เมียนมาประหาร 4 นักเคลื่อนไหว ปชต. เรื่องของกฎหมาย หรือลิดรอนชีวิต/บทความต่างประเทศ

Protesters show the three finger salute and a crossed-out image of Myanmar military chief Min Aung Hlaing during a demonstration against the Myanmar military junta's execution of four prisoners, outside the Myanmar Embassy in Bangkok on July 26, 2022. - Myanmar's junta executed four prisoners including a former lawmaker from Aung San Suu Kyi's party, state media said on July 25, in the country's first use of capital punishment in decades. (Photo by Manan VATSYAYANA / AFP)

บทความต่างประเทศ

 

เมียนมาประหาร 4 นักเคลื่อนไหว ปชต.

เรื่องของกฎหมาย

หรือลิดรอนชีวิต

 

กลายเป็นเรื่องสั่นสะเทือนไปทั่วโลกอีกครั้ง สำหรับการประหารนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมา 4 คน ด้วยการ “แขวนคอ” ที่ถือว่าเป็นการประหารนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีของประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ นักเคลื่อนไหวทั้ง 4 คนนี้ ถูกตัดสินประหารชีวิต ในการพิจารณาคดีแบบปิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธเพื่อต่อสู้กับกองทัพที่ยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ

ขณะที่สื่อทางการเมียนมารายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 4 ราย ในข้อกล่าวหาว่า “คนเหล่านี้มีส่วนช่วยเหลือการก่อการร้ายภายในประเทศ”

โดยนักเคลื่อนไหว 4 คน ได้แก่ นายจ่อ มิน ยู หรือจิมมี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อายุ 53 ปี, นายเพียว เซยา ตอ วัย 41 ปี เป็นอดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี), นายฮลา เมียว อ่อง และนายอ่อง ธูรา ซอ

ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับกองทัพเมียนมาหลังเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

 

การประหารนักเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้หลายๆ ประเทศและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก พากันออกมาประณามรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นนายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นอร์เวย์ และอังกฤษ

ขณะที่ครอบครัวของนักเคลื่อนไหวเมียนมาที่ถูกประหารชีวิตออกมากล่าวหาการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นว่าไม่ต่างจากการฆ่าและซ่อนศพ เพราะไม่มีการบอกกล่าวกับครอบครัวของพวกเขาแม้แต่น้อย ถือเป็นการไม่ให้เกียรติทั้งต่อชาวเมียนมาและต่อประชาคมระหว่างประเทศ โดยหนึ่งในครอบครัวของผู้เสียชีวิตเพิ่งจะเข้าไปเยี่ยมพวกเขาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้รับแจ้งเช่นกันว่านี่จะเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย

ด้านเอร์วิน วาน เดอ บอร์ก ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การประหารชีวิตเหล่านี้ถือเป็นการลิดรอนชีวิตตามอำเภอใจ และเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรายงานด้านสิทธิมนุษยชนที่โหดร้ายของเมียนมา ชาย 4 คนถูกศาลทหารตัดสินลงโทษจากการพิจารณาคดีอย่างลับๆ และไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ประชาคมระหว่างประเทศต้องดำเนินการทันที เนื่องจากเชื่อว่ามีผู้ต้องโทษประหารชีวิตมากกว่า 100 คน หลังจากถูกตัดสินโทษในการดำเนินคดีลักษณะเดียวกัน

“เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ที่กองทัพเมียนมาได้กระทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกด้าน กองทัพจะเหยียบย่ำชีวิตของผู้คนต่อไปหากพวกเขาไม่ต้องรับผิดชอบ”

“ในช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังดำเนินการยกเลิกโทษประหารชีวิต การนำการประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษ ไม่เพียงแต่ขัดแย้งกับแนวโน้มทั่วโลก แต่ยังขัดต่อเป้าหมายของการยกเลิกโทษประหารชีวิตที่อยู่ภายใต้กฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การโดดเดี่ยวตนเองของเมียนมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด เราขอเรียกร้องให้กองทัพระงับการประหารชีวิตทันที โดยให้ดำเนินการเป็นขั้นตอนสำคัญอันดับแรก”

เอร์วิน วาน เดอ บอร์ก กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมา ได้ออกมาปกป้องการตัดสินใจประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวทั้ง 4 โดยอ้างเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด

โดยนายซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ออกมาแสดงท่าทีครั้งแรกหลังประหารนักเคลื่อนไหวทางการเมือง 4 ราย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาตระหนักดีว่าการประหารชีวิตจะทำให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย และเป็นการลงโทษที่คนเหล่านี้สมควรได้รับ

นายซอ มิน ตุน ยังกล่าวอีกว่า การประหารชีวิตที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย และมีการให้โอกาสกับทุกคนในการปกป้องตนเอง

การพิจารณาคดีก็เป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นสิ่งผิดที่จะมากล่าวหาว่าเมียนมาได้ดำเนินการต่อนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

แต่นี่คือการคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน!!

เครดิตภาพ “เอเอฟพี”