ฉัตรสุมาลย์ : ปุชยะ สวามี กับงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เรื่องหนึ่งที่น่าประทับใจในการไปร่วมประชุมผู้นำทางจิตวิญญาณเพื่อหารูปแบบที่จะช่วยกันหลีกเลี่ยงความรุนแรง ที่จัดที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมานี้คือการได้พบกับ ปุชยะ สวามี จิทนันท์ สรัสวดี พระในศาสนาฮินดูจากประเทศอินเดีย

เมื่อท่านธัมมนันทาเล่าให้ที่ประชุมฟังถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ประเทศไทย ว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนค่านิยมของญาติโยมที่มาทำบุญที่วัตร ว่า การทำบุญนั้น ไม่จำเป็นต้องนำข้าวของวัตถุ หรือปัจจัยนั้น แม้การนำขยะมาฝากที่วัตร ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน ทางวัตรเรียกร้องให้ญาติโยมทำบุญด้วยขยะ

ทันทีที่รู้ตัวว่าจะต้องนำขยะไปบริจาคให้วัตร ญาติโยมก็จะเกิดพฤติกรรมใหม่ คือการแยกขยะ แยกกระดาษ แยกถังพลาสติกที่แตก รั่ว ใช้ไม่ได้แล้ว

ท่านปุชยะสวามี รับลูกทันทีว่า ที่ภิกษุณีเสนอเป็นแนวคิดที่ดี ที่ทุกวัดสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นวัดในศาสนาใดๆ

 

เมื่อมีการรับลูกกันเช่นนั้น วันรุ่งขึ้น ท่านธัมมนันทาก็เลยนำหนังสือ เรื่องจดหมายจากอินเดียภาคภาษาอังกฤษไปมอบให้ท่าน เป็นการแนะนำตัวเองว่า เมื่อเด็กๆ ท่านก็อยู่อินเดียมาเหมือนกัน ตั้งแต่สมัยที่อินเดียยังใช้เงินแอนนา ชาถ้วยละ 1 แอนนา เดี๋ยวนี้อินเดียเลิกใช้แอนนาแล้ว

ช่วง 22.00 น. จนถึง 10.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ท่านสวามีวิรัติไม่พูด ท่านรับหนังสือแล้วใช้นิ้วชี้ที่ริมฝีปาก เป็นหมายรู้กันว่า ท่านยังไม่พูดจนกว่าจะถึง 10 โมง

หลังจากนั้น ท่านให้ลูกศิษย์ผู้หญิงเป็นชาวอินเดียแต่ไปโตที่อเมริกา พูดภาษาอังกฤษแบบคนอเมริกันทีเดียว นำหนังสือมาให้ เป็นการทำความรู้จักกัน

ที่จริง เคยพบกันในการประชุมต่างศาสนาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดกัน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ต่างฝ่ายต่างรู้จักกันมากขึ้นในงานที่ทำ

ผู้เขียนประทับใจท่านมาก ท่านมีงานหลายด้าน แต่งานที่ท่านทำที่เด่นที่สุดเป็นเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และรักษาความสะอาดแม่คงคา

ซึ่งถือเป็นสายเลือดกระแสหลักของอินเดีย

 

รูปร่างลักษณะท่านเป็นคนร่างเล็ก ไว้หนวดไว้เครา และผมยาวเป็นลอนฟูเต็มบ่า เริ่มมีผมขาวขึ้นบางส่วน เป็นเอกลักษณ์ แบบเดียวกับ อินทิรา คานธี ที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดีย ท่านนุ่งผ้าแบบผ้าสบงของพระ มีเสื้อแขนยาวสีอิฐแดง แลมีผ้าคลุมไหล่สีเดียวกัน พระในศาสนาฮินดูบางนิกายจะโกนศีรษะเกลี้ยงแบบพระในพุทธศาสนา แต่บางรูปก็ยังไว้ผมยาว ดังเช่นปุชยะสวามี รูปนี้

ท่านจะมีแต้มสีแดงที่เรียกว่าดิลกอยู่ที่หน้าผากระหว่างคิ้วเสมอ เป็นเครื่องหมายของความเป็นสิริมงคล และท่านจะแต้มผงสีแดงนี้ให้กับสานุศิษย์ของท่านเป็นการให้พร ท่านสวมลูกประคำห้อยคอ และบางครั้งจะมีสายสิญจน์ผูกข้อมือขวา แต่สายสิญจน์ของศาสนาฮินดูจะเป็นด้ายสีแดง

สำหรับโครงการเรื่องน้ำนั้น ท่านจะรณรงค์ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้ในท้องถิ่นที่ขาดแคลนน้ำดื่ม นอกจากนี้ ก็ยังรณรงค์สาธารณสุขขั้นพื้นฐาน สอนเด็กๆ ให้รักษาความสะอาดด้วยการล้างมือ ในโครงการนี้ ก็จะมีการแจกสบู่ให้เด็กๆ ตามโรงเรียนด้วย

เรื่องล้างมือนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะวัฒนธรรมอินเดียยังเป็นวัฒนธรรมที่กินอาหารด้วยมือ

การรณรงค์ทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะ จะเห็นว่ามีอาสาสมัครมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ถือไม้กวาดทางมะพร้าวที่มีด้ามยาว ถือกระป๋องตักน้ำ ออกไปช่วยกันทำความสะอาดในที่สาธารณะต่างๆ โดยที่ท่านเองจะเป็นคนริเริ่มทุกครั้ง

โครงการนี้ผู้เขียนประทับใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นปัญหาหลักของอินเดียในเรื่องห้องน้ำห้องส้วม เพราะการที่เขาถือวรรณะ คนชั้นจัณฑาล คือนอกวรรณะต้องทำหน้าที่ที่สังคมรังเกียจ เช่น การเก็บซากศพสัตว์จากท้องถนน การล้างส้วมสาธารณะ

เมื่อคราวที่ท่านธัมมนันทาไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สังกิสสะ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดา แล้วเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ที่เมืองนี้ ก็มีปัญหาเรื่องความสะอาดเหมือนกัน

ก่อนจากท่านบอกชาวพุทธที่นั่นว่า ในการเป็นชาวพุทธ เงื่อนไขที่พวกเขาต้องพัฒนาคือ รักษาห้องน้ำที่ตัวเองต้องใช้ให้สะอาด

 

เมื่อท่านสวามี ซึ่งเป็นพระในศาสนาฮินดูเองออกมาเป็นผู้นำรณรงค์ในเรื่องความสะอาดในห้องส้วมสาธารณะ จึงต้องให้ความชื่นชมเป็นพิเศษ

โครงการอนุรักษ์แม่คงคานั้น ท่านสวามีจัดงานใหญ่เรียกร้องให้ศาสนิกทุกศาสนามีส่วนร่วม เพราะคงคาเป็นของทุกคน

ท่านได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งทั้งจากต่างศาสนาและรัฐบาล เพราะงานเหล่านี้ล้วนเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลส่วนกลางทั้งสิ้น

เรื่องที่คนไทยที่ไปสังเวชนียสถานคับข้องใจมากคือ ห้องน้ำ ยิ่งเมื่อ 50-60 ปีก่อน ก็ลืมไปได้เลย มีแต่ทุ่ง

เดี๋ยวนี้ เวลานั่งรถไฟไปตามชนบทก็ยังเห็นชาวอินเดียชาวบ้านออกมานั่งถ่ายทุกข์กันเป็นแถวตามแนวรางรถไฟก็มี

แม้เมื่อมีห้องน้ำสาธารณะแล้ว ด้วยการที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ถือในเรื่องวรรณะ มัวแต่รังเกียจ ผลักภาระรับผิดชอบไปให้เฉพาะคนนอกวรรณะ จึงทำให้ปัญหาเรื่องความสะอาดในห้องน้ำกลายเป็นเรื่องใหญ่ และแก้ยาก

แต่เมื่อผู้นำทางศาสนาออกมานำเอง โครงการดูแลความสะอาดของห้องน้ำจึงเป็นเรื่องที่ชมเชย

 

ในงานของท่านสวามี ท่านเห็นว่าเรื่องน้ำเป็นเรื่องสากล ท่านจึงใช้ความพยายามที่จะรณรงค์โดยเข้าถึงผู้นำของชาติต่างๆ ศึกษาจากงานที่ท่านได้ทำมาแล้ว คิดว่าท่านประสบความสำเร็จระดับหนึ่งทีเดียว ที่ท่านสามารถเข้าถึงบุคคลชั้นนำของประเทศ

เช่น เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ จากอังกฤษ องค์ทะไลลามะ ผู้นำของชาวพุทธ ผู้นำของอินเดียจากศาสนาต่างๆ ซึ่งสวามีท่านอื่นไม่มีบทบาทเช่นนี้

ในงานของท่านท่านยังมีโครงการที่จะพัฒนาคุณภาพของสตรี แสดงว่าท่านมีความคิดที่บูรณาการสังคมโดยองค์รวม ไม่ได้ทอดทิ้งคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สำหรับการสนับสนุนสตรีนั้น ท่านตั้งมูลนิธิ เรียกว่า มูลนิธิทิพยศักดิ์ ศักติ คือพลังของพระเจ้าในเพศหญิง ในงานนี้ท่านลงไปช่วยเหลือสนับสนุนเด็กและสตรี

ท่านมีทั้งโรงเรียนสำหรับเด็กทั่วไป และโครงการพัฒนาคุณภาพสตรีที่สอนวิชาชีพให้ เพื่อให้ผู้หญิงได้ทำงานช่วยเหลือตัวเองได้

มีการจัดการสัมมนาเพื่อพัฒนาคุณภาพสตรีโดยโคจรไปในเมืองต่างๆ ให้สตรีมีความตื่นตัว เช่น ลาดัค เป็นต้น

อีกหลายโครงการที่ท่านเริ่มต้นไปแล้ว มีทั้ง การพัฒนาชนบท รณรงค์ให้ปลูกต้นไม้เพื่อลดโลกร้อน เน้นการปฏิบัติบูชา โดยสอนว่า การให้เกียรติพระเจ้าสูงสุดโดยการรับใช้มนุษยชาติ

งานที่ท่านทำ บางครั้งรณรงค์ในนามของศาสนาที่ทำเพื่อโลกสีเขียว ไม่ว่าท่านจะอนุรักษ์น้ำ หรือเป็นผู้นำในการปลูกไม้คืนป่าให้ธรรมชาติ การสนับสนุนเพิ่มพลังให้สตรี นำสาวกของท่านออกมาช่วยกันล้างส้วมสาธารณะ ล้วนมุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน คือ รักษาและดูแลโลกให้น่าอยู่สำหรับสังคมปัจจุบัน และสังคมในอนาคต

จึงเป็นงานที่ควรให้การสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และศาสนาต่างๆ

และท่านก็ได้ทำสำเร็จในระดับหนึ่ง สมควรเป็นตัวอย่างให้พวกเราได้ร่วมมือลงแรงเช่นเดียวกัน