เกษียร เตชะพีระ : เกาะบ่าครูเบ็น ส่องเลนส์อุดมการณ์ (3)

เกษียร เตชะพีระ

วลี “el demonio de las comparaciones” ในภาษาสเปน หรือ “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ในพากย์ไทย ซึ่งครูเบ็นยืมมาเป็นชื่อหนังสือรวมบทความเล่มหนึ่งของท่านเรื่อง The Spectre of Comparisons (ค.ศ.1998) จากข้อเขียนของ Jose Rizal (ค.ศ.1861-1896) ปัญญาชนต้นแบบนักชาตินิยมฟิลิปปินส์ผู้ต่อต้านเจ้าอาณานิคมสเปนจนถูกประหารชีวิต ในนิยายลือชื่อของเขาเรื่อง Noli Me Tangere (ค.ศ.1887, แปลเป็นไทยโดยอาจารย์จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล ในชื่อ อันล่วงละเมิดมิได้, พ.ศ.2548) นั้นมีนัยความหมายอันยอกย้อนน่าสนใจ

ในนิยายเรื่อง อันล่วงละเมิดมิได้ ริซัลเขียนถึงสถานการณ์สองสถานการณ์ที่ทับซ้อนประกบคู่กันอันรบกวนความคิดจิตใจ ค่าที่ประจักษ์พยานผู้ประสบพบเห็นมันนั้นอดใจไว้ไม่ไหวที่จะจับมันมาเปรียบเทียบกัน มิไยว่าสถานการณ์ทั้งสองจะแยกห่างต่างหากจากกันในแง่เวลาและสถานที่สักเพียงใด ริซัลเรียกตัวการที่นำประสบการณ์ดังกล่าวนี้มาให้ว่า “el demonio de las comparaciones” หรือ “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” นั่นเอง

ที่น่าทึ่งคือครูเบ็นได้ชี้ว่า “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ตนนี้ได้ปรากฏตัวให้เห็นเช่นกันในเรื่องสั้น “ผืนน้ำและแผ่นดิน” ของ ประทีป ชุมพล รองศาสตราจารย์เกษียณอายุราชการ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นักเขียนเรื่องสั้นและนิยายกลุ่ม “หนุ่มเหน้าสาวสวย” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

(ดู ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, น.220-239, 269; เรื่องสั้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2522 ในนิตยสาร โลกหนังสือ และได้รางวัลช่อการะเกดร่วมกับเรื่องสั้น “กำไลคอ” ของ สำรวม สิงห์)

เรื่องย่อของ “ผืนน้ำและแผ่นดิน” คือ ผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นนักศึกษาชายไม่ระบุชื่อจากมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านโกโรโกโสของชาวเลเกือบร้อยครัวเรือนราวสี่ห้าร้อยคนที่ทั้งสกปรกมอมแมมยากไร้ล้าหลังที่แหลมตุ๊กแกบนเกาะสิเหร่ติดเกาะภูเก็ต เพื่อทำรายงานชาติพันธุ์วิทยา/มานุษยวิทยาภาคสนามมาส่งครู

เมื่อไปถึง เขาได้ฟังคำบอกเล่าประวัติภูมิหลังและความขัดแย้งรุนแรงในหมู่บ้านจากปากยูโซป ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่พูดไทยได้ จึงทราบว่าเถ้าแก่เส็งซึ่งเป็นเจ๊กเจ้าของร้านค้าแห่งเดียวในหมู่บ้านได้หลอกล่อมูเนาะอดีตหัวหน้าหมู่บ้านขี้เมาให้เซ็นโอนใบ น.ส.3 ของที่ดินทั้งหมู่บ้านมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเถ้าแก่เอง

เมื่อมูเนาะตายลงอย่างลึกลับในทะเลและชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้เรียกร้องปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินจากทางราชการ ก็ปรากฏว่าพวกเขารอไปเหลวเปล่า มิหนำกลับถูกข่มขู่ สุดท้ายเถ้าแก่เส็งก็สมรู้ร่วมคิดต่อรองตกลงกับลามูหมอผีประจำหมู่บ้านซึ่งได้ขึ้นเป็นหัวหน้าหมู่บ้านคนใหม่ ที่จะไม่เก็บค่าเช่าชาวเลทั้งหมู่บ้านที่อาศัยที่ดินของเถ้าแก่เส็งอยู่ แลกกับการให้เถ้าแก่เส็งผูกขาดการค้าสินค้าเข้าออกหมู่บ้านแบบเบ็ดเสร็จ

โดยติดป้ายหราตามโคนต้นไม้ในหมู่บ้านว่า “ห้ามนำของเข้ามาขายในหมู่บ้านนี้อย่างเด็ดขาด”

แรงกดดันของรัฐกับทุนภายนอกนับวันรายล้อมบีบรัดเบียดเบียนหมู่บ้านชาวเลที่แหลมตุ๊กแกรอบด้านขึ้นโดยผ่านเถ้าแก่เส็งและลามู ไม่ว่าจะเป็นอวนลากของชาวเมืองที่มากวาดกว้านเอากุ้งปูปลาในทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปแทบเกลี้ยง เหลือแต่หอยติบให้ชาวเลเก็บขายพอเลี้ยงชีพ ทางราชการที่บังคับสอนเด็กชาวเลให้ “พูดหลวง” (ภาษาไทยกลาง) ในโรงเรียน และพูดภาษาใต้กับเด็กไทย จนพวกเขาพูดภาษาชาวเลได้แต่ที่บ้าน ทำให้เรียนช้าตกซ้ำชั้น หรือการที่ “นาย” มาชี้แจงให้ชาวเลใช้ส้วมซึม แล้วลามูหัวหน้าหมู่บ้านก็รับเหมาขายหัวส้วมให้เกือบทุกบ้าน ใครไม่มีเงินก็ให้ผ่อนเอา ใครไม่มีส้วมซึมจะถูกจับ ชาวเลจึงจำใจซื้อไว้แม้จะไม่ได้ใช้เพราะไม่คุ้นเคย ฯลฯ

สภาพการณ์เปลี่ยนไปเมื่อปูลู เด็กหนุ่มในหมู่บ้าน ชวนยูโซปกับเพื่อนที่เรียนจบ ป.4 พออ่านออกเขียนได้ไปทำงานด้วยกันที่เหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ต ประจวบกับช่วงการเมืองเปิด ประชาชนตื่นตัวทั่วประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ทำให้ปูลูได้เข้าร่วมการประท้วงเรียกร้องสวัสดิการและขึ้นค่าแรงของคนงานเหมืองจนสำเร็จ

เมื่อกลับมาหมู่บ้าน สภาพที่ชาวเลทำมาหากินยากแค้นฝืดเคืองเพราะอวนลากของชาวเมืองทำให้ปูลูเงียบขรึมและพูดน้อยลง เขาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเครื่องมือประมงโดยเอาเงินค่าแรงที่เขียมไว้ไปซื้ออวนมาจับปลาบ้าง จนทำมาหาปลาคล่องขึ้น แต่แล้วก็ถูกลามูหมอผีหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งมีเถ้าแก่เส็งบงการอยู่เบื้องหลังอ้างผีมาห้ามปรามไม่ให้เปลี่ยนแปลง

เมื่อปูลูไม่ฟังเพราะลามูเองก็เลือกรับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่สมประโยชน์ตน เช่น มุงหลังคาด้วยสังกะสีหรือฟังวิทยุ ก็ปรากฏว่าอวนของปูลูที่ผึ่งแดดไว้ถูกลามูแอบแกล้งเผาทำลายทิ้ง แถมลามูยังอ้างอีกว่าเป็นเพราะผีลงโทษปูลู

ความคับแค้นขุ่นเคืองใจพาให้ปูลูเข้าเมืองไปสืบหาข้อมูลหลักฐานเรื่องที่ดินของชาวบ้านที่ถูกเถ้าแก่เส็งโกงไป โดยได้รับคำปรึกษาช่วยเหลือจากนักศึกษาวิทยาลัยครู ระหว่างนั้นปูลูซึ่งชอบพออยู่กับอะนะลูกสาวของลามูก็หันมาทำดีต่อลามู ทำให้ลามูคลายใจกอปรกับเห็นปูลูเป็นคนขยันขันแข็งจึงยกอะนะให้แต่งงานกับปูลูโดยหวังว่าจะคุมปูลูเอาไว้ได้

ทว่า ในคืนงานแต่งงานของปูลูกับอะนะ เมื่อปูลูเห็นภาพลามู เถ้าแก่เส็งและคนเมืองจำนวนหนึ่งดื่มเหล้ากันครึกครื้น เขาก็เหลืออดและป่าวประกาศกลางงานด้วยภาษาชาวเลประณามเถ้าแก่เส็งที่โกงที่ดินชาวบ้าน ผูกขาดการค้าในหมู่บ้าน และคบคิดกับคนเมืองเอาอวนลากมาจับสัตว์น้ำไปหมด เขาเรียกร้องชักชวนชาวบ้านให้ร่วมเดินขบวนกับตนไปทวงแผ่นดินคืนจากผู้ว่าราชการจังหวัด

หลังงานแต่งงาน ลามูพยายามมาชวนปูลูผู้เป็นลูกเขยดื่มเหล้าและต่อรองเกลี้ยกล่อมให้ล้มเลิกความคิดจะนำชาวบ้านประท้วงนั้นเสีย แลกกับอวนและเรือจับปลาที่เถ้าแก่เส็งจะซื้อให้ แต่ปูลูปฏิเสธ วันถัดมาปูลูก็กลายเป็นศพคาเรือในทะเลโดยมีร่องรอยถูกทำร้าย โดยลามูก็อ้างว่าเป็นเพราะผีลงโทษเอาตามเคย

และเมื่อปูลูตาย การต่อสู้ของชาวเลก็สิ้นสุดลง ไม่มีชาวบ้านคิดสู้อีก ไม่ใช่เพราะพวกเขากลัวเถ้าแก่เส็ง แต่เพราะพวกเขาแพ้อำนาจผี กราไม ต่างหาก…

ครูเบ็นชี้ให้เห็นร่องรอยการเริ่มปรากฏตัวของ “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ในเรื่องสั้น “ผืนน้ำและแผ่นดิน” ของ ประทีป ชุมพล ตอนหนึ่งที่ว่า เมื่อนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ผู้เล่าเรื่องพบเห็นป้ายตามโคนไม้ในหมู่บ้านที่มีข้อความค่อนข้างประหลาดว่า “ห้ามนำของเข้ามาขายในหมู่บ้านนี้อย่างเด็ดขาด” แล้วนั้น เขากลับนึกไปถึง “กฎหมายเทศบัญญัติของกรุงเทพมหานคร” (น.226)

กล่าวคือ ประสบการณ์ในหมู่บ้านชาวเลทำให้เขาหวนหันกลับไปมองของปกติธรรมดาที่เป็นข้อเท็จจริงซึ่งพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันของชีวิตชาวกรุงเทพฯ (อย่างกฎหมายเทศบัญญัติ) ด้วยสายตาใหม่

นั่นแปลว่า เขาไม่ได้เห็นกรุงเทพฯ (เพราะตอนอยู่กรุงเทพฯ เขาก็ไม่ได้เข้าใจนัยอำนาจอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของมัน) ในหมู่บ้านชาวเลแต่อย่างใด

ทว่า เขาได้เห็นหมู่บ้านชาวเล (ซึ่งบัดนี้ผ่านเรื่องเล่าของยูโซป เขาได้เข้าใจนัยอำนาจอันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของหมู่บ้านนี้แล้ว) ในกรุงเทพฯ ต่างหาก ดังที่นักศึกษาผู้เล่าเรื่องรำพึงในใจท้ายเรื่องว่า :

“เดี๋ยวนี้–ผมเพิ่งจะเข้าใจวิถีชีวิตของชาวเลผู้น่าสงสารแล้ว และใช่-คำพูดของปูลูเป็นสัจธรรมเช่นที่เขากล่าวไว้ว่า–พระอาทิตย์ก็เป็นของพวกเขา ปลาในทะเลก็เป็นของพวกเขา และแผ่นดินก็เป็นของพวกเขา–แต่พวกเขาไม่มีสิทธิในสิ่งเหล่านั้น ก็เพราะกราไม ผีที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง กลับมีอำนาจแอบแฝงออกมาในรูปใหม่อย่างมากมายและไม่มีขอบเขต จนในที่สุดพวกเขาเองไม่สามารถควบคุมได้ และแน่นอนมันได้ย้อนกลับมาเล่นงานพวกชาวเลอย่างเขาอย่างสาสม–” (น.239)

“ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ได้ช่วยให้นักศึกษาจากกรุงเทพฯ ผู้เล่าเรื่อง “เห็น” ชิ้นส่วนองค์ประกอบต่างๆ ของความเป็นจริงที่หมู่บ้านชาวเล อันได้แก่ :-

มูเนาะและลามู : หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้ลุ่มหลงมัวเมาและ/หรือจงใจทำลายผลประโยชน์และวิถีชีวิตของชาวบ้านเพื่อประโยชน์และอำนาจส่วนตน

เถ้าแก่เส็ง : พ่อค้า นายทุน เจ้าที่ดินผูกขาดผู้มีอิทธิพล ขี้โกงฉ้อฉลและใช้ความรุนแรงนอกกฎหมาย

ลามู : หมอผีประจำหมู่บ้านผู้คอยแอบอ้างผีมากลบเกลื่อนให้ความชอบธรรมแก่อาชญากรรมของอำนาจและตนเองที่กระทำต่อชาวบ้านผู้ต่อต้าน

ชาวเมือง : กลุ่มทุนใหญ่ภายนอกผู้ใช้เครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีที่เหนือกว่ามาปล้นชิงกวาดเก็บทรัพยากรทะเลร่วมกันของชุมชนชาวเลไปแทบหมดสิ้น

ชาวเล : ผู้ตกเป็นเหยื่อข้าราชการและนายทุน รวมทั้งเหยื่อของวัฒนธรรมความเชื่อและเอกลักษณ์ของตนเอง

ปูลู : ตัวแทนความเปลี่ยนแปลง ผู้ต่อสู้เพื่อชาวบ้านอย่างยืนหยัดกล้าหาญ แต่ก็ไม่เคยฝ่าฝืนประเพณี ยังคงยึดมั่น นับถือและกลัวเกรงต่อผีเสมอมาจนสิ้นชีวิต (น.229, 235)

ผีแห่งหมู่บ้านชาวเลทั้ง 3 ตน : ได้แก่ กราไม-ผีคุ้มครองหมู่บ้าน, ยิดลาโวด-ผีคุ้มครองทะเล, และ ปิลาเกล-ผีบรรพบุรุษ (เชิงอรรถ น.229)

บัดนี้ ผ่านประสบการณ์หมู่บ้านชาวเลแล้ว นักศึกษาผู้เล่าเรื่องได้ตระหนัก “เห็น” (และเข้าใจ) ความจริงของหมู่บ้านชาวเลดังกล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ดังที่ปรากฏทับซ้อนอยู่ในกรุงเทพมหานคร เหมือน “โลกย่อส่วนของการเมืองระดับชาติ” (น.83) นั่นเอง

ครูเบ็นยิงประเด็น “ปีศาจแห่งการเปรียบเทียบ” ในเรื่องสั้น “ผืนน้ำและแผ่นดิน” ทิ้งท้ายไว้โดยชี้ให้เห็นว่า โศกนาฏกรรมของปูลูและชาวบ้านจบสิ้นไปแล้ว ทั้งหมดที่นักศึกษาจากกรุงเทพฯทำได้คือบันทึกบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเพื่อจดจำไว้เป็นประวัติศาสตร์

ไม่ต่างจาก “ช่วงเวลาหลัง 6 ตุลาคม 2519… เมื่อเหล่านักศึกษาผู้สูญสิ้นพลังและโดดเดี่ยว ต้องถูกทิ้งให้อยู่กับความทรงจำของฆาตกรรมที่เกิดขึ้น” (น.85)