ศัลยา ประชาชาติ : แบงก์ชาติ ยืนตรง โดดเด่น ท้าทาย คงดอกเบี้ยนโยบายไม่แคร์การเมือง

การคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แบบเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ ซึ่งมติ “คงดอกเบี้ย”

กนง. ยืนยันว่าดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและเงินเฟ้อทั่วไป โดยประเมินว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งมาจากภาคการส่งออกและบริการ รวมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเข้ากรอบล่างราวกลางปีหน้า แม้ว่าขณะนี้เงินเฟ้อทั่วไปจะยังปรับตัวชะลอตัวอยู่ก็ตาม ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะชะลอลงบ้างในระยะสั้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเผชิญ คือความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจ และการค้าของสหรัฐ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่วนด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่าเนื่องมาจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ นอกจากนี้ ยังต้องระวังความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในภาวะดอกเบี้ยต่ำยาวนาน และยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี

สวนกระแสกดดันให้ “ลดดอกเบี้ย” ของฝ่ายการเมืองที่เคลื่อนไหวจากฝั่งกระทรวงการคลังทั้งจาก “สมชัย สัจจพงษ์” ปลัดกระทรวงการคลัง และขุนคลัง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหน้านี้

กนง. ให้เหตุผลการคงดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า…

มติการคงดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ นับเป็นการตอกย้ำบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ที่เป็นองค์กรอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน

โดยองค์ประชุมชุด “กนง.” ที่มีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอิสระถึง 4 คน ส่วนตัวแทนแบงก์ชาติมี 3 คน โดยผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน กนง. และมีจุดยืนแน่วแน่ “ยืนตรง มองไปข้างหน้า ยื่นมือ ติดดิน” แบบที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการหนุ่มหน้าหยกแบงก์ชาติยึดถือ

 

ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน มีความเห็นว่า การประชุม กนง. รอบนี้ เป็นอีกรอบที่ตัดสินใจไม่ได้ง่ายๆ เพราะเจอแรงเสียดทานทั้งจากปัจจัยภายนอก คือเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งมีสหรัฐเป็นตัวแปรสำคัญ และยังมีแรงกดดันภายในประเทศจากกระทรวงการคลังภายใต้ปัจจัยสำคัญคือ “เงินเฟ้อ-ค่าเงิน-เงินร้อน” จึงทำให้ กนง. ต้องชั่งน้ำหนักปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันดีๆ

ดร.พรายพล อ่านเกมว่า ไม่ว่า กนง. จะคงดอกเบี้บหรือลดดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม จะต้องตอบคำถามต่างๆ ตามมาได้ด้วย คือ หาก กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายตามที่ตลาดคาดการณ์ ก็ต้องมีคำตอบว่า ธปท. จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาเงินร้อนที่ไหลเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนได้อย่างไร

ในทางกลับกัน หากลดดอกเบี้ยซึ่งไปทางกระแสที่การเมืองต้องการ ธปท. ก็ต้องตอบให้ได้ว่า จะคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และอาจไปสู่จุดที่ถูกตั้งคำถามว่า การตัดสินใจอยู่บนความไม่อิสระหรือไม่

อดีต กนง. ท่านนี้ วิเคราะห์ว่า กนง. คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำมานาน ก็เพราะเห็นว่ายังเป็นระดับที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี และหากภาครัฐจะให้เศรษฐกิจมีศักยภาพเพิ่มขึ้น ก็ควรจะใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยด้วย เช่น จะทำอย่างไรให้เกิดการลงทุน เป็นต้น

ส่วนประเด็นเงินร้อนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาเก็งกำไร และยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วและนำสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนี้ ดร.พรายพลมองว่า การคงดอกเบี้ย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินร้อนยังเข้ามา แต่ กนง. ก็อาจมีข้อโต้แย้งว่า ภายในปีนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็มีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจจะลดเงินต่างชาติไหลเข้าไทยได้

พร้อมกับตบท้ายยืนยันว่า ขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีอยู่แล้ว ดังนั้น การลดดอกเบี้ยเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะใช่ แต่หากจะลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินร้อนไหลเข้า ก็คิดว่าจะมีประสิทธิผลเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น

 

อีกด้านหนึ่ง เสียงของนักค้าเงินแบงก์ใหญ่ “นายกอบสิทธิ์ ศิลปะชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยแม้จะช่วยลดแรงเก็งกำไรต่างชาติได้ แต่เป็นแค่ “ระยะสั้น” เท่านั้น เพราะยังไงๆ ต่างชาติก็ยังขนเงินกลับเข้ามาลงทุนในไทยต่อ เพราะปัจจุบันไทยมีเงินเฟ้อต่ำสุดในเอเชียแปซิฟิก ไตรมาส 2 นี้อยู่ที่ 0.6% ซึ่งเงินเฟ้อก็เปรียบเสมือนค่าเสื่อม ยิ่งค่าเสื่อมลดลงมากเท่าไหร่ ต้นทุนการลงทุนก็จะถูกลง จึงเป็นตัวดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ

เขาชี้ข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมา แม้ ธปท. ออกมาตรการ “ลดการออกพันธบัตร (บอนด์) ระยะสั้น” ก็เพื่อลดแรงเก็งกำไรในบอนด์สั้น แต่จะไปเพิ่มการออกบอนด์ยาว ต่างชาติก็มองว่ายังมีช่องว่างในการทำกำไร ดูได้จากส่วนต่างเงินเฟ้อกับดอกเบี้ยที่ยังกว้าง ยกตัวอย่าง บอนด์ยาวอายุ 10 ปี ปัจจุบันผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.26% เมื่อหักเงินเฟ้อกับดอกเบี้ย ส่วนต่างหรือที่เรียกว่าผลตอบแทนจะได้ถึง 2.2%!! นั่นเท่ากับว่า นักลงทุนได้ไปเต็มๆ นี่คือเหตุผลสำคัญว่า ทำไมทุกวันนี้ต่างชาติถึงยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง

หากดูตัวเลขเงินต่างชาติที่ไหลเข้าบอนด์ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึง 25 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นยอดบอนด์สะสมอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 1.49 แสนล้านบาท โดยโยกไปลงทุนในบอนด์ยาว ทำให้มียอดสะสมในบอนด์ยาวอยู่ที่ 7.14 แสน้ลานบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอด 5.62 แสนล้านบาท

ดังนั้น ถ้าจะลดแรงจูงการเข้ามาหากำไรจากบอนด์ยาว สิ่งที่หวังได้คือการเร่งเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ซึ่งก็ควรทำผ่านนโยบายการคลัง การออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายส่งผลต่อเงินฟ้อสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ธปท. ควรส่งสัญญาณในการเข้ามาดูแลค่าเงินบาทอย่างจริงจังด้วย ผ่านมาตรการต่างๆ ที่ไม่ใช่วิธีลดดอกเบี้ย เพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า

“เพราะการลดดอกเบี้ยช่วยแค่ชั่วครั้งชั่วคราว แต่การเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะสำคัญกว่า ในอดีตเราขายดอลลาร์จนไม่เหลือ (ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง) แต่ครั้งนี้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไปเทียบกับภูมิภาค ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่า 8.1%” ขณะที่สิ่งที่ ธปท. ทำคือการตั้งรับ จึงมีประสิทธิภาพน้อย ดังนั้น คงต้องเป็นการจัดการเชิงรุก แต่ก็ไม่ใช่การออกมาตรการคุมเงินไหลเข้าเหมือนในอดีต”

นายกอบสิทธิ์กล่าว

 

ขณะที่ “นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย อ่านเกมเงินร้อนรอบนี้ว่า เป็นเงินร้อนเข้ามาเก็งกำไรดักหน้า กนง. ประชุมรอบนี้ ซึ่งหาก กนง. ลดดอกเบี้ย ก็เท่ากับว่าต่างชาติคาดการณ์ถูก เขาจะได้บอนด์ยีลด์ (อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร) เพิ่มขึ้นทันที ทั้งในบอนด์สั้นและบอนด์ยาว และกลับกัน หาก กนง. ไม่ลดดอกเบี้ย ต่างชาติก็ไม่ได้ไม่เสีย เพราะยังไงก็เข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว

ดังนั้น กนง. จะขจัดเงินร้อนเหล่านี้ ก็ต้องยืนยันให้แข็งแรงว่า “ไม่มีทางลดดอกเบี้ย” เพื่อนักลงทุนจะได้ลดคาดการณ์ในการเข้ามาเก็งกำไรจากการลดดอกเบี้ย

และอีกด้าน ภาครัฐอาจเปิดช่องให้บรรดากองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็น่าจะลดแรงกดดันปัญหานี้ได้

หรือ กนง. อาจต้องส่งสัญญาณถึงตลาดเงินว่า อาจมีมาตรการเข้มข้นออกมาเพื่อชะลอเงินไหลเข้า เช่น บังคับให้ต่างชาติถือบอนด์เกิน 1 ปี หากถือต่ำกว่านั้น ก็อาจต้องจ่ายภาษี แม้วิธีนี้อาจเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ยากที่สุด แต่ต่างชาติก็เกรงกลัว ดังนั้น การ “ส่งสัญญาณ” ถือว่ามีความจำเป็นมาก

เสียงสะท้อนส่วนใหญ่มองว่า “การลดดอกเบี้ยนโยบาย” ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปมร้อนเวลานี้ได้ และทั้ง ธปท. และกระทรวงการคลัง ควรหารือร่วมกันแก้ปัญหาเชิงรุกมากกว่า ไม่ว่าจะเป้นในรูปมาตรการใดๆ ก็ตาม