เหตุลอบยิง ‘ชินโสะ อาเบะ’ โศกนาฏกรรมสะเทือนใจคนทั้งโลก/บทความต่างประเทศ

This screen grab shows former Japanese prime minister Shinzo Abe lying on the ground after he was shot from behind by a man during an election campaign for the July 10, 2022 Upper House election in Nara, western Japan, July 8, 2022 in this photo taken by Kyodo. Kyodo/via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE WAS PROVIDED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. JAPAN OUT. NO COMMERCIAL OR EDITORIAL SALES IN JAPAN. TRIMMING TO CLOSE UP ABE IS NOT ALLOWED.

บทความต่างประเทศ

 

เหตุลอบยิง ‘ชินโสะ อาเบะ’

โศกนาฏกรรมสะเทือนใจคนทั้งโลก

 

ในขณะที่วงการการเมืองญี่ปุ่นกำลังพุ่งความสนใจไปที่การหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงก่อนหน้าการเลือกตั้งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายชินโสะ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น วัย 67 ปีในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ซึ่งกำลังปราศรัยอยู่ที่เมืองนารา ถูกชายปริศนาควักปืนลูกซองประดิษฐ์ความยาว 16 นิ้ว ยิงใส่จากด้านหลัง 2 นัดจนเสียชีวิต

นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก

การลอบสังหารครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ไม่ใช่เพราะความโหดร้ายของมือปืนที่ยิงใส่อาเบะในระยะเผาขนเท่านั้น

แต่ยังหมายถึงการเสียชีวิตของอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่คนทั่วโลกจำได้มากที่สุดคนหนึ่งจากการดำรงตำแหน่งยาวนานกวา 7 ปี

ทำสถิติเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานมากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ปี 2555-2563 ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งด้วยปัญหาสุขภาพ

 

ชินโสะ อาเบะ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการบริหารงานหลายเรื่อง แต่ก็ได้รับเสียงชื่นชมในฐานะผู้นำที่พาประเทศญี่ปุ่นฟื้นฟูจากเหตุคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มญี่ปุ่นในปี 2554 ที่ตามมาด้วยวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟุคุชิมา

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่าง “อาเบะโนมิกส์” นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คุ้นหูคนทั่วโลก

ไม่เพียงเท่านั้น อาเบะยังมีภาพที่ติดตาจากการแต่งตัวเป็น “มาริโอ้” แคแร็กเตอร์ในเกมชื่อดัง รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกที่ริโอเกมส์ ในเมืองริโอเดอจาเนโร เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา

ขณะที่เอาเบะเองก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ “กรุงโตเกียว” ได้สิทธิเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 2564 จากการกล่าว “สุนทรพจน์ทรงพลัง” เรียกคะแนนให้ประเทศญี่ปุ่นได้ในวินาทีสุดท้าย

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั้งโลกก็คือเหตุการณ์ใช้ปืนก่ออาชญากรรมอันอุกอาจครั้งนี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นประเทศที่อาชญากรรมและความรุนแรง “จากอาวุธปืน” เกิดขึ้นน้อยมาก

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเป็นผลมาจากกฎหมายการครอบครองอาวุธปืนของญี่ปุ่นที่เข้มงวด และมีโทษในระดับสูงหากฝ่าฝืน โดยกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นห้ามพลเรือนครอบครองอาวุธปืน โดยจะอนุญาตให้เฉพาะนักล่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้นที่สามารถครอบครองปืนไรเฟิลได้ นอกจากนี้ ผู้ครอบครองปืนต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบละเอียดยิบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารับการฝึกอบรม สอบข้อเขียนประเมินสุขภาพจิตและตรวจสอบประวัติอาชญากรรมอย่างละเอียด

สำหรับผู้ที่ครอบครองปืนโดยผิดกฎหมายมีโทษจำคุกยาวนานถึง 10 ปี หรือหากครอบครองปืนมากกว่า 1 กระบอก โทษจะสูงขึ้นเป็นจำคุก 15 ปี โดยโทษจะบวกเพิ่มเป็นเท่าตัวหากมีครอบครองเครื่องกระสุนที่ใช้กับปืนที่ครอบครองไว้ด้วย

ยิ่งกว่านั้น กฎหมายยังกำหนดไว้ด้วยว่าหากใครก็ตามชักปืนออกมาในรถไฟ รถบัสหรือสถานที่สาธารณะ โทษจะรุนแรงถึงขั้น “จำคุกตลอดชีวิต” เลยทีเดียว

นั่นส่งผลให้อาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนในญี่ปุ่นจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่ม “แก๊งยากูซ่า” ซึ่งมักจะไม่เข้ามายุ่งกับคนทั่วไป และแก๊งยากูซ่าเหล่านี้ก็จะหลีกเลี่ยงการใช้ “ปืนจริง” และเลือกที่จะใช้ “ปืนของเล่น” ในการข่มขู่เหยื่อมากกว่า ซึ่งคดีลักษณะนี้อาจมีโทษจำคุกเพียง 2-3 ปีเท่านั้น

ทำให้ญี่ปุ่นมีเหตุรุนแรงจากอาวุธปืนน้อยมากๆ โดยเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับปืนในแต่ละปีเพียง 10 คดีเท่านั้น ขณะที่ในปี 2560 มีคนเสียชีวิตจากปืนเพียงแค่ 3 ราย

 

เหตุสังหารโหดครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในญี่ปุ่น ในปี 2559 เคยเกิดเหตุสังหารหมู่ที่สถานพักฟื้นผู้ป่วยทางจิต ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 19 ราย แต่ผู้ก่อเหตุก็ไม่ได้ใช้ปืน แต่ใช้เพียงแค่ “มีด” เท่านั้น

ขณะที่เหตุการณ์สังหารหมู่อีกเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 36 รายเป็นเหตุการณ์ที่นักวาดการ์ตูนผู้โกรธแค้นที่ถูกขโมยผลงานใช้ “น้ำมัน” วางเพลิงสตูดิโอเกียวโดแอนิเมชั่นในปี 2562

หากมองไปที่การลอบทำร้ายนักการเมืองนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมากนักเช่นกัน โดยหากย้อนกลับไปในปี 2503 นายอิเนจิโระ อาซานุมะ ผู้นำพรรคสังคมนิยม ถูกคนร้ายผู้มีแนวคิดทางการเมืองขวาจัดใช้ “ดาบซามูไร” บุกแทงที่หน้าท้องจนเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจ

อีกเหตุการณ์ที่โด่งดังที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิถูกยิงเสียชีวิตโดยแก๊งอาชญากรรมกลุ่มหนึ่ง และเหตุการณ์ดังกล่าวก็นำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมปืนที่เข้มงวดตามมานับตั้งแต่นั้น

 

สําหรับแรงจูงใจของนายเท็ตสึยะ ยามากามิ ผู้ก่อเหตุวัย 41 ปี ใช้อาวุธปืนประดิษฐ์ 2 ลำกล้องยิงสังหารนายอาเบะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า ก่อเหตุเนื่องจากความไม่พอใจกับกลุ่มองค์กรทางศาสนากลุ่มหนึ่งที่ทำให้แม่ต้องหมดเนื้อหมดตัว และตัวนายยามากามิเองก็เชื่อข่าวลือว่านายอาเบะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรดังกล่าว

จากการสืบสวนระบุว่ายามากามิศึกษาการประดิษฐ์ปืนจาก “ยูทูบ” และยังประดิษฐ์ปืนอีกหลายรูปแแบบทั้งแบบ 3, 5 และ 8 ลำกล้อง

นอกจากนี้ ก่อนที่จะลงมือ นายยามากามิยังฝึกยิงปืนบนภูเขา เลือกปืนที่รุนแรงที่สุด และใส่กระสุนที่ซื้อผ่านโลกออนไลน์มาใช้ในการสังหาร

จากนี้การสืบสวนตามกระบวนการทางกฎหมายจะต้องดำเนินการต่อไป โดยนายยามากามิก็ต้องรับโทษไปตามกฎหมาย แต่สิ่งที่จะถูกตั้งคำถามก็คือระบบการรักษาความปลอดภัยในวันเกิดเหตุ ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองนารา รวมถึงตำรวจจากกรุงโตเกียวจำนวนหลายสิบนายที่อยู่ในที่เกิดเหตุ

และเรื่องนี้คงต้องเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปว่า ในอนาคตจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยได้อย่างไร