ความคิดคนรุ่นใหม่ ในเรียงความฉลองวันชาติ 2482/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ความคิดคนรุ่นใหม่

ในเรียงความฉลองวันชาติ 2482

 

“เมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองและไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ พลเมืองไม่รู้ว่าตนมีสิทธิและหน้าที่อย่างไร โดยมากมีแต่หน้าที่ทั้งนั้น พลเมืองไม่มีสิทธิและไม่มีเสียงในทางการเมือง ไม่มีโอกาสได้รู้เห็นในการปกครองของประเทศ ในระหว่างพลเมืองด้วยกันขาดความเสมอภาค โดยถูกแบ่งแยกออกเป็นชั้นๆ ส่วนเสรีภาพของพลเมืองก็เกือบไม่มีเสียเลย สมัยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญคนไทยทุกคนหามีฐานะเป็นพลเมืองโดยพร้อมมูลไม่”

(บุญเรือน เกิดศิริ, 2482, 37)

 

ในวาระปี 2565 เป็นปีครบรอบ 90 ปีของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 จึงขอนำเสนอชุดบทความที่เกี่ยวเนื่องร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์นี้

เมื่อปี 2482 วันที่ 24 มิถุนายน ถูกประกาศให้เป็น “วันชาติ” เหตุผลสำคัญของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาในการประกาศให้วันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นวันชาตินั้น เนื่องจากรัฐบาลคณะราษฎรต้องการให้พลเมืองมีความภาคภูมิใจในฐานะเจ้าของประเทศและผลักดันความหมายของวันที่ 24 มิถุนายนไม่ใช่แต่เพียงการรำลึกถึงวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบอัตตาธิปไตยมาเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความก้าวหน้าของประชาชาติอันทำให้ทุกคนในชาติมีความยินดีร่วมกัน (ณัฐกมล ไชยสุวรรณ, 2559, 159)

ภายหลังที่คณะราษฎรสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองให้กับระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มอนุรักษนิยมลงได้แล้ว ผนวกกับการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่รัฐบาลครั้งระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เคยลงนามกับมหาอำนาจในสมัยสนธิสัญญาเบาว์ริ่งได้สำเร็จอันเป็นผลงานสำคัญของคณะราษฎรที่บรรลุหลักการเอกราช ตามหลัก 6 ประการ ประหนึ่งการประกาศเอกราชเมื่อไทยได้เอกราชทางศาลกลับคืนมา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2551, 197)

ต่อมารัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงเสนอให้ฉลองการแก้ไขสนธิสัญญาในงานวันชาตินั้นด้วย พร้อมมีการเฉลิมฉลองมหรสพตามที่ชุมชนในพระนคร มีกิจกรรมขบวนแห่ ประกวดเพลงบทกวี เรียงความ ภาพโฆษณา และดอกไม้ไฟ การเรียกประชุมนักเรียนทุกจังหวัดในวันชาติและพิธีเจิมต้นฉบับสนธิสัญญา การสร้างบ่อน้ำให้ประชาชนได้อุปโภคบริโภคน้ำสะอาด รวมทั้งโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้น เป็นต้น

สมุดภาพฉลองงานวันชาติ และรายงานการสร้างบ่อน้ำแก่ประชาชนในงานวันชาติ

“งานฉลองงานวันชาติและสนธิสัญญา” ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2482 กรมโฆษณาการจัดประกวดเรียงความ เปิดให้นักเรียนและนักศึกษาทั่วไปส่งเรียงความในหัวเรื่อง “วันชาติและสนธิสัญญาให้ประโยชน์แก่ชาติอย่างไร?” เป็นความเรียงยาวไม่เกิน 10 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป รางวัลที่ 1 และ 2 มีเงินรางวัลให้ รางวัลละ 100 บาท

กรรมการตัดสินเรียงความประกอบด้วย ดร.เดือน บุนนาค หลวงสิทธิสยามการ พระยาประมวลวิชาพูล พระยาอนุมานราชธน พ.ต.อัมพร ศรีไชยันต์ พระราชธรรมนิเทศ เชื้อพิทักษ์สาคร สัญญา ธรรมศักดิ์ ดร.ทวี ตะเวทิกุล สมประสงค์ หงสนันท์

ผลการประกวดปีแรก บุญเรือน เกิดศิริ นักศึกษาปริญญาโทนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้รางวัลในปีนั้น

บุญเรือนบรรยายว่า

“ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ประเทศไทยมีการปกครองชะนิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวคือเป็นการปกครองซึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเด็ดขาด ไม่ทรงอยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายใดใดๆ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ได้ทรงพระราชอำนาจสิทธิขาดในการปกครองบ้านเมืองโดยลำพังแต่พระองค์เดียว ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็นอำนาจต่างๆ…” เขาเสริมว่า “การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นของเก่าล้าสมัย แม้นานาประเทศก็เลิกใช้วิธีการปกครองนี้เสียสิ้น ทั้งมีความเห็นว่า การให้บุคคลแต่คนเดียวหรือหมู่คณะเดียวมีอำนาจการปกครองประเทศอย่างเด็ดขาดอาจมีการผิดพลาดและทำให้ประเทศล้าหลังไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร” (บุญเรือน, 2482, 22-23)

เมื่อความล้าหลังเป็นอุปสรรคขัดขวางความก้าวหน้าของชาติ ดังนั้น “เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ได้มีบุคคลคณะหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทั้งทหาร พลเรือนและราษฎร บุคคลนี้ได้ยอมสละชีวิตและร่างกายเข้าเสี่ยงภัยทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เขาเห็นว่า คำว่า ชาติ เป็นสำนึกใหม่ที่เกิดขึ้น อันมีความหมายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ชาติตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยความเสียสละ อำนาจการปกครองสูงสุดของชาติเรียกอำนาจอธิปไตย (บุญเรือน, 2482, 20-34)

รถแห่หลัก 6 ประการ

ภายหลังปฏิวัติแล้ว คณะราษฎรประกาศหลัก 6 ประการอันเป็นแนวทางการบริหารประเทศ ดังนี้ หลักเอกราช เขาเห็นว่า รัฐบาลรักษาเอกราชไว้ด้วยการบำรุงการทหารหลายประการ เช่น มีอาวุธใหม่ๆ ตั้งโรงเรียนนายสิบทหารบก โรงเรียนรบ ส่วนพลทหารในช่วงนั้นมาจากการสมัครเป็นทหารจำนวนมากจนทำให้ทางการออกหนังสือขอบคุณคนหนุ่มทั้งหลาย รัฐบาลเตรียมกำลังสำรองด้วยการตั้งกรมยุวชนทหารเพื่ออบรมยุวชนทหารให้มีความรู้การทหารและยุวนารีให้รู้วิชาการพยาบาล มีการซ้อมป้องกันภัยทางอากาศให้ประชาชน มีการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไทยเคยทำกับนานาชาติจนไทยได้เอกราชอันสมบูรณ์กลับมา

หลักความสงบภายในนั้น รัฐบาลได้ปราบปรามโจรผู้ร้าย ปรับปรุงกิจการตำรวจ อัยการ ให้มีอาวุธและเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ มีการเปลี่ยนแนวคิดการราชทัณฑ์ใหม่ จากเดิมที่ทัณฑกรรมคือ การเก็บอาชญากร เปลี่ยนเป็นสถานที่ที่อบรมและฝึกวิชาชีพอันเป็นการสงเคราะห์ผู้ต้องโทษไม่ให้หวนกลับมากระทำความผิดอีก ซึ่งเป็นความคิดที่ก้าวหน้าและเคารพสิทธิของผู้คนเป็นอันมาก

สำหรับหลักเศรษฐกิจ รัฐบาลทะนุบำรุงอาชีพและอบรมอาชีพให้กับพลเมือง รวมทั้งการคุ้มครองอาชีพ การขยายสหกรณ์ สร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นหลายแห่ง

หลักเสมอภาคนั้น เขาเขียนถึงระบอบการปกครองใหม่อย่างแจ่มชัดว่า “ตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักปกครองประเทศมาจนบัดนี้ รัฐธรรมนูญได้แสดงและรับรู้สิทธิและหน้าที่ของประชาชนพลเมืองไว้แจ้งชัด ทำลายเครื่องกีดกั้นที่แบ่งชั้นระหว่างบุคคลเสียสิ้นเชิง ไม่ต้องการให้มีบ่าว มีไพร่ มีข้า แต่ต้องการให้ทุกคนเป็นพลเมืองโดยแท้จริง” (บุญเรือน, 2482, 38)

หลักเสรีภาพ “ตามหลักนี้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ราษฎรทุกคนมีเสรีภาพในร่างกาย, เคหสถาน, การอาชีพ, ทรัพย์สิน, การถือศาสนา, การประชุมและการสมาคม, การพูด การเขียนและการโฆษณา ตลอดจนเสรีภาพในการศึกษาอบรม” และหลักการศึกษา รัฐบาลจัดการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนไปอย่างถ้วนทั่ว จัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จัดให้มีอาชีวศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่ให้สามารถอ่านออกเขียนได้ (บุญเรือน, 2482, 39)

เขาสรุปว่า วันชาติ 24 มิถุนายน เป็นวันมงคลที่ไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปฐมของความเป็นมิ่งขวัญและหลักชัยของชาติ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทุกคนได้รับสิทธิและความเสมอภาค ทำให้ชาติมีความก้าวหน้า มีเอกราชและมีความวัฒนาอันสมบูรณ์ นี่คือความรู้สึกแห่งยุคสมัยของคนหนุ่มในครั้งนั้น

ภายในโรงเจิมสนธิสัญญา เมื่อ 24 มิถุนายน 2482
ประชาชนมาร่วมงานวันชาติในปี 2482