รัฐนิยมกับการเลี้ยงไก่ในสมัยสร้างชาติ จากงานอดิเรกสู่ทางรอดสมัยถูก “ดุลยภาพ”/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

รัฐนิยมกับการเลี้ยงไก่ในสมัยสร้างชาติ

จากงานอดิเรกสู่ทางรอดสมัยถูก “ดุลยภาพ”

 

ก่อนที่การเลี้ยงไก่จะมาเป็นนโยบายของรัฐบาลภายหลังการปฏิวัติ 2475 นั้น ในช่วงระบอบเก่าระหว่างรัชกาลที่ 5-7 นั้น ในสังคมชั้นสูงก็มีการเลี้ยงไก่เช่นกัน แต่เป็นการเลี้ยงพันธุ์ฝรั่งเพื่อประกวดประขันกัน ดังในสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ พระองค์สั่งไก่จากต่างประเทศ เช่น พันธุ์เล็กฮอน์ขาว เข้ามาเลี้ยง ต่อมาเหล่าเจ้านายสั่งไก่พันธุ์โร้ดไอร์แลนด์แดง บาร์พลีมัทร็อก เข้ามาเลี้ยงตามพระราชนิยมบ้าง แต่เมื่อสิ้นรัชกาล ความนิยมเลี้ยงไก่ก็เสื่อมไป (ชาติชาย มุกสง, 2556, 159)

เนื่องด้วยครั้งระบอบเก่า เหล่าเจ้านายและขุนนางต่างมีงานอดิเรกสะสมของแปลกๆ สวยงาม มีค่า ทั้งสิ่งของ ต้นไม้ และสัตว์หายากจากต่างประเทศเพื่อประกวดประขันกัน ดังที่ “ไทยน้อย” (เสลา เลขะรุจ) เรียกยุคแห่งการเล่น ประกวดประขันนี้ว่าเป็น “สมัยฆ่าเวลา”

เขาเล่าถึงกิจกรรมที่ชนชั้นสูงสะสมและเล่นหาของแปลกเป็นงานอดิเรก เช่น บอนสี นกเขา โกศล หน้าวัว กล้วยไม้ ไม้ตะพด แสตมป์ และรูปยาซิกาแร็ต หน้าขีดไฟ ของเก่าโบราณ พระเครื่อง เป็นต้น (ไทยน้อย, 2489, 168-186)

รวมทั้งการเลี้ยงไก่พันธุ์ฝรั่งเช่นกัน ส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงเพื่ออวดบารมีมากกว่าเชิงพาณิชย์ แม้นช่วงนั้นจะมีผู้ทดลองเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์บ้าง เช่น ม.จ.สิทธิพร กฤดากร ม.จ.สิทธิพรทรงวางแผนสร้างฟาร์มไก่ไข่เพื่อจำหน่าย โดยสั่งนำเข้าไก่พันธุ์ เช่น เล็กฮอร์นขาว (White Leghorn) เข้ามาจากต่างประเทศ ไปเลี้ยงที่ฟาร์มบางเบิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการในครั้งนั้น (นิติศักดิ์ อัศวโชคอนันท์, 2556, 15)

เนื่องจากช่วงต้นรัชกาลของพระปกเกล้าฯ ทรงต้องเผชิญกับการรักษาดุลยภาพของงบประมาณ ทำให้ต้องตัดงบฯ รายจ่ายหลายประการ ซึ่งสร้างความไม่มั่นคงให้กับข้าราชการจำนวนมาก

ดังนั้น การเลี้ยงไก่นอกจากจะเป็นงานอดิเรกของชนชั้นสูงแล้ว หลวงสุวรรณวาจกสิกิจ ยังเสนอว่า การเลี้ยงไก่สามารถเป็นอาชีพเสริมหรือสร้างรายได้ดีกว่าเป็นข้าราชการ และเป็นอาชีพที่สร้างความอยู่รอดให้กับข้าราชการที่กำลังกลัวจะถูกดุลยภาพด้วย

หรือกล่าวอีกอย่างคือ ข้าราชการควรเลี้ยงไก่เป็นอีพเสริมหากถูกให้ออกจากราชการในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ดังว่า

“ในประเทศเรา, โอกาสจากการเลี้ยงไก่, เปิดช่องให้แก่ผู้มีนิสสัยเหมาะและมีความรู้, อยู่มากทีเดียว. ไม่ต้องสงสัยเลยหากทำเป็นผลสำเร็จ, การเลี้ยงไก่, นอกจากจะทำให้หมดความหวาดหวั่นต่อดุลยภาพ; จะให้รายได้สำหรับดำรงชีวิต, มากเท่าหรือมากกว่าทำราชการ ซึ่งเวลานี้ออกจะเป็นอาชีพที่บุคคลธรรมดาจะหาเงินเดือนพอเลี้ยงท้องได้ยากเต็มที.” (สุวรรณวาจกกสิกิจ, 2476, 30)

จอมพล ป.กับสมาคมเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย และสามเกลอตอนรัฐนิยม (2482) เครดิตภาพ ชายชาย มุกสง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รัฐบาลระบอบเก่าไม่มีนโยบายแจ้งชัด จึงไม่มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ นอกจากเป็นเรื่องของการทดลองของบุคคล ดังที่ ม.จ.นพมาศ นวรัตน ทรงเป็นอีกคนที่เลี้ยงไก่อย่างจริงจัง ในช่วง 2470 ทรงเขียนเล่าประสบการณ์การเลี้ยงไก่ไว้ในหนังสือพิมพ์กสิกร (2477) ว่า ในช่วงนั้น เศรษฐกิจตกต่ำ การเลี้ยงไก่เป็นสิ่งที่เหมาะกับชนทุกชั้นทั้งชายหญิงคนหนุ่มสาว เด็ก หรือสูงวัย และการเลี้ยงไก่นี้เป็นการทดลองเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

ในช่วงต้นทศวรรษ 2470 ภายหลัง ม.จ.นพมาศทรงเกษียณแล้ว ท่านทดลองเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองอยู่ประมาณ 5 คู่ ต่อมาหันเลี้ยงไก่พันธุ์ เช่น แลงชาน (Langchan) บาร์พลีมัทร็อก (Barred Plymouth Rock) จนมีนับร้อยตัว

ต่อมา เดือนมิถุนายน 2475 เกิดโรคระบาดทำให้ไก่ตายไปจำนวนมาก หาหมอผู้เชี่ยวชาญรักษาได้ยาก ต่อมาท่านคิดจะเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ทั่วไปในสมัยนั้น แต่ไม่กล้านำมาเลี้ยง กังวลความไม่คุ้มทุน จึงคิดสร้างไก่ผสม ให้เลี้ยงง่าย ไข่ดก (ตามรอย ม.จ.สิทธิพร, silpa-mag.com)

จากสิ่งที่ท่านเล่าว่า ทรงเรียนรู้การเลี้ยงไก่ และทดลองผิดถูกด้วยตนเอง และเล่าในทุกขั้นตอนของการเลี้ยงไก่ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพันธุ์ ที่ดิน เล้า อาหาร โรค ยา อุปกรณ์ รวมถึงการทำสถิติ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในการเลี้ยงไก่ของ ม.จ.นพมาศ คือ เวลา ต้นทุน และโรคระบาด ดังที่ ม.จ.นพมาศอธิบายว่า

“ข้าพเจ้าทำเองเกือบทุกอย่างตั้งแต่คอกไก่ตลอดจนภาชนะเล็กๆ น้อยๆ สำหรับใส่อาหาร เก็บอาหาร เก็บไข่ เหล่านี้เป็นต้น ต่อเหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ ข้าพเจ้าจึงจ้างเขา… การเลี้ยงไก่นั้น… ถ้าท่านไม่มีผู้แทนที่พอไว้ใจได้แล้ว ท่านอาจประสบผลร้ายจนถึงคอกล้มก็ได้… ฉะนั้น ถ้าท่านยังหาผู้ไว้ใจแทนท่านไม่ได้แล้ว ก็ควรงดรอการเลี้ยงไก่ไว้ก่อนดีกว่า…

ข้าพเจ้าขอวิงวอนต่อท่านว่า ท่านอย่าเพิ่งลงมือเลี้ยงไก่เป็นจำนวนมากเลย เพราะท่านยังขาดความชำนาญซึ่งเป็นข้อสำคัญของการเลี้ยงไก่…ขอท่านได้ตั้งต้นแต่เพียงเลี้ยงไก่จำนวนน้อยๆ ก่อนเถิด ได้ผลดีแล้วจึงเลี้ยงให้มากสุดแต่ความพอใจของท่าน และท่านที่มีทุนทรัพย์น้อย ก็ขอให้ท่านตริตรองจงมาก เพราะการเลี้ยงไก่กว่าจะได้ผลต้องเสียเวลาเป็นจำนวนปี…โดยเหตุดังกล่าวมานี้ขอท่านผู้ที่อยากจะทดลองเลี้ยงไก่ทั้งหลายจงตริตรองให้รอบคอบเสียก่อน ถ้าเห็นว่าไม่มีอุปสรรคอันใดที่จะมาขัดขวางแล้ว เชิญท่านทดลองเลี้ยงดูเถิด ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างที่สุดว่า การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพสำหรับคนไทยได้แน่นอน”

(ตามรอย ม.จ.สิทธิพร, silpa-mag.com)

โต๊ะอาหารของเจ้านายสมัยระบอบเก่า

ถึงแม้ว่าในช่วงระบอบเก่าจะมีโรงเรียนฝึกหัดกสิกรรมที่หลวงสุวรรณวาจกสิกิจสอนและเขาได้เขียนตำราการเลี้ยงไก่ไว้แต่ระบอบเก่า (2470) ไว้ แต่วัตถุประสงค์ของการเขียนตำราครั้งนั้นมิได้มุ่งทางพาณิชย์ แต่คือมุ่งสอนครูกสิกรรม ปรารถนาให้ชาวนาในชนบทเลี้ยงไก่บ้าง และ “เพื่อจะเพาะความนิยมเลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรก (Hobby), เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นเครื่องมืออบรมวางสอนนิสัยเด็ก, ให้เกิดและแพร่หลายไปในระหว่างข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ตลอดจนผู้ที่พิการอ่อนแอ หรือพ้นจากโรคทั้งชายและหญิงทั่วไป.” (ม.จ.นพมาศ นวรัตน, 2505, 30-32)

อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งระบอบเก่านั้น การเลี้ยงไก่มิได้เป็นนนโยบายการเกษตรของรัฐ แต่เป็นเรื่องของความสนใจและทดลองทางการเกษตรของบุคคล ต่อมาความชัดเจนในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เริ่มชัดเจนขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475 โดยรัฐบาลคณะราษฎรมีนโยบายบริหารประเทศตามหลัก 6 ประการที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักเศรษฐกิจ รัฐบาลสั่งการให้ข้าราชการดำเนินการส่งเสริมการเกษตร รวมถึงการเลี้ยงไก่แก่ประชาชน

ดังนั้น การเลี้ยงไก่จึงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งรัฐนิยมในช่วงต้นทศวรรษ 2480 อันเป็นสมัยสร้างชาตินั่นเอง

โปสเตอร์ส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงสัตว์เพื่อขายและบริโภค