2503 สงครามลับ สงครามลาว (81)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (81)

15 มกราคม

กองพันทหารปืนใหญ่ทหารเสือพรานที่ 3 หรือ พัน. ป.ทสพ.634 ซึ่งเสร็จสิ้นการฝึกจากศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี เดินทางมาถึง และเข้าจัดตั้งฐานยิงที่บริเวณด้านหลัง หรือด้านตะวันออกเฉียงใต้ของล่องแจ้ง คือฐานยิงเฮอร์คิวลิส และฐานยิงแซมซั่น แต่ละฐานยิงประกอบด้วย ป.155 ป.105 และ ค.4.2 อย่างละ 2 กระบอก เป็นการวางแนวป้องกันในทางลึก

ฐานยิงทั้ง 2 แห่งได้ทำการก่อสร้างที่ตั้งยิงอย่างเร่งรีบเพื่อให้สามารถทำการยิงสนับสนุนฝ่ายเราให้ได้โดยเร็วที่สุด

กองพันทหารเสือพราน บีซี 617 ซึ่งตั้งอยู่เนิน 1610 หรือ CW บนสกายไลน์ 2 ถูกระดมยิงหนัก ข้าศึกจำนวนหนึ่งได้ยกกำลังเข้าเกาะติดโอบล้อมกองพันไว้ล่วงถึงวันที่ 18 มกราคม ผบ.พัน. ทหารเสือพราน บีซี 617 ได้นำกำลังออกไปกวาดล้างข้าศึกด้วยตนเองจนเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ ผบ.พัน. เสียชีวิตร่วมกับทหารอีกหลายนาย ข้าศึกไม่ลดละในการรุกไล่เข้าสู่สถานที่ตั้งหวังยึดเนิน CW ให้ได้

เมื่อเห็นว่าสุดความสามารถที่จะรักษาพื้นที่แห่งนั้นไว้ได้ กองพันทหารเสือพราน บีซี 617 ได้ขอถอนตัวเข้าสู่เมืองล่องแจ้ง

หน่วยเหนือเห็นว่า เมื่อข้าศึกยึดเนิน CW ได้แล้ว ย่อมเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทุกพื้นที่ในเมืองล่องแจ้ง เพราะเป็นเนินสูงข่มที่สูงที่สุด เหมาะแก่การตั้งฐานยิงจรวดสู่เป้าหมายได้ทั่วบริเวณ จำต้องยึดเนินดังกล่าวคืนให้เร็ว

จึงต้องขอกำลังทหารเสือพรานจากทางภาคใต้ของลาวคือ กองพันทหารเสือพราน บีซี 601 602 613 และ 614 เข้ามาเสริมกำลัง

เมื่อเดินทางมาถึง กองพันทหารเสือพราน บีซี 601 และ 602 ได้ร่วมกันเข้าโจมตีเนินสกายไลน์อย่างต่อเนื่องหลายวันแต่ไม่สามารถตีฝ่าแนวยิงอันหนาแน่นเข้าไปได้ ฝ่ายเราจึงต้องใช้การโจมตีด้วยเครื่องบิน B-52 ตลอดคืน เมื่อเห็นว่าข้าศึกอ่อนกำลังเต็มที่แล้ว ทั้ง 2 กองพันร่วมกับทหารกองทัพแห่งชาติลาวจึงบุกยึดคืนได้สำเร็จ ป้องกันรักษาเนิน CW ไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง

เป็นการรักษาเมืองล่องแจ้งและบริเวณโดยรอบให้ปลอดภัยจากการคุกคาม

 

ปลายมกราคม 2515

กองพันทหารเสือพรานซึ่งถอนกำลังจากทุ่งไหหินและได้รับการปรับกำลังใหม่จากค่ายฝึกน้ำพอง ขอนแก่น เพื่อทดแทนกำลังพลที่สูญเสีย ได้แก่ พัน. ทสพ. 603 604 606 607 608 609 และ 610 เริ่มทยอยกลับเข้ามาปฏิบัติงาน

โดยวางแนวตั้งรับรอบล่องแจ้ง และพยายามเข้ายึดเนินสำคัญบนสกายไลน์ทีละจุดโดยรอบ

ในการเข้ายึดภูมิประเทศสําคัญครั้งนี้ ฝ่ายเราต้องสูญเสีย “สุมน” ผบ.พัน. ทสพ. 608 และ “ฉัตรธาร” นายทหารกำลังพล

แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ล่องแจ้งเริ่มผ่อนคลายลงเป็นอันมากเนื่องจากเรามีจำนวนกำลังพลที่ทัดเทียมกับข้าศึก

ฝ่ายเราเริ่มมั่นใจว่าจะรักษาล่องแจ้งไว้ได้อย่างแน่นอน จึงพยายามผลักดันข้าศึกออกไปได้เรื่อยๆ จนกระทั่งข้าศึกไม่สามารถใช้อาวุธหนักคุกคามล่องแจ้งได้ในที่สุด

และเมื่อถึงฤดูฝน ฝ่ายเราคงสามารถรุกไล่ข้าศึกออกไปจนสามารถกลับเข้ายึดทุ่งไหหินคืนได้ในที่สุด

 

ภาพรวมจากซีไอเอ

บันทึกของเจมส์ อี. ปาร์เกอร์ จูเนียร์ สรุปว่า…

เอกสารที่ยึดได้จากศพทหารเวียดนามเหนือรวมทั้งการสอบปากคำจากเชลยศึก ระบุชัดเจนว่าฝ่ายเวียดนามเหนือวางแผนจะยึดล่องแจ้งให้ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2515 หรืออย่างช้าไม่เกิน 30 มกราคม ขณะที่วิทยุกระจายเสียงลาวฝ่ายซ้ายและหนังสือพิมพ์เวียดนามเหนือรายงานว่าล่องแจ้งแตกตั้งแต่ 12 มกราคมนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง

ภารกิจสุดท้ายที่กำหนดไว้ใน “CAMPAIGN Z” ของเวียดนามเหนือในการยึดล่องแจ้งยังไม่สำเร็จ ด้วยสาเหตุสำคัญดังนี้

1. ตามแผนเดิม กรม 165 ของพันเอกเหงียน ชวง ซึ่งเป็นกำลังหลักในการเข้าตี จะใช้เวลา 4 วันในการปิดล้อมบีซี 609 ที่ภูเทิง เพื่อสร้างความบอบช้ำแก่ที่หมายแล้วจึงเข้าตี แต่เมื่อทราบว่าฝ่ายไทยมีการเพิ่มเติมกำลังรวมทั้งเชื่อมั่นว่าสภาพลมฟ้าอากาศจะเป็นอุปสรรคในการโจมตีทางอากาศของฝ่ายเรา จึงตัดสินใจเปลี่ยนแผนเป็นเข้าตีทันทีขณะที่ทหารไทยยังคงไม่บอบช้ำและอยู่ในที่สูงข่มจึงสามารถป้องกันที่ตั้งได้อย่างเข้มแข็ง บวกกับการยิงทำลายของทหารปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศที่ได้ผล ทหารเวียดนามเหนือจึงประสบความสูญเสียอย่างหนัก

2. หลังจากยึดที่หมาย บีซี 609 ได้แล้ว กรม 165 ยังได้รับมอบภารกิจต่อเนื่องให้เข้าตีสกายไลน์ผ่านภูผาไซโดยทันทีและต้องใช้เวลาอีกถึง 4 วันในการปีนขึ้นที่สูง โดยบางหน่วยต้องเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่ภูมิประเทศยากลำบากซึ่งไม่มีเส้นทางเดินและไม่มีการส่งกำลังเพิ่มเติมทั้งน้ำดื่มและอาหาร ทำให้ทหารเวียดนามเหนือต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนแรงเมื่อถึงกำหนดเส้นตายกลางเดือนมกราคม

3. การเคลื่อนย้ายเสบียงและกระสุนในการเริ่มต้นการเข้าตีขั้นที่ 2 ต่อที่หมายบนสกายไลน์ ฝ่ายเวียดนามเหนือทำได้เพียงการแบกหามด้วยแรงคนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดเส้นตาย 14 มกราคม การส่งกำลังบำรุงจึงเป็นปัญหาสำคัญ ดังที่นายพลเหงียน ฮู อัน บันทึกไว้ว่า

“การเดินด้วยเท้าจากทุ่งไหหินไปล่องแจ้งใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 8 วัน การส่งกำลังบำรุงเพื่อปฏิบัติการขั้นต่อไปกระทำด้วยการแบกหามของทหารเท่านั้น แต่ละหน่วยที่เข้าปฏิบัติการต้องรับผิดชอบสิ่งอุปกรณ์และการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมของตนเอง เนื่องจากระยะทางที่ไกล หากการสู้รบยืดเยื้อเกินกว่า 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นแล้ว ทุกหน่วยจะไม่มีทั้งอาหารและกระสุน ส่งผลให้แผนปฏิบัติการทั้งปวงจะต้องสะดุดลง นอกจากนั้น ฝ่ายเราคาดไม่ถึงว่าข้าศึกจะสามารถต้านทานได้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเมื่อเริ่มเข้าตี ข้าศึกต่างตื่นตระหนกและแตกหนีไม่แตกต่างจากเศษไม้ในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก”

4. การมอบอำนาจสั่งใช้ B-52 ให้กองบัญชาการล่องแจ้ง จนนำไปสู่การทิ้งระเบิดอย่างได้ผลเมื่อวันที่ 5 มกราคม ทำให้กำลังฝ่ายเวียดนามเหนือต้องสูญเสียอย่างหนัก

5. กำลังทหารเสือพรานไทยได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นนักสู้ที่ทรหด ทั้งไทยและม้งต่างมีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูง มุ่งมั่นยืนหยัดในการป้องกันที่มั่นบนแนวสกายไลน์ ทหารไทยมีประสิทธิภาพในการรบสูง ขณะที่ทหารม้งก็สู้แบบหลังชนฝา “พวกเขาเหมือนต่อสู้กับศัตรูเวียดนามเหนือที่อยู่ข้างหน้า ขณะที่ครอบครัวของเขาอยู่ด้านหลัง”

6. CASE OFFICER ซีไอเอ ประจำกองพัน ก็มีส่วนอย่างสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารไทยแม้สถานการณ์จะคับขันและสามารถละทิ้งเอาตัวรอดได้ ทำให้ทหารไทยและทหารม้งเชื่อมั่นว่าอเมริกาจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา

7. ยังมีรายงานของฝ่ายเวียดนามเหนือถึงสาเหตุที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เมื่อวันที่ 14 มกราคม อีกดังนี้

“การเข้าตีของกองพล 316 และกรม 165 ของกองพล 312 เพื่อเข้ายึดเนิน 1516 (ตะวันตกของภูหมอก) และการเข้าตีของกรม 141 กองพล 312 เมื่อ 13 มกราคม ขาดการประสานที่แน่นแฟ้นทั้งเวลาออกตี รวมทั้งที่หมายในการเข้าตีที่ชัดเจนจากหน่วยเข้าตีที่มีหลายหน่วย ทำให้ไม่สามารถผสมผสานอำนาจกำลังรบในการเข้าตีล่องแจ้งให้เป็นเอกภาพได้”

 

กุมภาพันธ์ 2515

จากการที่ฝ่ายเวียดนามเหนือต้องประสบความสูญเสียอย่างไม่คาดคิดในช่วงการรบที่ผ่านมาทำให้ภารกิจยึดล่องแจ้งให้ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2515 ต้องล้มเหลว แต่กระนั้นก็ยังดำรงความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ใน “CAMPAING Z” เพื่อยึดล่องแจ้งให้ได้ จึงนำไปสู่การปรับแผนการปฏิบัติและกำลังรบเสียใหม่

สถานการณ์ฝ่ายเราดีขึ้นแต่ใกล้เทศกาลตรุษญวน นายพลวังเปาเกรงว่าข้าศึกจะเร่งรุกใหญ่ในพื้นที่ซำทอง-ล่องแจ้ง จึงชิงความได้เปรียบเป็นฝ่ายเริ่มรุกก่อน โดยจัดกำลัง ทชล.2 เข้าสกัดเส้นทางถอยและตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของข้าศึกที่บริเวณทุ่งไหหิน โดยตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านป่าดงแล้วส่งกำลังขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ

การรุกเป็นไปโดยง่ายดาย ไม่มีการต้านทานของข้าศึก สามารถเข้าถึงเชิงภูผาไซ ยึดที่มั่นบนภูหลวงได้และนำปืนใหญ่ขนาด 105 ม.ม. ขึ้นไปตั้งยิง 1 กระบอก ณ ที่ตั้งฐานยิงคอบร้าเดิม กำหนดที่หมายที่จะเข้ากวาดล้างขั้นต่อไปคือ ภูเซอ ภูเทิง และเมืองเชียงขวาง

กำลังของ ทชล.2 สามารถรุกคืบหน้าไปเกือบถึงเมืองเชียงขวาง แต่ข้าศึกได้ถอนกำลังบางส่วนของกรม 174 จากพื้นที่ซำทองไปรวมกำลังตีโต้ตอบจน ทชล.2 ต้องถอนกำลังกลับมาที่บ้านป่าดง

และในขณะที่ ทชล.2 ปฏิบัติการรุกในทุ่งไหหินนั้น กองกำลัง ทสพ.ก็ยังคงปฏิบัติการลาดตระเวนค้นหาข้าศึกในพื้นที่ซำทอง-ล่องแจ้งต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อหาข่าวว่าจะมีข้าศึกอยู่ที่ใดบ้างและมีกำลังเท่าใด

 

8 กุมภาพันธ์

เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น

พัน. ทสพ.601 และ 602 ซึ่งได้เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวในพื้นที่นี้ก็เดินทางกลับไปปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ทางใต้ของลาว

ซึ่งเริ่มรุนแรงขึ้นต่อไปตามเดิม

12 กุมภาพันธ์

“ภู

สิน” บันทึกสารที่ “แสน” ผบ.ฉก.วีพี มีถึงทหารเสือพรานทุกคน ดังนี้

“จากการประมวลการปฏิบัติของข้าศึกในระยะตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2515 จนถึงเทศกาลตรุษญวน ปรากฏว่าพฤติกรรมต่างๆ ของข้าศึกบ่งให้เห็นว่าขณะนี้ฝ่ายข้าศึกอ่อนกำลังลงและขวัญตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด อาวุธยุทโธปกรณ์และเสบียงอาหารขาดแคลนจนถึงกับต้องแย่งชิงและซุกซ่อนเสบียงและกระสุนกันอยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะถูกฝ่ายเราได้ระดมโจมตีทางอากาศและยิงด้วยปืนใหญ่อย่างรุนแรงและได้ผล อีกทั้งยังถูกตลบหลังตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุง ทำให้ข้าศึกต้องระส่ำระสาย ไม่สามารถรวบรวมและสะสมกำลังเพื่อทำการรุกใหญ่ได้ นอกจากจะเข้าตีประปรายเท่านั้น”

“และการเข้าตีแต่ละครั้งก็มีสิ่งบอกเหตุว่า ข้าศึกกระทำด้วยความจำใจ มิได้มุ่งหวังที่จะเอาชนะ แต่หากว่ากระทำเพื่อหลีกเลี่ยงจากปากกระบอกปืนที่จี้อยู่ข้างหลัง จึงจำต้องซมซานไปตายเอาดาบหน้า ดังเช่นเมื่อครั้งข้าศึกเข้าตีซำทองเมื่อระหว่าง 12-13 กุมภาพันธ์ ข้าศึกต้องสูญเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายทหารชั้นผู้บังคับบัญชาอีกหลายคนและทิ้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไว้เรี่ยราดรอบๆ บริเวณเป็นจำนวนมาก”

“แต่อย่างไรก็ตาม ข้าศึกคงจะพยายามดิ้นรนเข้าเผชิญชะตากรรมครั้งสุดท้ายเพื่อการอยู่รอดก่อนที่จะถอยหนีไป ข้าพเจ้าจึงใคร่จะขอให้ทหารหาญของเราทุกคนจงได้ร่วมมือร่วมใจใช้ความเข้มแข็ง อดทน เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ เตรียมพร้อมไว้เพื่อยืนหยัดต่อศัตรู เพื่อที่จะขับไล่พวกมันแตกกระจัดกระจายพินาศกลับไปดังเช่นที่ได้เคยกระทำมา”

12 กุมภาพันธ์ ซำทองยังไม่ปลอดภัย

ข้

าศึกโจมตีหน่วยระดับกองร้อยของบีซี 606 ที่ตั้งอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของซำทองด้วยอาวุธหนักและเข้าตีด้วยกำลังทหารราบตั้งแต่กลางคืนหลายระลอก

ฝ่ายเรามีปืนใหญ่ของ ทชล.2 ที่ฐานธันเดอร์แต่ไม่สามารถสนับสนุนบีซี 606 ได้เท่าที่ควร ต้องใช้ปืนใหญ่จากฐานยิงแคนเดิลยิงสนับสนุนให้แทบทั้งคืน

รักษาราชการแทน ผบ.พัน. บีซี 607 จึงสั่งการให้บีซี 607 ช่วยยิงสนับสนุนบีซี 606 เพิ่มเติม

ซึ่งนับว่ามีส่วนช่วยให้บีซี 606 สามารถยืนหยัดตั้งรับอยู่ได้จนถึงรุ่งสว่างของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จึงได้รับการยิงสนับสนุนจากอาวุธทางอากาศ

ปรากฏว่าข้าศึกต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักและต้องถอนตัวในที่สุด

การที่บีซี 606 สามารถตั้งรับต้านทานการเข้าตีในครั้งนี้ยังเป็นสิ่งบอกเหตุว่า ข้าศึกได้อ่อนกำลังลงและสูญเสียน้ำหนักในการเข้าตีแล้ว

ขณะที่ฝ่ายเรายังต้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในเรื่องการปฏิบัติการเชิงรุก การลาดตระเวนหาข่าว และการยิงสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ปืนใหญ่ของฝ่ายเราในกรณีเร่งด่วน