ถอดรหัส ดราม่าเลิก-ไม่เลิก เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี / การศึกษา

การศึกษา

 

ถอดรหัส ดราม่าเลิก-ไม่เลิก

เครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี

 

เป็นประเด็นดราม่าอยู่พักใหญ่ หลังผู้ปกครองส่วนหนึ่งเรียกร้องให้เลิกสวมเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี เนื่องจากราคาแพง เป็นภาระผู้ปกครอง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลให้หลายครอบครัวประสบภาวะวิกฤตอย่างหนัก

เลยเถิดไปถึงขั้นมีข้อเสนอให้ยกเลิกการเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียง มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

โดยกลุ่มที่เห็นด้วย ยกเหตุผลว่า ระบบการศึกษาไทยควรปรับเปลี่ยน เพราะบางวิชาอาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ขณะที่กลุ่มไม่เห็นด้วยมองว่า อาจไม่ถึงขั้นต้องยกเลิกเรียนวิชานี้ เพียงแต่อาจต้องปรับเรื่องการแต่งกายให้สอดคล้องกับสถาพเศรษฐกิจมากขึ้น โดยอาจไม่จำเป็นต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ ลดสเต็ปลงเหลือแค่ผ้าพันคอ หรือวอกเกิ้ล เป็นการให้ความสำคัญที่ตรงจุดมากกว่าการใส่ชุดเต็มยศ

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า ในส่วนของ ศธ.มีมาตรการช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี โดยกำชับให้โรงเรียนอนุโลม กรณีนักเรียนรายใดไม่มีความพร้อม ขอให้ยืดหยุ่นไม่ต้องแต่งกายเต็มรูปแบบ เพียงแค่มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นลูกเสือ เนตรนารี อาทิ ผูกผ้าพันคอแสดงสัญลักษณ์ เป็นต้น ยกเว้นครอบครัวใดที่มีความพร้อมจัดหาได้ก็ถือว่าอยู่ในมาตรฐานปกติที่จำเป็นต้องมี

ทั้งนี้ การที่ ศธ.ขอให้โรงเรียนอนุโลมเรื่องการแต่งกายชุดลูกเสือ เนตรนารีนั้น ไม่ได้ทำโดยพลการ มีระเบียบรองรับตั้งแต่ปี 2529 ว่าสามารถดำเนินการได้

สวนทางกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งล่าสุด นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะรองประธานกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ได้มีการพิจารณาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อการจัดหาชุดเครื่องแบบให้กับบุตรเพื่อใช้ในการเรียนลูกเสือ เนตรนารี แต่เห็นว่า การแต่งกายด้วยชุดลูกเสือและเนตรนารี เป็นการปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นลูกเสือและเนตรนารี ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปลูกฝังอุดมการณ์ลูกเสือและเนตรนารี

จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษา ให้การสนับสนุนช่วยเหลือ จัดหาชุดเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีให้กับนักเรียนรายนั้นๆ โดยหากเกินความสามารถของจังหวัด ขอให้ได้แจ้งมาที่ มท. เพื่อระดมสรรพกำลังในส่วนกลางพิจารณาให้การสนับสนุนต่อไป

คำสั่งดังกล่าวนำมาซึ่งความสับสน โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติ!

 

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า ศธ.และหน่วยงานภาครัฐอย่าง มท. ยังมีความสับสน โดย น.ส.เทียนทองมีนโยบายให้โรงเรียนอนุโลมการแต่งชุดลูกเสือ เนตรนารี ให้เหลือเพียงสัญลักษณ์ เพื่อลดภาระผู้ปกครอง สวนทางกับ มท.ที่ยังคงย้ำให้สวมใส่ชุดลูกเสือ เนตรนารี เต็มเครื่องแบบ เมื่อระดับนโยบายไม่มีความชัดเจน ทำให้ฝ่ายปฏิบัติ ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครอง เกิดความสับสน

“กระแสดราม่านี้ ไม่ใช่ดราม่าแบบละคร แต่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความจำเป็น รวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีทั้งเรื่องปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม ส่วนตัวเห็นว่า การเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยังจำเป็น แต่การแต่งเครื่องแบบอาจต้องมีการอนุโลม หรือยกเลิกการแต่งเต็มยศ ให้เหลือเพียงสัญลักษณ์ เช่น ผ้าพันคอ และวอกเกิ้ลเท่านั้น เพื่อลดภาระผู้ปกครอง เพราะหัวใจสำคัญของการเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี คือการปลูกฝังความมีวินัย ให้เกิดความรัก และความสามัคคี ดังนั้น จึงไม่ควรยึดติดกับการสวมใส่เครื่องแบบ เพราะหากยังยึดติดให้เด็กต้องสวมใส่เครื่องแบบเต็มยศ คงไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้”

นายสมพงษ์กล่าว

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ราคาชุดลูกเสือ เนตรนารี แพงกว่าชุดนักเรียนปกติ เพราะเนื้อผ้าหนากว่า โดยราคาเสื้อลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด จะมีราคาเดียวกันแต่แตกต่างไปตามไซซ์ ราคา 283-485 บาท ส่วนกระโปรง อยู่ที่ 246-550 บาท กางเกง 220-525 บาท

เท่ากับรวมๆ แล้วค่าชุดลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ราคาชุดละกว่า 1,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

นอกจากนี้ ยังมีค่าเครื่องแบบอื่นๆ อาทิ หมวกและเข็มหน้าหมวก 80-90 บาท ผ้าพันคอ 30 บาท ว็อกเกิ้ล 10 บาท เข็มติดหน้าอก 10 บาท เข็มขัด 105 บาท อินทรธนูสำหรับลูกเสือ เนตรนารี 25 บาท หากเป็นยุวกาชาด จะมีเข็มสัญลักษณ์ ราคา 20 บาท ยังไม่รวมค่าปักชื่อป้าย และเครื่องหมายต่างๆ รวมราคาประมาณ 60 บาท

งานนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องไป คิดใหม่ ทำใหม่ กำหนดมาตรการภาพรวมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะบางเรื่องคำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่เลิก หรือไม่เลิกเท่านั้น แต่การผ่อนปรนและหาจุดกึ่งกลางที่เหมาะสมร่วมกันอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด

แต่ทั้งหมดจะต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่สั่งคนละอย่าง ไปคนละทาง สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ได้เช่นเดิม! •