ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ธเนศวร์ เจริญเมือง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ
กับอนาคตของการเมืองระดับชาติ
และการปกครองท้องถิ่น (จบ)
ผลกระทบต่อการเมืองระดับชาติ
เมื่อคุณภาพต่างๆ ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการในห้วงเดือนมานี้แตกต่างอย่างมากกับคุณภาพของผู้นำระดับชาติที่ครองตำแหน่งมายาวนานถึง 8 ปี อีกทั้งยืนยันที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีก
ผลก็คือการเปรียบเทียบยิ่งคึกคักมากขึ้น และความปรารถนาร่วมของผู้คนที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่าก็จะยิ่งเข้มข้นกว่าเดิม
สังคมกำลังเกิดความตระหนักว่า ที่สุดแล้ว ประเทศไหนก็ไม่ได้ไร้ความหวังและความฝัน
เพียงแต่ทุกอย่างย่อมอาศัยเวลา การจัดตั้งขบวนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ที่ควรตระหนักว่าเส้นทางของรัฐเมืองขึ้นกับของรัฐกึ่งเมืองขึ้นนั้นไม่เหมือนกัน
ผลกระทบต่อการปกครองท้องถิ่น
ในระดับทั่วประเทศ
ไม่เพียงแต่คนจำนวนหนึ่งปรารถนาจะเห็นผู้ว่าฯ คนนี้ได้ตำแหน่งที่สูงกว่านี้โดยเร็ว คนจำนวนไม่น้อยในต่างจังหวัดก็เริ่มตระหนักว่าพวกเขาก็อยากได้ผู้ว่าฯ เลือกตั้งเหมือนคนกรุง
หนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ระบบการศึกษาของเราเน้นวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาแพทย์และวิศวะ รัฐศาสตร์และการบริหารท้องถิ่นถูกบิดเบือนให้เน้นแต่ความเป็นข้าราชการ และการมีอำนาจ คนจบปริญญาตรีแทบทุกคณะไม่มีโอกาสได้เรียนวิชาการเมืองและประวัติศาสตร์ที่สอนมุมมองต่างๆ และแนวทางสร้างประเทศใหม่ การเมืองที่มีผลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คนและสังคมทั้งเมืองในชนบท แต่กลับไม่มีการสอนความรู้เหล่านั้น
ที่เป็นเช่นนี้ในปัจจุบันก็เพราะอดีตถูกทำให้เป็นเช่นนั้น รัฐอำนาจนิยมย่อมไม่ส่งเสริมการศึกษาเพื่อเปิดหูเปิดตาของประชาชน
การปฏิรูประบบการศึกษาต่อไปจึงต้องปรับปรุงวิชารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์เสียใหม่ เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพ และสร้างพลเมืองที่มีความเข้าใจถูกต้องต่อสังคมและการเมืองและสำนึกต่อส่วนรวม
สอง เพราะที่ผ่านมา รัฐรวมศูนย์อำนาจทุกอย่างไว้ที่ส่วนกลาง เมื่ออำนาจและผลประโยชน์กระจุกตัวที่เมืองหลวง กิจกรรมสำคัญและหน่วยการปกครองทุกๆ ด้านจึงกระจุกตัวที่นั่นด้วย ผลก็คือ กรุงเทพฯ กลายเป็นเอกนคร (Primate City) หรือเมืองโตเดี่ยว อันเป็นสภาวะของรัฐรวมศูนย์อำนาจระดับรุนแรงที่มีเมืองใหญ่มากๆ แตกต่างอย่างมากจากเมืองอื่นๆ หลายสิบเท่า
ผลคือเป็นทั้งศูนย์รวมความเจริญและศูนย์รวมปัญหาต่างๆ มีปัญหาของเมืองมากมาย ดังที่ผู้ว่าฯ จาระไน และชาวเมืองก็ควรตระหนักในเรื่องนี้
สาม การรวมศูนย์อำนาจก่อให้เกิดการรวมศูนย์ความเจริญและรวมศูนย์ปัญหาต่างๆ มีการรวมศูนย์อำนาจก็เพราะมีการทำลายอำนาจของท้องถิ่น แต่งตั้งผู้ว่าฯ และหน่วยงานส่วนภูมิภาคให้ไปควบคุมและครอบงำท้องถิ่นทุกระดับ ส่งผลให้ท้องถิ่นอ่อนแอ มีอำนาจและงบประมาณจำกัด เมื่อท้องถิ่นด้อยพัฒนา ผู้คนจึงทะลักเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ ส่งผลให้เมืองกลายเป็นศูนย์รวมทุกสิ่งทุกอย่างมากขึ้นๆ
เมื่อท้องถิ่นอ่อนแอ ผู้นำ อปท.ถูกจำกัดอำนาจและบทบาท ยิ่งนานออกไป อปท.จึงมีลักษณะเป็นระบบราชการกลายๆ ขาดความริเริ่ม ขาดอัตลักษณ์
และระบบผู้ว่าฯ แต่งตั้งที่เต็มไปด้วยเส้นสาย กลายเป็นตำแหน่งที่ไม่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น เพียงแต่ย้ายไปดำรงตำแหน่งตามกฎเกณฑ์ แทบไม่ได้แก้ไขเรื่องใดในท้องถิ่น มีแต่งานตัดริบบิ้น งานรับแขก งานเซ็นเอกสาร เพราะอำนาจกระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง
ผู้ว่าฯ รอรับคำสั่ง และผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ก็คือคนอายุใกล้ 60 ปี เช่น ในวันที่ 30 กันยายนปีนี้ จะมีผู้ว่าฯ ทั่วประเทศถึง 61 จังหวัดที่จะเกษียณอายุ
สี่ การรวมศูนย์อำนาจและการไม่ยอมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ผลก็คือ ปัญหาจำนวนมากในเมืองหลวงที่กลายเป็นภาระใหญ่ และถมทับด้วยปัญหาคนต่างจังหวัดอพยพเข้าไปเพิ่มทุกๆ ปี การที่ต่างจังหวัดต้องเผชิญปัญหาทับซ้อนระหว่าง อปอ.กับส่วนภูมิภาค (แถมด้วยส่วนกลางในหลายพื้นที่) ผู้ว่าฯ และข้าราชการส่วนภูมิภาคต้องโยกย้ายบ่อยๆ ปัญหาจำนวนมากจึงไม่ได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมา อปท.มีบทบาทจำกัด
มีคนตั้งคำถามว่า เหตุใดเราจึงไม่เห็นงานริเริ่มสร้างสรรค์ของ อปท.แต่ละแห่ง
คำถามสำคัญก็คือ ในยามที่ อปท.แต่ละแห่งถูกร้อยรัดด้วยกฎเกณฑ์ต่างๆ จากส่วนกลาง ควบคุมแม้กระทั่งการกำหนดวาระการประชุม และชุดเครื่องแต่งกายในการประชุมแต่ละครั้ง ตลอดจนการตรวจสอบการใช้งบประมาณและโครงการต่างๆ จากหลากหลายงานของส่วนกลาง ยังไม่รวมความซ้ำซ้อนของงานของ อปท. และหน่วยงานส่วนภูมิภาค เราควรคาดหวังว่า อปท.จะมีบทบาทต่อไปอย่างไร
ห้า ตั้งแต่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา แสงประชาธิปไตยที่สว่างวาบเหนือเอกนครที่หม่นมัวมาตลอด 8 ปีจึงสาดแสงจ้าออกไปทั่วประเทศ 1 เดือนผ่านไป แสงนี้ไม่เพียงส่องให้เห็นความน่าชังของระบอบเผด็จการในระดับบน หากยังสาดส่องไปถึงความเงียบขรึมและวังเวงของการปกครองท้องถิ่นในต่างจังหวัดอีกด้วย เกิดคำถามถึงคนรักประชาธิปไตยและความปรารถนาก็ตามมา
หก ต้องขอบคุณทัศนะ ผลงานและการทุ่มเทของผู้ว่าฯ กทม.ในรอบเดือนเศษนี้ ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมหลายๆ ด้านต่อการเมืองระดับชาติและการปกครองท้องถิ่น
ที่น่าสนใจคือทั้งสองไม่ได้แสดงความพยายามที่จะปรับตัวตามสะท้อนทัศนะอนุรักษ์หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ร้อยรัดไว้
ข้อ 1. ตราบใดที่ไม่มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ อปท.ในแต่ละจังหวัดได้บริหารงานอย่างเต็มศักยภาพ ตราบนั้น ปัญหาหลัก 2 ข้อที่มีอยู่ก็จะดำรงอยู่ต่อไป
นั่นคือ
1. กทม.ก็จะยังคงเป็นแหล่งรองรับคนต่างจังหวัดที่อพยพเข้าไปอย่างไม่สิ้นสุด และกลายเป็นปัญหายืดเยื้อของ กทม.
และ 2. ต่างจังหวัดก็ยังคงเผชิญปัญหาการทับซ้อนในการบริหารงานหน่วยงานส่วนกลางในพื้นที่-ส่วนภูมิภาคและ อปท. ตลอดจนปัญหาการขาดอำนาจและงบประมาณของ อปท.ที่ดำเนินมาทุกยุค เมื่อยังไม่มีการแก้ไข สังคมไทยก็ไม่อาจเห็นความสามารถและอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่จะสร้างสรรค์โครงการใหม่ๆ ให้เกิดความคึกคักและหลากหลายกันทั้งประเทศ ฯลฯ
ข้อ 2. ต่อกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดต่างๆ ในอดีต กระทรวงมหาดไทยอ้างว่าขัดกับหลักกฎหมาย ตำแหน่งผู้ว่าฯ เป็นส่วนหนึ่งหน่วยงานส่วนภูมิภาค เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ได้ ประเด็นก็คือ จะเพิ่มบทบาทของนายก อบจ. (หรือจะเรียกใหม่ว่าผู้ว่าฯ เลือกตั้ง) หรือจะแก้ไขกฎหมายอย่างไรให้คนต่างจังหวัดได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ และท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้นในการจัดการบริหารท้องถิ่นของตน พร้อมกับให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคของกระทรวงต่างๆ ไปขึ้นต่อนายก อบจ. (หรือผู้ว่าฯ เลือกตั้ง) ทั้งหมด และให้ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารท้องถิ่น
การที่ส่วนกลางยังพยายามหวงอำนาจไว้ด้วยการรักษาอำนาจและบทบาทของหน่วยราชการส่วนภูมิภาคตลอดมา ส่งผลให้เกิดการทับซ้อนของหลายหน่วยงาน (กระทั่งมีหน่วยบริหารส่วนกลางในท้องถิ่น)
ประเด็นก็คือ
2.1 จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนอย่างไร นั่นคือ การรวมส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในพื้นที่เข้ากับส่วน อบจ.ให้เป็นหน่วยงานเดียวกัน โดยมีผู้ว่าฯ เลือกตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ส่วนข้าราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในพื้นที่ที่ไม่ประสงค์จะอยู่กับท้องถิ่น ก็ให้ย้ายไปอยู่กับส่วนกลาง ฯลฯ
2.2 จะดำเนินการตามข้อ 2.1 พร้อมๆ กันทุกๆ จังหวัด หรือจะดำเนินการทีละขั้น เช่น ครั้งละ 3-4 จังหวัด เริ่มที่นนทบุรี สมุทรปราการ โคราช ภูเก็ต ก่อน หรือจะเดินแนวทางอย่างอื่น
ข้อเจ็ด คำถามสำคัญกว่านั้นคือ คนต่างจังหวัดจะผลักดันเพื่อให้การกระจายอำนาจก้าวต่อไปอย่างไรต่อจากนี้ เช่น จัดตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้ ระหว่างตัวแทนจากสถาบันการศึกษา จากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค (และส่วนกลางในพื้นที่) จาก อปท.และจากภาคประชาสังคม เป็นรายกลุ่มจังหวัด ต่อจากนั้น จึงมีการประชุมเผยผลการศึกษา ทั้งในระดับกลุ่มจังหวัด และระดับภาค จนถึงการรวมตัวกันและรณรงค์ในระดับประเทศ
อนึ่ง เนื่องจากการปกครองท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดมี 2 ระดับ คือ ระดับบน หรือระดับจังหวัด คือ อบจ. ส่วน ระดับล่าง คือ เทศบาล และ อบต. ที่ครอบคลุมเต็มพื้นที่ของจังหวัด แน่นอนว่าจะต้องมีการร่วมงานและร่วมศึกษาปัญหาทั้งหมดกับเทศบาล และ อบต.ด้วย ว่างานระดับจังหวัดจะสัมพันธ์กับงานของเทศบาลและ อบต.อย่างไร หรืออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร เนื่องจากอำนาจการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา เป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษซึ่งครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ เป็น งานระดับเดียว ผิดกับจังหวัดอื่นๆ ที่มี 2 ระดับ
ข้อแปด นี่คือกิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ต้องใช้สติปัญญา และการศึกษาค้นคว้าแลกเปลี่ยนกันอย่างมาก จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลา และมีการเปิดเผยข้อมูลความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลวงกับต่างจังหวัด และปัญหาของระบบการบริหารงานที่ทับซ้อนกันมานาน และนำเสนอต่อสาธารณะ
เพื่อให้ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดได้เข้าใจและออกมาร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโดยเร็ว
คำส่งท้าย
ในรอบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา การเลือกตั้งผู้ว่าฯ และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในหลายๆ ประเทศเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จ ผลักดันประเทศเหล่านั้นให้เจริญก้าวหน้าไปอย่างน่าศึกษาและชวนติดตามอย่างยิ่ง
ประเทศเหล่านั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ และอาเจะห์ของอินโดนีเซีย ฯลฯ
ประเทศเหล่านี้ได้ให้บทเรียนที่หลากหลาย และให้ข้อคิดที่ดียิ่งแก่เราที่จะก้าวตามไปเพื่อท้องถิ่นที่ดีกว่าและเพื่อคุณภาพชีวิตของลูกหลานและประเทศของเราในวันข้างหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022