ธงทอง จันทรางศุ | วิธีให้สัมภาษณ์ ‘นักข่าว’

ธงทอง จันทรางศุ

ผมเป็นคนหนึ่งที่เลี้ยงชีพชอบด้วยการพูดเรื่องโน้นเรื่องนี้มาช้านานแล้ว

แม้เกษียณอายุราชการแล้วแต่ก็ยังได้รับเชิญไปบรรยายอะไรต่อมิอะไรอยู่เสมอ

มีทั้งการบรรยายแบบม้วนเดียวจบ หมายความว่าเป็นการบรรยายในหัวข้อที่ผู้จัดกิจกรรมกำหนดมาให้ ผมไปพูดครั้งเดียวแล้วเป็นอันเสร็จธุระกัน จนกว่าปีหน้าฟ้าใหม่เขาจะเชิญมาอีกครั้งหนึ่ง

เช่น เช้าวันนี้ผมเพิ่งไปบรรยายเรื่อง “เทคนิคการประชุมที่มีประสิทธิภาพ” ให้ที่ประชุมแห่งหนึ่งรับฟัง

พูดแบบนี้สบายมากครับ เพราะรู้หัวข้อล่วงหน้า เตรียมตัวไปพูดได้ถูกต้อง

หัวข้อไหนที่เราไม่ถนัดก็อย่าไปรับเชิญเข้าเป็นอันขาด

เช่น ถ้าจะเชิญให้ผมไปพูดเรื่องเทคโนโลยีแสงซินโครตอนกับการรักษาโรคฝีดาษลิง หัวข้อแบบนี้จ้างล้านหนึ่งก็ไม่ไปครับ เพราะแสงซินโครตอนคืออะไรก็ไม่รู้จัก ฝีดาษลิงก็ไม่เคยเป็น และไม่อยากจะเป็นด้วย

การพูดอีกแบบหนึ่งที่สบายมาก คือ การเป็นอาจารย์สอนหนังสือในวิชาที่เรารับผิดชอบ เช่น ผมเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย วิชาการร่างกฎหมายและกระบวนการทางนิติบัญญัติ หรือวิชานิติตรรกศาสตร์ ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมานานหลายสิบปี

พูดหรือสอนหนังสือแบบนี้ให้พูดกี่ชั่วโมงก็ได้ทั้งนั้น เพราะเนื้อหาต่างๆ ทั้งหลักวิชาและประสบการณ์ฝังเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัวของเราแล้วแบบถาวร

การพูดอีกเรื่องหนึ่งที่ผมได้เคยผ่านพบมามากพอสมควร คือ การแถลงข่าว หรือการตอบข้อซักถามในเรื่องหน้าที่การงานต่างๆ ที่เรารับผิดชอบ

การทำหน้าที่อย่างนี้ต้องการทักษะและประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากการสอนหนังสือหรือบรรยายพิเศษเป็นอันมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการบรรยายของผมนั้นเป็นการสื่อสารทางเดียวคือผมพูดไปเรื่อยๆ ส่วนนักเรียนจะหลับหรือตื่นก็ช่างท่านปะไร

แต่ถ้าเป็นการแถลงข่าวหรือตอบข้อซักถามกับผู้สื่อข่าวแล้ว เรื่องไม่ง่ายเลยครับ เพราะเป็นการสื่อสารสองทางที่ต้องใช้ทั้งความรู้ประสบการณ์และเชาว์ไวไหวพริบประกอบกันเข้าเป็นคำพูดที่ออกจากปากของเรา

หลายปีก่อนผมทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เป็นโฆษกเมื่อคราวมหาอุทกภัย ปีพุทธศักราช 2554 หรือแม้กระทั่งการทำหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ ระหว่างปี 2554 ถึง 2557 ทุกตำแหน่งล้วนมีประเด็นที่ต้องพบหน้ากับผู้สื่อข่าวและตอบคำถามสารพัดสารพัน

แต่ตั้งแต่เกษียณอายุมาเมื่อเดือนตุลาคม 2558 แล้ว ชีวิตผมก็มีความสุขสงบเป็นอันมากเพราะไม่ต้องตอบคำถามผู้สื่อข่าวอะไรอีกแล้ว

เมื่อไม่มีหน้าที่สลักสำคัญอะไร ใครเขาจะมาถามอะไรเล่าครับ

หลังจากเว้นวรรคมาหลายปี เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมเกิดไปมีหน้าที่ในบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครเข้า กิจการของบริษัทนี้หลายคนบอกว่ามีสภาพเหมือนท้าวแสนปม เพราะมีปุ่มปมต้องชำระสะสางมาก แค่พูดชื่อเรื่องรถไฟฟ้าสีเขียวเรื่องเดียวก็ขนหัวลุกพองแล้ว

แต่เมื่อตกปากรับคำไปทำหน้าที่แล้วก็ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ตลอดรอดฝั่ง นั่นหมายความรวมถึงการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่มาสอบถามความคืบหน้าของการงานที่เรากำลังรับผิดชอบหรือทำร่วมกับคนทั้งหลายอยู่

ผู้บริหารทั้งหลายต้องเข้าใจว่าการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวนั้นมีลักษณะเป็นน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

กล่าวคือ ในขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ข่าวไปรายงานประชาชน ผู้บริหารซึ่งให้สัมภาษณ์ก็ได้ประโยชน์เพราะเป็นการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบว่าการงานของเรามีความเรียบร้อยคืบหน้าและโปร่งใสเพียงใด เพื่อที่ว่าประชาชนเมื่อเห็นการทำงานดังนั้นแล้วจะได้สนับสนุนการทำงานของเราต่อไปในวันข้างหน้า

สำหรับผมเองเมื่อมาทบทวนว่าเวลาที่ตัวเองยืนอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่มีไมโครโฟนมาจอดอยู่ที่ปากและมีกล้องมาส่องอยู่ตรงหน้า ผมยึดหลักอะไรบ้าง จึงพอเอาตัวรอดมาได้โดยไม่ฟกช้ำดำเขียวมากเกินไปนัก

วันนี้ล่ะครับ ผมจะมาเผยตำราวิธีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตามแนวของผม อ่านแล้วเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้นะครับ ฮา!

ข้อแรก ก่อนอื่นใดเลยทีเดียว คือ ความเข้าใจและความชัดเจนในเรื่องที่เราตั้งใจจะพูดกับสาธารณะผ่านสื่อมวลชน นึกดูก็แล้วกันว่าถ้าตัวเองยังไม่เข้าใจ จะมีปัญญาไปอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างไร ดังนั้น การทำการบ้านมาล่วงหน้าเกี่ยวกับภูมิหลังดั้งเดิม ประเด็นที่สาธารณะกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษคืออะไร จนถึงนาทีที่เราแถลงมีความคืบหน้าอะไรที่เป็นสาระสำคัญที่ประชาชนควรได้ทราบ ประเด็นเหล่านี้ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเก็บงำให้ครบถ้วนและมีพร้อมที่จะหยิบมาใช้งานได้ทันที

เมื่อครั้งที่ผมเป็น “โฆษกน้ำท่วม” ผมต้องทำการบ้านด้วยตัวเองหรือขอให้ลูกศิษย์ลูกหาช่วยทำการบ้านเพื่อประมวลข้อมูลมาให้เพียงพอต่อการใช้งานในแต่ละวัน

อาการหนักพอๆ กันกับการหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เลยทีเดียว

ข้อสอง คือทักษะในการสื่อสาร ผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์มีความสามารถในการเล่าเรื่อง ในการสรุปประเด็น การเชื่อมโยงจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเด็นต่อไปอย่างเป็นเหตุเป็นผล พูดจารู้เรื่องไม่เยิ่นเย้อยาวความหรือวกวน

เวลาให้สัมภาษณ์อย่าพูดรัวเสียจนฟังไม่ออกว่าคำไหนเป็นคำไหน

คำว่า ประชาชน ก็ต้องออกเสียงว่า ประ-ชา-ชน อย่าไปรวบคำจนเหลือแค่ ประ-ชน

เวลาให้สัมภาษณ์เรามีเยอะแยะไม่ต้องรีบร้อนขนาดน้านนนนน

ข้อสาม คือสติและปัญญาในการชี้แจงและโต้ตอบ

แน่นอนครับว่า เรื่องใดก็ตามที่มีมิติต่างการเมืองสูงหรือรุนแรง คำถามจ้ำจี้จ้ำไชจากผู้สื่อข่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ย่อมเป็นคำถามที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องรับมือให้จงดี

จะตอบคำถามเหล่านั้นได้ก็ต้องอาศัยทั้งสติ และปัญญาประกอบกัน

คนไม่มีสติขับรถแล้วเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายฉันใด ผู้ให้สัมภาษณ์ที่ขาดสติเวลาผู้สื่อข่าวถามคำถามที่ตนไม่พอใจก็ตกบ่อตกเหวได้ง่ายฉันนั้น

ตัวอย่างทั้งข้างฝ่ายดีและข้างฝ่ายไม่ดี ก็เห็นกันอยู่แล้วทุกเมื่อเชื่อวันไม่ใช่หรือ

อ๊ะ! เรื่องนี้ผมไม่ได้ออกชื่อใครนะ

 

ข้อสี่ และเป็นข้อสุดท้ายสำหรับบทเรียนวันนี้ คือความจริงใจและความจริงในเรื่องราวที่แถลง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้รับข่าวสารจับได้ไล่ทันว่าคำพูดของเราที่แถลงข่าวไปแล้วไม่เป็นความจริง ไม่ว่าจะเป็นความเท็จทั้งหมดหรือเท็จเพียงบางส่วน ถึงเวลานั้นความพูดของเราก็หมดราคา พูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป

สรุปง่ายๆ ว่า หลักข้อนี้คือห้ามแถและห้ามโกหกนั่นเอง

เพื่อหลีกเลี่ยงคำถามที่ตอบยากของผู้สื่อข่าว ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วเคยบอกผมว่า การเริ่มต้นให้สัมภาษณ์ในนาทีแรกเป็นเรื่องสำคัญ ท่านแนะนำให้เราผู้ให้สัมภาษณ์ชิงกล่าวถ้อยแถลงที่เตรียมไว้ในสมองไว้ในใจของเรามาแล้วกับผู้สื่อข่าว ดีกว่าการที่ไปยืนที่แท่นแถลงข่าวแล้วบอกว่าใครมีอะไรก็ถามมาได้

ถ้าใช้วิธีที่สอง ผมอธิบายแบบง่ายๆ ว่า เกมการให้สัมภาษณ์จะตกเป็นของผู้สื่อข่าวโดยสิ้นเชิงหรือเกือบสิ้นเชิง ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์ต้องเล่นลูกตามลูกเดียว

แต่ตรงกันข้าม ถ้าผู้ให้สัมภาษณ์ชิงพูดคำแรกเสียก่อน เกมการให้สัมภาษณ์ก็ (น่าจะ) อยู่ในมือของผู้ให้สัมภาษณ์ แล้วปล่อยให้ผู้สื่อข่าวเดินตามมา จะสบายกว่ากันเยอะเลย

ท่านใดจะทดลองนำไปพิสูจน์ภาคปฏิบัติ ผมก็ไม่ขัดข้องหรือสงวนลิขสิทธิ์นะครับ

เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้ว อยากจะฝากไว้เป็นข้อพิจารณาสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่จัดหลักสูตรการอบรมเรื่องโน้นเรื่องนี้ หลักสูตรใดที่จะเป็นหลักสูตรของผู้บริหารแล้ว ลองจัดอบรมวิชา “เทคนิคการให้สัมภาษณ์สำหรับผู้บริหาร” บ้างไหมครับ เรียนแล้วน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่อย่างว่านะครับ ของพรรค์นี้สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่าให้สัมภาษณ์เอง

ลองดูแล้วจะติดใจ หรือไม่ก็ขนพองสยองเกล้า ไม่กล้าให้สัมภาษณ์อีกเลยก็ไม่รู้สิ

ทดลองแล้วส่งข่าวมาบอกกันบ้างนะครับ