เมืองใหม่คณะราษฎร ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (3)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่คณะราษฎร

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (3)

 

“หลักการศึกษา” คือนโยบายสำคัญที่ปรากฏอยู่ใน “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร ภายหลังการปฏิวัติ 2475 และกรณีที่มักถูกพูดถึงอยู่เสมอเมื่อมีการพูดถึงนโยบายการศึกษาของคณะราษฎรก็คือ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยปรีดี พนมยงค์

อย่างไรก็ตาม นโยบายด้านการศึกษาหลัง พ.ศ.2475 มีปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่ากรณีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มักถูกพูดถึงอยู่เสมอหลายเท่าตัว

โดยจากข้อมูลในหนังสือ ไทยในสมัยรัฐธรรมนูญ ที่ระลึกในงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา 24 มิถุนยน 2482 พบว่า จำนวนโรงเรียนและนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัวในปี พ.ศ.2481 เมื่อเทียบกับ พ.ศ.2475 ส่วนโรงเรียนอาชีวศึกษาในปี พ.ศ.2481 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

สถิติดังกล่าว สำหรับฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติ มักอธิบายว่าตัวเลขในหนังสือพวกนี้คือตัวเลขหลอก เป็นแค่การเขียนเอาใจรัฐบาลเท่านั้น

ซึ่งความเห็นเช่นนี้ก็มิใช่ว่าจะผิดเสียทีเดียว เพราะต้องยอมรับความจริงว่า เอกสารราชการไทยไม่น้อย โดยเฉพาะเอกสารในเชิงสำรวจความสำเร็จของนโยบายรัฐหลายครั้งมักอ้างตัวเลขเชิงสถิติเกินจริงเพื่อเอาใจเจ้านาย ลักษณะดังกล่าว เราก็ยังเห็นอยู่บ่อยไปในปัจจุบัน

ดังนั้น การตรวจสอบอย่างรอบด้านบนชุดเอกสารหลักฐานที่หลากหลายและเป็นอิสระต่อกันจึงมีความจำเป็นต่อการอธิบายประวัติศาสตร์และพิสูจน์ข้อเท็จจริงในอดีต ซึ่งกรณีการขยายตัวของการศึกษาไทยหลัง 2475 (เมื่อเทียบกับระบอบเก่า) นั้น หลักฐานประเภทแผนที่ ก็อาจเข้ามาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในหลายๆ ประเภทของหลักฐาน ที่เข้ามาช่วยพิสูจน์ว่า การขยายตัวของการศึกษาไทยหลัง 2475 นั้น มีปริมาณมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจริงหรือไม่

วิธีการที่อยากนำเสนอในที่นี้คือ ดูจำนวนโรงเรียน สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัย เทียบกันระหว่างแผนที่ 2475 (ซึ่งรังวัดสำรวจในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) เทียบกับแผนที่ 2490 (ซึ่งรังวัดสำรวจในช่วงกลางทศวรรษ 2490 อันเป็นช่วงเวลาที่เพิ่งผ่านสมัยคณะราษฎรมาไม่นาน) เพื่อหาปริมาณความแตกต่างของจำนวนโรงเรียนระหว่างสองยุคสมัย

เพื่อความชัดเจน ผมขอยกตัวอย่างเพียงพื้นที่เดียวคือในบริเวณพื้นที่โดยรอบสนามหลวง ขึ้นมาเป็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในการขยายตัวของพื้นที่การศึกษาก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จากภาพประกอบในบทความ ภาพซ้ายคือ แผนที่ 2475 และภาพขวาคือ แผนที่ 2490 โดยในภาพเราจะมองเห็นการใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบสนามหลวงฝั่งทิศตะวันตกก่อนและหลังการปฏิวัติ 2475 อย่างชัดเจน

สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในช่วงราวปลายทศวรรษที่ 2460-ต้นทศวรรษ 2470 ไม่มีพื้นที่การศึกษาสำหรับประชาชนปรากฏในบริเวณนี้เลย (ขอไม่นับพื้นที่วัดมหาธาตุ ซึ่งมีการศึกษาของสงฆ์อยู่ภายในวัดนะครับ เพราะเป็นอีกประเด็นที่ควรเขียนแยกออกไปต่างหาก)

แต่พอหลังการปฏิวัติ 2475 ราว 10 ปี พื้นที่บริเวณนี้เปลี่ยนมามีสถาบันการศึกษามากถึง 3 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2477 โดยปรีดี พนมยงค์ โดยได้มีการขอซื้อพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกรมทหารบกราบที่ 2 ตั้งแต่เมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 6 และต่อมาขอซื้อเพิ่มในส่วนที่เป็นคลังแสงทหารบก เพื่อเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำการสอนในลักษณะ “ตลาดวิชา” ซึ่งเน้นการเรียนการสอนเรื่องประชาธิปไตย และสร้างความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่

(รายละเอียดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นที่รับรู้กว้างขวางอยู่แล้ว ดังนั้น จะไม่ขอเขียนซ้ำในที่นี้)

โรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์ เป็นชื่อโรงเรียนที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ 2490 ในตำแหน่งที่ปัจุบันคือ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยการใช้สอยพื้นที่เดิมในบริเวณดังกล่าว คือพื้นที่ของวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) มาแต่เมื่อครั้งต้นรัตนโกสินทร์ และต่อมาพื้นที่บางส่วนได้เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานของกระทรวงยุติธรรมในช่วงปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 พื้นที่นี้ได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ก่อตั้งโดยหลวงวิจิตรวาทการ มันสมองทางด้านศิลปวัฒนธรรมคนสำคัญของคณะราษฎร (และดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรคนแรกด้วย) โรงเรียนแห่งนี้เปิดสอนเมื่อ พ.ศ.2477 โดยขึ้นอยู่กับกรมศิลปากร

ต่อมาในปี พ.ศ.2478 กรมศิลปากรปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนี้ให้กว้างขวางขึ้น โดยในกลางปี พ.ศ.2478 ได้มีคำสั่งให้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปากรขึ้น ซึ่งภายในโรงเรียนจะมีการสอนวิชาช่างปั้น ช่างเขียน และช่างรัก และให้ย้ายโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ไปรวมเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนศิลปากร โดยเปลี่ยนชื่อเรียกเฉพาะแผนกนี้ขึ้นใหม่ว่า โรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์ ตามชื่อที่ปรากฏในแผนที่ 2490

โรงเรียนแห่งนี้เน้นให้การศึกษาไปที่วิชาศิลปะดนตรี ปี่พาทย์ และละคร (ในเวลาต่อมาทำการเรียนการสอนทางด้านโขนเพิ่มขึ้น) นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ให้การศึกษาทั้งวิชาสามัญและวิชาศิลปะ

ควรกล่าวไว้ก่อนว่า การเรียนการสอนทางด้านนี้ในช่วงก่อน 2475 ก็มีอยู่นะครับ แต่เป็นเรื่องจำกัดเฉพาะในวงแคบตามวัง ตำหนักเจ้านาย และสำนักครูเฉพาะแต่ละบ้าน มิได้มีลักษณะเป็นโรงเรียนเปิดกว้างสาธารณะตามระบบสมัยใหม่ เช่นที่เกิดในช่วงหลัง 2475 แต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ การเปิดพื้นที่การศึกษาทางด้านนี้สู่สาธารณะ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ทำให้ศิลปะที่เคยจำกัดอยู่ในแวดวงคนชั้นสูงหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขยายตัวมาสู่วงกว้าง และจนมาสู่ปัจจุบันที่โรงเรียนทางด้านนี้ได้กระจายตัวไปในหลายภูมิภาคทั่วประเทศไทย

จากแผนที่ 2490 เราจะมองเห็นการเกิดขึ้นของอาคารเรียนหลังหนึ่งภายในพื้นที่โรงเรียนศิลปากรแผนกดุริยางค์ บริเวณด้านทิศใต้ของวัดพระแก้ววังหน้า (อาคารหลังนี้ไม่ปรากฏในแผนที่ 2475) โดยอาคารหลังนี้ปัจจุบันยังไม่ถูกรื้อแต่อย่างใด ซึ่งหากใครได้มีโอกาสเดินเข้าไปเห็นก็จะพบว่า หน้าตาอาคารถูกออกแบบขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมคณะราษฎรอย่างชัดเจน และถือว่าเป็นตัวแบบของอาคารที่สวยงามของงานในยุคนี้เลยทีเดียว

 

มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นอีกหนึ่งสถาบันการศึกษาที่เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎร และปรากฏอยู่ในแผนที่ 2490 ซึ่งกรณีนี้ผมเคยเขียนถึงไว้หลายครั้งแล้วว่า จากหลักฐานที่มีอยู่ การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นเราไม่อาจยกให้เป็นผลงานของศิลป์ พีระศรี แต่ผู้เดียวตามที่มักปรากฏในเรื่องเล่าชาวศิลปากรกระแสหลักได้อีกต่อไป

เพราะมหาวิทยาลัยแห่งนี้เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และหลวงวิจิตรวาทการ ที่ต้องการใช้งานศิลปะสมัยใหม่ (ศิลปะคณะราษฎร) เป็นเครื่องมือหนึ่งในการปลูกฝังอุดมการณ์ของใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 (ดูเพิ่มในหนังสือ ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร : สัญลักษร์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ หน้า 119-158)

และด้วยบทบาทหน้าที่ที่สัมพันธ์กับการปฏิวัติ 2475 ดังกล่าว จึงไม่แปลกที่มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทั้งๆ ที่ศิลป์ พีระศรี ก็เดินทางเข้ามาทำงานในสยามก่อน 2475 นานถึง 9 ปี แต่ก็ไม่ได้มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรแต่อย่างใด

ในแผนที่ 2475 เราจะเห็นคำว่า กรมศิลปากร ปรากฏแล้ว แต่นั่นคือกรมศิลปากรในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่มีบทบาทหน้าที่แตกต่างอย่างมากจากกรมศิลปากรหลัง 2475

ที่สำคัญคือ พื้นที่กรมศิลปากรในแผนที่ 2475 เป็นเพียงการใช้สอยในลักษณะสำนักงานของคนที่ทำงานด้านงานช่างแขนงต่างๆ เท่านั้น แต่พื้นที่กรมศิลปากรในแผนที่ 2490 การใช้งานจะเปลี่ยนไป คือ เป็นทั้งสำนักงาน และมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีหน้าที่ในด้านการศึกษาทางศิลปะโดยตรงสำหรับสาธารณะ ดังปรากฏให้เห็นการก่อสร้างอาคารไม้ขนาดใหญ่ขึ้นในแผนที่ 2490 (แตกต่างจากแผนที่ 2475 ที่จะปรากฏเพียงอาคารไม้ขนาดเล็กหลายหลัง ที่รองรับการทำงานแบบสำนักงาน) เพื่อรองรับการศึกษาทางศิลปะแขนงต่างๆ

จากตัวอย่างที่ยกมาเพียงย่านเดียวในบทความนี้ ก็น่าจะเพียงพอที่จะชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวที่น่าสนใจของระบบการศึกษาหลังการปฏิวัติ 2475 ซึ่งหากมีการอ่านแผนที่ 2 ชุดนี้อย่างละเอียดในประเด็นนี้ (พร้อมๆ ไปกับการใช้เอกสารลายลักษณ์และภาพถ่ายเก่า) เชื่อแน่ว่าจะช่วยทำให้เราเห็นภาพการขยายตัวของระบบการศึกษาสมัยใหม่ ภายใต้นโยบาย “หลักการศึกษา” ของคณะราษฎร ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น