E-DUANG : แก่นแท้กลยุทธ์ จาก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เหมือนกับกรณีของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ปฏิเสธการได้รับแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็น “กรรมการยุทธศาสตร์”

จะเป็นเรื่อง “เล็ก-เล็ก”

ดังที่ นายวิษณุ เครืองาม ดังที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกมา “สรุป”

นั่นก็คือ เมื่อ “ปฏิเสธ” ก็ “แต่งตั้ง” คนใหม่เข้าไป

กระนั้น หากศึกษา “กระบวนการ” การได้รับคำเชิญต่อเนื่องไปยังการออกมาปฏิเสธโดย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ก็มิได้เป็นเรื่อง “เล็ก-เล็ก”

เพราะว่าเรื่องของ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เป็นเรื่องใหญ่และมีระยะเวลายาวนานต่อเนื่องไปอีก 20 ปี

เป็น 20 ปีที่มี “กฎหมาย” รองรับ

 

คำปฏิเสธอันมาจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ส่งไปยัง นายวิษณุ เครืองาม ในวันที่ 2 ตุลาคม

อาจเป็นเรื่องในทาง “พิธีกรรม”

แต่การที่อดีตนักเรียนทุนหลวงจากสถาบันทางวิศวกรรมที่สำคัญของสหรัฐ

ออกมา “ปฏิเสธ” พร้อมกับคำว่า “ขอโทษ”

และยังได้อ้างอิงเหตุผลจากคำของ ไมเคิล พอร์เตอร์ กูรูทางด้านกลยุทธ์ ที่ว่า

“แก่นแท้ของกลยุทธ์ คือ การเลือกว่าอะไรไม่ควรทำ”

ไม่เพียงแต่ได้หยิบยกเอา “ผลึก” ในทางความคิดจากมหากูรู คนหนึ่งของโลกมารองรับ

หากแต่ยังเป็นการ “สื่อ” อย่างมีนัยสำคัญในเชิง “กลยุทธ์”

 

ความจริง ภายใน “กรรมการยุทธศาสตร์” มี นักวาง “กลยุทธ์” จำนวนมากดำรงอยู่

ดำรงอยู่เหมือนกับภายใน “คสช.” ภายใน “รัฐบาล”

บางคนก็อ้างตนเองว่าเป็นศิษย์ของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ บางคนก็แสดงตนว่าเป็นศิษย์ของ ดร.ไมเคิล พอร์เตอร์

แม้กระทั่ง “ไทยแลนด์ 4.0” เอามาจากใคร ก็รู้กันอยู่

การอ้างอิงต่อวัจนะที่ว่า “แก่นแท้ของกลยุทธ์ คือ การเลือกว่าอะไรไม่ควรทำ” สิ่งที่เรารู้ว่าทำได้ไม่ดีก็ควรเลือกที่จะไม่ทำเพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งของคนอื่นและตัวเรา

เหมือนกับจะเป็นการเตือนตน แต่น่าจะมีมากกว่านั้น