จัตวา กลิ่นสุนทร : คิดถึง ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (21)

เดือนตุลาคมคงต้องย้อนกลับไปเพื่อหยิบเอาบรรยากาศของ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงของประเทศเรา เมื่อกว่า 40 ปีก่อนมาเรียงรำลึกบางช่วงบางตอนในฐานะที่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ทั้ง “วันที่ 14 ตุลาคม 2516” และ “วันที่ 6 ตุลาคม 2519”

รำลึกเล็กน้อย วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เสียก่อน แม้จะเกิดเรื่องราวเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดใจ เกิดขึ้นหลัง เหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” 14 ตุลาคม 2516 ถึง 3 ปี แต่เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน บางท่านบอกว่าเป็นการ “กลับมาทวงคืนของเผด็จการ (ทหาร)”

ซึ่งย่อมต้องมีอะไรลี้ลับลึกซึ้งซ่อนเร้นจนคลี่คลายยากสำหรับการเมืองเรื่อง “ประชาธิปไตย” และ “อำนาจ” ของประเทศเรา ที่รับรองได้ว่าไม่เหมือนประเทศไหนๆ ในโลก?

เป็นคำถามที่ทุกวันนี้ยังตอบกับลูกไม่ได้ว่าทำไมคนไทยจึงต้องเข่นฆ่ากันเองอย่างเลือดเย็น ทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าบรรดานักศึกษาทั้งหลายเหล่านั้นเป็น “คอมมิวนิสต์ญวน” ตามคำกล่าวหาป้ายสี

วันนี้ (6 ตุลาคม 2560 )เมื่อ 41 ปีที่แล้ว “กรุงเทพฯ” โดยเฉพาะภายในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) และใกล้เคียง เช่น ท้องสนามหลวง หรือทุ่งพระเมรุ ตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง บรรยากาศเศร้าซึมพร้อมสายฝนโปรยปราย และมี “คนตาย” จำนวนไม่น้อย? ในลักษณะแตกต่างกัน ถูกแขวนคอกับต้นมะขาม ซึ่งคาดว่าเสียชีวิตแล้วแต่ยังถูกรุมเตะตีต่อย เอาไม้แทง เก้าอี้ฟาด เหมือนกับนักศึกษาหญิงบางคนถูกลากไปบนพื้นหญ้าอย่างสนุกสนาน

และที่ไม่เคยลืมได้เลย คือคนที่ถูกยางรถยนต์วางซ้อนทับจุดไฟเผาเห็นเปลวไฟที่กำลังลุกไหม้

 

เหตุการณ์เหล่านี้เป็น “ประวัติศาสตร์” ที่แทบไม่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการไว้ในประเทศเรา แต่หากมันได้เผยแพร่สู่สายตาชาวโลกอย่างละเอียดถี่ถ้วน

เป็นคนเผ่าพันธุ์เดียวกันประหัตประหารกันเองบนความเชื่อที่ได้รับการปลูกฝังปลุกระดมมาจนเข้าไปในเส้นเลือดอารมณ์สุกงอมการฆ่านั้นจึงได้กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน และสุดท้ายก็ได้แต่รอเวลาจะช้าหรือเร็วก็ไม่รู้ให้เรื่องของเวรกรรมมาชำระสะสางเอาเอง กฎหมายไม่มีโอกาสได้ทำงาน?

นักศึกษาสูญหายจำนวนไม่น้อย ซึ่งบางรายเสียชีวิต กว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะติดตามเพื่อพิสูจน์ทราบก็ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นอีกหลายปี เช่นเดียวกับจำนวนคนตาย ว่ากันว่าเวลาผ่านไป 40 กว่าปีแล้ว ตัวเลขยังไม่ชัดเจน นักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากได้ทอดทิ้งอนาคตทางการศึกษา หันหลังให้กับครอบครัว และระบอบประชาธิปไตย

เดินหน้าเข้าป่าเพื่อร่วมกับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร

 

เมื่อเหตุการณ์เรื่องราวอันโหดร้ายทารุณของการแย่งชิง “อำนาจ” เริ่มคลี่คลายเด่นชัดนักศึกษาในป่าก็ได้กลับคืนสู่เมืองเพราะรัฐบาลที่พอมีเหตุผลจึงนิรโทษกรรมเพื่อรั้งดึงพวกเขากลับมาช่วยกันพัฒนาชาติไทย

หลายคนเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนจนกระทั่งจบการศึกษาระดับสูง และได้รับรู้ซึมซับเรื่องราวความเป็นมา เรียนรู้ “ประวัติศาสตร์” ของประเทศนี้ กลับมาต่อสู้ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

แต่สุดท้ายมันก็ยังวนเวียนถูก “ปฏิวัติยึดอำนาจ” กันอยู่อย่างที่เห็นกันอยู่

จำนวนไม่น้อยเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์หันไปสนับสนุนอำนาจเผด็จการ

หลายคนต้องติดคุกติดตะรางเพราะยืนหยัดด้วยอุดมการณ์อันสูงส่ง และเป็นนักการเมืองซึ่งกำลังถูกกล่าวหาเหยียบย่ำว่าเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจ ซึ่งมันควรจะมีแค่นักการเมืองเลว “คอร์รัปชั่น” โกงกินบ้านเมืองแค่นั้น มิใช่ถูกเหมาหมด!

นักศึกษารุ่นนั้นได้กลายเป็นผู้สูงวัยในเวลานี้ อย่างน้อยต้องมีเลข 6 หรือใกล้เต็มทีนำหน้าอายุแทบทุกคน หลายคนเข้าสู่หลัก 7 แล้วด้วยซ้ำไป

ส่วนที่ยังมีบทบาททางการเมืองแต่ยืนอยู่คนละซีกสนับสนุนรัฐบาลทหารย่อมมีอยู่ เหมือนกับฝั่งที่ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งหมดล้วนเข้าใจการเมืองเรื่อง “อำนาจ” ของประเทศของเรา

 

ค่อนข้างใกล้ชิดเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 พอสมควร เนื่องจากได้เข้ามาสังกัด “หนังสือพิมพ์สยามรัฐ” ของ “อาจารย์คึกฤทธิ์” ได้หลายปีแล้ว สำนักงานของสยามรัฐอยู่ริมถนนราชดำเนินใกล้สนามหลวง อยู่ในพื้นที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์หนักๆ แรงๆ ใน “ประวัติศาสตร์” ตลอดมา ขณะนั้นอาจมีความรู้เรื่องการเมืองเพียงน้อยนิด แต่ก็พอจะอ่านอะไรต่อมิอะไรได้ชัดเจนมากขึ้นๆ

อาชีพการงานทำให้ได้ใกล้ชิดสนิทสนมกับนักการเมืองระดับอดีต “นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี” ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยครั้ง ก่อนที่ท่านเหล่านั้นจะถูกพิษของเหตุการณ์ ” 6 ตุลา 2519 “ต้องหลบลี้หนีภัยหายตัวไประยะหนึ่ง เพราะช่วงระยะเวลานั้นข้อหา “คอมมิวนิสต์” ป้ายให้กับใครก็ได้ ง่ายนิดเดียว

อาจารย์คึกฤทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 13) เพิ่ง “ยุบสภา” และลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในเขตดุสิต (เขต 1) กรุงเทพฯ

แต่อดีตนายกรัฐมนตรีต้อง “สอบตก” ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ไม่มากพอถึงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ต้องรวมกับพรรคชาติไทย และ ฯลฯ จึงสามารถตั้งรัฐบาลได้

พรรคกิจสังคมของอาจารย์คึกฤทธิ์ เตรียมตัวจะเป็น “ฝ่ายค้าน” ในสภา แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการอะไร รัฐบาลผสม พรรค “ประชาธิปัตย์” ซึ่ง “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูก “ยึดอำนาจ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519

จะเป็นแนวความคิดของใครไม่มีวันรู้ แต่ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ (เสียชีวิต) รัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) เป็นเลขาฯ

แต่คนที่กลับได้เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 14) คือ “ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร”

 

ย้อนกลับไปก่อนหน้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพียง 3 ปี เกิดเหตุการณ์อันเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในบ้านเมือง เรียกว่า “วันมหาวิปโยค” เกิดการเดินขบวนครั้งยิ่งใหญ่ทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนล้นถนนราชดำเนินชนิดมืดฟ้ามัวดิน ขนาดหัวขบวนอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าแล้ว ท้ายขบวนยังไม่ได้ออกจากสถานที่ชุมนุมคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เริ่มต้นเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” โดยออกมาเดินแจกใบปลิวแล้วถูกจับไปคุมขัง นักศึกษา อาจารย์จึงรวมตัวกันขึ้นเพื่อให้ปล่อยตัวพวกเขา เหตุการณ์ “ทุ่งใหญ่นเรศวร” จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจระดับสูงขนเอาอาวุธของทางราชการใส่เฮลิคอปเตอร์ ไปพร้อมกับดาราสาวเพื่อพักผ่อนล่าสัตว์ แสวงหาความสุขส่วนตัวก็ถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องในการจุดไฟ 14 ตุลาคม 2516 ให้โหมกระพือหนักขึ้นด้วย

เมื่อมีการเคลื่อนขบวนครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ รัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม กำลังจะสลายตัวแยกย้ายกันกลับเกิดการปะทะกันขึ้น เหตุการณ์จึงลุกลามบานปลายจนมีการเผาอาคารต่างๆ รัฐบาลสั่งเอากำลังออกมาปราบปรามนิสิต นักศึกษา ประชาชน เกิดการบาดเจ็บล้มตาย บ้านเมืองลุกเป็นไฟ ข้อเรียกร้องเรื่อง “รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย” จึงเปลี่ยนเป็นการขับไล่รัฐบาลทหาร “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ให้ออกนอกประเทศ

ล้มลุกคลุกคลานอยู่แถวถนนราชดำเนินตั้งแต่ม็อบก่อตัวจนกระทั่งถึงยามค่ำคืน เกิดการเผาอาคารทั้งหลายได้มายืนดูเปลวไฟที่ลุกไหม้กองสลาก (เก่า) เพราะอยู่ตรงกันข้ามกับสำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐพอดี

 

อาจารย์คึกฤทธิ์นอนพักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ช่วงนั้น แต่ดูเหมือนว่าวันสุดท้ายท่านทนไม่ไหว หนีคุณหมอมาสำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ซึ่งพวกเราต้องนัดหมายให้คนพาท่านเข้ามาทางด้านศาลเจ้าพ่อเสือ หลบหลีกลัดเลาะข้ามคลองเข้ามาทางหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์

พอมาถึงโรงพิมพ์ท่านก็สั่งพนักงานทุกคนให้ระดมกันพิมพ์ใบปลิวนำออกไปแจกเพื่อให้นิสิต นักศึกษา และประชาชน ให้รีบกลับบ้าน เป็นเรื่องฉุกละหุก และช้ามาก เพราะแท่นพิมพ์สมัยนั้นเป็นแบบชนิดที่เรียกกันว่าฉับแกละ

ช่วงที่ม็อบกำลังก่อตัว (ตุลาคม 2516) นิสิตนักศึกษาซึ่งเดินทางไปรวมตัวกันยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลายคนผ่านแวะขึ้นไปบนสำนักงานหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ได้พบกับอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านสั่งให้หาน้ำท่ามาเลี้ยงกัน หลังจากนั้นท่านต้องเข้าโรงพยาบาล จำได้ว่า จิระนันท์ (ประเสริฐกุล) พิตรปรีชา ยังแต่งชุดนิสิตจุฬาฯ ก็ได้ผ่านขึ้นไปเยี่ยมเยียน คารวะอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านได้สั่งให้ยกน้ำหวาน (น้ำแดง) มาให้เธอดื่ม

ถึงวันนี้ไม่มีทางจำได้ เพราะแก่เฒ่าไปตามกัน