‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ’ ยุค ‘ชัชชาติ’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ’

ยุค ‘ชัชชาติ’

 

หนึ่งในนโยบายทางวัฒนธรรมที่น่าจับตามากๆ ซึ่งอยู่ในหมวด “สร้างสรรค์ดี” ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่เพิ่งได้รับฉันทามติจากชาวกรุงเทพฯ มาอย่างถล่มทลาย ก็คือนโยบาย “12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพฯ”

เว็บไซต์ https://www.chadchart.com/ ระบุว่าการจัดเทศกาลทางวัฒนธรรมเดือนละหนึ่งเทศกาลนั้น จะส่งผลให้ “คนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดอื่นหรือต่างประเทศมีเทศกาลน่าสนใจตลอดทั้งปีให้เข้าร่วม” และ “ธุรกิจได้โอกาสในการกระตุ้นยอดขายจากงานเทศกาล เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ”

โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า

“จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2564 มีแรงงานที่มีงานทำลดลง 107,354 คนจากปี 2563 หรือคิดเป็นประมาณ 2% ดังนั้น กรุงเทพฯ จะต้องเป็นแหล่งสร้างงานเพื่อทดแทนแรงงานที่หายไป

“การจัดเทศกาลคือการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในรูปแบบหนึ่งและเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นการเปิดโอกาสประกอบธุรกิจใหม่ๆ ให้กับคนกรุงเทพฯ

“โดยเทศกาลสามารถเป็นเครื่องมือผลักดันความสร้างสรรค์ การออกแบบ ชุมชน รวมถึงเพิ่มเทศกาลที่น่าท่องเที่ยวให้กับคนกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด และนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

“โดยแต่ละเทศกาลจะดึงอัตลักษณ์และศักยภาพของแต่ละย่านทั่วกรุงออกมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของย่านในกรุงเทพฯ สามารถคัดสรร จัดกลุ่ม สร้างเรื่องราว เพื่อพัฒนากิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตลอดปี นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ให้เกิดการท่องเที่ยวภายในย่านหลังจากจัดเทศกาลอีกด้วย”

จากนั้น ทางเว็บไซต์ชัชชาติก็ได้ยกตุ๊กตาหรือตัวอย่างของเทศกาลที่จะจัดในแต่ละเดือนขึ้นมา

น่าสนใจว่า ตุ๊กตาที่วางไว้ในเดือนกรกฎาคม คือ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ”

 

ต่อจากนี้ จะเป็นความคิดเห็นต่อการจัด/รื้อฟื้น “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ในยุค “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ผ่านมุมมองของคนชอบดูหนังคนหนึ่ง (ซึ่งอาจไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสักเท่าใดนัก)

ประเด็นแรกสุด ต้องยอมรับว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ชื่อ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ได้กลายเป็น “คำสาป” “ความผิดบาป” หรือ “ตราบาป” ที่ผูกติดอยู่กับคดีทุจริตของอดีตผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง

กระทั่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมแขนงนี้มีสภาพเป็นเหมือน “ของแสลง” สำหรับรัฐ-ข้าราชการไทย รวมถึงเอกชนรายใหญ่ๆ ไปเสียอย่างนั้น

ทั้งๆ ที่เรามีคนไทยที่ได้รับรางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติขนาดใหญ่อยู่เป็นระยะๆ และแม้ยุคทองของ “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย” ในประชาคมหนังระดับอินเตอร์จะผ่านพ้นไปแล้ว ทว่า “หนังอินดี้ไทย” จำนวนหนึ่งก็ยังมีที่ทางอยู่ในประชาคมดังกล่าวเสมอๆ

เช่นเดียวกับบุคลากรเบื้องหลังชาวไทยหลายราย ที่ทำงานลำดับภาพ งานด้านเสียง งานเกรดสี และงานกำกับภาพ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับทวีปเอเชีย เรื่อยไปจนถึงในแวดวงภาพยนตร์ยุโรปและอเมริกันอินดี้

เมื่อปัญหาจริงๆ ของ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ในอดีต เกิดจากตัวบุคคลที่ทุจริต ตลอดจนระบบการทำงานของภาครัฐที่เอื้อต่อพฤติกรรมเช่นนั้น โดยที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากสื่อ/ศิลปะภาพยนตร์ วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ หรือคนทำภาพยนตร์

การรื้อฟื้น “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ขึ้นมาใหม่อย่างเป็นทางการ จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุนอย่างยิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นทันที ก็คือ เพราะเหตุใดคุณชัชชาติและทีมงานจึงทดลองปักหมุด “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ไว้ในเดือนกรกฎาคม?

หากพิจารณาปฏิทินเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติในภาพรวม เราก็จะพบว่าเทศกาลเมเจอร์ระดับ “บิ๊กไฟว์” นั้นมีจุดเริ่มต้นที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซันแดนซ์ (สหรัฐอเมริกา) เดือนมกราคม เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน (เยอรมนี) เดือนกุมภาพันธ์ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ (ฝรั่งเศส) เดือนพฤษภาคม เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (อิตาลี) ปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโต (แคนาดา) เดือนกันยายน

(ทั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีหลายท่าน อาจนับจุดเริ่มต้นที่เทศกาลเบอร์ลิน แล้ววนไปปิดท้ายตรงเทศกาลซันแดนซ์)

ขยับมาที่ทวีปเอเชีย วงจรของเทศกาลหนังจะเริ่มที่ฮ่องกง เดือนสิงหาคม ปูซาน (เกาหลีใต้) เดือนตุลาคม โตเกียว (ญี่ปุ่น) ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน และสิงคโปร์ ปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นธันวาคม

ในแง่หนึ่ง การปักหมุด “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ไว้ที่เดือนกรกฎาคม จึงอาจส่งผลให้เราได้หนังนานาชาติเรื่องเด่นๆ ซึ่งเปิดตัวรอบปฐมทัศน์โลกที่ซันแดนซ์, เบอร์ลิน และคานส์ มาฉาย แต่จะพลาดผลงานใหม่ที่เปิดตัวในเวนิสและโตรอนโต

อีกแง่หนึ่ง การทำเทศกาลหนังนานาชาติในเดือนที่เจ็ดของปี อาจทำให้บ้านเรามีแนวโน้มจะได้ภาพยนตร์ระดับโลกบางเรื่องมาเปิดตัวรอบเอเชียนพรีเมียร์ (ปฐมทัศน์ในทวีปเอเชีย) ตัดหน้าเทศกาลร่วมทวีปอย่างฮ่องกง ปูซาน โตเกียว และสิงคโปร์

ดังนั้น การจัดเทศกาลภาพยนตร์ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกรกฎาคม จึงเป็นตัวเลือกที่ดูดีอยู่ไม่น้อย

 

ถ้าคำนึงถึงบริบทของเทศกาลภาพยนตร์ภายในประเทศ

เราก็จะพบว่าระยะหลังๆ กระทรวงวัฒธรรมและสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติได้ร่วมกันเป็นแม่งานจัด “เทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร” ในห้วงเวลาที่ไม่สม่ำเสมอนัก คือ ปี 2564 จัดเดือนธันวาคม ปี 2563 จัดเดือนกันยายน และปี 2562 จัดเดือนกรกฎาคม (ส่วนหนึ่งเพราะสถานการณ์โควิด)

โจทย์สำคัญถ้ามีการรื้อฟื้น “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” จึงอยู่ตรงที่ทำอย่างไร กทม. และกระทรวงวัฒนธรรมจะไม่จัดงานชนกัน?

นอกจากนั้น เมื่อเทศกาลหนังของกระทรวงวัฒนธรรมมุ่งโฟกัสไปยังภาพยนตร์ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทศกาลหนังของ กทม. จึงอาจต้องตีโจทย์ที่กว้างขวางขึ้น เช่น มุ่งนำเสนอภาพยนตร์เด่นๆ ของทวีปเอเชีย (น่าคิดต่อว่าเราจะแข่งขันหรือร่วมมือกับเทศกาลฮ่องกง ปูซาน โตเกียว และสิงคโปร์อย่างไร?)

หรือหากจะมุ่งกวาดเก็บหนังระดับโลก (โดยเฉพาะจากยุโรป-อเมริกาใต้) ที่เพิ่งเปิดตัวในเทศกาลระดับแกรนด์สแลมก่อนหน้าเดือนกรกฎาคม มาฉายให้คนกรุงเทพฯ และคนไทย (รวมทั้งชาวต่างชาติในไทย) ได้รับชม

“เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ก็อาจมีพันธมิตรและ/หรือคู่แข่งอย่าง “เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ” ที่แว่วๆ ว่าทางภาคเอกชน คือ เครือเนชั่น มีแผนจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เหมือนกัน

 

อีกแนวทางหนึ่งที่ไม่น่ามองข้าม คือ “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ยุคนี้ สามารถนำเสนอตนเองเป็นโชว์เคสของ “หนังไทย” ทั้งภาพยนตร์เก่าที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และภาพยนตร์ใหม่ (ไม่ว่าจะเมนสตรีมหรืออินดี้) ที่มีแผนเปิดตัว ณ ปีนั้นๆ

ยังมีประเด็นใหญ่ๆ อีกหลายเรื่อง ที่ต้องหาข้อสรุปให้ได้ เช่น สุดท้ายแล้ว “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ในทศวรรษ 2560 ควรเลือกแสดงบทบาทเช่นใดเป็นหลัก? จะเป็นอีเวนต์เดินพรมแดงเก๋ๆ เป็นพื้นที่ความบันเทิงทางเลือกสำหรับคนท้องถิ่น หรือเป็นอะไรอย่างอื่น (อาทิ แหล่งฝึกอบรมคนทำหนัง-สื่อภาพเคลื่อนไหวรุ่นใหม่)?

“เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ” ยุค “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” จึงนับเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจและน่าสนับสนุน

แม้จะยังมีรายละเอียดที่ต้องครุ่นคิดพิจารณากันอีกเยอะพอสมควร •