ลุ้นรัฐบาลอัดฉีดต่อ ‘ไทยเที่ยวไทย-คนละครึ่ง’ สู้เงินเฟ้อลากยาว-ค่าครองชีพพุ่ง/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ลุ้นรัฐบาลอัดฉีดต่อ

‘ไทยเที่ยวไทย-คนละครึ่ง’

สู้เงินเฟ้อลากยาว-ค่าครองชีพพุ่ง

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

โดยล่าสุด ตัวเลขเดือนพฤษภาคมเงินเฟ้อทั่วไปปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.1% ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 4.65% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์กันว่าจะอยู่ที่ระดับกว่า 5% ต่อปี เรียกได้ว่า “พุ่งแรงเกินคาด”

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 สูงขึ้นถึง 7.10% เป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่ม 37.24% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นถึง 35.89% ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก

ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 8% หลังจากรัฐบาลยกเลิกการตรึงราคา LPG และทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 แบบขั้นบันได และอัตราค่าไฟฟ้า เพิ่ม 45.43% จากการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565

ขณะที่สินค้าหมวดอาหารเพิ่ม 6.18% โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ เนื้อสุกร, ไก่สด, ไข่ไก่ จากต้นทุนการเลี้ยง ส่วนผักสด-เครื่องประกอบอาหาร-อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ราคาปรับขึ้นตามต้นทุน และสินค้าอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล (แชมพู-ยาสีฟัน-สบู่ถูตัว) ราคาปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดโปรโมชั่น

ส่วนสินค้าที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน-น้ำยารีดผ้า-น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่-เบียร์-สุรา) ราคาทยอยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ทั้งนี้ พิจารณารายการสินค้าทั้งหมดที่นำมาในการคำนวณเงินเฟ้อ 430 รายการในเดือนพฤษภาคม 2565 จะพบว่ามีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 298 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า, น้ำมันเชื้อเพลิง, เนื้อสุกร, กับข้าวสำเร็จรูป, อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง), ไข่ไก่, อาหารเช้า, ค่าน้ำประปา, ไก่สด เป็นต้น สินค้าไม่เปลี่ยนแปลง 54 รายการ เช่น ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า, ค่าใบอนุญาตขับขี่, ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี

สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง 78 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว, ข้าวสารเจ้า, ขิง, กล้วยหอม, ต้นหอม, มะเขือเทศ, ค่าเช่าบ้าน, ผักกาดขาว และถั่วฝักยาว เป็นต้น

 

ทั้งนี้ สนค.ประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ว่า จะขยายตัวต่อเนื่อง จาก

1) ปัจจัยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละไม่เกิน 35 บาท

2) การปรับราคา LPG เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได งวดซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565 อีก 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโกกรัม

3) แนวโน้มคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนกันยายน-ธันวาคมอีก 40 สตางค์

4) วิกฤตอาหารในตลาดโลกที่หลายประเทศงดการส่งออกอาหาร ส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศปรับสูงขึ้น

และ 5) ปัจจัยจากความต้องการ (อุปสงค์) เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวหลังจากการผ่อนคลายเปิดประเทศ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากขึ้น และความต้องการในการส่งออกที่เติบโตได้ดี ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ส่วนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่กระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม รวมทั้งโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยกว่าระลอกก่อนหน้า

“กนง. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.9% และในปี 2566 อยู่ที่ 1.7% โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงกว่า 5% ในช่วงไตรมาสที่ 2 คือเดือนเมษายนถึงมิถุนายน และไตรมาสที่ 3 เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ก่อนที่จะปรับลดลงในช่วงปลายปี 2565 และกลับมาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายในช่วงต้นปี 2566” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

แน่นอนว่า สถานการณ์สะท้อนถึงภาวะค่าครองชีพของคนไทยที่ต้องแบกรับหนักขึ้น เนื่องจากหลายคนรายได้ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก หลังจากก่อนหน้านี้ต้องเผชิญผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาเป็นเวลากว่า 2 ปี สะท้อนได้จากตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง แม้ว่าอัตราการว่างงานจะดูดีขึ้น แต่ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานยังสูงถึง 3.8 ล้านคน

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ต่างมองว่า ยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอยู่ เพียงแต่อาจจะต้องโฟกัสเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ระบุว่า กำลังพิจารณาโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 อยู่

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ระบุว่า ปัจจุบันมีเงินจากกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมเหลืออยู่ไม่มาก จึงต้องพิจารณาว่าจะนำเงินไปอัดฉีดส่วนใด ซึ่งจะต้องทำให้ตรงเป้าหมาย และช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ด้วย โดยหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง

“ตอนนี้เม็ดเงิน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเหลือไม่เยอะ ฉะนั้น จะต้องทำให้ตรงเป้า และตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดผลในช่วงของไตรมาสที่มีการประเมิน และให้เกิดผลต่อไปอีกไตรมาสหนึ่งด้วย เนื่องจากคนละครึ่ง เฟส 4 เพิ่งจบไปเมื่อสิ้นเดือนเมษายน และยังพอมีเวลาในการตัดสินใจว่าจะเริ่มช่วงใด โดยมองว่าแรงเหวี่ยงมาตรการที่ดีน่าจะออกมาช่วงไตรมาส 3 แต่ก็ต้องติตตามสถานการณ์อีกครั้ง” เลขาธิการ สศช.ระบุ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวหลังการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุมให้กระทรวงการคลังไปหาเงินมา เพื่อดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากเฟส 4 และเฟส 4 ส่วนต่อขยาย ที่จะนำวงเงินเดิมที่เหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท มาดำเนินโครงการอีกจำนวน 1.5 ล้านห้อง ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ

“เชื่อว่ากระทรวงการคลังน่าจะสามารถมีเงินให้ดำเนินโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ได้จำนวน 5,000 ล้านบาท หรือได้เพิ่มอีก 1.5 ล้านห้อง และน่าจะสามารถนำกลับเข้ามาหารือในการประชุม ครม.ได้ในอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์ และสามารถดำเนินโครงการได้พร้อมกันกับส่วนต่อขยายเฟส 4 รวมเป็น 3 ล้านห้อง” นายพิพัฒน์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวด้วยว่า ในส่วนข้อเสนอเอกชนที่อยากให้ทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 อีกถึง 10 ล้านห้องนั้น เบื้องต้นเชื่อว่ารัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่เอกชนร้องขอ เพราะงบประมาณมีจำกัด

คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลจะบริหารจัดการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ในภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งแรง ประชาชนต้องแบกภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้