หลังเลนส์ในดงลึก/”ชื่อ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ชื่อ”

พ่อผมเดินทางด้วยรถไฟ มาถึงตำบลเล็กๆ ที่ชื่อว่า “ปากช่อง” ก่อนปี พ.ศ.2500 ยังไม่มีถนนมิตรภาพ ปากช่อง ณ เวลานั้น เป็นคล้ายชุมทางของคนผู้มุ่งหน้า และโยกย้ายถิ่นมาเพื่อพลิกฟื้นผืนดินทำการเกษตร

ไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าดงพญาไฟอันเกริกไกร ที่นี่ผู้คนที่มาก่อน ต่างพูดกันต่อๆ ว่า มีดินดีเหมาะสมกับการปลูกพืช

ในฐานะชายหนุ่มไฟแรง เพิ่งเรียนจบด้านเกษตร พ่อเป็นอีกคนหนึ่งที่มุ่งหน้ามา

“ถ้าลุงเหลี่ยมแกบอกว่าที่นี่มีแต่ป่า และเสือ ช้าง วันนั้นพ่อคงรอรถอยู่ที่สถานีและกลับกรุงเทพฯ แล้ว”

พ่อเคยเล่าให้ฟังแบบขำๆ

ลุงเหลี่ยม คือเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ ถือธงให้สัญญาณ พ่อไปถามทางไปที่ของพี่ชายซึ่งมาบุกเบิกไว้ก่อนหน้า

แม้จะยากลำบาก เริ่มต้นจากการหาบน้ำรดผัก

แต่พ่อก็ได้ทำอย่างที่ฝัน

แต่ฝันของชายหนุ่มไฟแรงไม่จบแค่นั้น เมื่อไร่เริ่มอยู่ตัว พ่อเข้าไปบุกเบิกไกลเข้าไปอีก นำวัวเข้าไปเลี้ยงในป่า

“จากบ้านที่ปากช่อง เดินทางด้วยเกวียน เข้าไปหลายวันกว่าจะถึง”

มีหมู่บ้านเล็กๆ ห่างไกล

ถึงวันนี้ บริเวณนั้นคือรีสอร์ตและโรงแรมหรู เชิงเขาใหญ่

การเลี้ยงวัวในป่าของพ่อ เรียกได้ว่าล้มเหลว

“เอาเข้าไปเท่าไหร่ก็ตายหมด” พ่อเล่า

สาเหตุหลักคือ ถูกเสือโคร่งฆ่าเพื่อเอาไปกิน โดยเฉพาะเสือโคร่งร่างกำยำ อายุมาก สีเริ่มซีดจาง ที่เป็นเสมือนคู่ปรับของพวกเขา

“มันเข้ามาเอาถึงในคอกเลย คงเพราะมันแก่แล้ว และวัวก็เอาง่ายกว่า” พ่อตั้งข้อสังเกต

พวกเขาเรียกชื่อเสือตัวนี้ว่า “ไอ้เฒ่า”

ในฝูงวัว มีวัวตัวผู้ตัวโตจะทำหน้าที่ปกป้องวัวตัวอื่น มันได้รับการตั้งชื่อว่า “ไอ้โตด”

“ไอ้นี่ใจกล้า แรงดี ลากเกวียนอึดมาก” พ่อพูดถึงวัว

ถึงที่สุด “ไอ้เฒ่า” ก็ถูกฆ่าโดยลุงคนหนึ่งของผม

โดยใช้วิธีนั่งเฝ้าซาก

“มันแก่มาก ฟันฟางหักเกือบหมด” ลุงผู้ยิงไอ้เฒ่า เล่าให้ฟัง

“เพราะแบบนี้ ถึงจ้องแต่จะเอาวัวเรา” นอกจากจะมีชื่อให้คู่ปรับ พ่อก็เคยเล่าให้ผมฟังเรื่องที่เรียกกวางตัวผู้ตัวหนึ่งว่า “ไอ้แหบ”

“เรียกตามเสียงที่มันร้องนั่นแหละ เสียงแหบๆ”

ไอ้แหบ เป็นกวางที่อึด หลายคนที่เคยพบและยิง จะบอกว่าไอ้แหบมี “ของดี” แน่ ยิงไม่เคยโดน หรือโดน แต่ก็ไม่เข้า

“ตอนหลังมันก็หายๆ ไป ไม่มีใครยิงได้หรอก”

สมัยเด็กๆ ผมได้รับโอกาสให้ตามเข้าดงบ้าง ได้นั่งข้างกองไฟฟังเรื่องราวต่างๆ

พ่อออกจากดงในช่วงเวลาซึ่งเรียกได้ว่า “ป่าแตก”

การหักร้างถางพง โค่นไม้ใหญ่ กระทั่งป่ามหาศาลกลายเป็นทุ่งข้าวโผดกว้างไกลสุดตา

เวลาผ่านไป ไร่ข้าวโผดกลายเป็นสนามกอล์ฟ รีสอร์ต และโรงแรมหรู มูลค่าที่ ไร่หนึ่งหลายล้านบาท

“ตอนนั้นมีคนจะเอามาขายไร่ละไม่กี่บาท พ่อไม่เอา ไกลก็ไกล ต้องขี่ม้าไปเป็นวันๆ”

พ่อเล่าถึงที่ซึ่งมีราคาไร่ละหลายล้านบาทในวันนี้

นั่งฟังเรื่องราวต่างๆ ข้างกองไฟ

ดูเหมือนว่าวิถีนี้จะไม่ได้จากผมไปไหน ถึงวันนี้ผมยังทำเช่นนี้ตลอด

ผมนึกถึงการตั้งชื่อให้สัตว์ป่าของคนในยุคก่อน

เมื่อมีโอกาสร่วมงานกับนักวิจัย ผมก็พบว่า สัตว์ป่าที่เหล่านักวิจัยทำการศึกษาก็ได้รับชื่อเช่นกัน

มีเสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่งอายุราว 4 ปี ที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง จับเพื่อสวมปลอกคอ ติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุในระบบผ่านดาวเทียม

ได้รับชื่อว่า “ทองอารีย์”

มันเป็นเสือตัวเมียที่แข็งแรง แกร่ง ชื่อของมันตั้งตามนามสกุลคุณศิริพร หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าฮาลาบาลา ที่อยู่ในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

ฮาลา-บาลา ไม่เพียงเป็นพื้นที่ป่าดิบชื้น อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ห่างไกล

แต่นี่คือพื้นที่สีแดง เหตุร้ายจากความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยๆ

ไม่มีใครอยากลงไปเป็นหัวหน้าที่นี่นักหรอก

คุณศิริพร หรือพี่พร อยู่ที่นี่จนถึงวันเกษียณ

“เราต้องจับเสือตัวเมียที่เป็นเพื่อนบ้าน “พิไล” อีกตัว” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ หัวหน้าโครงการ วางแผน

ก่อนหน้านั้นหลายเดือน เราจับเสือโคร่งตัวเมียได้ และตั้งชื่อว่า พิไล ตามชื่อของ ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก

มันมีอาณาเขตอยู่ในบริเวณที่ ดร.พิไล เคยใช้เป็นพื้นที่ศึกษา และมีแคมป์อยู่

ข้อมูลที่ได้จากพิไล ซึ่งกำลังมีลูกอายุราว 8 เดือน ใช้พื้นที่ราวๆ 30 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น

โดยปกติ เสือโคร่งตัวเมียจะใช้พื้นที่ 60-70 ตารางกิโลเมตร

“อาจเป็นเพราะบริเวณที่พิไลอยู่มีเหยื่อมาก เสือจึงไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ” หัวหน้าโครงการให้ข้อสังเกต

“จะให้รู้แน่ต้องจับเสือที่เป็นเพื่อนบ้านมาศึกษาเปรียบเทียบ”

เราเริ่มงาน เข้าไปปักหลักอยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง

นานนับเดือน การทำงานกับเสือไม่ง่ายดาย

โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายคือจับเสือตัวเมีย

ร่วมๆ หนึ่งเดือน เราทำงานสำเร็จ เสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่งพลาด จากการติดตามไประยะหนึ่ง ดูเหมือนทองอารีย์จะยังไม่มีอาณาเขตแน่นอน

หลังอายุครบ 4 ปี เสือโคร่งตัวหนึ่งจึงจะเข้มแข็งพอจะเข้าครอบครองอาณาเขตของตัวเองได้

ช่วงที่ยังหาไม่ได้ มันจะเดินทางไปเรื่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปล่าเหยื่อในพื้นที่ซึ่งมีเจ้าของ

วันใดเข้มแข็งพอก็ได้ครองพื้นที่

วันนั้นย่อมมีเสือตัวหนึ่งต้องจากไปด้วยสภาพอันอ่อนล้า

ข้อมูลบอกให้เรารู้ถึงการเดินทางของทองอารีย์

การเดินในป่าเพื่อตรวจสอบการล่าเหยื่อของทองอารีย์ คืองานอีกอย่างหนึ่ง

“เดือนนี้เราน่าจะเดินกันเป็นร้อยกิโลแล้วนะครับ” ถาวร ผู้ช่วยนักวิจัย ที่เดินตามหลังอ่อนสา ผู้เป็นลูกพี่ หันมาพูดกับผม ขณะเดินไปตามด่าน ฝนตกพรำๆ ด่านค่อนข้างรก และลื่นไถล

การเดินวันละกว่า 20 กิโลเมตร คือเรื่องธรรมดา

ในตำแหน่งล่าสุด เราพบซากกระทิงโตเต็มวัยที่ทองอารีย์ล่าได้

อีกไม่นาน ทองอารีย์คงหาพื้นที่ได้

ดูเหมือนว่ามันจะเข้มแข็งพอแล้ว

ฝนตกหนัก ลมแรง ฟ้าแลบแปลบปลาบ สลับส่งเสียงครืนๆ น้ำในห้วยเพิ่มระดับ ไหลแรง ละอองฝนพัดปลิวเข้าใต้ผ้ายาง

ผมนั่งข้างกองไฟ มือดันผ้ายางให้น้ำเทลงด้านข้าง

นึกถึง “ชื่อ” ที่เราตั้งให้สัตว์ป่า

เราตั้งชื่อให้พวกมัน จากสิ่งที่เป็นทรรศนะของเรา

สำหรับสัตว์ป่า พวกมันคงไม่ได้เรียกกันด้วย “ชื่อ”

เพราะการกระทำ รวมทั้งวิถีชีวิต

บอกให้รู้แล้วว่า

ตัวไหนเป็น สัตว์ชนิดใด…