หนังสือเด็กรับ ‘โลกร้อน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
My Ocean Home Fiji/Penelope Casey

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

หนังสือเด็กรับ ‘โลกร้อน’

 

ข่าวเล็กๆ จากกรุงซูวา ประเทศฟิจิ สำนักข่าวอัลจาซีรา หยิบยกมารายงานบนเว็บไซต์ว่า กลุ่มนักเขียนชาวฟิจิ รวมพลังสร้างสรรค์หนังสือเด็กว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะโลกร้อน ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง มลพิษปนเปื้อนในท้องทะเล การตัดไม้ทำลายป่าและทะเลเป็นกรด ความสำคัญของป่าชายเลน เป็นหนังสือชุดมีทั้งหมด 10 เล่ม

หนังสือเด็กชุดดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิเอเชีย เป็นเรื่องเล่าพร้อมรูปประกอบสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดความสนใจของเด็กชาวฟิจิ

“มิลิกา โซเบ” ผู้จัดการโครงการเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกของมูลนิธิเอเชีย บอกกับอัลจาซีราถึงที่มาที่ไปของโครงการหนังสือเด็กว่า ทะเลมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาวะภูมิอากาศ ในเวลาเดียวกันทะเลเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวเกาะ

“เด็กๆ บนเกาะต่างล้วนได้รับประสบการณ์ตรงจากพายุไซโคลนที่พัดกระหน่ำทำลายทรัพย์สินบนเกาะอย่างย่อยยับมาแล้วทั้งสิ้น ปัจจุบันพายุได้เกิดบ่อยถี่ขึ้นมาก” โซเบบอกอัลจาซีรา

โซเบอธิบายเพิ่มอีกว่า เด็กๆ ยังเรียนรู้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็นคลื่นยักษ์หรือสตรอมเชิร์จซัดกระหน่ำชายฝั่ง ทำลายพื้นที่ชายฝั่ง ผู้คนต้องทิ้งบ้านเรือนอพยพหนีขึ้นไปอยู่บนที่สูง

“ในหนังสืออธิบายที่มาของเหตุการณ์ว่ามาจากสาเหตุอะไร แต่เราไม่ต้องการให้เด็กหวาดกลัวทะเล ตรงกันข้ามเราต้องการปลุกพลังให้เด็กๆ เคารพในความยิ่งใหญ่ของทะเล ซึ่งเป็นผู้รังสรรค์ระบบนิเวศน์”

 

หนังสือชุดทั้งสิบเล่ม ทางมูลนิธิเอเชียนำออกมาเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ให้เด็กๆ ได้อ่านฟรี มีทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาพื้นเมืองของฟิจิ และยังทำเป็นระบบออดิโอบุ๊กสำหรับคนพิการ

มหาสมุทรแปซิฟิกกว้างใหญ่ที่สุดในโลก พื้นที่น้ำทะเลครอบคลุมราว 33 เปอร์เซ็นต์ของผิวโลกทั้งหมด

เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ประเมินว่ามีราว 3 หมื่นเกาะ ผู้คนใช้ชีวิตอยู่สืบทอดวัฒนธรรม เรียนรู้ ต่อสู้ พบกับสุข ทุกข์โศกคลุกเคล้ากันไม่น้อยกว่า 3,500 ปี (ดูจากการค้นพบหลักฐานโบราณคดีที่เป็นหม้อไหมีลายเรียกว่า ลาปิต้า)

ชาวเกาะกลางมหาสมุทรห่างไกลความศิวิไลซ์ มีแต่ผืนน้ำกับท้องฟ้า แต่พวกเขากลับต้องเผชิญกับภัยพิบัติอันใหญ่หลวง

น้ำทะเลเพิ่มสูงทะลักใส่ชายฝั่งที่พวกเขาสร้างกระท่อมหลังเล็กๆ พายุไซโคลนหอบเอาน้ำฝนและลมแรง เทกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา หลังคากระท่อมปลิวหาย เหลือแต่โครงเสา

เมื่อหมดหน้ามรสุม ความแห้งแล้งก็มาเยือน อากาศร้อนระอุ ผืนทรายบนหาดยาวกว้าง อมความร้อนเอาไว้ เมื่อพระอาทิตย์ตกดิน ทรายคายความร้อนออกมา

ผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิร้อนขึ้นทะลักลงสู่ใต้ผืนทะเลที่อุดมเป็นด้วยแหล่งปะการัง กลายเป็นวิกฤตการณ์ทะเลกรด ปะการังซีดขาว ป่าชายเลนตายซากและเกิดโรคระบาดทำลายแหล่งเพาะปลูก

 

ราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกผจญภัยกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จนกลายเป็นเรื่องปกติ

ปี 2559 ชาวเกาะปาเลา ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ ใกล้ๆ กับหมู่เกาะฟิลิปปินส์ พากันเป็นงง เมื่อน้ำทะเลร้อนขึ้นมาก แมงกะพรุนได้หายไปจากท้องทะเลของปาเลา อีก 3 ปีต่อมาอุณหภูมิน้ำทะเลลดลง แมงกะพรุนกลับมาโผล่ให้เห็นอีกครั้ง

ส่วนเกาะฟิจิ อยู่ทางฝั่งใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐบาลสั่งย้ายหมู่บ้านริมชายฝั่ง เพราะเกรงน้ำทะเลจะซัดจมหาย

แนวปะการังของหมู่เกาะตูวาลู เจอน้ำทะเลเอ่อท่วม ถ้าจะฟื้นคืนต้องใช้เงินงบประมาณเป็นพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปีที่แล้วทูตถาวรประจำสหประชาชาติแห่งฟิจิ เรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจที่ปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมากๆ ลดการปล่อยก๊าซพิษให้มากกว่าที่เป็นอยู่

เพราะบรรดาประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทร 13 ประเทศรวมทั้งปาเลา ฟิจิ ได้รับความเดือดร้อนหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนเป็นต้นเหตุให้ “มาคา” และ “ตูตู” ตัวละครในหนังสือผจญภัยของเด็กชาวเกาะฟิจิ ต้องละทิ้งบ้าน (ที่มา : เอเชียฟาวเดชั่น)

ในโลกใบนี้มี 2 ปอดใหญ่ที่ช่วยดูดซับก๊าซพิษและคายก๊าซออกซิเจนออกมา คือป่าอะเมซอน และมหาสมุทรแปซิฟิก

เวลานี้ป่าแอมะซอนมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าที่ดูดซับเอาไว้เนื่องจากมีการโค่นเผาป่าอย่างมโหฬาร

ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเคยปล่อยก๊าซออกซิเจนราว 20% ของปริมาณก๊าซออกซิเจนทั้งหมด พบว่าปล่อยออกซิเจนลดลงเพราะภาวะโลกร้อน

ชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจึงวิงวอนขอให้ประเทศมหาอำนาจลดการปล่อยก๊าซพิษและช่วยนำเทคโนโลยี ถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ชาวเกาะเพื่อปกป้องภัยพิบัติ

ล่าสุด “อัลจาซีรา” บอกว่า รัฐสภาแห่งวานูอาตู อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากเกาะฟิจิราวๆ 800 กิโลเมตร ประกาศภาวะภูมิอากาศฉุกเฉิน

นายบ็อบ ลาจ์กแมน นายกรัฐมนตรีของวานูอาตูร้องขอรัฐสภาให้จัดงบประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐรับมือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงและภูมิอากาศแปรปรวนอันเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

วานูอาตูเผชิญกับวิกฤตการณ์โลกร้อนมานานแล้ว เมื่อปี 2558 พายุไซโคลนทำลายวานูอาตูสูญเสียทรัพย์สินเกือบ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

เดือนเมษายน 2563 พายุไซโคลน “ฮาโรลด์” พัดถล่มวานูอาตู และหมู่เกาะตองกา มีบ้านเรือนพังพินาศ ผู้คนเสียชีวิตหลายสิบคน

“ลาจ์กแมน” บอกว่า โลกร้อนเกินไปและไม่ปลอดภัย พวกเราชาวเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกำลังอยู่ในภาวะอันตราย

“วานูอาตูต้องเร่งผลักดันประเทศมหาอำนาจแสดงความรับผิดชอบกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และจะต้องขอรับบริจาคเงินจากประเทศมหาอำนาจ” ผู้นำแห่งวานูอาตูประกาศให้โลกรู้ •