ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (4)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (4)

ลำดับของเวลากลางวันและกลางคืน

ในสมัยที่เชื่อกันว่าโลกเรานี้เป็นศูนย์กลางของโลกและดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปรอบโลกนั้น เมื่อพูดถึงลำดับของเวลากลางวันและกลางคืนใครจะไม่กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ได้?

อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่มีกล่าวอยู่ในกุรอาน

และเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมีอยู่ดังนี้

ซูเราะฮ์ที่ 7 โองการที่ 54 “พระผู้เป็นเจ้าทรงปกคลุมเวลากลางวันด้วยเวลากลางคืนซึ่งตามมาอย่างรีบร้อน…”

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 37 “และสัญญาณสำหรับพวกเขา (มนุษย์) ก็คือเวลากลางคืน เราถอดมันมาจากเวลากลางวันและพวกเขาก็อยู่ในความมืด”

ซูเราะฮ์ที่ 31 โองการที่ 29 “พวกเจ้าไม่เคยเห็นดอกหรือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสอดใส่เวลากลางคืนเข้าไปในเวลากลางวันและสอดใส่เวลากลางวันเข้าไปในเวลากลางคืนอย่างไร?”

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 5 “…พระองค์ทรงพันเวลากลางคืนเข้ากับเวลากลางวันและพระองค์ทรงพันเวลากลางวันไว้กับเวลากลางคืน”

โองการแรกที่ยกมานี้ไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย โองการที่สองเพียงแต่ให้ภาพเท่านั้น ส่วนโองการที่สามและสี่ข้างบนนี้มีสิ่งที่น่าสนใจในเรื่องกระบวนการของการสอดแทรกเข้าไป โดยเฉพาะในการพันกลางคืนเข้ากับกลางวันและพันกลางวันเข้ากับกลางคืน (ซูเราะฮ์ที่ 39 โองการที่ 5)

“การพัน” อย่างที่มีในบทแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย R.Blachere นั้นดูเหมือนจะเป็นคำแปลที่ดีที่สุดของคำกริยาภาษาอาหรับว่า “เกาะวะเราะ” ความหมายดั้งเดิมของคำกริยานี้ก็คือการ “พัน” ผ้าโพกผมไว้รอบๆ ศีรษะ ความคิดในเรื่องการพันนี้ได้รับการรักษาไว้ในความหมายอื่นๆ ของคำคำนี้

อย่างไรก็ตาม ในอวกาศมีอะไรเกิดขึ้นจริงๆ เล่า?

 

นักท่องเที่ยวไปในอวกาศชาวอเมริกันได้แลเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นและได้ถ่ายรูปมันไว้จากยานอวกาศของพวกเขา โดยเฉพาะในระยะที่ไกลจากโลกมาก เช่น จากดวงจันทร์ เป็นต้น

พวกเขาแลเห็นว่าดวงอาทิตย์ส่องแสงไปยังพื้นผิวของโลกครึ่งหนึ่งที่หันหน้าไปหาดวงอาทิตย์ให้สว่างขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร (ยกเว้นในกรณีที่มีสุริยคราส) ในขณะที่พื้นผิวโลกอีกครึ่งหนึ่งตกอยู่ในความมืด โลกหมุนไปรอบแกนของมันเองและแสงสว่างยังอยู่อย่างเดิม ทำให้พื้นที่ของครึ่งวงกลมหมุนไปรอบโลกในเวลา 24 ชั่วโมงในขณะที่อีกครึ่งวงกลมซึ่งยังอยู่ในที่มืดหมุนไปในเวลาเดียวกัน

การหมุนอยู่ตลอดเวลาของกลางคืนและกลางวันนี้มีกล่าวไว้ในกุรอานอย่างค่อนข้างชัดเจน มนุษย์จะเข้าใจความคิดนี้ได้ง่ายในปัจจุบันนี้เพราะเรามีความคิดถึงความไม่เคลื่อนไหว (คือเคลื่อนไหวไม่มากของดวงอาทิตย์และการหมุนของโลก)

กระบวนการพันไปเรื่อยๆ นี้ซึ่งรวมเอาการสอดแทรกของส่วนหนึ่งเข้าไปในอีกส่วนหนึ่งนี้มีแสดงอยู่ในกุรอานราวกับว่าในสมัยนั้นผู้คนเข้าใจถึงแนวความคิดเรื่องความกลมของโลกแล้ว ซึ่งที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น

นอกจากข้อคิดในเรื่องลำดับของกลางวันและกลางคืนแล้ว เราจะต้องกล่าวถึงความคิดที่ว่ามีมากกว่าตะวันออกแห่งเดียวและตะวันตกแห่งเดียวด้วย พร้อมด้วยการยกโองการบางโองการจากกุรอานมากล่าว

นี่เป็นการบรรยายที่น่าสนใจอย่างแท้จริงเพราะว่าปรากฏการณ์เหล่านี้จะเห็นได้ด้วยการสังเกตอย่างธรรมดาที่สุด การกล่าวถึงความคิดนี้ ณ ที่นี้ก็ด้วยจุดหมายที่จะชี้ให้เห็นว่ากุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้างอย่างซื่อตรงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ต่อไปนี้คือตัวอย่าง

ในซูเราะฮ์ที่ 70 โองการที่ 40 “เจ้าแห่งทิศตะวันออก (หลายวัน) และทิศตะวันตก (หลายอัน)”

ในซูเราะฮ์ที่ 55 โองการที่ 17 “เจ้าแห่งทิศตะวันออกทั้งสองและทิศตะวันตกทั้งสอง”

ในซูเราะฮ์ที่ 43 โองการที่ 38 มีกล่าวถึง “ระยะทางระหว่างทิศตะวันออกทั้งสอง” อันเป็นภาพที่ตั้งใจจะแสดงถึงขนาดอันใหญ่โตมหาศาลของระยะทางที่แยกจุดทั้งสองออก

ผู้ใดก็ตามที่เฝ้าดูดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตกอย่างระมัดระวังย่อมรู้ว่าดวงอาทิตย์ขึ้น ณ จุดที่ต่างกันของทิศตะวันออกและตกที่จุดต่างๆ กันของทิศตะวันตก แล้วแต่ฤดูกาลและจุดที่ดู บนเส้นขอบฟ้าแต่ละเส้นย่อมกำหนดเขตจำกัดที่อยู่สุดซึ่งเป็นเขตของทิศตะวันออกทั้งสองและทิศตะวันตกทั้งสอง และระหว่างจุดเหล่านี้ก็มีจุดอีกหลายจุดที่แลเห็นได้ตลอดปี

ปรากฏการณ์ที่บรรยายไว้ ณ ที่นี้มีอยู่ดาษดื่น แต่สิ่งที่ควรแก่ความสนใจเป็นอย่างมากก็คือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันนี้ เมื่อคำบรรยายถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ซึ่งมีกล่าวอยู่ในกุรอานเกิดคล้องจองกับข้อมูลสมัยใหม่

 

วิวัฒนาการของชั้นฟ้า

เมื่อนึกถึงแนวความคิดสมัยใหม่ในเรื่องการก่อรูปของจักรวาลแล้วก็ได้มีการกล่าวถึงวิวัฒนาการที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยกลุ่มก๊าซที่มีอยู่เบื้องแรกไปจนถึงการก่อรูปของหมู่ดวงดาว (กาแล็กซี่) ดวงดาวและการปรากฏของดาวพระเคราะห์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นในบางขั้นตอนของวิวัฒนาการ

ข้อมูลสมัยใหม่นำให้เราเชื่อว่าในระบบสุริยจักรวาลและโดยทั่วไปยิ่งกว่านั้นก็คือในจักรวาลเองนั้น วิวัฒนาการนี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

ผู้ใดก็ตามที่รู้ถึงความคิดเหล่านี้จะละเว้นการเปรียบเทียบกับข้อความบางข้อความที่มีอยู่ในกุรอานซึ่งกล่าวถึงความมีอำนาจทั่วของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร กุรอานได้เตือนเราไว้หลายครั้งว่า

“พระผู้เป็นเจ้าทรงควบคุมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แต่ละสิ่งย่อมโคจรไปตามทางของมันในเวลาที่กำหนดไว้”

ประโยคนี้พบได้ในซูเราะฮ์ที่ 13 โองการที่ 2 ซูเราะฮ์ที่ 31 โองการที่ 29 ซูเราะฮ์ที่ 35 โองการที่ 13 ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 5

นอกจากนี้ยังมีความคิดเรื่องสถานที่ที่กำหนดไว้พร้อมด้วยแนวความคิดเรื่องสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางด้วย ในซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 38 มีข้อความว่า “ดวงอาทิตย์โคจรไปตามทางของมันจนถึงสถานที่หนึ่งซึ่งกำหนดไว้ นี่คือบัญชาของพระผู้ทรงอานุภาพ ผู้ทรงเต็มไปด้วยความรู้”

“สถานที่อันกำหนดไว้” เป็นคำแปลของคำว่ามุสตะกอรร์ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันมีความหมายถึงสถานที่ที่แน่นอน

 

ถ้อยคำเหล่านี้เป็นอย่างไรเมื่อเปรียบกับข้อมูลที่ได้มาจากวิทยาศาสตร์สมัยใหม่?

กุรอานให้จุดยุติแก่วิวัฒนาการของดวงอาทิตย์และสถานที่อันเป็นจุดหมายปลายทางและยังมีสถานที่อันกำหนดไว้ให้แก่ดวงจันทร์ด้วย เพื่อที่จะเข้าใจถึงความหมายที่อาจเป็นไปได้ของคำพูดเหล่านี้ ควรต้องจำไว้ว่าความรู้สมัยใหม่พูดถึงวิวัฒนาการของดวงดาวโดยทั่วๆ ไปและโดยเฉพาะดวงอาทิตย์ว่าอย่างไร รวมทั้งเทหวัตถุในฟากฟ้าซึ่งเคลื่อนไหวตามไปอย่างอัตโนมัติ ผ่านไปในอวกาศ ในท่ามกลางนั้นมีดวงจันทร์อยู่ด้วย

ดวงอาทิตย์คือดวงดาวซึ่งมีอายุประมาณ 4 พันล้านปีแล้วตามที่ผู้เชี่ยวชาญในวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์กล่าวไว้ เป็นไปได้ที่จะแลเห็นความแตกต่างในขั้นตอนหนึ่งในวิวัฒนาการของมันเช่นเดียวกับในดวงดาวทั้งหลายในปัจจุบันนี้ดวงอาทิตย์ยังอยู่ในขั้นตอนแรกๆ ซึ่งมีลักษณะของการเปลี่ยนรูปของปรมาณูไฮโดรเจนให้กลายเป็นปรมาณูของก๊าซฮีเลียม

ตามทฤษฎีแล้วขั้นตอนปัจจุบันนี้จะมีต่อไปนานถึง 5 พันล้านปีตามการคำนวณที่ว่าระยะเวลาขั้นต้นของดวงดาวชนิดนี้ทั้งหมดจะเป็น 10 พันล้านปี ได้แสดงไว้แล้วในกรณีของดวงดาวอื่นๆ เหล่านี้ว่าขั้นตอนนี้จะหลีกทางให้แก่ช่วงเวลาที่สองซึ่งมีลักษณะของการเปลี่ยนรูปของก๊าซไฮโดรเจนไปเป็นก๊าซฮีเลียมสำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้วมีผลคือการขยายตัวของชั้นนอกของมัน และการเย็นตัวลงของดวงอาทิตย์

ในขั้นตอนสุดท้าย แสงสว่างของมันหายไปมากมายและความเข้มข้นก็ลดลงมาก นี่จะสังเกตได้ในดวงดาวชนิดที่เรียกกันว่า “คนแคระสีขาว”

ข้อมูลข้างต้นนี้น่าสนใจตรงที่มันได้ประมาณปัจจัยเวลาที่เกี่ยวข้องไว้อย่างคร่าวๆ สิ่งที่มีค่าควรแก่การรำลึกถึงและเป็นจุดสำคัญก็คือความคิดในเรื่องวิวัฒนาการ ข้อมูลสมัยใหม่ทำให้เราทำนายได้ว่าในอีกไม่กี่พันล้านปี สภาพต่างๆ ที่มีอยู่ในระบบสุริยจักรวาลจะไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เช่นเดียวกับดวงดาวที่ได้มีการบันทึกการเปลี่ยนรูปของมันไปจนกระทั่งถึงขั้นตอนสุดท้ายของมัน จึงสามารถทำนายจุดจบของดวงอาทิตย์ได้

โองการที่ยกมากล่าวอ้างเป็นโองการที่สองนั้น (คือซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 38) กล่าวถึงดวงอาทิตย์ที่โคจรไปตามทางของมันไปยังสถานที่ของมันเอง

ดาราศาสตร์สมัยใหม่สามารถบอกสถานที่นั้นได้อย่างถูกต้องและถึงกับตั้งชื่อให้ด้วยคือจุดสูงสุดของดวงอาทิตย์ ระบบสุริยจักรวาลนั้นเคลื่อนไปจริงๆ ไปอวกาศไปยังจุดจุดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มดาวเฮอคิวลิส (alpha lyrae) ซึ่งมีที่ตั้งอันแน่นอน มันเคลื่อนไหวไปด้วยความเร็วประมาณ 12 ไมล์ต่อวินาที

ข้อมูลทางดาราศาสตร์ทั้งหมดเหล่านี้สมควรจะถูกกล่าวถึงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโองการสองโองการจากกุรอาน เนื่องจากสามารถที่จะกล่าวได้ว่ามันสอดคล้องกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างเต็มที่