คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : บางแง่มุมของพระคเณศ (อีกครั้ง) : การอวตารของพระคเณศ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คนไทยเริ่มนิยมเดินทางไปอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางแสวงบุญเส้นอัษฏวินายก(อัษฏะ – แปด วินายก – อีกพระนามของพระคเณศ) แคว้นมหาราษฎร์ ซึ่งถือกันว่าเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

แคว้นมหาราษฎร์นี่เป็นแคว้นที่นับถือพระคเณศแพร่หลายที่สุดในอินเดีย แม้ว่าทุกแว่นแคว้นในอินเดียจะนับถือพระคเณศกันทั้งนั้น ทว่า ในแคว้นมหาราษฎร์มีเทวสถานที่พระคเณศเป็น “ประธาน” ไม่ใช่แค่เทวดาชั้นรองอยู่จำนวนมาก และยังเป็นศูนย์กลางของนิกายที่นับถือพระคเณศเป็นพระเจ้าสูงสุด “คาณปัตยะ” อีกด้วย

ผมไปอินเดียครานี้เจออะไรบางอย่างบางแง่มุมเกี่ยวกับพระพิฆเนศวรเพิ่มเติม เลยอยากจะมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน

 

โดยปกติเมื่อพูดถึงการ “อวตาร” ศัพท์แขกที่แปลตามตัวว่า “ก้าวลงมา” ซึ่งใช้ในความหมายว่าพระเป็นเจ้าของพราหมณ์ลงมาเกิดเป็นมนุษย์และสัตว์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือชาวโลกปราบยุคเข็ญ

บทบาทนี้ในเทวตำนานยกให้เป็นของพระวิษณุหรือพระนารายณ์เท่านั้น เทพอื่นๆ ที่เป็นมหาเทพอย่างพระศิวะก็ไม่อวตาร หรือแม้จะ “แปลง” ลงมาทำภารกิจบ้างก็ไม่เหมือนอย่างอวตาร คือลงมาเกิดจริงๆ จังๆ อย่างพระวิษณุ

เรารู้จักพระวิษณุอวตารสิบปาง เช่น เป็นปลา เต่า ครึ่งคนครึ่งสิงห์ ฯลฯ ไปจนที่ยังไม่อวตารอีกหนึ่งปาง คือพระกัลกี ชายขี่ม้าขาว ทำนองเดียวกันกับพระศรีอาริย์ซึ่งจะมาดับยุคเข็ญในปลายกลียุค

แต่ในนิกายคาณปัตยะ หรือนิกายพระคเณศนั้น ถือว่าพระคเณศในฐานะพระเจ้าสูงสุดก็ “อวตาร” เช่นกัน ในคัมภีร์มุทคละปุราณะ กล่าวว่า พระองค์อวตารมา แปดอวตาร จึงเรียกว่า “อัษฏาวตาร” การอวตารทั้งแปดนี้เพื่อปราบอสูรต่างๆ เช่น อวตารนาม วักรตุณฑ์ ปราบ มัตสราสูร (มัตสระ – ความอิจฉาริษยา), อวตารเอกทันต์ ปราบมทาสูร (มทะ – ความมัวเมา ), อวตารวิกฎ ปราบ กามาสูร (กามะ) เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าอสูรทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นบุคลาธิษฐานของกิเลสทั้งสิ้น ดังนั้น พระคเณศคือสติปัญญาที่รบรากับกิเลสเหล่านั้น

เรียกว่าแปลงธรรมโลกุตระเป็นเรื่องเล่าให้เข้าใจง่าย จะเห็นแง่มุมของเทพว่าไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อศรัทธา แต่เทพเองก็เป็นบุคลาธิษฐานของสิ่งนามธรรมอื่นๆ เช่น ปัญญา หรือความดีงามด้วย

 

นอกจากนี้ ในคัมภีร์ของนิกายคาณปัตยะอีกเล่ม คือ คเณศปุราณะ ว่าพระคเณศ อวตารมาอีกแบบ เรียกว่า “ยุคาวตาร” คืออวตารมาแต่ละยุค

ตามคติฮินดู โลกของเราย่อมเสื่อมสลายไปตามกาล ชาวฮินดูแบ่งยุคออกเป็นสี่ยุค โดยยุคแรกคือยุคที่ทั้งความสุขและความดีบริบูรณ์ ครั้นถึงกลียุค ความสุขความดีเหลือเพียงหนึ่งในสี่ส่วน

อะไรๆ ในโลกก็จะเสื่อมทรามอย่างที่เห็น เพราะเราๆ ท่านๆ ล้วนอยู่ในกลียุคกันแล้ว

ยุคทั้งสี่นี้ พระคเณศอวตารมาทั้งสี่ยุค โดยแต่ละยุคพระคเณศจะมีคุณสมบัติต่างกัน

เช่น ในกฤตยุค หรือยุคแห่งความดีงามสูงสุดอวตารมาในนาม มโหตกฏวินายก มีพระวรกายสว่างดุจดวงอาทิตย์ มีสิบกร ทรงสิงห์ ครั้นพอล่วงยุค พระวรกายค่อยเปลี่ยนสีหมองลง พระกรลดลงเรื่อยๆ พาหนะก็เปลี่ยนไป

จนถึงกลียุคนี้ พระคเณศจะอวตารมาในนามว่า ธูมรวรรณะ (ธูมระ – ควันหรือหมอก, วรรณะ – สี = กายสีดั่งหมอกควัน) มีเพียงสองกร ทรงม้าสีนิล และจะอวตารมาเมื่อสิ้นสุดแห่งยุคแล้ว (คือยังไม่มาตอนนี้)

 

อ่านแล้วก็จะเห็นนะครับว่า เรื่องยุคาวตารของพระคเณศนี้ เป็นการลอกเลียนการอวตารของพระวิษณุ เช่นสีของพระวรกาย ดังมีตำนานในฝ่ายไวษณพว่า สีของพระวิษณุจะคล้ำลงเรื่อยๆ ตามยุค เหตุเพราะความชั่วร้ายดุจหมอกดำมลภาวะมันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือเรื่องอวตารสุดท้ายก็คล้ายกัลกี

ทั้งนี้ ผมเห็นว่า แกนของเรื่องนี้ คือความคิดเรื่องความเสื่อมถอยของศีลธรรม ที่ฮินดูเห็นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ

ดังนั้น ความเสื่อมถอยในทัศนะแบบนี้ จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องทางวัตถุ เช่น สภาพแวดล้อม อายุของมนุษย์ ฯลฯ แต่รวมเอาคุณสมบัติทางศีลธรรมไว้ เพราะในโลกโบราณ ศีลธรรมและธรรมชาติสัมพันธ์เป็นเรื่องเดียวกัน

โบราณถึงเชื่อว่า ผู้นำขาดคุณธรรมฝนฟ้าถึงไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดอาเพศเสมือนท้องฟ้าวิปริตแปรปรวนทันใด (อังกอร์) นั่นไงล่ะครับ

นอกจากอวตารสองลักษณะนี้แล้ว การไปเยือนอินเดียแบบ “เดินด้วยตีน เห็นด้วยตา” จึงทำให้ผมพบว่า ชาวแคว้นมหาราษฎร์หรือชาวมาราฐานั้น ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับพระคเณศที่แปลกออกไปอีก

คือเชื่อว่า พระคเณศนั้น ได้อวตารลงมาเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริงๆ ในทางประวัติศาสตร์ด้วย

 

บุคคลสำคัญในเรื่องนี้ คือ นักบุญโมรยาโคสาวี ผู้สถาปนานิกายคาณปัตยะแห่งแคว้นมหาราษฎร์ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 14

ว่ากันว่า เหตุที่ท่านมีนาม โมรยา ที่แปลว่า นกยูง (โมระ มยุระ ในภาษาบาลีสันสกฤต) เพราะบิดามารดาของท่านได้ไปขอลูกยังเทวสถาน “มยุเรศวร” พระคเณศผู้เป็นเจ้าแห่งนกยูง หนึ่งในอัษฏวินายก

แล้วพระมยุเรศวรจึงมาเกิดเป็นตัวท่านโมรยา โคสาวี

ครั้นท่านแต่งงาน จึงได้รับสัญญาจากพระคเณศในเทวสถานที่เมืองเถอูร พระนามว่า ศรีจินตามณี (หนึ่งในอัษฏวินายก) ว่าจะมาอวตารเป็นลูกท่าน

บุตรชายท่านจึงได้รับนามว่าจินตามณี ชาวบ้านเรียกด้วยความเคารพว่า ศรีจินตามณีมหาราช (มหาราชในภาษาอินเดีย หมายถึงพระคุณท่านหรือหลวงพ่อในทำนองนั้นด้วย)

ตำนานก็เล่าไปอีกว่า ท่านศรีจินตามณีนี้ไม่ใช่คนธรรมดาทว่ามีอิทธิอภินิหารมากมาย คอยช่วยชาวบ้าน

 

ผมไปเยี่ยมเทวสถานของท่านโมรยา โคสาวีและหลุมศพหรือสมาธิสถานของนิกายคาณปัตยะที่เมืองจิญจาวัฑ ก็ได้ไปแสดงความเคารพต่อหลุมศพท่านศรีจินตามณีมหาราช และวงศ์วานของท่าน

แต่คราวนี้ต่างจากไปครั้งแรกที่ผมไปเมื่อสองปีก่อน คือผนังหลุมศพท่านจินตามณี มีภาพปูนปั้นตำนานของนิกาย เป็นภาพท่านศรีจินตามณีคุยกับนักบุญอีกสององค์ของแคว้นมหาราษฎร์ คือท่านตุการามและท่านรามทาส ด้านหลัง มีพระรามสีดา พระกฤษณะและรุกขมิณีนั่งเสวยอาหารอยู่

ตำนานเล่าว่า คราหนึ่งนักบุญสำคัญในฝ่ายนี้ทั้งสามท่านมาเจอกัน (ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ ท่านเกิดคนละยุค เรื่องนี้จึงเป็นไปไม่ได้) แล้วก็เล่นท่าประลองฤทธิ์ตามประสานักบุญ

ฝ่ายรามทาสนั้นนับถือพระราม ฝ่ายตุการามนับถือพระกฤษณะ ส่วนศรีจินตามณีนับถือพระคเณศ

ทั้งสามถามว่าใครสนิทสนมภักดีต่อพระเจ้าของตัวมากที่สุด รามทาสก็บอกว่าจะอัญเชิญพระเจ้าที่ตนเคารพมาเลี้ยงข้าวก็ยังได้ พระรามและสีดาจึงเสด็จมายังพิธี ตุการามไม่ยอมแพ้ ก็เชิญพระกฤษณะมายังพิธีได้อีก

จินตามณีมหาราชได้แต่ยิ้ม แล้วบอกว่า เราเชิญพระเป็นเจ้ามาไม่ได้หรอก ทันใดนั้นร่างกายของท่านก็เปลี่ยนไปเป็นพระคเณศเอง

ฝ่ายตุการามและรามทาสต่างยอมแพ้ว่า ตนเองเป็นแค่สาวก แต่ท่านจินตามณีเป็นพระเจ้าเองทีเดียว

ชาวบ้านจึงเชื่อต่อๆ กันมาว่า ลูกหลานของท่านโมรยาโคสาวีทั้งเจ็ดรุ่น ล้วนเป็นพระคเณศ “อัษฏวินายก” ทั้งแปดองค์อวตารมาทั้งสิ้น

ตระกูลนี้จึงมีนามสกุล “เทวะ” คือชาวบ้านนับถือว่าเป็นเทพ และยังมีเชื้อสายสืบมาจนปัจจุบัน ผมเคยพบท่านสุเรนทร ธรณีธร เทวะ ซึ่งเป็นรุ่นที่สิบสี่ โดยมักยกให้คนในตระกุลนี้เป็นผู้นำในนิกายคาณปตยะ (ท่านเสียชีวิตแล้ว)

ตำนานนี้เราอ่านดูก็ทราบว่าเป็นการเมืองเรื่องนิกาย ผมอ่านวรรณกรรมประวัตินักบุญอีกเล่ม คือ “ภักตะวิชัย” ต้นฉบับเขียนในภาษามาราฐี เล่าไว้อีกแบบ คือ เล่าว่า พวกพราหมณ์ “เทวะ” ในจิญจาวัฑ ไม่ยอมรับตุการามซึ่งเป็นคนวรรณะต่ำ ต่อมาจึงยอมรับในคุณงามความดีของตุการามและยกย่องเชิดชูแทน

สนใจเรื่องอะไรแบบนี้ โปรดติดตามใน “ภารตะ – สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?” รวมบทความจากคอลัมน์นี้ในมติชนสุดสัปดาห์

วางแผงในกลียุคแล้วครับ