เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ธงช้างเผือกของสยาม” ในจิตรกรรมล้านนา (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ก่อนหน้านั้น ประเทศไทยไม่เคยมีการกำหนด “วันพระราชทานธงชาติไทย” หรือ Thai National Flag Day มาก่อน ผิดกับในหลายๆ ประเทศ กล่าวกันว่ามีทั้งสิ้นจำนวน 54 ประเทศจากทั่วโลก ที่กำหนดให้มี “วันรำลึกถึงธงชาติ” หรือ “วันธงชาติ” (Flag Day) อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร โปรตุเกส อินเดีย บราซิล เวียดนาม ฯลฯ

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ปีที่แล้วนี่เองที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 28 กันยายน ของทุกปี เป็น “วันพระราชทานธงชาติไทย” (Thai National Flag Day) โดยจะให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2560 เป็นปีแรก เนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการประกาศใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย

ในบทความนี้ได้ตั้งประเด็นคำถามอยู่ 3 ข้อว่า

1. ธงช้างเผือกบนพื้นแดง ที่มีมาก่อนธงไตรรงค์นั้น เริ่มมีใช้ครั้งแรกเมื่อไหร่ และกำหนดให้ใช้กันอย่างไร

2. สัญลักษณ์ของสีแดง ขาว น้ำเงิน บนธงไตรรงค์ นั้น เหมือนหรือต่างจากการให้ความหมายในทางสากล

3. การพบธงช้างเผือกในงานจิตรกรรมท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ ณ ยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งในที่นี้จะเน้นวัฒนธรรมล้านนา เป็นเครื่องสะท้อนถึงอะไร หมายถึงการยินยอมเป็นส่วนหนึ่งของสยามโดยดุษณีหรือไม่

 

สุโขทัย-อยุธยา ใช้ธงแบบไหน?

ถามว่า “ธง” ในสมัยสุโขทัย กับสมัยกรุงศรีอยุธยา หน้าตาเป็นอย่างไรล่ะหรือ เริ่มใช้ธงช้างเผือกบนพื้นแดงกันแล้วหรือยัง

คำตอบคือ ยังค่ะ

สมัยสุโขทัย ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ ว่ามีการใช้ “ธง” เป็น Sign-สัญญะ หรือเครื่องหมายแห่งการประกาศเอกราชของอาณาจักร

ไม่เพียงแต่รัฐสุโขทัยเท่านั้น รัฐอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกันในละแวกอุษาคเนย์ก็ไม่พบว่ามีแนวคิดเรื่องการ “ชูธง” ประจำชาติ เพื่อแบ่งแยกขอบขันธสีมาแต่อย่างใด

“ธง” ในความหมายของรัฐยุคจารีต ส่วนใหญ่ใช้งานในลักษณะที่เรียกว่า “ธงทิว” ประกอบริ้วขบวนเครื่องยศของแม่ทัพนายกอง เสียล่ะมากกว่า ดูตัวอย่างได้จากภาพสลักหินที่ระเบียงคดนครวัด

มิพักต้องมาถามถึง “ธงช้าง” ในยุคสุโขทัย แม้ศิลาจารึกหลักที่ 1 จะปรากฏชื่อของช้างเผือกเชือกหนึ่งชื่อ “รุจาครี” ว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้แต่งเครื่องคชาภรณ์ แล้วนำราษฎรออกบำเพ็ญกุศลตามพระอารามในเขตอรัญญิกก็ตาม

สมัยกรุงศรีอยุธยา เริ่มปรากฏว่ามีการใช้ธงประจำอาณาจักรแล้ว (แต่ก็ยังมีผู้แย้งว่า หากจะนับเป็น “ธงชาติ” อย่างเป็นทางการในความหมายของสากลจริงๆ คงจะยังไม่ได้กระมัง?)

เหตุที่การใช้ “ธงแดง” ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นเนื่องจากเหตุการณ์ที่เรือรบของประเทศฝรั่งเศสจอดเทียบฝั่งที่อ่าวไทยพร้อมกับยิงสลุต (เป็นธรรมเนียมของการแสดงความเคารพแบบสากลในยุคนั้น)

อนึ่ง คำว่า Salut ไทยอ่าน สลุต ฝรั่งเศสอ่าน ซาลู่ต์ ใช้เป็นคำทักทายสำหรับเพื่อนสนิทมิตรสหาย แทนคำว่า Bonjour มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า Salute ซาลูเต ซึ่งคำคำนี้ ชาวอิตาเลียนยังใช้กันอยู่จวบปัจจุบัน เวลาชนแก้วดื่ม มีความหมายว่า แด่มิตรภาพ และเวลาได้ยินเสียงใครกระแอมกระไอหรือจาม จะต้องมีใครคนหนึ่งช่วยพูดว่า “ซาลูเต” กรณีนี้มีความหมายว่า ขอให้หายป่วย (แด่สุขภาพที่ดี)

ครั้งกระนั้น สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้มหาดเล็กชักธงสีแดงจากภาคพื้นแผ่นดิน ให้ชาวฝรั่งเศสเห็น คล้ายดั่งอาณัติสัญญาณตอบว่ารับรู้การมาเยือน

ซึ่งตามธรรมเนียมสากลแล้ว ธงขาว หมายถึงการยอมแพ้ขอหย่าศึก ธงเหลือง บอกถึงเรือที่มีคนป่วย และธงแดง หมายถึงมีเหตุด่วนเหตุร้าย

ดังนั้น การส่งสัญญะด้วย “ธงแดง” เช่นนั้นจากฝ่ายสยามต่อมหามิตรชาวฝรั่งเศส เห็นจะผิดหลักสากลไปสักหน่อย

 

ปูมหลังของธงช้างเผือกบนพื้นแดง

ในเมื่อการใช้ธงช้างเผือกยังไม่เคยมีมาก่อนในสมัยสุโขทัยและอยุธยา (รวมถึงสมัยกรุงธนบุรี) ถ้าเช่นนั้น คงมีขึ้นอย่างแน่นอนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกระมัง

คำตอบคือ ยังไม่มีอีกเช่นกันในสมัยรัชกาลที่ 1 พระองค์ยังคงใช้ “ธงแดง” ผืนนั้นสืบต่อมาจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ธงแดงดังกล่าวก็มีบทบาทแค่เน้นหนักไปในทางใช้ผูกเรือในการค้าขายสินค้ากับชาวต่างชาติเท่านั้น

เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างเรือหลวงและเรือเอกชนไม่ให้ปะปนกัน จึงใช้วิธีเพิ่ม “จักรขาว” บนพื้นแดงสำหรับธงผูกเรือหลวง ส่วนเรือราษฎร์ให้ผูกธงแดงธรรมดา

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในที่นี้ก็คือ “วงจักรสีขาว” อันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี

สมัยรัชกาลที่ 2 จึงเริ่มมีการปรากฏขึ้นของ “ธงช้างเผือก” เป็นครั้งแรก ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า “พระเจ้าช้างเผือก” เป็นรัชสมัยที่ได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง 3 เชือก (มีการแบ่งประเภทของช้างเผือกออกเป็น ช้างเผือกเอก โท ตรี จัตวา)

โดยพื้นหลังของธงยังคงเป็นสีแดงดุจเดิม แต่ได้เพิ่ม “ช้างเผือก” เชือกหนึ่งอยู่กลางวงจักรสีขาว

หลักฐานการใช้ธงแดงมีช้างเผือกในวงจักรสีขาว ปรากฏอยู่เฉพาะบนเรือหลวง อันเป็นเรือกำปั่น 2 ลำ ที่รัชกาลที่ 2 ทรงส่งล่องไปค้าขายระหว่างประเทศสิงคโปร์และมาเก๊า ในยุคที่ประเทศอังกฤษเข้ามาตั้งสถานีการค้าอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เท่านั้น

คือไม่ได้ใช้ธงในการอื่นใดอีกเลย

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธงแต่อย่างใด ดังข้อความที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เรื่องพระราชบัญญัติธง เล่มที่ 14 แผ่นที่ 2 วันที่ 11 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 116 (ตรงกับ พ.ศ.2440) หน้า 29-30 กล่าวถึงการใช้ธงในสมัยรัชกาลที่ 1-2 ว่า

“…ธงอันเปนสำคัญ เครื่องหมายแห่งสยามประเทศนี้ แต่ก่อนมาใช้ผ้าสีแดงเกลี้ยง ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ (หมายเหตุคัดลอกตัวสะกดตามต้นฉบับ) ทรงพระราชดำริห์ว่า เรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายสำคัญให้เห็นต่างกัน จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้บรรดาเรือหลวงทั้งปวง ทำรูปจักรอันเปนนามสัญญาพระบรมราชวงษแห่งพระองค์ลงไว้ในกลางธงพื้นแดงนั้น เปนเครื่องหมายใช้ในเรือหลวง

ต่อมาถึงในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ครั้งนั้นมีสารเสวตรอันอุดมด้วยลักษณ มาสู่พระราชสมภารถึงสามช้าง เปนการพิเศษไม่มีได้ในประเทศอื่นเสมอเหมือนควรจะอัศจรรย์ อาไศรยคุณพิเศษอันนั้น จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างเผือกลงไว้กลางวงจักร ในธงเรือหลวงนั้นด้วย…”

 

สมัยรัชกาลที่ 4 ธงช้างเผือกบนพื้นแดงเริ่มปรากฏ

จากราชกิจจานุเบกษา เล่มดังกล่าว ได้อธิบายถึงเรื่อง พระราชบัญญัติธง ต่อไปว่า

“ครั้นถึงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระรำพึงถึงเรือค้าขายของชนชาวสยาม ที่ใช้ธงสีแดงเกลี้ยงอยู่นั้นไม่เปนการสมควร เหตุว่าซ้ำกับประเทศอื่นยากที่จะสังเกตเห็น เปนการควรจะใช้ธงอันมีเครื่องหมาย เหมือนอย่างเรือหลวงทั่วไป แต่ว่ารูปจักรเปนของสูงไม่สมควรที่ราษฎรจะใช้

จึ่งมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ยกรูปจักรออกเสีย คงแต่รูปช้างเผือกบนพื้นแดงให้ใช้ทั่วไปทั้งเรือหลวง แลเรือราษฎร บรรดาที่เจ้าของเรือเปนข้าขอบขันธสีมา มิให้เปนการสับสนกับเรือของชาวต่างประเทศ แลให้ทำธงรูปช้างเผือกบนพื้นสีขาบ (น้ำเงินแก่) ขึ้นอีกอย่างหนึ่งสำหรับใช้ชักที่น่าเรือหลวงทั้งปวง ให้เปนที่สังเกตเห็นต่างกัน กับเรือของราษฎรด้วย

อนึ่ง เวลาเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนเรือหลายลำ ทวยราษฎรผู้ตั้งใจจะเคารพ เฉพาะต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท สังเกตไม่ได้ว่า เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำใด ทรงพระกรุณาเพื่อจะเอาใจราษฎร จึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำธงสำหรับพระองค์ขึ้นอีกอย่างหนึ่ง พื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางมีมหาพิไชยมงกุฎ แลมีเครื่องสูง 7 ชั้นสองข้าง สำหรับชักขึ้นบนเสาเรือพระที่นั่ง เปนที่หมายว่าได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือลำนั้นแล้ว แลโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชักขึ้นบนเสา ในพระบรมมหาราชวังด้วย

ภายหลังเมื่อมิได้เสด็จ ประทับอยู่ในพระมหานคร ต้องลดธงสำหรับพระองค์ลง เสาเปล่าอยู่ดูมิบังควร จึ่งดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ทำธงไอยราพต อย่างพระราชลัญจกรไอยราพต ประจำแผ่นดินสยามขึ้นใหม่สำหรับใช้ชักขึ้นบนเสา ในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่มิได้ประทับอยู่ในพระมหานครอีกอย่างหนึ่งด้วย…”

ผลสืบเนื่องมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี พ.ศ.2398 ทำให้ประเทศสยามมีการทำสนธิสัญญากับชาติมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้น รัชกาลที่ 4 จึงได้ทรงมีพระราชดำริว่าสยามจำเป็นต้องมีธงชาติขึ้นใช้ตามธรรมเนียมดั่งชาติตะวันตก

แม้ว่าธงประจำพระองค์จะมีถึง 3 รูปแบบ คือแบบ 1.ช้างเผือกบนพื้นสีขาบ (สำหรับติดบนเรือหลวง) 2.ธงมหาพิชัยมงกุฎพร้อมเครื่องสูง 7 ชั้น (สำหรับชักบนเสาเรือพระที่นั่ง) และ 3.ธงไอยราพต (สำหรับติดบนเสาในพระบรมมหาราชวัง)

แต่ก็พบว่า ในสมัยนี้เอง ได้มีการใช้ธงพื้นแดงรูปช้างเผือก (เปล่าๆ-ไม่มีวงจักร) เป็นครั้งแรก

ที่น่าสนใจคือ กำหนดให้เป็นธงใช้ชักในเรือของราษฎรทั่วไปที่เป็นชาวสยาม แทนที่ธงแดงเกลี้ยง

จากธงพ่อค้าสามัญชน พลิกผันจนกลายมาเป็นธงชาติสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างไร โปรดติดตาม…