8 ปี-8 วัน บริ รัฐ ประ หาร/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

8 ปี-8 วัน

บริ

รัฐ ประ หาร

การกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทย สู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน” ที่โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา

จะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม

แต่เนื้อหาในปาฐกถาได้สะท้อนสไตล์การบริหารงานของผู้นำรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา 8 ปี ได้เป็นอย่างดี

โดย พล.อ.ประยุทธ์ตอกย้ำถึงการเป็นนายกรัฐมนตรี “ที่ต้องแบกรับทุกอย่าง”

“จึงอาจจะยิ้มน้อย หน้าตาดุมาก เพราะคุ้นเคยกับชีวิตที่ค่อนข้างที่จะเครียดและเจอกับปัญหามาตลอดทั้งชีวิต”

“ที่ผ่านมารับปัญหาทุกเรื่องทั้งหมด 20 กว่ากระทรวง”

“ซึ่งไม่มีใครจะแก้ปัญหาได้เพียงลำพังทั้งสิ้น”

“แต่ผมสู้มาตลอดอยู่แล้ว สู้จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เมื่อสักครู่นั่งในห้องกับรัฐมนตรีแรงงาน เห็นทะเลภูเก็ต อยากลงน้ำจริงๆ ผมบอกความจริงว่า 8 ปีไม่เคยเหยียบน้ำทะเลเลย ทั้งที่แต่ก่อนได้ไปทุกที่ ได้ลงน้ำทะเลอย่างอิสระเสรี แต่ทุกวันนี้ไปไหนไม่ได้ แต่จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ไม่ได้โกรธใครทั้งสิ้น แต่ผมไม่ต้องการให้เป็นภาระของใคร และไม่อยากให้มีสิ่งที่เป็นปัญหากับผม แต่ผมคิดถึงน้ำทะเล คิดถึงทะเลใสๆ”

“ความจริงผมไม่ได้ดุ หน้าผมเป็นคนอย่างนี้ บางทีกำลังคิด แต่คนเราจะให้ยิ้มทั้งวันได้อย่างไร เพราะว่าปัญหามีเข้ามา”

“รัฐบาลขอมอบยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม ให้ทุกคนได้นำไปเป็นกรอบในการระดมสมอง”

“นายกฯ เป็นคนที่นึกถึงคนอื่นเสมอ อยากให้ทุกอย่าง… ผมไม่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาก่อน แต่อาจจะเป็นนานหน่อย แต่มันก็ทำให้งานมันเดินเพราะเรามียุทธศาสตร์ แต่ผมไม่ได้อยู่จนตายคารังเสียเมื่อไหร่ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว แต่ในขณะที่อยู่ก็ขอให้ช่วยกัน ผมพร้อมที่จะยิ้มให้กับทุกคน ความจริงผมเป็นคนใจดีนะ ขอบคุณมากๆ”

 

ประโยค “8 ปี ไม่เคยเหยียบน้ำทะเลเลย” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ด้านหนึ่งอาจจะมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เคร่งเครียดอยู่กับงานและความเป็นนายกฯ จนไม่มีโอกาสพักผ่อน

แต่อีกด้านหนึ่ง มันก็สะท้อนถึงการที่ก้าวเข้าสู่อำนาจโดยวิธีอันไม่ปกติ โดยเฉพาะจากการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557

ที่ทำให้มิอาจเป็นผู้นำของทุกฝ่าย

การจะขับเคลื่อนหรือลงพื้นที่ จึงมากด้วยความระแวดระวัง

ต้องมีการตระเตรียม จัดตั้ง กลั่นกรอง เพื่อมิให้มีสิ่งอันไม่พึงประสงค์ อันเกิดมาจากพื้นฐานความแตกต่างทางความคิด

ประกอบกับความคุ้นชินของการเป็นทหาร และคุ้นชินกับระเบียบประเพณี ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแบบ “ข้าราชการรวมศูนย์”

ที่ทุกอย่างมีจุดศูนย์รวมที่ส่วนกลาง หรือทำเนียบรัฐบาล

การลงพื้นที่ เป็นไปอย่างจำกัด

และอยู่ในสภาพ “ช้างเหยียบนา พญาเหยียบเมือง” มากกว่าเป็นตัวแทนของประชาชน

นี่เองจึงทำให้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะทำตัวใกล้ชิดกับชาวบ้านอย่างไร

ก็ดูเหมือนจะมีระยะห่างจากชาวบ้านไม่น้อย แม้เวลาในฐานะผู้นำและนายกรัฐมนตรีจะผ่านมาร่วม 8 ปีแล้วก็ตาม

แต่ก็ยังไม่อาจสลัดภาพ “เจ้าขุนมูลนาย” ออกไปได้ ทั้งที่ประกาศยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้มเสียงดังฟังชัดก็ตาม

 

สภาวะ 8 ปีดังกล่าวข้างต้น ดูเหมือนตอนนี้กำลังถูกนำไปเปรียบกับภาวะ 8 วันแห่งการเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเสมือนเป็นภาพแห่งขั้วตรงข้าม

ทั้งลักษณะเฉพาะตัวของนายชัชชาติ ที่เข้าถึงง่าย เปิดกว้าง พร้อมรับฟัง ไม่มีสภาวะของเจ้าขุนมูลนาย

ประกอบกับการที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง อันเป็นเสมือนพันธสัญญาที่จะต้องตอบสนองเสียงของประชาชนดังกล่าว

อย่างน้อยที่สุด นโยบายกว่า 200 นโยบายที่นายชัชชาติให้คำมั่นสัญญาไว้ ก็เป็นเสมือนลายแทงที่นายชัชชาติจะต้องก้าวเดินตาม

ขณะเดียวกัน ก็เป็นเสมือนเครื่องมือตรวจสอบจากประชาชน ที่จะคอยกำกับให้ดำเนินการตามคำมั่น

ทำให้นายชัชชาติมีภาพของการทำงานแทบจะตลอดเวลา

โดยนายชัชชาติบอกว่า “เราก็ทำงานแบบนี้ปกติทุกวัน แต่บังเอิญไม่มีออกข่าว แต่ว่าก็เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าปัญหาพี่น้องประชาชนไม่มีเสาร์-อาทิตย์ ทุกเสาร์-อาทิตย์ปัญหามันก็ยังดำเนินต่อ และผมว่าเรามีเวลาจำกัดแค่ 4 ปี ดังนั้น ถ้าเราหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ 2 ใน 7 วันแล้ว ถ้าเราหยุดมันก็หายไปตั้งเยอะ ก็ต้องทำให้เต็มที่”

พร้อมกับกล่าวกับข้าราชการ กทม.ที่เป็นมือไม้ในการทำงาน ว่า ดีใจที่มีเพื่อนทำงาน และขอทุกคนอย่าเรียกตนเองว่านาย เพราะไม่ใช่นาย มาเป็นเพื่อนร่วมงานให้เดินไปด้วยกัน หากมีอะไรให้พูดกัน หากทำอะไรไม่เหมาะสามารถบอกได้

“ทำงานกับผมอย่าเก็บไว้ในใจ ยกมือพูดได้เลย แต่ต้องมีเหตุผลในการแลกเปลี่ยนกัน อย่าคิดว่าผมพูดอะไรถูกเสมอ ไม่จำเป็นนะครับ ผมว่า Transparent คือ ทุกคนสามารถพูดเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อหาข้อยุติ เดินหน้าทำงานให้ประชาชน ถ้าผมสั่งอะไรไป อย่าเก็บไว้ในใจ ต้องพูด มันคือเพื่อนร่วมงาน และเป็นหลักการในการเกิดความโปร่งใสในหน่วยงาน สุดท้ายจะได้งานที่ทุกคนเดินไปด้วยกันได้ ผมเลยไม่อยากเป็นนาย เพราะพูดปุ๊บคนไม่กล้าเถียง พอเป็นเพื่อนร่วมงาน บางทีพวกเราจะกล้าพูดกล้าแสดงออกมากกว่า ผมเชื่อว่าหลายๆ เรื่องทุกคนเก่งกว่าผม”

นั่นคือคำกล่าวนายชัชชาติ ที่พยายามลดภาพเจ้าขุนมูลนาย และไม่เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ หากแต่เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม

สมกับที่มาจากเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

 

ชาวกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่คนในต่างจังหวัด ย่อมแลเห็นความแตกต่างนี้ไม่ยาก

ด้วยเพราะการมาของนายชัชชาติ ครบครันทั้งวิ่ง-เต้น-เล่น-ร้อง-ทำงาน ทำงาน และทำงาน อันมากด้วยความคึกคัก มีจังหวะก้าวในเชิงรุก ทำงานแบบชนิดไม่มีวันหยุด

ความแตกต่างนี้ จึงไม่เพียงกระทบต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนเดิมเท่านั้น หากแต่ยังสะเทือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่มีสไตล์ความเป็นข้าราชการสูงอย่างไม่ต้องสงสัย

อุบัติแห่งกรุงเทพมหานครยุคนายชัชชาติ นับแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา จึงดำเนินไปในลักษณะอันเป็นเงาสะท้อนและ “ตัวแทน” แห่งการเมืองในอนาคต

นั่นก็คือ ยืนยันพลังของประชาชนกับ “การเปลี่ยนแปลง”

และเป็นภาพเปรียบเทียบกับอำนาจอันมีรากฐานมาจาก “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557” ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจใน “การเลือกตั้ง” ที่จะตามมาในอีกไม่นาน ว่าประชาชนจะเลือกฝ่ายใด

 

ตรงนี้เองทำให้มีการจับตามองไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ที่หากต้องการไปต่อ จะขับเคลื่อน “การเมือง” ของตนเองอย่างไร

จะยังคงสืบทอดอำนาจตามแนวทางเดิมที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร และจากความได้เปรียบตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างกลไกปูทางให้คืนสู่อำนาจ โดยเฉพาะจาก 250 เสียงของวุฒิสมาชิก

หรือจะปรับเปลี่ยนแนวทางของตนใหม่

ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” ที่กำลังได้รับความสนใจ และเป็นแนวโน้มของการเมืองใหม่ในอนาคต ที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มมีการโยนหินก้อนใหญ่ออกมาให้สังคมพิจารณา

ด้วยการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังพิจารณาที่จะเปลี่ยนสถานะทางการเมือง จากคนนอก เป็นคนใน ด้วยการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

และจะก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ลุยการเลือกตั้งสมัยหน้า แทน พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ

อันจะทำให้ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นภาพของนักประชาธิปไตย ที่พร้อมจะให้ประชาชนตัดสินผ่านการเลือกตั้ง

แต่กระแสข่าวนี้ถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ในแทบจะทันที

ด้วยมองว่านี่อาจเป็นกระแสข่าวที่สร้างความแตกแยกให้กับพรรคพลังประชารัฐเสียมากกว่า

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาจริง ก็ย่อมกระทบกับสถานะของ พล.อ.ประวิตรโดยตรงด้วยต้องหลีกทางให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เนื่องจากขณะนี้บทบาทและบารมีของ พล.อ.ประวิตรกำลังพุ่งสูง หลังจากช่วยทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ผ่านฉลุย และในอนาคตอันใกล้ ก็กำลังจะต้องทำให้รัฐบาลผ่านศึกซักฟอกไปให้ได้

บทบาทที่สำคัญและโดดเด่นเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะต้องถอยให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

กระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเข้าพรรคพลังประชารัฐจึงถูกมองว่าเป็นข่าวการแย่งชิงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐมากกว่า จึงถูกปฏิเสธแทบจะสิ้นเชิงในตอนนี้

 

กระนั้น ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างราบคาบ

ด้วยปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” กำลังพุ่งแรงและทำให้กระแสประชาธิปไตยพุ่งขึ้นสูง

โดยแลเห็นว่า “ผู้นำ” มาตามระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจำกัดไว้เฉพาะการเลือกตั้งท้องถิ่นเท่านั้น

ถ้าผู้นำในระดับชาติมาตามครรลองนี้ด้วย อาจจะเป็น “ก้าวกระโดด” สำคัญของประเทศ ดังที่เราแลเห็นที่ศาลาว่าการ กทม.ที่กำลังจะพลิกไปสู่การเป็น “รัฐบริหาร” โดยประชาชนเพื่อประชาชนจริงๆ

มิใช่รัฐจากรัฐประหาร ดังที่เราจมปลักมาร่วม 8 ปี