กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (2)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (2)

 

งานแปลวรรณกรรมที่เกี่ยวกับอินเดีย

แผ่นดินเดียวกัน

ผลงานรวมเรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร เป็นงานที่รพินทรนาถ ฐากูร รำพึงถึงสตรีเพศ โดยหนังสือเล่มนี้โปรยเอาไว้ด้วยประโยคที่ว่าจิตใจมหาปราชญ์ ย่อมอยู่เหนือพรหมแดนใดๆ เพศ…ชนชั้น…วรรณะและเผ่าพันธุ์

กิติมา อมรทัต ผู้แปล มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมไว้พร้อมลายเซ็นและด้วยถ้อยคำที่อบอุ่นเช่นเคยว่า

ให้มะห์ (เป็นชื่อที่นักเรียนจากสามจังหวัดภาคใต้ที่มาเรียนโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพักอยู่บ้านติดกันกับบ้านผม เรียกมาจากคำว่ามุฮัมมัด ซึ่งเป็นชื่อของผมในภาษาอาหรับ) ที่รัก+นิง (ชื่อเล่นของภรรยาผมมาจากคำในภาษาอาหรับว่านูรอัยนี) 4 ก.ค.94

จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรสในปี 2537

มูลนิธิเพื่อนหญิงสนับสนุนการจัดพิมพ์ ราคา 78 บาท ความยาว 220 หน้า

หลงกลิ่นโลกีย์

เป็นนวนิยายเรื่องแรกของรพินทรนาถ ฐากูร เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม กิติมา อมรทัต แปลจาก The Home and the World จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์ ในปี 2543 ราคา 170 บาท ความยาว 290 หน้า

กิติมา อมรทัต ได้เล่าถึงความหลงใหลในงานของรพินทรนาถ ฐากูร ของเธอเอาไว้ในคำนำของผู้แปลในหนังสือเล่มเดียวกันอย่างน่าสนใจว่า จำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าอายุได้สิบสองสิบสามปีนั้น พี่อิศรา อมันตกุล พี่ชายของข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ เขาทำงานทั้งคืนอยู่ในห้องทำงานเล็กๆ ของเขาที่ชั้นบนบ้านของเราที่ถนนข้าวสาร (ก่อนสมัยชาวต่างประเทศเข้าครอบครองถนนนั้น)

เขาเขียนหนังสือมากมายเหลือเกิน มีบทแปลของเขาอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งข้าพเจ้า (แอบ) ไปอ่านแล้วก็ติดใจมาตั้งแต่ตอนนั้น

นั่นคือเรื่องที่พี่อิศร์ให้ชื่อว่า “เคหาและโลกา” ตามชื่อภาษาอังกฤษ The Home and the World นวนิยายเรื่องยาวหนึ่งในไม่กี่เรื่องของนักประพันธ์ใหญ่แห่งอินเดีย-ท่านรพินทรนาถ ฐากูร

นั่นเป็นครั้งแรกที่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักในวรรณกรรมได้ถูกเพาะขึ้นในหัวใจของข้าพเจ้า จึงได้ปรากฏเป็นผลงานแปลในเวลาต่อมา

เนื่องจากข้าพเจ้าหลงใหลในงานของท่านมหาปราชญ์ รพินทรนาถ ฐากูร และท่านคาลิล ยิบราน แห่งเลบานอนผู้มีแนวคิดแนวเขียนคล้ายๆ กัน จึงได้พยายามแปลงานของท่านทั้งสองนี้ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อว่าคนไทยเราจะได้หยั่งรู้ถึงส่วนลึกแห่งงานเขียนอันเป็นอมตะของท่านทั้งสอง

ข้าพเจ้าหวังว่าจิตวิญญาณของพี่น้องชาวไทยจักได้สัมผัสถึงความงามอันอ่อนละมุนละไมแห่งงานอันมีค่าของนักเขียนนักคิดและกวีเหล่านี้ หวังไว้ว่าแรงงานแรงความคิดของข้าพเจ้าในงานแปลเหล่านี้คงไม่สูญเปล่า

เท่าที่ทราบ ท่านรพินทรนาถ ฐากูร มีผลงานส่วนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้ว เป็นบทกวีแบบกลอนเปล่า 10 เล่ม บทละคร 5 เล่ม สารคดี 8 เล่ม กับเรื่องสั้นอีกมากมายไม่ต่ำกว่า 94 เรื่อง และนวนิยาย 4 เล่ม รวมงานทั้งหมดของท่านไม่น้อยกว่า 260 ชิ้น ข้าพเจ้าอาจนับผิดพลาดไปได้โดยไม่เจตนา นวนิยายเรื่อง The Home and the World นี้ พี่อิศร์แปลไว้เพียงบทสองบท ข้าพเจ้าจึงขอถือโอกาสนำมาแปลใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อเรื่องภาษาไทยเสียใหม่ว่า “หลงกลิ่นโลกีย์”

ขอให้งานชิ้นนี้เป็นอนุสรณ์แห่งความตั้งใจดีของพี่อิศรา อมันตกุล ด้วยเถิด

 

ชีวิตของท่านรพินทรนาถ ฐากูร (พ.ศ.2404-2484) อยู่ในระหว่างที่ประเทศบ้านเกิดของท่านคืออินเดียกำลังต่อสู้เพื่อปลดตัวจากแอกเมืองขึ้นของอังกฤษ ในระหว่างนั้นท่านมหาตมะ คานธี ได้จัดตั้งขบวนการต่อสู้แบบอหิงสาขึ้นมา เพื่อให้ชาวอินเดียต่อสู้กับอังกฤษในแบบที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ท่านรพินทรนาถ ฐากูร ได้กล่าวถึงขบวนการของท่านมหาตมะ คานธี ไว้ในนวนิยายเรื่องหลงกลิ่นโลกีย์นี้ด้วย

แต่ท่านได้แสดงให้เห็นว่านอกจากผู้ที่ปฏิบัติตามหลักการของมหาตมะ คานธี อย่างจริงใจแล้วก็ยังมีผู้ที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์ส่วนตัวจากการปฏิบัติเช่นนั้นด้วย เมื่อพิมาลก้าวออกจากขอบเขตของบ้านและครอบครัวของเธอออกไปสู่โลกภายนอก เธอจึงหลงก้าวไปอยู่ในกับดักของบุคคลเช่นนั้นด้วยความหลงของเธอเอง ประการหนึ่งกับด้วยเล่ห์กลมายาของคนผู้นั้นอีกประการหนึ่ง

เยาวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียหลังจากประกาศอิสรภาพ เมื่อปี 2490 ได้กล่าวไว้ว่า “รพินทรนาถ ฐากูร เป็นประหนึ่งฤๅษีแห่งบรรพยุคของอินเดีย ท่านมีความเปรื่องปราดอย่างลึกซึ้งในขุมปัญญาโบราณของเรา แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ผูกพันกับปัญหาในสมัยปัจจุบัน และยังเฝ้าดูอนาคตด้วยความเป็นห่วงด้วย…แนวความคิดของท่านเป็นของอินเดียในเนื้อหาสาระ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแนวความคิดที่โอบล้อมมนุษยชาติทั้งมวลไว้ด้วย…การได้สนทนากับท่านผู้นี้หรือแม้แต่ได้อ่านบทประพันธ์ของท่านก็ทำให้เรารู้สึกเสมือนได้ไต่เต้าขึ้นไปสู่ยอดเขาสูงแห่งประสบการณ์และสติปัญญาของมนุษย์…”

กิติมา อมรทัต ได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมพร้อมลายเซ็น เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2543 โดยเขียนว่าให้นิงและมะห์ที่รักจ้ะ

ข้อคิดคานธี

หนังสือเล่มนี้ กิติมา อมรทัต แปลและเรียบเรียงจาก Selected Writings of Mahatma Ghandi จัดจำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ธรรมชาติ ในปี 2539 ราคา 100 บาท ความยาว 199 หน้า

เป็นงานที่คานธีกล่าวถึงคำสอนเรื่องพฤติกรรมที่ปราศจากอัตตา ซึ่งยกมาจากคำวิจารณ์เรื่องภควัตคีตาของคานธี

โดยเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้จะประกอบไปด้วยภควัคคีตากับสัตยาเคราะห์ สัจจะ การไม่เป็นเจ้าของสิ่งใดหรือความยากจน ความไม่หวาดกลัว ขันติธรรม ความอ่อนน้อมถ่อมตน คำสอนเรื่องดาบ จดหมายจากตอลสตอยถึงคานธี การปฏิวัติสัตยาเคราะห์ ความเจริญเติบโตของกลุ่มคองเกรส สัตยาเคราะห์และลัทธินาซี การต่อต้านแบบอยู่เฉยๆ และลัทธิแอนตี้เซมิติก สัตยาเคราะห์ในฐานะที่เป็นวิถีทางเพื่อป้องกันประเทศชาติ คำวิงวอนต่อชาวอังกฤษทุกคน อหิงสาและหิงสา การอดอาหารในการปฏิบัติหลักการแห่งความไม่รุนแรง พรหมจรรย์ ความสามัคคีระหว่างฮินดูกับมุสลิม วัฒนธรรมในการศึกษา การไม่แตะต้องคนชั้นต่ำและศาสนาฮินดู

ทั้งนี้ คานธีได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือ Young India เล่มที่ 3 เอาไว้ว่า ไม่ว่าทฤษฎีของข้าพเจ้าจะถูกต้องหรือไม่ก็ตาม แต่การห้ามแตะต้องคนชั้นต่ำนั้นมันขัดต่อเหตุผลและสัญชาตญาณแห่งความเมตตาปรานี ความเวทนาสงสาร หรือความรักเป็นอย่างยิ่ง ศาสนาที่ได้สร้างการคุ้มครองวัวขึ้นมาย่อมไม่อาจยอมให้มีการบอยคอตมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณเช่นนั้นได้

ข้าพเจ้าควรจะถูกฉีกเนื้อออกเป็นชิ้นๆ เสียยิ่งกว่าที่จะไม่แยแสต่อชนชั้นที่ถูกกดขี่ ชาวฮินดูย่อมไม่สมควรได้รับเอกราชอย่างแน่นอน ถ้าหากว่าพวกเขายังยอมให้ศาสนาอันดีงามของเขาต้องอัปยศไปด้วยการยังคงรักษารอยมลทินในเรื่องการห้ามแตะต้องชนชั้นต่ำไว้เช่นนี้

และเนื่องจากข้าพเจ้ารักศาสนาฮินดูยิ่งกว่าชีวิตของข้าพเจ้าเอง รอยมลทินนั้นจึงกลายเป็นภาระที่ข้าพเจ้าไม่อาจทนได้ ขอเราอย่าปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้าด้วยการไม่ยอมให้สิทธิในการคบค้าสมาคมในพื้นฐานที่เท่าเทียมกันแก่คนในชาติของเราจำนวนหนึ่งในห้านั้นเลย

กิติมา อมรทัต มอบหนังสือเล่มนี้ให้ผมพร้อมลายเซ็นว่า สำหรับมะห์ที่รัก 18 เมษา 39 จ้ะ

 

ปรัชญา ความคิด คานธี

กิติมาใช้ชื่อแปลของเธอในหนังสือเล่มนี้ว่า รติกร กีรติ ตีพิมพ์ในปี 2543 โดยบริษัท หนังสือสายน้ำ จำกัด ราคา 72 บาท ความยาว 199 หน้า

ข้อคิดของคานธียังน่ารับฟังเสมอดังที่คานธีได้กล่าวไว้ว่า เมื่อได้เหวี่ยงดาบออกไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ไม่มีสิ่งใดที่จะมอบให้แก่ผู้ที่ต่อต้านข้าพเจ้า นอกจากถ้อยแห่งความรักด้วยการมอบถ้วยนี้ให้นี่แหละที่ข้าพเจ้าคาดหวังว่าจะดึงดูดพวกเขาให้เข้ามาใกล้ชิดกับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่อาจคิดได้ว่าจะมีความเป็นศัตรูอย่างถาวรระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และเนื่องจากข้าพเจ้าเชื่อในทฤษฎีแห่งการเกิดใหม่

ข้าพเจ้าจึงอยู่ด้วยความหวังว่าข้าพเจ้าจะสามารถได้โอบกอดมนุษย์ทั้งมวลไว้ในอ้อมกอดแห่งมิตรภาพของข้าพเจ้า หากมิใช่ในภพนี้ก็คงในภพอื่นๆ