ประชา สุวีรานนท์ : ไทม์ไลน์ รูปร่างของเวลา หน้าตาของประวัติศาสตร์ (1)

ไทม์ไลน์เป็นเนื้อหาของหนังสือสองเล่มที่ออกมาไม่นานนี้ คือ Cartographies of Time : A History of the Timeline ซึ่งเขียนโดย แดเนียล โรเซนเบิร์ก และ แอนโทนี่ กราฟตัน กับ Time Maps : Collective Memory and the Social Shape of the Past ซึ่งเขียนโดย เอเวียตาร์ ซารูเบฟ (Eviatar Zerubavel)

ไทม์ไลน์ คืออะไร?

ตอบง่ายๆ คือ เส้นตรงกับวันเดือนปี ซึ่งก็ตรงกับคำจำกัดความของวิชาประวัติศาตร์ และทำให้คนกลัววิชานี้ เพราะมีตัวเลขหรือวันเดือนปีที่ต้องจดจำกันมากมายนั่นเอง

ผู้เขียน Cartographies of Time พูดถึงรูปร่างของเวลาและหน้าตาของประวัติศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะที่คล้าย “เครื่องมือที่เราเก็บไว้ในใจ และเอาออกมาใช้เรื่อยๆ แต่บางทีก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้อยู่หรือเปล่า” ทั้งสองเป็นนักประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รวบรวมเอกสารเรื่องนี้ในรอบหลายพันปี ผลงานจึงเป็นหนังสือที่สวยงามและมีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ

เริ่มต้นด้วยการบอกว่าการสืบค้นที่มาของไทม์ไลน์นั้นสวนทางกับสามัญสำนึก เรามักจะลืมไปว่าไทม์ไลน์ก็มีประวัติศาสตร์ และแบบที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้มีอายุเพียง 250 ปี หรือ “เพิ่งสร้าง” มาได้ไม่นาน เพราะมันเป็นสิ่งที่เห็นอยู่ทั่วไป ทั้งในแบบเรียน ห้องเรียน หนังสือพิมพ์ เว็บเพจ และอื่นๆ มากมาย

ในสื่ออินเตอร์เน็ต ไทม์ไลน์กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ แม้แต่ใน facebook ซึ่งทำให้คนได้บันทึกเรื่องราวส่วนตัว และเป็นที่นิยมใช้กันมาก หน้าแรกของเพจก็ถูกเรียกว่าไทม์ไลน์ ตอนนี้ ไทม์ไลน์จึงเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

ในฐานะนักออกแบบ จึงมีคำถามว่า ทำไมจึงใช้ “เส้นตรง” เป็นภาพของเวลา?

แน่นอน เรารู้กันอยู่แล้วว่า เส้นตรงหมายถึงความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน และสามารถใช้เชื่อมโยงเราเข้ากับอดีต แต่ถ้าถามว่า เมื่อไรที่เราตัดสินใจว่าเส้นตรง เหมาะสมสำหรับสิ่งที่จับต้องไม่ได้และไม่มีรูปร่างเช่นเวลา ก็คงต้องหันไปศึกษาประวัติของไทม์ไลน์

 

ในบทนำ ผู้เขียนอ้าง ดับเบิลยู เจ ที มิตแชล ซึ่งบอกว่า “พื้นที่เป็นพื้นฐานของความเข้าใจเรื่องเวลา ทำให้เราไม่สามารถบอกเวลาโดยไม่นึกถึงพื้นที่” ซึ่งตรงนี้ นักภาษาศาสตร์ชื่อ จอร์จ ลาคอฟ และ มาร์ก จอห์นสัน เห็นด้วย “เราใช้คำว่า “ยาว” และ “สั้น” หรือใช้คำว่า “ก่อน” และ “หลัง” ซึ่งล้วนเป็นการเปรียบเปรยที่เกี่ยวกับพื้นที่ โดยมีภาพว่าเวลาที่เคลื่อนไปข้างหน้าและอย่างต่อเนื่องกัน”

คล้ายกับแผนที่ ซึ่งไม่ใช่ภาพเหมือนของพื้นที่ และสามารถถ่ายทอดสิ่งสำคัญๆ ด้วยการกำจัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกไปบ้าง ไทม์ไลน์ไม่ใช่ภาพเหมือนของเวลา เป็นเพียงเครื่องหมายของความสัมพันธ์และความก้าวหน้า และมีไว้เพื่อถ่ายทอดความคิดเท่านั้น ไม่ได้เป็นจริงหรือเป็นกลางแต่อย่างใด

จากนั้น จึงเกิดวิชาการจัดการกับข้อมูลในลักษณะต่างๆ เช่น สถิติ และตามมาด้วยศิลปะและดีไซน์ของศตวรรษที่ 19 และ 20 ซึ่งอยู่ในสองบทสุดท้าย

การวาดรูปของเวลาเคยเป็นที่สนใจมานับพันปี ตั้งแต่โรมันถึงยุคกลาง ตอนนั้น มีความสำคัญยิ่งกว่าประวัติศาสตร์ เพราะวิชานั้นเป็นเพียงการเล่าเหตุการณ์ ที่อาจจะรุงรังไปด้วยการเชื่อมโยง การตีความ และเขียนขึ้นตาม “อำเภอใจ” ของผู้เขียน แต่ไทม์ไลน์มีข้อมูลมากกว่าและซื่อตรงกว่า

ในยุคกลาง สาแหรกหรือพงศาวลี (genealogy) คือไทม์ไลน์ของกษัตริย์และผู้ปกครอง มีหน้าที่บอกความสัมพันธ์ทางสายเลือด ซึ่งเป็นรากฐานของระบบศักดินา เพราะก่อนจะมีโฉนดหรือบันทึกแบบอื่น ไทม์ไลน์เป็นเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน

โอกาสที่ต้องใช้เอกสารแบบนี้คือ เมื่อต้องใช้อ้างสิทธิหรือบอกว่าตนอยู่ในปกครองของใคร

ที่สำคัญ ใครอยากเป็นกษัตริย์ก็ต้องใช้ไทม์ไลน์จึงจะขึ้นนั่งบัลลังก์ได้

ในแง่ที่เป็นประวัติศาสตร์หรือเอกสารช่วยจำ ไทม์ไลน์ถูกเรียกว่าอันนาลส์ (annals) เช่น The Annals of St. Gall ซึ่งบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 8 และ 9 ของอาณาจักรฝรั่งเศส โดยมีวันเดือนปีในคอลัมน์ซ้าย และบันทึกเหตุการณ์ไว้ในคอลัมน์ขวา

ไทม์ไลน์แบบนี้ยังขาดข้อมูลอีกมาก เช่น ไม่แยกสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติกับผลงานของมนุษย์

เพราะนั่นเป็นเพียงลิสต์ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันหลายอันหรือในหลายแห่งไม่ได้ คนจึงหันมาใช้ตารางหรือ time table

ตัวอย่างคือเอกสารชื่อ Chronicle of Eusebius ซึ่งเรียงตามวันเดือนปีในแนวตั้ง และเหตุการณ์สำคัญในแนวนอน สามารถบรรจุข้อมูลทางประวัติศาสตร์และแสดงความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนหรือศาสนาต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญของแต่ละแห่งจะอยู่ในคอลัมน์หรือแนวตั้ง ส่วนวันเดือนปีจะอยู่ในแนวนอนและเดินลงไปข้างล่าง

โครงสร้างนี้เหมาะกับเอกสารแบบม้วนมาก และยังใช้กันเมื่อหนังสือเข้ามาแทนที่

 

ศตวรรษที่ 15-16 ไทม์ไลน์ยังมีเป้าหมายคล้ายพงศาวลี นั่นคือเชื่อมโยงผู้อ่านเข้ากับอดีตแบบต่างๆ เช่นเริ่มจากการสร้างโลก หรือราชวงศ์ แต่ที่เหมือนกันคือจบลงที่ปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้น ในชีวิตประจำวัน การมีไทม์ไลน์ที่ถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยรำลึกวันสำคัญทางศาสนา และรู้ว่ากลียุคจะมาเมื่อไร การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ยุคนั้นสนใจธรรมชาติซึ่งอาจจะละเลยการเริ่มต้นได้แล้ว แต่เอกสารทางดาราศาสตร์ก็ไม่ใช่อะไร นอกจากไทม์ไลน์ของดวงดาวต่างๆ

พอถึงปลายศตวรรษที่ 17 เทคนิคการพิมพ์แบบใหม่ คือภาพแกะแบบเอ็นเกรฟ ทำให้ไทม์ไลน์มีขนาดใหญ่ขึ้น และลงรูปประกอบที่ละเอียดขึ้นได้ งานของกุสตาฟ ดือเรอร์ โดดเด่นในยุคนี้

อาศัยพัฒนาการด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ไทม์ไลน์แบบที่เราคุ้นเคยเกิดขึ้นในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 โดยมี โจเซฟ เพรสลี่ย์ เป็นผู้ออกแบบ มีชื่อว่า A New Chart of History และ A Chart of Biography และว่ากันว่าได้รับอิทธิพลมาจากงานของ โทมัส เจฟฟรี่ย์ ชื่อ A Chart of Universal History

บางคนถึงกับกล่าวอย่างชื่นชมว่า “ประวัติศาสตร์เป็นร่างกาย ไทม์ไลน์เป็นจิตวิญญาณ” เพราะไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์ แต่แสดง vision หรือ “ตีความ” เกี่ยวกับอดีตและอนาคต

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าไทม์ไลน์พัฒนาช้ากว่าแผนที่ ทั้งในแง่การเขียน วาด และพิมพ์ ทั้งสองคนหยิบยืมเทคนิคมาจากการทำแผนที่

และชื่อหนังสือเล่มนี้ก็บอกว่าเป็นยังงั้น