คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระคเณศ (อีกหรือ) : เทศกาลนวราตรีและพระคเณศ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

งานนวราตรีซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่ทางศาสนาของผู้หญิงและเพศทางเลือกอื่นๆ นั้นเพิ่งผ่านไปไม่นาน ผมจึงมานึกถึงเรื่องหนึ่งได้เกี่ยวกับพระพิฆเนศวร์

นอกจากวัดแขกสีลมซึ่งมีชื่อเสียงที่สุดในหมู่คนไทยแล้ว เทวสถานสำคัญในกรุงเทพฯ อีกสองแห่งก็จัดงานนวราตรีเช่นกัน คือ วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช และ วัดวิษณุ ฮินดูธรรมสภา ยานนาวา ทว่า ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนไทยนัก

งานนวราตรีของทั้งสองแห่งมีรายละเอียดต่างกับของวัดสีลมบ้าง

เช่น วัดเทพมณเฑียรและวัดวิษณุซึ่งเป็นวัดของชาวอินเดียเหนือ จะบูชาพระแม่ทุรคาทั้งเก้าปาง แต่วัดสีลมมักมีการบูชาเทวีพื้นเมืองของภาคใต้บ้าง เช่น มหามาริอัมมัน กามากษี หรือมีนากษี เป็นต้น

อีกทั้งวัดทั้งสองแห่งจะมีพิธีสวดท่องคัมภีร์ “เทวีภาควตปุราณะ” หรือเรียกว่า “เทวีมหาตมยะ”(ความยิ่งใหญ่ของพระเทวี) ซึ่งเป็นคัมภีร์ปุราณะในนิกาย “ศากตะ” หรือนิกายที่นับถือ พระศักติ (เทวี) เป็นหลัก เนื้อเรื่องว่าด้วยตำนานและความยิ่งใหญ่ของเทวีต่างๆ

พิธีสำคัญจะอยู่ในวันที่แปดและเก้าของเทศกาล เรียกว่าวันมหาอัษฏมีและมหานวมี โดยมีไฮไลต์ที่พิธี “กันยาบูชา” คือการบูชาเด็กหญิง โดยจะเลือกเด็กหญิงที่ยังไม่เป็นสาว (ยังไม่มีประจำเดือน) จำนวนเก้าคน สมมุติเป็นพระแม่ทุรคาทั้งเก้าปาง และบูชาเด็กหญิงเหล่านั้นเช่นเดียวกับการบูชาเทพ หรือทำอย่างย่อๆ ก็ได้

ปิดท้ายด้วยพิธีบูชายัญ (บูชาไฟด้วยธัญพืชล้วนของมังสวิรัติ) ถวายแด่พระเทวีทั้งหมด (แต่ก่อนและอีกหลายที่ในอินเดียต้องเชือดสัตว์บูชายัญ)

 

เทวสถานทั้งสองแห่งได้มีการสร้างซุ้มพระเทวีที่สวยงามโดยจ้างช่างจากอินเดีย แม้จะเป็นวัดของชาวเหนือแต่สร้างแบบพังคละ (เบงกอล) เพราะฝั่งพังคละนั้นนับถือพระเทวีเป็นสำคัญ และงานใหญ่สุดของรัฐนั้นคืองานกาลีบูชาหรือทุรคาบูชานี่แหละ เขาจึงเชี่ยวชาญงานศิลปะแบบนี้มาก

ส่วนของเทพมณเฑียรนั้น ซุ้มพระเทวีแบบพังคละมีขึ้นก็ด้วยสมาคมชาวพังคละในไทยที่ชื่อ โมหนะ (Mohana) ไปขอใช้พื้นที่

รูปแบบซุ้มของพังคละ นอกจากรายละเอียดทางศิลปะท้องถิ่น ที่สำคัญมักจะประกอบด้วยรูปปั้นเทพเจ้าห้าพระองค์เสมอ ได้แก่ พระเทวีทุรคาหรือมหิษาสุรมรรทินี ประทับเป็นประธาน ขนาบข้างด้วยพระแม่ลักษมีและพระสุรัสวดี

และมีเทวรูปพระคเณศกับพระขันทกุมารประทับอยู่สองข้างของพระศักติทั้งสามด้วยเสมอ

กล่าวถึงแบบนี้หลายท่านคงจำได้ว่า วัดแขกสีลม พระประธานทั้งสามในครรภคฤหะหรือห้องชั้นในสุดก็มีสามองค์เช่นเดียวกัน คือพระเทวีมาริอัมมันอยู่กลาง ขนาบด้วยพระคเณศและพระขันทกุมารเช่นกัน

เทวดานอกนั้นจะใหญ่แค่ไหน ล้วนเป็นได้แต่ “เทวรูปสำหรับแห่” หรือ อุสวะมูรติ ซึ่งเขาหล่อเป็นสำริดตั้งไว้ด้านนอกครรภคฤหะทั้งสิ้น สำคัญน้อยกว่าพระประธาน “สถานกะมูรติ” (ล้วนทำด้วยหิน) ทั้งสามองค์นั้น

เหตุใดจึงมีเพียงขันทกุมารและพระคเณศที่สามารถเข้าร่วมใน “เทวีสมาคม” ได้โดยเฉพาะในเทศกาลนวราตรี

 

ผมคิดว่า หากตอบแบบเทวตำนาน ท่านคงว่า ก็นี่ลูกพระเทวี ท่านจะเอาไปเคียงข้างก็ไม่ผิด

แต่ถ้าใช้เหตุผลด้านเทวตำนาน ทำไมท่านจึงไม่เอา “ผัว” ซึ่งน่าจะสำคัญกว่าไปเคียงข้างแทน ไม่ว่าจะพระศิวะ พระพรหมา และพระวิษณุ ผมจึงคิดว่า น่าจะมีเหตุผลอะไรมากกว่านั้น ซึ่งเคยเสนอไปบ้างว่า

ก็เพราะทั้งพระขันทกุมารและพระคเณศล้วนเป็นเทพ “พื้นเมือง” เช่นเดียวกับพระเทวี

การเป็นเทพพื้นเมืองด้วยกันนั้นทำให้ “คติ” ไม่ขัดกัน เช่น หลักการถวายสักการบูชาหรือความเชื่อ ที่จริงการนำเข้าไปรวมในเทวตำนานได้โดยง่าย เช่น เป็นลูกเต้าก็เพราะมีที่มาด้วยกันอย่างนี้เอง

พระขันทกุมารและพระคเณศ เดิมนิยมนับถืออยู่ในทางใต้ของอินเดีย และต่างมีนิกายของตน ในคัมภีร์เปริยาปุราณัมของอินเดียใต้ เล่าถึงนักบุญกันนัปปาร์ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองคนป่าคนเขาว่า นับถือพระขันทกุมารอยู่ในเผ่าตน และยังหาเนื้อหาปลามาถวายด้วย แสดงว่าการนับถือพระขันทกุมารมีมาก่อนการเข้ามาของศาสนาฮินดูทางการ

ที่สำคัญ พระเทวี พระคเณศและพระขันทกุมาร ต่างก็เก่าแก่มากทั้งนั้น ผมจำได้ว่าในพิธีบูชาซึ่งไม่มีเทวรูป (ไวทิกปีฐบูชา) เขาจัดให้พระคเณศและเทวเสนา (แต่ในโศลกเรียกด้วยคำนามเพศหญิง) อยู่รวมกับคณะเทวีสิบหกองค์ที่เรียกว่า โษฑศมาตฤกา

แสดงว่าอยู่กลุ่มเดียวกันมานมนานแล้ว น่าจะเป็นพันปี พอมาถึงยุคปุราณะจึงค่อยสร้างเทวตำนานให้เกิดเป็นระบบครอบครัว ทั้งที่แต่เดิมน่าจะอยู่ในฐานะ “เทพบริวาร”

 

เทวตำนานอินเดียนี่ ยิ่งศึกษาจะยิ่งชวนให้งงนะครับ เพราะเทพแต่ละองค์มีบทบาทและเรื่องราวเลื่อนไหลไปมา อย่างพระคเณศ เดี๋ยวก็เป็นลูกพระเคารี แต่โดยพิธีกรรมกลับสะท้อนว่าเป็นสามีของพระเคารี เดี๋ยวเด็กเดี๋ยวผู้ใหญ่ เรื่องทำไมเศียรเป็นช้างนี่มีเป็นสิบเรื่อง (ล้วนไม่ตรงกัน)

ดังนั้น การศึกษาเทวตำนานจึงมีไว้แกะ “ร่องรอย” อะไรโบราณๆ หรือช่วยให้ค้นพบบางแง่มุมแต่จะยึดเป็นจริงเป็นจังไม่ได้

ที่จริงการที่เทพสองพระองค์นี้อยู่ร่วมกับเทวีอาจสะท้อนสภาพทางสังคมบางอย่างของอินเดียด้วยก็เป็นได้

คือนอกจากข้อเสนอเรื่องพื้นเมือง คือพื้นที่ของสตรีนั้น บุรุษอกสามศอกจะเข้าไปมิได้เลย เช่น ในห้องชุมนุมสตรี เว้นแต่เด็กชายซึ่งมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูเท่านั้น จะสามารถเข้านอกออกในได้ ในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนี้อยู่ แต่ข้อเสนอนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนัก

แต่ที่ผมอยากเสนอคือ การที่ยุวเทพทั้งสองนั้นยังปรากฏเคียงข้างพระเทวี เพื่อขับเน้นสถานะ “เทพมารดร” ของพระเทวีให้ชัดเจนขึ้นนี่เอง

คือเป็นเทพบริวารแบบ “ลูก” ของ “เจ้าแม่”

 

เราต้องไม่ลืมว่า เทศกาลนวราตรีคือการฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชผลของคนโบราณ เท่ากับว่าเจ้าแม่ได้เปลี่ยนแปลงจาก “เมีย” ที่กำลังตั้งท้อง (คือมีพืชผลที่กำลังเจริญเติบโตตั้งท้อง) มาสู่ “แม่” คือผู้ให้ข้าวปลาอาหาร (พืชผลออกดอกออกผล) ความเป็นแม่ของโลกธรรมชาติคือแกนกลางของเทศกาลนวราตรี

อสูรที่ตายในตำนานของเจ้าแม่ นอกจากคือควายอันหมายถึงตัวบูชายัญ ยังหมายถึงความแห้งแล้งไร้ชีวิต ไร้อาหาร ความมืดมน ซึ่งเจ้าแม่ขจัดออกไปด้วย “พลัง” (ศักติ) ของพระองค์

เทพอย่างพระคเณศและขันทกุมารจึงมักเด็กอยู่เสมอ แต่มิใช่เด็กเพียงเพราะรูปลักษณะ แต่เด็กด้วยความสัมพันธ์กับ “เจ้าแม่” ในระบบศาสนาดั้งเดิมของอินเดียนี่เอง

นอกจากจะเป็นเด็กแล้ว บางครั้งเพื่อความสนิทกลมกลืนกับเจ้าแม่ พระคเณศจึงกลายเป็นเทวีเสียเองด้วย คือพระคเณศในรูปอิตถีภาวะ อันมีนามว่า “คเณศาณี” “ไวนายกี” “วิฆเนศวรี”

ไว้มีเวลาจะมาบอกเล่ากัน

 

ข้อสังเกตอีกอย่างของผมเกี่ยวกับพระคเณศและงานนวราตรี คือ เขาบูชาพระคเณศก่อนงาน เพื่อขอให้ปราศจากอุปสรรค ประดิษฐานท่านไว้ แต่ท่านไม่ได้มีพิธีกรรมอะไรพิเศษ

ผิดกับพระขันทกุมาร ซึ่งในวันแห่ หรือวันสุดท้ายของเทศกาล พระขันทกุมารจะเป็นหนึ่งในเทพที่มา “เข้าทรง” คนทรงของวัดแขกสีลมร่วมกับคนทรงเจ้าแม่กาลี และคนทรงเจ้าแม่มาริอัมมัน

แต่ไม่มีคนทรงพระคเณศ ไม่ว่าจะในอินเดีย หรืองานนวราตรีของวัดแขกอินเดียในสยาม

เว้นแต่การเข้าทรงของคนไทย ซึ่งนิยมพระคเณศเหลือเกิน (แต่ไม่ใช่พิธีของฮินดู เป็นศาสนาผียุคหลังๆ มากๆ) ผมลองค้นดู ก็ไม่ยักเห็นพระคเณศไปเข้าทรงใครในอินเดีย ทั้งๆ ที่พระองค์เป็นเทพที่มีลักษณะท้องถิ่นมากๆ ผิดกับเจ้าแม่ทั้งหลาย ที่ชาวบ้านอินเดียนับถือและเข้าทรงกันตามหมู่บ้าน

ชะรอยจะมีเงื่อนงำอะไรกระมัง เทพเด็กกุมารอย่างขันทกุมารก็เข้าทรงได้ ทำไมพระคเณศไม่เข้าทรงในระบบความเชื่อของอินเดีย หรือจะเป็นอย่างที่หลายท่านกำลังสงสัยและบอกเป็นนัยๆ ว่า

ก็เพราะพระคเณศที่อาจไม่ใช่ “พื้นเมือง” ที่กำเนิดในอินเดียเองไงเล่า แต่เพราะเป็นพื้นเมืองอุษาคเนย์ที่เข้าไปในอินเดีย และอุษาคเนย์แต่เดิมก็ไม่เคยเข้าทรง “ผีช้าง” ครูหมอพระปะกำหรือ “พระเทวกรรม” ซะเมื่อไหร่

น่าคิด น่าคิด ใครมีหลักฐานเด็ดๆ วานบอก