ศิลา โคมฉาย : เติมแรงใจจากในครัว

วิลเลียม ซาโรยัน ชวนให้ยิ้มขื่น กับข้อเขียนของเขา

“พ่อมีมะเขือเทศจากสวนครัว ตรงเนินเล็กๆ หน้าบ้านเรา มีข้าวนิดหน่อย น้ำมันมะกอกอีกนิดหน่อย งั้นพ่อจะผัด “ข้าวผัดนักเขียน” ก็แล้วกันนะ”

ทุกคราที่หยิบอ่าน ฟ้ากว้างทางไกล ฉบับพากย์ไทยโดย นก เป็นได้หัวเราะลึกๆ กับอารมณ์ขันเจ็บๆ อย่างที่ลูกชายอธิบายถึงเมนูสุดแจ่ม ฝีมือเข้าครัวของคุณพ่อนักเขียน ซึ่งมีคุณสมบัติพื้นฐาน ตามมาตรฐานของนักเขียนทั่วไป พวกที่ห่างไกลงานเบสต์เซลเลอร์

จนแต่จองหอง ยอบแยบแต่หยิ่ง กรอบจนเมียทิ้ง

ข้าวผัดนักเขียน คืออะไรก็ได้ ที่พ่อหาได้ในตู้กับข้าว ตู้เย็น ชั้นวางของ เคาน์เตอร์ในครัว หรือในถุงกระดาษที่เจอทุกที่ เอามารวมๆ กัน แล้วผัดกับข้าว

ฟังลูกชายว่า เผินๆ คล้ายๆ ผีจับยัด หรือออกไปทางการรีไซเคิล

แต่หากมองอย่างพินิจ ย่อมคือการสร้างสรรค์

อันที่จริงผมก็เคยลองอยู่บ่อยครั้ง รู้ว่ามันต้องมีศิลปะในการประสมประสาน การปรุง การตกแต่ง จัดวาง ถึงจะทำให้กินได้กินดี โดยเฉพาะเมื่อมีคนอื่นร่วมวง

มันมักจะผ่านไปด้วยดี เมื่อทำอย่างใส่ใจเต็มๆ ผู้รับเข้าใจสถานการณ์ และยังใช้ใจในการบริโภค

หรือจะมองมันในมุมเป็นความท้าทายของชีวิตก็ย่อมได้

 

ผมไม่แน่ใจว่า ด้วยพื้นที่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เริ่มชุกไปด้วยคลิปสอนทำอาหาร

แจกสูตร ติวเข้ม ทำกินก็ได้ ทำขายก็รวย

หรือตลาดหนังสือที่ทรุดตัวลงจนน่าวิตก นักเขียนอาจจำเป็นต้องเพิ่มความเป็น นักเขียม รัดเข็มขัดถึงรูใน ผมจึงสนุกกับอารมณ์ขันปนขื่นของนักเขียนดัง

บางทีคนปรุงอาหารทางความคิด อาจต้องเปลี่ยนไปทำเพื่อปากท้อง

แต่จะว่าไป ผมชมชอบการปรุงอาหารอยู่เป็นทุนเดิม เคยเป็นแฟนรายการแนะนำอาหาร การแข่งขันการปรุง การคิดสูตรสร้างสรรค์ ในรายการโทรทัศน์ของญี่ปุ่นยุคหนึ่ง แบบติดหนึบ

เขาแนะนำร้านอาหาร แหล่งทำเลที่ตั้ง ลงลึกไปถึงความเป็นมา ประวัติการต่อสู้ของเจ้าของกิจการ ตลาดสดที่ร้านเจ้าอร่อยไปเลือกหาวัตถุดิบ รวมถึงแหล่งค้าส่งวัตถุดิบ

เพลินราวร่วมตระเวนย่ำไปกับทีมถ่ายทำ ได้เที่ยว ได้ความรู้เชิงวัฒนธรรมบ้านๆ เห็นกรรมวิธีการปรุง การเลือกสีสัน จัดวางตกแต่งชวนกิน

ศิลปะการใช้มีดหั่น เซาะ เลาะเนื้อออกจากกระดูก แล่เป็นชิ้นบางเฉียบ

ที่สำคัญมักได้หัวจิตหัวใจแบบญี่ปุ่นไว้กระตุ้นความคิดอ่าน

 

บางทีการลงมือทำครัว ต้มยำ ตำ แกง เป็นการทำงานศิลปะ

แม้จะมีสูตรหลักบอกถึงองค์ประกอบ แต่มีรายละเอียดเคล็ดลับ ลีลา ประเภทสูตรใครสูตรมัน มีลำดับขั้นตอนจังหวะเวลา ที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งต้องผ่านการเคี่ยวกรำ ประดิดประดอย แต่งแต้มอย่างวิจิตร

โดยเฉพาะอาหารไทย ทั้งคาวหวาน

เพื่อนที่เป็นพ่อครัวบอกว่า การปรุงน้ำจิ้มให้ได้รสเด็ด ไม่ต่างไปจากการตั้งสายกีตาร์ให้ตรงตัวโน้ตหลัก จัดการกับรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม และกลิ่นชูรสจากรากผักชี หรือจะเพิ่มความจัดด้วยพริกไทยอ่อนเล็กน้อย ได้ตามต้องการแล้ว ต้องตัดแหลมจัดจ้านให้กลมกล่อมด้วยน้ำเชื่อม

ค่อยเติมทีละน้อย และค่อยๆ ชิม เหมือนการบิดขึ้นสายทีละนิด…ทีละนิด และหยุดฟัง

มีสมาธิ อดทน ใจเย็น ละเอียดพิถีพิถันประกันการผิดพลาด

การลงมือทำอาหารจึงควรเป็นศิลปะของชีวิต แม่ในโลกเก่า มักอาศัยช่วงเวลานี้ ไม่เพียงอบรมสั่งสอนลูกเต้า แต่ยังบ่มเพาะนิสัยใจคอ จากการได้เห็น ได้รู้วิธีปฏิบัติ

ครัวแบบไทยแต่เดิม มักนั่งล้อมวงอยู่กับพื้น ลูกๆ ชายหญิงจะถูกระดม มาแบ่งงานแบ่งหน้าที่ช่วยกันทำ ขณะแม่พูดพร่ำถึงเรื่องทั่วไป อันควรจะเป็นในชีวิต การลงมือปรุงตามสูตรอย่างพิถีพิถัน ถูกแสดงให้เห็นเป็นบทเรียนซ้ำๆ

ลูกจึงได้ทั้งอาหารถูกปาก จับใจ และหลักการครองชีวิต

 

จอห์น วู ยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกง ฝีไม้ลายมือเป็นที่ยอมรับระบือไกลในโลกตะวันตก ความโดดเด่นในงานของเขามีอิทธิพลต่อฮอลลีวู้ด

นักวิจารณ์หนัง วิเคราะห์และสรุปความสำเร็จของเขาว่า เกิดจากการเอาหัวใจใส่ลงไปในหนังแอ๊กชั่นรุนแรง เลือดท่วม ทำลายล้างวินาศสันตะโร

จอห์น วู ไม่เลือกใช้แต่ความมันสะใจ ตอบสนองภาวะเก็บกด ที่ซ่อนซุกความรุนแรงไว้ภายใต้จิตสำนึกของคน ในโลกที่เต็มไปด้วยการทำลายล้างรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าต่อมวลมนุษย์หรือธรรมชาติ ตามขนบ ธรรมเนียมนิยมของหนังประเภทนี้

แต่เติมรายละเอียด ปม ความขัดแย้ง ในชีวิตและจิตใจของตัวละคร มีความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยม จนได้ภาพและความรู้สึกชวนสะเทือนใจ กระทบท้าทายถึงมนุษยธรรม

จอห์น วู มักใช้เวลาว่างเว้นจากงาน พักผ่อนอยู่กับบ้าน ชมชอบการเข้าครัว ลงมือปรุงอาหารด้วยสองมือ ปรุงเพื่อครอบครัว และมิตรสหายอันเป็นที่รัก

ใครที่ได้ชิมต่างชื่นชมในรสมือการทำครัวของเขา ไม่ต่างจากหนังที่เขากำกับฯ

เขายืนยันว่า ยังคงเป็นเคล็ดลับเดิม ใส่หัวใจลงไป เพราะเป็นการปรุงสำหรับคนรัก