า เหตุใด ทร จึงเปลี่ยนจากเสียง /ซ/ ไปเป็นเสียงควบกล้ำ

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือการสัมผัสภาษา หรือการรับอิทธิพลจากภาษาอื่นที่ได้ยินจนคุ้นเคยและสามารถเลียนแบบได้ นั่นก็คือเสียงจากภาษาอังกฤษ

ดังจะเห็นได้จากคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรม เช่น เดกซ์โทรส (dextrose) ทรอมโบน (trombone) ทรัมเป็ต (trumpet) ทรานซิสเตอร์ (transistor) ไทรไนโทรโทลูอีน (trinitrotoluene) แทรกเตอร์ (tractor) ไทเทรต (titrate) โปรแทรกเตอร์ (protractor) สเปกโทรสโคป (spectroscope) อิเล็กทรอนิกส์ (electronics)

นอกจากนี้ ความนิยมที่มีต่อภาษาที่เข้ามาสัมผัสก็ยังทำให้รับเสียงควบกล้ำคู่ใหม่ๆ เข้ามาในภาษาด้วย ดังเสียงควบกล้ำคู่ใหม่ๆ จากภาษาอังกฤษ เช่น

ด + ร

บ + ร

บ + ล

ฟ + ร

ฟ + ล

ไดรฟ์ บรีส บล็อก ฟรี ฟลุก

ในแง่เสียงถือว่ามีเพิ่มขึ้นมาอีก ๕ คู่ คือ /ดร/ /บร/ /บล/ /ฟร/ /ฟล/ ดังจะเห็นได้จากคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรม เช่น คาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ดราฟต์ (draft) บรอนซ์ (bronze) เบรก (brake) โบรมีน (bromine) บริดจ์ (bridge) บล็อก (block) แฟรนเซียม (francium) แฟลกซ์ (flax) แฟลต (flat) วุลแฟรม (wolfram) ไฮดรา (hydra) ไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) ไฮโดรเจน (hydrogen) ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (hydrogen sulphide) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (hydrogen peroxide) ไฮโดรมิเตอร์ (hydrometer) อินฟราเรด (infrared)

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ทร ที่เกิดขึ้นในคำใหม่ล้วนแต่ออกเสียงควบกล้ำ

ส่วน ทร ที่ยังคงออกเสียง /ซ/ นั้นก็เหลือเพียงไม่กี่คำ ดังที่ปรากฏในคำประพันธ์ของอาจารย์กำชัย ทองหล่อ ถือได้ว่าเป็นสูตรทางภาษาที่หยุดผลิตไปแล้ว

นั่นคือ ทร ในคำใหม่ๆ จะไม่ออกเสียง /ซ / อีกต่อไป

ในปัจจุบันนี้ภาษาที่ได้รับความนิยมหรือมีอิทธิพลในสังคมไทยนอกจากภาษาอังกฤษแล้วก็ยังมีภาษาจากเอเชียอีก ๓ ภาษา คือ เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ภาษาที่มีเสียงควบกล้ำต่างออกไปจากภาษาไทยก็คือภาษาเกาหลี เช่น /คย/ /ฮย/

ดารายอดนิยมหลายคนมีชื่อที่มีเสียงควบกล้ำดังกล่าว ซึ่งผู้นิยมชมชอบชาวไทยก็สามารถออกเสียงได้ เช่น Cho Kyuhyun (โช คยูฮย็อน) Eunhyuk (อึนฮย็อก) Hyolyn (ฮโยลิน) Jeon Ji-hyeon (ช็อน จี-ฮย็อน) Kim Soo-hyun (คิม ซู-ฮย็อน) Nam Joo-hyuk (นัม จู-ฮย็อก) Nam Tae-hyun (นัม แทฮย็อน) Seohyun (ซอฮย็อน) Shin Se-kyung (ชิน เซ-คย็อง) Song Hye-kyo (ซง ฮเย-คโย)

(หมายเหตุ ชื่อเหล่านี้ทับศัพท์ตาม หลักเกณฑ์การทับศัพท์ ภาษาเกาหลี ฉบับราชบัณฑิตยสถาน)

เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเสียงควบกล้ำใหม่ๆ เหล่านี้จะเข้ามาสู่ภาษาไทยหรือไม่