จะไปคุยอะไรในค่ายทหาร/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

จะไปคุยอะไรในค่ายทหาร

 

ถอยไปราวสัก 100 ปี ในเมืองไทย การค้าขายฝืดเคือง พืชผลไร่นาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินหมดไปกับการพัฒนาประเทศ แต่ใช้ไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ จุดจบคือถังแตก ต้องรีดภาษีเพิ่มขึ้นทุกทาง แต่ด้วยโครงสร้างภาษีที่ล้าหลัง ภาระจึงตกอยู่กับคนจนมากกว่าคนรวย

ความเหลื่อมล้ำนี้ดำรงยั่งยืนมาเป็นร้อยปี!

เมื่อปีที่แล้ว สภาพัฒน์รายงานว่ามีครัวเรือนยากจนเพิ่มขึ้น 1 แสนครอบครัว

มาถึงปีนี้สุดที่จะพรรณนา…ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากปีที่แล้วเท่าตัว เงินเฟ้อ บริษัทล้ม คนตกงาน ข้าวของแพง พืชไร่ราคาตก การขนส่งต้นทุนสูง รถโดยสารหยุดกิจการ

ที่ยังคงเดิมคือ ข้าราชการยังมีสำนึกเช่นในระบบรวมศูนย์อำนาจ นั่นคือ นั่งอยู่บนหัว ปกครองคน เป็นนายคน ไม่เอาใจคน

 

“ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กราวกับฮุกเข้าที่ปลายคาง ในหัวข้อ “ทำไม พล.อ.ประยุทธ์จะไม่รู้เกี่ยวกับกำไรการกลั่นน้ำมัน”

ปุจฉามีว่า ในสถานการณ์วิกฤตพลังงานนี้ ทำไมฉวยโอกาสฟันกำไรจาก “ค่าการกลั่นน้ำมัน” มากเกินเหตุ

กลั่นน้ำมันที่ระยอง แต่ตั้งราคาโดยสมมุติว่ากลั่นที่สิงคโปร์!?

“ธีระชัย” โพสต์ว่า มีหลักฐานยืนยัน ระดับ พล.อ.ประยุทธ์ต้อง “รู้” ตื้นลึกหนาบาง

“ผมได้รับข้อมูลที่น่าสนใจที่แสดงว่าท่านนายกฯ น่าจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกำไรการกลั่นน้ำมันเป็นอย่างดี เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มาตั้งแต่ปี 2550 ในฐานะกรรมการอิสระและประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ”

ผลตอบแทนจากการเป็นกรรมการบริษัทบวกกับเงินรางวัลพิเศษสำหรับผลประกอบการประจำปี 2550-2554 พล.อ.ประยุทธ์ได้รับปีหนึ่งๆ เกือบ 2 ล้าน ถึง 2.8 ล้านบาท

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล จึงย้ำ “ผมมีข้อสังเกตว่า ในฐานะกรรมการอิสระและประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ท่านนายกฯ น่าจะรู้ดีอยู่แล้วว่า กำไรธุรกิจกลั่นน้ำมันมีมากจนสามารถจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการได้อย่างงาม บัดนี้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐควรจะเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง รัฐต้องแสดงต่อประชาชนว่าสามารถกำกับให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคได้หรือไม่ อย่างไร”

ต้องไม่ลืมว่า นายกฯ คนนี้ชอบอ้าง “กฎหมาย”

ว่าแล้วรัฐมนตรีพาณิชย์ก็เลยพลอยพยัก

“กฎหมายให้ทำได้มั้ยเล่า”!

ธีระชัยไขกระจ่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 25(2) และ (3) รัฐมีอำนาจที่จะควบคุม กำหนดราคากำไรในการกลั่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ประชาชน

“ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงมีหน้าที่จะต้องเร่งรัดให้รัฐมนตรีพาณิชย์ดำเนินการ”

 

ก่อนหน้านี้ ค่าการกลั่นน้ำมันราว 2 บาทต่อลิตร

วันนี้พุ่งขึ้นเป็น 5.20 บาทต่อลิตร

คำถากถางและท้าทายจาก “ธีระชัย” ชวนให้เชื่อว่า “ประยุทธ์” ไม่มีวันจะเข้าใจคนหาเช้ากินค่ำ คนทั่วไปที่ทำมาค้าขาย ธุรกิจรายเล็กรายย่อยที่ต้องประสบกับความหายนะ คนจนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวในช่วงหลายปีมานี้

แทนที่จะไปจ้องจับผิด “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯ กทม.เรื่องประกาศให้ 7 สถานที่เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองได้ “นักร้องทางการเมือง” ก็น่าจะลองไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีดูบ้าง ในฐานความผิด “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด…” แล้วจะกระจ่างแก่ใจว่า กฎหมายอาญา “มาตรา 157 เจ้าปัญหา” นี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานได้ถ้วนหน้าทั้งคนเจริญ-คนเสื่อม-คนดี-คนไม่ดี

ที่ประเทศอื่นๆ ก็ประสบวิกฤตราคาน้ำมัน

แต่อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี เลือกใช้วิธี “บรรเทาทุกข์” ให้กับประชาชนด้วยการลดค่าพลังงานครัวเรือน ลดภาษีผู้ใช้แรงงาน ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พร้อมกับ “เก็บภาษีลาภลอย” 25 เปอร์เซ็นต์จากผลกำไรของผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซ

ที่ประเทศไทย “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรีชักชวนผู้คนให้ย้อนยุค “หันหลังกลับ” ไปใช้ “เตาอั้งโล่” ใช้ถ่านไม้ ใช้ฟืน ใช้เศษไม้ประหยัดพลังงาน ประหยัดก๊าซหุงต้ม

ถึงจะมีควันส่งกลิ่นให้เดือดร้อนรำคาญก็ต้องเจียมเพราะจน

 

การเริ่มต้นด้วยตัวเลข 84,000 อะไรต่อมิอะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องคาดเดา ย่อมจะเหนือความคาดฝัน น้ำท่วมบ้าน ให้ย้ายไปอยู่ที่สูง พายุมา ให้สวดมนต์ ของขายไม่ออก บอกให้เลิกแล้วไปทำอย่างอื่น ยางราคาตก ให้โค่นแล้วปลูกพืชอื่นแทน หมูแพงไปกินไก่ ผักชีแพง ให้ทหารปลูก น้ำมันแพงคนใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์เดือดร้อนก็ให้ไปนั่งรถเมล์ ขนส่งหยุดรถหรือลดเที่ยววิ่งก็ตัวใครตัวมัน ค่าเอฟทีไฟฟ้าขึ้นไปกว่า 1,600 เปอร์เซ็นต์ ก็ปิดไฟ ปิดพัดลม เลิกใช้หม้อหุงข้าว ขี่เตาอั้งโล่ไปดาวอังคาร ฯลฯ

นับเป็นมิติที่แตกต่างจากผู้นำทางการเมืองคนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ชาติไทย!

ใช่หรือไม่ว่า ประชาชนควรจะพอใจกับรัฐราชการมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แม้ล่าสุดกระทรวงการคลังจะรายงานว่าหนี้สาธารณะท่วมถึง 10,046,605 ล้านบาท คิดเป็น 60.81% ของจีดีพี และรัฐบาลกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้ถึง 6 ล้านล้านบาท

การพลิกวิกฤตเป็นโอกาสจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรู้ ความคิด ความสามารถ รวมทั้งความกล้าหาญในการตัดสินใจ เช่น มีการระดมคน ระดมสมองร่วมกันถกหาทางออก ไม่ใช่โยนปัญหาไปให้พ้นตัว คิดอะไรไม่ออกบอก “สมช.” ไปวางแผน

ส่วนเรื่องความคิดที่แตกต่างนั้นเป็นความปกติในสังคมเสรีประชาธิปไตย ไม่เคยเห็นประเทศเจริญแล้วที่ไหนในโลกที่ “กองทัพ” หรือกระทรวงกลาโหมให้โฆษกออกมาชวน “คนเห็นต่าง” ไปนั่งคุยกันในกองทหาร

ไม่เข้าใจสังคมหรือไม่รู้หน้าที่ ยุ่งกับกิจการบ้านเมืองจนติดนิสัย เข้าใจผิด หลงผิดจนสายตาพร่ามัว มองเห็นภาพต่างๆ บิดเบือนไปจากภาพจริง

ป่วยกายต้องรักษา หากเป็นใจหรือความคิดต้อง “ปรับทัศนคติ”!?!!!