สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (2) เจค ซัลลิแวน เจ้าปัญญาแห่งรุ่น/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

สงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซียในยูเครน (2)

เจค ซัลลิแวน เจ้าปัญญาแห่งรุ่น

 

ด้วยภูมิหลังและประสบการณ์แตกต่างกันไป ทว่า สามเสธ.แห่งสงครามตัวแทนของอเมริกากับรัสเซีย มุ่งเป้าประสงค์หนึ่งเดียวกัน นั่นคือรับใช้ประธานาธิบดีไบเดน แตกหักกับยุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวฉาวโฉ่กับการหมิ่นเหม่/ละเมิดกฎหมายตลอดเวลา และหยั่งสมอยึดสหรัฐอเมริกาไว้กับศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งเตรียมรับมือการท้าทายใหม่ๆ เบื้องหน้า

เมื่อประธานาธิบดีไบเดนเสนอชื่อเจค ซัลลิแวน ให้รับตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของตนนั้น เขายกย่องซัลลิแวนหนุ่มใหญ่วัย 45 จากภูมิภาคมิดเวสต์ (12 มลรัฐตอนกลางทางเหนือของสหรัฐ) ว่าเป็น “เจ้าปัญญาแห่งรุ่น” (a once-in-a-generation intellect https://www.nytimes.com/2021/11/30/us/politics/jake-sullivan-biden.html) ชายหน้าซูบเรียวและแววตาแข็งกร้าวราวโลหะผู้นี้ไม่หิวแสงและจัดเจนแวดวงนโยบายต่างประเทศมาตั้งแต่สมัยร่วมทีมทำงานให้อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา

ซัลลิแวนเจ็บถลอกปอกเปิกจากความพ่ายแพ้แก่ฝ่ายทรัมป์ในคราวร่วมทีมรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้นางฮิลลารี คลินตัน บทเรียนหนึ่งที่เขาเก็บรับได้ในครั้งนั้นได้แก่การดำเนินนโยบายต่างประเทศจักต้องสะท้อนถ่ายความห่วงกังวลของพลเมืองอเมริกันในประเทศเสมอ ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่าสรุปเชื่อมโยงมาจากนโยบาย “อเมริกาก่อนสิ่งอื่นใด” ของทรัมป์นั่นเอง

ในช่วงร่วมทีมรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีให้ไบเดนรอบหลังนี้ ซัลลิแวนเป็นผู้สรุปสูตรทฤษฎีนโยบายต่างประเทศให้ โดยจับจุดบกพร่องสองประการที่เห็นมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโอบามาซึ่งมีไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี ได้แก่ 1) การตัดสินใจแล้วแต่ไม่เอาไปทำให้แล้วเสร็จ เช่น การถอนตัวจากอัฟกานิสถาน และ 2) การทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ

ซัลลิแวนอีกนั่นแหละที่เป็นผู้เร่งรัดให้อเมริกาเพ่งเล็งรวมศูนย์นโยบายต่างประเทศไปที่การแก่งแย่งแข่งขันกับจีน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนขึ้นแล้ว สหรัฐก็จำต้องหันกลับไปเน้นแนวนโยบายการทูตคลาสสิคของอเมริกาอันได้แก่ “พันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก” กับนานาประเทศยุโรปอย่างสนิทแนบแน่นเป็นใจกลางอีก (ที่เรียกว่า Transatlanticism ดู https://carnegieeurope.eu/2022/01/20/how-transatlantic-relationship-has-evolved-one-year-into-biden-administration-pub-86213) และชะลอการปรับนโยบายที่ว่าไปก่อน

ดังที่ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาร์ลส์ คัพชาน (Charles Kupchan) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์และภาคีสมาชิกอาวุโสสังกัดสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ สหรัฐ อธิบายว่า (https://www.cfr.org/podcasts/tpi-special-war-ukraine-charles-kupchan) :

“การที่รัสเซียรุกรานยูเครนบีบบังคับให้รัฐบาลไบเดนต้องหวนกลับไปทบทวนร่างผังนโยบายใหม่ มันไม่ถึงกับเป็นการละทิ้งแนวนโยบายปักหมุดเอเชียเสียทีเดียว แต่สงครามต้องการความใส่ใจมากอยู่”

ทีมเสธ.สงครามตัวแทนของไบเดน : รมว.ต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน, รมว.กลาโหม ลอยด์ ออสติน, ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซัลลิแวน)

แอนโทนี บลิงเคน หัวหน้าทีมเสนาธิการ

ในฐานะหัวหน้าด้านการทูตของอเมริกา แอนโทนี บลิงเคน เป็นที่ไว้วางใจเต็มที่ของประธานาธิบดีไบเดน การที่ไบเดนเสนอชื่อบลิงเคนให้รับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศสหรัฐ ถูกใจพันธมิตรนานาประเทศในยุโรปด้วยว่าบุคลิกที่สุภาพและไม่ถือชาติของบลิงเคนเป็นสัญญาณบอกการรื้อฟื้น “พันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก” ซึ่งเสียหายเสื่อมทรุดไปภายใต้ท่าทีชาตินิยมกร่างคับแคบของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

เช่น เมื่อปลายเดือนมิถุนายนศกก่อน ระหว่างแถลงข่าวที่กรุงปารีสร่วมกับ รมว.ต่างประเทศฝรั่งเศสนั้น บลิงเคนก็แสร้งกล่าวติดตลกถึงรอยคล้ำหมองใต้ตาของตนว่าเกิดจากอดหลับอดนอนเพราะตามดูหนังซีรีส์ฝรั่งเศสทางทีวีเรื่อง ลูแปง กับ บูโร เดส์ เลชองดส์ (“I’ve got eye bags from ‘binge-watching’ French shows : Blinken”, Reuters, 25 June 2021)

จริงๆ แล้วน้อยนักที่บลิงเคนจะพูดนอกเรื่อง บุคลิกของเขาที่โดดเด่นประทับใจแวดวงนักการทูตด้วยกันได้แก่การควบคุมตนเอง การเจรจาที่ยึดประเด็นหลักซึ่งเตรียมมาอย่างเคร่งครัด ฯลฯ รัฐมนตรีชาวยุโรปที่พบปะเจรจากับบลิงเคนหลายครั้งออกปากชมว่าเวลาให้สัมภาษณ์ เขาเป็นคนที่เข้าหาได้ อบอุ่นและรับฟัง ซึ่งนับเป็นฝันร้ายของพวกนักข่าวสมัครเล่นที่ชอบยั่วโทโสแหล่งข่าวให้ฟิวส์ขาดหลุดปากออกมา

ทว่า ในแง่แนวนโยบาย ชาร์ลส์ คัพชาน ผู้เคยร่วมงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติสมัยประธานาธิบดีคลินตันและโอบามาชี้ว่า “บลิงเคนเป็นตัวแทนปีกเสรีนิยมที่พร้อมเข้าแทรกแซงต่างประเทศของพรรคเดโมแครต เขาโน้มไปทางที่เห็นด้วยกับการสำแดงพลังอำนาจอเมริกันออกมา”

ความใกล้ชิดไว้ใจที่ไบเดนมีต่อ รมว.บลิงเคนยังแสดงออกในเหตุการณ์หนึ่งหลังไบเดนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสดๆ ร้อนๆ เขาไปเยือนที่ทำการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐและกล่าวกับบลิงเคนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ในกระทรวงว่า :

“เรา (ไบเดนกับบลิงเคน) ทำงานด้วยกันมากว่ายี่สิบปี ทักษะทางการทูตของคุณเป็นที่ยอมรับนับถือ ทั้งโดยเพื่อนมิตรของคุณและคู่แข่งในโลกของเราพอๆ กัน และพวกเขาทราบดีว่าเมื่อคุณพูด คุณพูดในนามของผม” (https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2021/02/04/remarks-by-president-biden-on-americas-place-in-the-world/)

แน่นอนการนี้รวมถึงการปรับแต่งแก้ข่าวให้ด้วยความเคารพยิ่งเมื่อเจ้านายพูดจาล้ำเส้นเกินเลยด้วย ดังในคราวที่ประธานาธิบดีไบเดนหลุดปากถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียออกมาระหว่างเยือนกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อปลายเดือนมีนาคมศกนี้ว่า :

“เพื่อเห็นแก่พระผู้เป็นเจ้า หมอนั่นจะอยู่ในอำนาจต่อไปไม่ได้”

(https://www.youtube.com/watch?v=iY87RpaSazU)

ร้อนถึงบลิงเคนต้องรีบออกมาไขความหมายของไบเดนในวันถัดมาระหว่างการแถลงข่าวของตัวเองที่กรุงเยรูซาเลม ประเทศอิสราเอล ว่า :

“ประเด็นของท่านประธานาธิบดีก็คือไม่อาจปล่อยให้ปูตินทรงไว้ซึ่งพลังอำนาจที่จะก่อสงครามหรือทำการรุกรานยูเครนหรือประเทศอื่นใดได้ สหรัฐได้กล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเราไม่มียุทธศาสตร์ที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองในรัสเซียหรือที่อื่นใดก็ตามที ในกรณีนี้ก็เป็นเช่นเดียวกันไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม มันขึ้นอยู่กับประชาชนในประเทศนั้นๆ มันย่อมขึ้นอยู่กับประชาชนชาวรัสเซียเอง”

(https://www.itv.com/news/2022-03-27/uk-distances-from-bidens-plea-that-vladimir-putin-cannot-remain-in-power)

(ต่อสัปดาห์หน้า)