ELVIS ขบถไม่มีวันตาย / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ELVIS ขบถไม่มีวันตาย

 

หากใครเป็นแฟนเพลงของนักร้องราชาร็อกแอนด์โรล “เอลวิล เพรสลีย์” คงไม่พลาดหนังเรื่อง ELVIS ที่กำลังฉายอยู่นี้แน่ ซึ่งแฟนเพลงที่ว่านี้คงมีอายุ 60 ปีขึ้น

ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะไม่ได้เป็นแฟนตัวยง หรือคลั่งไคล้เอลวิสอะไรมากมาย แต่ก็ได้ฟังเพลง ได้รู้จักเรื่องราวของเขาอยู่บ้าง

ที่ไปดูหนังเรื่อง ELVIS นี้ มีเหตุผลหลักๆ สองประการ

ประการแรกคือ ไอ้คนที่เล่นเป็นเอลวิส มันจะเล่นเหมือน ร้องเหมือนไหมวะ?

ซึ่งก็เป็นข้อสงสัยเดียวกับตอนที่หนังเรื่อง Bohemian Rhapsody ที่เอาชีวิตของ Freddie Mercury แห่งวง Queen มาสร้างลงจอ

ประการที่สองคือ อยากดูงานสร้างและการเล่าเรื่องของผู้กำกับการแสดง “บาซ เลอร์แมน” เพราะจำได้ถึงความตื่นตาในผลงาน Romeo + Juliet ฉบับที่แสดงโดยดิคาปริโอ, รวมทั้งเรื่อง The Great Gatsby และ Moulin Rouge

และเลอร์แมนก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะเขาเฆี่ยนตีคนดูให้ติดตามตั้งแต่ต้น ด้วยเทคนิคภาพ การตัดต่อ และดนตรี ที่ปลุกเร้าให้เราตื่นตัว และปล่อยใจให้เดินตามเขาไปในทันที โดยไม่ได้เล่าเรียงตามประวัติชีวิตของเอลวิสแต่อย่างใด

แต่น่าสนใจที่เลอร์แมนเล่าผ่านมุมมองของ “ผู้พันทอม พาร์กเกอร์” ผู้สร้างและดูแลเอลวิสมาตลอดชีวิต รับบทโดยนักแสดงรางวัลออสการ์ “ทอม แฮงส์” ที่เรื่องนี้แปลงโฉมให้ดูอ้วน และหัวล้าน ตามฉบับตัวตนจริง

เลอร์แมนเล่นเอาล่อเอาเถิดกับคนดูในประเด็นที่เป็นประการแรกของผม เขาไม่ได้เปิดให้คนดูเห็นเอลวิสแบบเต็มๆ จะจะเสียที ทั้งๆ ที่พูดถึงเอลวิสตลอดเวลา ยิ่งทำให้คนดูอยากเห็นใจจะขาดว่าเหมือนหรือไม่เหมือน

และเขาก็ผลักให้เอลวิสที่เราเฝ้ารอดู ได้มากระแทกเต็มตาเต็มใจกับฉากร้องเพลงที่ทรงพลังอย่างมาก ปฏิกิริยาผู้ชมสาวๆ ในเรื่องที่กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้ไม่ได้เกินจริงเลย เพราะเราก็พลอยรู้สึกตามไปด้วย

ผู้รับบทเอลวิส คือ “ออสติน บัตเลอร์” สาบานได้ว่าผมไม่คุ้นหน้าเขาเลย เมื่อย้อนไปดูประวัติการแสดง ก็พบว่าได้เล่นหนังและซีรีส์ไม่มากนัก และก็ไม่ใช่หนังที่โด่งดังอะไร ถ้าจะมีชื่อหน่อยก็คือเรื่อง “Once Upon a Time in Hollywood” ที่นำแสดงโดยลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และแบรด พิตต์

ถามว่า บัตเลอร์เหมือนเอลวิสไหม?

ก็ตอบว่าไม่เหมือน แต่คล้ายๆ ในบางมุม โครงหน้าของบัตเลอร์จะผอมตอบกว่าเอลวิส ที่ใบหน้านั้นดูอวบอิ่มเจ้าเนื้อกว่า แต่จากการแสดงเรื่องนี้ เขาจัดเต็มจนทำให้เราเคลิ้มตามในความเป็น “เอลวิส” ของเขาไปได้ไม่ยากนัก

เบื้องหลังการได้บทนี้มาครองเล่าว่า บัตเลอร์ทำการบ้านมาดี เขาศึกษาความเป็นเอลวิสและถอดแบบออกมาให้มากที่สุด ที่ได้เปรียบคือเขาชอบเล่นกีตาร์เหมือนเอลวิส เมื่อเขาร้อง เล่น และดึงวิญญาณของเอลวิสออกมาได้อย่างวิเศษ เขาจึงได้รับบทนี้ไป

ระหว่างการถ่ายทำ แม้ตอนให้สัมภาษณ์ เขาก็ติดเอาสำเนียงใต้ของเอลวิสมาพูดคุยกับนักข่าวด้วย แสดงถึงความ “อิน” จัด

และที่ช่วยยืนยันได้อย่างดีคือ การยอมรับจาก “พริสซิลา เพรสลีย์” ภรรยาคนแรกของเอลวิส

ผมจั่วหัวตอนไว้ว่า “ELVIS ขบถไม่มีวันตาย”

“ขบถ” หนึ่งในความเป็นเอลวิสที่คนส่วนใหญ่คิดถึงและนึกออก เพราะกลายเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงของเอลวิสไปแล้วยามเขาอยู่บนเวที นั่นคือ “ลีลาการเต้น” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นการโยกและคลึง ที่สะเด็ดสะเด่ามาก

ช่วงขาของเขาจะทรงพลังและเคลื่อนไหวอย่างน่าดู ทั้งการสั่นขา สลับขาไปมาอย่างเร็ว หรือการสั่นสะโพกอย่างกับการกระตุก

ที่ว่าเป็นขบถ เพราะเจ้าหน้าที่บ้านเมืองและผู้ใหญ่ของอเมริกายามนั้น มองว่าเป็นการแสดงออกที่นำความชั่วร้ายเสื่อมเสียมาสู่สังคม โดยเฉพาะมีผลต่อเด็กผู้หญิง และเยาวชน ซึ่งก็คอนเฟิร์มได้จากอารมณ์คลั่งสุดขีดเวลาได้ดูเขาแสดงบนเวที

และลึกๆ คือ มันเป็นบุคลิกการแสดงออกของ “คนดำ” ที่เป็นคนที่ถูกกดทับและข่มขี่ให้ต่ำต้อยมาโดยตลอด

ซึ่งการแสดงออกเช่นนี้ ก็เพราะการเติบโตมากับสังคมคนดำของเอลวิสที่เมืองเมมฟิซ รัฐเทนเนสซี คนดำไม่ได้มีอิสรภาพในการใช้ชีวิตและการแสดงออกเลย สิ่งที่ปลดปล่อยเขาได้คือดนตรีและเสียงร้อง ที่ออกมาในแนวบลู โซล กอสเปล และบัลลาด ที่โหยหวน หดหู่ แต่มีพลัง

นั่นทำให้การร้องของเอลวิสจึงโดดเด่นและแตกต่างจากนักร้องผิวขาวคนอื่นที่มีมา

จริงๆ แล้ว ขบถอย่างหนึ่งของเอลวิสที่สำคัญคือ “บทเพลง” ของเขา ที่หลายต่อหลายเพลงเหมือนพูดแทนคนชั้นล่างของสังคมที่ถูกกดขี่และเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา เป็นเสียงรำพันจากผู้น้อยให้คนอื่นได้ฟัง และหวังจะให้ได้ยินในเนื้อหาด้วย

ในหนังเอลวิสได้บอกว่า บาทหลวงผิวดำในโบสถ์ที่เขาไปคลุกอยู่ตอนเด็กๆ ได้บอกว่า “อะไรที่อันตรายเกินกว่าจะพูด…ให้ร้องแทน”

และในหนังจะเห็นว่าเขาได้ทำหน้าที่ “ร้องแทน” คนตัวเล็กๆ ที่ถูกรังแกตลอดเวลา

และคนตัวเล็กๆ ที่ว่านี้ก็รวมถึงเขาด้วย ที่หนังได้สะท้อนให้เราเห็นถึงการที่เขาถูกกดทับ ครอบงำ เอาเปรียบจากคนตัวใหญ่กว่าอย่าง “ทอม พาร์กเกอร์” ผู้จัดการของเขา เป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากคนอย่างเลือดเย็น และแลเห็นเอลวิสเป็นเพียงเครื่องจักรทำเงิน

ดังจะเห็นได้จากฉากที่เอลวิสเหนื่อยอย่างมากและล้มลงก่อนจะขึ้นเวทีแสดง พาร์กเกอร์ไม่ยอมส่งเขาไปโรงพยาบาล แต่ให้หมอประจำทีมฉีดยาอะไรก็ได้ให้เอลวิสมีแรงขึ้นเวทีเพื่อทำเงินให้เขาให้ได้

นอกจากผลงานการสร้างที่สวยงาม น่าตื่นตาตื่นใจที่ถอดแบบมาจากบ้านเมืองและชีวิตผู้คนในยุค 80 แล้ว เรายังได้เห็นสิ่งที่เป็นอมตะเหลือเกินคือ ความยิ่งใหญ่ของอำนาจของคนชั้นปกครอง ที่คอยกำหนดชี้นำ กำกับควบคุมทุกอย่างให้อยู่ในมือ เพื่อผลประโยชน์ของตนและพรรคพวก

ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์จริงที่แทรกเข้ามาคือ การสังหาร นักต่อสู้อย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง และประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ ที่มาจากน้ำมือของผู้กำอำนาจและผลประโยชน์นั่นเอง

เมื่อหลายอย่างถูกกดทับ มันก็จะดิ้นรนหาทางในการแสดงออกออกมาจนได้ และก็จะถูกเรียกว่าเป็น “ขบถ”

แต่น่าแปลกที่แม้เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ แต่ขบถก็ยังไม่เคยหมดไปจากสังคมและโลกใบนี้สักที

วลีที่ว่า “ขบถไม่มีวันตาย” ดูดี แต่จะให้ดีกว่านี้ถ้าโลกเราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีขบถ สังคมคงจะน่าอยู่และสดใสกว่านี้แน่นอน

 

ในหนังได้สร้างความประทับใจให้แฟนเอลวิสตัวยง โดยการนำฟุตเทจการแสดงสดของเอลวิสที่เป็นการแสดงครั้งสุดท้าย ก่อนที่เขาจะจบชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายในอีก 2 เดือนต่อมา ในบทเพลงอมตะที่ชื่อ “Unchained Melody” เป็นการสวมทับกับภาพจากหนังได้อย่างกลมกลืนสวยงาม ประทับใจ และเศร้าสลดไปในที เนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเพลง ร้องว่า

“My lone, my darling

I’ve hungered for your touch…

I need your love, I need your love

God speed your love to me”

หนังเรื่องนี้ได้แสดงให้เราเห็นว่า เอลวิสเป็นคนที่ต้องการความรักอย่างมาก โดยเฉพาะความรักที่มาจากแฟนเพลงของเขา เขาทนไม่ได้หากเขาจะเป็นชายวัย 40 ที่ถูกลืมเลือน

ถ้าในยุคนี้ต้องบอกว่าเป็นคนประเภท “หิวแสง”

แต่แสงที่เอลวิสหิวคือ แสงแห่งความรัก และเขาสัมผัสมันได้ทุกครั้งเวลาที่ได้ยืนอยู่บนเวที และได้ร้องเพลงของเขาออกไปสู่ผู้ชมอันเป็นที่รัก

และขบถคนนี้จะยังอยู่ในใจของนักฟังเพลงไปอีกนาน ผ่านบทเพลงและเสียงร้องของเขา… เอลวิส เพรสลีย์ •

 

ELVIS