‘เจ็บ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เจ็บ’

 

ผมเชื่อในเรื่องของการโตตามวัย และอยู่ในวัยนั้นให้ดี

ที่จริง วิถีนี้เป็นสิ่งที่ผมยึดถือตามสัตว์ป่า อย่างที่พวกมันใช้ในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ชนิดใด ได้รับมอบหมายมาให้เป็นสัตว์ผู้ล่า หรือเหล่าสัตว์กินพืชตั้งแต่เกิด

สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรียนรู้ รับการถ่ายทอดทักษะต่างๆ จากแม่และพ่อ ขาดการเรียนรู้ไม่ได้รับโอกาสในวัยเริ่มต้น วันเวลาที่ผ่านไปย่อมไร้ความหมาย

เติบโตขึ้น ถึงวัยอาวุโสพอ ก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ รวมทั้งทักษะในการดำเนินไปตามวิถีให้กับผู้อ่อนวัยกว่า พวกมันใช้วันเวลาในวัยอย่างเหมาะสม

เติบโตไปตามวัยและอยู่ในวัยนั้นให้ดี

อีกนั่นแหละ เราต่างรู้ดีว่า ไม่ว่าจะ “โต” แค่ไหน แต่ในบางสถานการณ์ กับบางคน ดูเหมือนว่าเรายังเป็นเด็กๆ อยู่เสมอ

 

หลายปีมานี้ ผมกลับมาใช้วิธีการทำงานแบบครั้งที่เริ่มต้นอีก นั่นคือใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในซุ้มบังไพร ซึ่งเป็นพื้นที่แคบๆ กลางป่า

พื้นที่ในซุ้มบังไพรว่าตามจริงมันไม่กว้างเลย พูดว่าแคบกระทั่งแทบขยับตัวไม่ได้ ก็ไม่เกินจริงสักเท่าไหร่ เมื่อวางขาตั้งกล้อง ประกอบกล้องกับเลนส์ 400 มิลลิเมตร อุปกรณ์นี้กินเนื้อที่ในซุ้มบังไพรกว่าครึ่ง

อีกทั้งเป้ใส่กล้อง กระบอกน้ำ กล่องข้าว ที่วางบนพื้นไม่ได้เพราะมดจะเข้ารุมตอม ต้องใส่ถุงผ้าและแขวนไว้

ความร้อนอบอ้าวนั่นเป็นสิ่งปกติ เพราะผมปิดช่องทุกช่อง เปิดเฉพาะช่องด้านหน้าเล็กๆ มันช่วยให้กลิ่นกายลอยออกไปน้อยลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าสัมผัสได้ ถ้ากระแสลมไม่เป็นใจ ผมเป็นฝ่ายอยู่เหนือลม

เคร่งครัด หาทางลดกลิ่นกาย เป็นการขออนุญาตและแสดงความเคารพแบบหนึ่ง

อย่างที่ผมบอกเสมอๆ ว่า สัตว์ป่ารู้ตัว รู้ว่าผมอยู่ที่นั่น รูปที่ได้ เพียงเพราะพวกมันอนุญาต

 

ทํางานอย่างเคร่งครัดอยู่ในซุ้มบังไพรติดต่อกันหลายๆ วัน ไม่รื่นรมย์นักหรอก ในช่วงฤดูแล้ง หากเฝ้ารออยู่บริเวณแหล่งน้ำ ก็คล้ายจะไม่เงียบเหงาสักเท่าไหร่

ในช่วงฤดูฝนนั่นแหละ การนั่งนิ่งๆ วันละ 9-10 ชั่วโมงโดยไม่ได้กดชัตเตอร์สักครั้งเป็นเรื่องธรรมดา

ฤดูฝน ป่าเขียวสดชื่น ต้นไม้ดูร่าเริง สายหมอกลอยระเรี่ยภูเขาและเหนือยอดไม้ แต่ข้างล่าง มันคือความชื้นแฉะ ทางด่านลื่นไถล เดินแต่ละก้าวเท้าจมลงโคลน อีกทั้งบนใบไม้ที่ทับถม ทากชูตัวสลอน

ในซุ้มบังไพรเต็มไปด้วยยุงก้นขาว มันดูดเลือด และทิ้งแผลคันๆ ไว้

ค่ำๆ กลับถึงแคมป์ ควันจากกองไฟไม่ช่วยให้ตัวริ้นเบาบางลง

อุปกรณ์ทำงาน ชื้นพอๆ กับเสื้อผ้า ย่างกับกองไฟให้แห้ง กลิ่นอับๆ ของเสื้อติดไปนาน

อยู่ในที่แคบๆ ตั้งแต่เช้าตรู่กระทั่งพลบค่ำ มีเวลามากมายให้นึกถึงเรื่องราวต่างๆ ในฤดูฝนช่วงเวลาแห่งการเดินที่ลื่นไถล เส้นทางสัญจรยากทั้งโดยรถ และเดิน

ผมนึกถึงคำว่า ล้ม บ่อยๆ ทุกครั้งที่ล้ม นั่นทำให้รู้ว่า ขณะเดินได้อย่างมั่นคง มีความหมายเช่นไร

หมีควาย – หมีควายไม่มีอาณาเขตที่แน่นอนนัก พวกมันเดินทางโดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด

ฤดูฝนทำให้เส้นทางที่เคยใช้รถเดินทางสัก 4 ชั่วโมง เปลี่ยนเป็น 8 ชั่วโมงหรือกว่านั้น ทุกครั้งที่ถึงเนินสูงชันลื่นไถล ที่ผมเคยพาเจ้านิคพาหนะหงายท้องก่อนไต่ขึ้นไป ผมจะหยุดตั้งสติ ใส่เกียร์โลว์ และใช้เกียร์สองเร่งเครื่องขึ้นไปอย่างระวัง

หรือหล่มลึกอื่น หล่มไหนที่เคยจมเคยติด ผมก็รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เร่งเครื่อง หรือค่อยๆ ลงไปแล้วใช้วินซ์ดึง

บางครั้งหากวินซ์เสีย ซึ่งมักจะมาเป็นแพ็กเกจแบบรถติดหล่ม ฝนตก วินซ์เสีย เราต้องใช้วิธีกระดี่ หาไม้มางัดล้อให้สูงเอาหินรองล้อเพื่อให้เพลาที่ติดโคลนลอยขึ้น

ทั้งนี้เพราะเคยติดหล่ม รถจมโคลน เดิน 10-20 กิโลเมตร เหล่านี้ช่วยให้เรียนรู้หาวิธีอันหลากหลายเพื่อนำรถให้ผ่านอุปสรรคไปให้ได้

แต่สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้สิ่งหนึ่งคือ หนทางแก้ไขต่างๆ นั้น บางวิธีอาจทำไม่ได้ด้วยแรงของคนคนเดียว

 

แม้อยู่ในวัยอาวุโส แต่เมื่ออยู่กับแม่ ผมก็คล้ายเด็กชายคนหนึ่ง

“ระวังตัวดีๆ นะลูก และขอให้พระคุ้มครอง” เป็นประโยคซ้ำๆ ที่แม่พูดกับผมทุกครั้งที่เข้าไปบอกว่าผมจะกลับไปทำงาน

แม่รับรู้ข่าวร้ายๆ จากป่า ทั้งคนทำงานในป่าปะทะกับคนล่าสัตว์ บาดเจ็บ เสียชีวิต หลายคนปะทะกับสัตว์ป่า

ข่าวต่างๆ เหล่านี้ทำให้แม่กังวล

สิ่งต่างๆ ที่มากับการทำงานในป่า ทำให้งานไม่ง่ายนัก

นั่งนิ่งๆ ในซุ้มบังไพร แคบๆ กับป่าอันกว้างใหญ่ ผมคิดทบทวนถึงความผิดพลาด เรียนรู้จากความพลาดเพื่อก้าวเดินอย่างมั่นคงไปข้างหน้า

ฤดูมรสุมบนหนทางลื่นไถล โอกาสล้มมีมาก ไม่ว่าจะระมัดระวังเพียงใด

ผมล้มบ่อยๆ บาดแผลจากการล้ม บางแผลเป็นรอยแผลเป็นมองเห็น บางแผลมองไม่เห็น

แต่ไม่ว่าล้มและมีแผลแบบใด ผมจะไม่บอกให้แม่รู้

เพราะรู้ดีว่า คนที่จะ “เจ็บ” กว่าคือใคร •