‘ปัง-ปัง’ : การลอบสังหารจอมพล ป. จากปฏิปักษ์ทางการเมือง (4) สืบสาวเรื่องราวถึงมูลแห่งปัญหา/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘ปัง-ปัง’

: การลอบสังหารจอมพล ป.

จากปฏิปักษ์ทางการเมือง (4)

สืบสาวเรื่องราวถึงมูลแห่งปัญหา

ควรบันทึกด้วยว่า การปฏิวัติ 2475 ปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลง แต่กลุ่มอำนาจเก่าไม่ยอมรับ และหาหนทางในการต่อต้านเพื่อหมุนระบอบกลับ แม้นรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญ (2476) และพยายามลิดรอนอำนาจคณะราษฎรลงก็ตาม แต่คณะราษฎรก็ตอบโต้กลับด้วยการรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมลง แต่กลุ่มอำนาจเก่าก็มิหยุดยั้งการตอบโต้เพื่อกู้บ้านกู้เมืองให้กลับไปดังเดิม ในที่สุด พวกเขาใช้กำลังทางการทหารก่อกบฏบวรเดช (2476) ในที่สุด

แม้กลุ่มอำนาจเก่าพ่ายแพ้ในกบฏบวรเดชแล้วก็ตาม แต่เครือข่ายของพวกเขายังคงฝังอยู่ในระบบราชการและหลายๆ ส่วนในสังคมที่พวกเขายึดกุมอำนาจมาอย่างยาวนาน มีเครือข่ายพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการทางการเมืองต่างๆ ได้ทันที

เช่น เหล่าสมาชิกพรรคคณะชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า ที่มีทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือน รวมทั้งพวกที่ลี้ภัยอยูนอกประเทศยังสามารถติดต่อถึงกันกับเครือข่ายต่างๆ ได้ (สมพงษ์ แจ้งเร็ว, 87)

ต่อมา รัฐบาลสืบทราบว่า มีกลุ่มนายทหารชั้นประทวน ชั้นนายสิบสังกัดกองพันทหารราบที่ 2, 3 วางแผนใช้กำลังนายสิบทั้งหมดเข้าปลดอาวุธผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ผู้หมวดจนถึงผู้บังคับการกองพัน พร้อมวางแผนสังหารบุคคลสำคัญในรัฐบาล เช่น จอมพล ป. รมต.กลาโหม พระองค์เจ้าวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี หลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการฯ นอกจากนี้ ทหารยังวางแผนปล่อยนักโทษการเมืองให้ออกมาช่วยรัฐประหารด้วย แผนการนี้ มุ่งฟื้นฟูระบอบเก่าและทูลเชิญพระปกเกล้าฯ กลับมาครองราชย์ ต่อมา ตำรวจเข้าจับกุมผู้คิดก่อการได้ 21 คนเมื่อเดือนสิงหาคม 2478 (สมพงษ์, 81)

พล.ต.อ.หลวงอดุลยเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และคำพิพากษาศาลพิเศษ 2482

ลอบสังหารที่ศรีย่าน

และเชิงสะพานมัฆวาฬฯ

แม้นว่าการลอบสังหารจอมพล ป. แกนนำทหารหนุ่มในคณะราษฎร ผู้มีผลงานปราบปรามกลุ่มอำนาจเก่าผ่านการลอบสังหารช่วงต้นกบฎบวรเดช (2476) การลอบยิงที่สนามหลวง(2477)นั้น ทว่า ความพยายามเหล่านั้นไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม

แต่กลุ่มปฏิปักษ์รัฐบาลไม่สิ้นความพยายาม พวกเขายังคงวางแผนการลอบสังหารแกนนำคนสำคัญต่อไป

ต่อมา ตำรวจสันติบาลรายงานว่า กลุ่มปฏิปักษ์รัฐบาลได้ส่งคนมาลอบสังหารจอมพล ป.ที่ตลาดศรีย่าน เมื่อ 13 ตุลาคม 2481 ตำรวจสืบทราบจึงไปดักจับนายยัง ประไพศรี แต่มือปืนต่อสู้และหนีรอดไปกบดานที่นนทบุรี ตำรวจไปตามจับมือปืน เกิดการต่อสู้กัน มือปืนถูกวิสามัญฆาตกรรมในที่สุด

และมีรายงานการลอบสังหารอีกว่า กลุ่มปฏิปักษ์ทางการเมืองได้ว่าจ้างมือปืนมาดักยิงจอมพล ป.ที่เชิงสะพานมัฆวาฬฯ เมื่อ 25 ตุลาคม 2481 แต่รถของจอมพล ป.แล่นเร็วจึงยิงพลาดไม่สำเร็จ (สมพงษ์, 79-80)

พล.ท.พระยาเทพหัสดิน และพระยาทรงสุรเดช

ทลายกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

ในช่วงเวลาแห่งความผันผวนทางการเมือง ไม่นานจากการผลัดอำนาจเก่าลง รัฐบาลยังคงได้รับรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่าและปฏิปักษ์รัฐบาลอย่างต่อเนื่อง นับแต่การก่อกบฏบวรเดช กบฏนายสิบ การลอบสังหารผู้นำรัฐบาลหลายครั้ง มีการเคลื่อนไหวทั้งนอกประเทศ และในประเทศ แม้กระทั่งในกลุ่มอำนาจเก่าที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ (สมพงษ์, 87-88)

ในที่สุด เมื่อกรมตำรวจและตำรวจสันติบาลสืบสวน ส่งผลให้ตำรวจเข้าจับกุมบุคคลสำคัญจำนวนมากในวันที่ 28 มกราคม 2481 มีการแบ่งกำลังตำรวจเป็นหลายสายเข้าจับกุม ทั้งเจ้านาย นายทหารจากระบอบเก่า-ใหม่ และนักการเมืองใน ดังนี้

สายแรก เข้าจับกุม พ.ต.หลวงราญรณกาจ อดีตผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ครั้งระบอบเก่า สายที่สอง เข้าจับกุม พล.ท.พระยาเทพหัสดิน อดีตนายทหารระบอบเก่า พร้อมบุตรชาย สายที่สาม เข้าจับกุมพระยาอุดมพงษ์เพ็ญสวัสดิ์ อดีตข้าราชการจากระบอบเก่าและรัฐมนตรีรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ สายที่สี่ เข้าจับกุม ร.ท.ณ เณร ตะลาลักษมณ์ สมาชิกสภาผู้แทนฯ ส่วนตำรวจที่เหลือเข้าจับกุมบุคคลอื่นๆ อีก 52 คนด้วยการตั้งข้อหาว่า กระทำการเป็นกบฏและลอบสังหารบุคคลสำคัญ (สมพงษ์, 88-89)

บุคคลต่างๆ ที่ถูกจับกุม เช่น สมาชิกคณะราษฎร พระราชวงศ์และสมาชิกสภาผู้แทนฯ เช่น พ.อ.พระสิทธิเรืองพลเดช พ.อ.หลวงชำนาญยุทธศิลป์ นายมังกร สามเสน กรมขุนชัยนาทนเรนทร และ ร.ท.ณ เณร ตะลาลักษมณ์ เป็นต้น ส่วน พ.อ.พระยาฤทธิอาคเนย์ และ พ.อ.พระยาทรงสุรเดช ถูกให้ออกนอกประเทศ (ภูธร ภูมะธน, 2521, 200-202)

จากหลักฐานของฝ่ายรัฐบาลระบุว่า จุดมุ่งหมายของการก่อกบฏ 2481 ครั้งนั้นว่า “เพื่อที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนี้ โดยคิดจะเชิญพระปกเกล้าฯ หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นพระมหากษัตริย์” (ภูธร, 196)

ดังนั้น ในช่วงเวลานั้น ตำรวจสันติบาลและกรมตำรวจภายใต้การนำของหลวงอดุลเดชจรัสมีบทบาทมากในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยการสืบข่าวและปราบปรามกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มปฏิปักษ์รัฐบาลลงได้อย่างราบคาบ

กล่าวโดยสรุป การปฏิวัติ 2475 ที่รูดม่านระบอบเก่าลงอย่างรวดเร็วอันได้สร้างการสูญเสียอำนาจทางการเมืองให้กับกลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างยิ่ง อันนำไปสู่การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้นหลายรูปแบบ ทั้งการรัฐประหารโดยกฎหมาย ปิดสภาผู้แทนฯ การลอบสังหาร แม้กระทั่งการใช้กำลังทางการทหาร

จอมพล ป. กับหลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และขุนศรีศรากร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

จอมพล ป. นายกรัฐมนตรี

เป็นเป้าลอบสังหารมากที่สุด

จากการประมวลสรุปได้ว่า มีความพยายามลอบสังหารจอมพล ป. (2476-2481) รวม 8 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นช่วงกบฏบวรเดชเมื่อ 10-11 ตุลาคม 2476 โดยมือปืนจากต่างจังหวัดเตรียมลอบสังหาร พระยาพหลฯ และจอมพล ป.ที่วังปารุสก์ แต่แผนล้มเหลว (อ.ก.รุ่งแสง, 2521, 80-82)

ครั้งที่สอง เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2477 โดยพุ่ม ทับสายทอง ใช้อาวุธปืนยิงที่ท้องสนามหลวง

ครั้งที่สาม 13 ตุลาคม 2481 ยัง ประไพศรี ดักยิงที่ตลาดศรีย่านในยามค่ำ แต่ไม่สำเร็จ

ครั้งที่สี่ 25 ตุลาคม 2481 ชลอ ฉายกระวี กับนายดาบผุดพันธ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ดักยิงที่เชิงสะพานมัฆวาฬฯ แต่ไม่สำเร็จ

ครั้งที่ห้า 9 พฤศจิกายน 2481 ลี บุญตา ใช้ปืนยิงที่บ้านพักกรมทหารบางซื่อ แต่กระสุนที่ยิงไม่ถูก

ครั้งที่หก 9 ธันวาคม 2481 ร.ท.ณ เณร ตาละลักษมณ์ นายละมัย แจ่มสมบูรณ์ นายมณี มติวัตร์ ให้พันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต ใส่ยาพิษลงในอาหาร แต่หมอรักษาทัน

ครั้งที่เจ็ด 21 ธันวาคม 2481 มีเหตุสงสัยการลอบวางยาพิษ

และครั้งที่แปด 1-23 กุมภาพันธ์ 2477 ลอบสังหารหมู่บุคคลสำคัญของรัฐบาล เช่น จอมพล ป. หลวงอดุลย์ และหลวงประดิษฐ์ ที่หัวลำโพง แต่ไม่สำเร็จ (กรมโฆษณาการ, 2482, 5-8, 11-12, สมพงษ์, 80)

ทั้งนี้ พลตรีอนันต์ บุตรชายจอมพล ป.สรุปไว้ว่า “ผลการสอบสวนได้ผลเป็นที่แน่ชัดว่า ต้นตอของการประทุษร้ายแต่ละครั้งนั้นมีความเกี่ยวพันเป็นลูกโซ่อย่างแยกไม่ออก การวางยาพิษก็ต่อเนื่องมาจากการยิงของนายลี การยิงของนายลีต่อเนื่องกับการยิงของนายพุ่ม การยิงของนายพุ่มสืบเนื่องมาจากการกบฏเมื่อ 11 ตุลาคม 2476 (กบฏบวรเดช-ผู้เขียน) และการกบฏครั้งนั้นก็เกิดจากความล้มเหลวของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา…ปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา”

เขาวิเคราะห์ต่อไปว่า แผนลอบสังหารจอมพล ป.นั้นมีความเกี่ยวข้องกับอำนาจเก่าดังที่บันทึกไว้ว่า

“มีความสำคัญมุ่งหมายก็เพื่อจะทำลายคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้หมดสิ้นโดยทุกวิถีทางแล้วนำประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญให้กลับคืนเข้าสู่การปกครองในระบอบเก่าแก่ของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะทำลายประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยการเสี่ยงชีวิต จะฝืนธรรมชาตินำประเทศไทยถอยหลังกลับเข้าไปสู่ระบอบการปกครองแบบขุนนางศักดินาโบราณ จะดีหรือ” (อนันต์, 78-79)