‘คำตอบ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘คำตอบ’

 

ทํางานกับสัตว์ป่า โดยเฉพาะยิ่งถ้ามีสัตว์บางชนิดเป็นเป้าหมายในการเฝ้ารอ ผมยอมรับสภาพว่า จะไม่ได้เป็นผู้กำหนดเวลา ตอบใครๆ ไม่ได้หรอกว่า เมื่อไหร่จะออกจากป่า หรือเมื่อไหร่งานจะเสร็จ

สัตว์หลายชนิดมีอาณาเขตแน่นอน เช่น เสือ รู้พื้นที่ รู้อาณาเขต พบเจอร่องรอยหรือรอยตีนใหม่ๆ นั่นทำให้รู้ว่า มันมาที่นี่และผ่านไปแล้ว อาจใช้เวลาราวๆ 20 วัน มันจึงจะวนกลับมาที่นี่

นักวิจัยที่ติดตามเสืออย่างละเอียดพบว่าการเดินของเสือโคร่งตัวผู้ คือการเดินเพื่อตรวจตราพื้นที่ที่ครอบครอง ส่วนตัวเมีย การเดินมักเป็นไปในเรื่องการหาอาหาร

แม้แต่สัตว์ที่ไม่มีอาณาเขตชัดเจน การเดินทาง แหล่งอาหารจะเป็นตัวกำหนดว่าจะไปที่ไหน อย่างเช่นสมเสร็จ

พบรอยตีนใหม่ๆ ก็รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่ามันจะกลับมา

แต่ถ้าเป็นสัตว์กินพืช อย่างกระทิง, วัวแดง พบรอยตีนใหม่แถวๆ แหล่งอาหารนั้นน่ายินดี เพราะพวกมันจะวนเวียนอยู่ในบริเวณนี้สักพัก โอกาสที่เรียกว่า พวกมันจะอนุญาตให้พบ ก็มีมาก

ทำงานในป่า สัตว์ป่าเป็นผู้กำหนดเวลา ผมบอกใครๆ อย่างแน่นอนไม่ได้ว่า เมื่อไหร่จะออกจากป่า เช่นเดียวกับไม่รู้เลยว่า จะได้พบกับสิ่งที่เฝ้ารอหรือไม่…

 

แคมป์ริมลำห้วย เป็นทำเลที่ตลิ่งค่อนข้างชัน ซึ่งเป็นข้อดี เพราะหากเป็นช่วงฝนตกหนัก การอยู่ริมน้ำในบริเวณนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะสายน้ำหลากล้นมาได้ทุกเมื่อ

หลายปีก่อน ที่นี่เป็นแคมป์ร่มรื่น แต่ถึงวันนี้ต้นไม้ริมฝั่งถูกสายน้ำเซาะตลิ่งพัดพาไปหลายต้น ช่วงบ่ายๆ ที่นี่จึงค่อนข้างร้อนอบอ้าว แดดแรงจัด หลัง 6 โมงเย็นนั่นแหละ อากาศจะเริ่มเย็น และเย็นยะเยือกในช่วงดึกๆ จนถึงรุ่งเช้า

ทุกวันผมเดินไป-กลับในระยะทางราว 5 กิโลเมตร อาทิตย์ที่ผ่านมามีรอยตีนเสือโคร่งตัวเมียและลูกที่อายุยังไม่ครบสองปี แอ่งน้ำเล็กๆ ในโป่งนั้น เป็นที่เหมาะสมกับการมาใช้ของเสือ

แคมป์ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูง ลำห้วยคดเคี้ยว หาดทรายกว้าง คืนข้างแรม ดาวส่องประกายระยิบ และดวงจันทร์กลมโตทอแสงนวลในคืนข้างขึ้น

บางคืนช้างส่งเสียงอยู่ไกลๆ บางครั้งเหมือนกำลังเกรี้ยวกราด เป็นไปได้ว่าหงุดหงิดกับเสือที่ตามไม่ห่าง

เป้าหมายของเสือเป็นเจ้าตัวเล็กที่แม่และพี่เลี้ยงปกป้องอย่างเข้มแข็ง

 

ห่างจากแคมป์ไม่ไกล ที่นั่นเคยเป็นแคมป์ถาวรของทีมศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก พวกเขาศึกษาการเจาะโพรงต้นไม้ของนกหัวขวาน และโพรงนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเป็นโพรงที่นกเงือกใช้เพื่อวางไข่เลี้ยงลูก

เป็นตัวอย่างชัดเจนว่า ทุกชีวิตในป่าเกี่ยวข้องกัน อยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัย

นอกจากนั้น นักวิจัยติดตามนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ด้วยการติดวิทยุเพื่อศึกษาการใช้พื้นที่ของพวกมัน มีข้อมูลอันน่าตื่นตา พวกเขาพบว่า นกเงือกชนิดนี้ เดินทางไปถึงป่าประเทศมาเลเซีย และกลับมาที่นี่ในช่วงวางไข่

แน่นอนว่าตลอดระยะทางอันยาวไกล พวกมันได้ทำหน้าที่แพร่กระจายพันธุ์ไม้ได้อย่างเป็นผล

 

แคมป์นั้นไม่มีแล้ว ไทรต้นใหญ่ล้มเพราะสายน้ำ คนที่ไม่เคยรู้ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่นี่เคยเป็นแคมป์ที่มีคนอยู่ตลอดเส้นทาง มาที่นี่บางช่วงจึงค่อนข้างรกทึบ กอไผ่หนามที่ช้างดึงลงมากองไว้บนทาง นั่นคืออุปสรรคหนึ่ง บางช่วงที่แนบชิดลำห้วยก็โดนสายน้ำแรงๆ พัดดินมาทับถม

เดินทางมาที่นี่ ต้องทำทางไปด้วยคือเรื่องปกติ ติดหล่ม รถจม ก็เช่นเดียวกัน

หลายครั้งขณะติดหล่ม ที่รู้ว่าขึ้นจากหล่มนี้ ก็จะมีหล่มข้างหน้าที่ต้องติดอีก

เนื้อตัวมอมแมม ย่ำอยู่ในโคลน ผมยอมรับความจริง

หลายคนชีวิตไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เดินบนทางอันราบเรียบ


เก้ง – เก้งมีประสาทรับกลิ่นดี พวกมันจะตื่นหนีทันทีเมื่อได้กลิ่นผู้ล่า รวมทั้งกลิ่นคน

ผมเคยถามนักวิจัยเสือโคร่งว่า ทำงานนี้ไปทำไม

“เพื่อให้คนรู้ว่า ในป่ายังมีเสือ และให้คนเข้าใจถึงความจำเป็นที่ในป่าต้องมีเสือ” พวกเขาตอบ

เช่นเดียวกับนักวิจัยนกเงือก ที่ให้คำตอบคล้ายๆ กัน

แม้แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตร เป็นชุมชน แต่ในป่าเมืองไทยยังเป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่งมากเป็นอันดับสอง รองจากประเทศอินเดีย

ปัจจัยสำคัญของเสือคือ พวกมันต้องมีเหยื่อให้ล่า และที่สำคัญกว่านั้น การล่าต้องประสบผลสำเร็จ พวกมันจึงจะมีชีวิตต่อไปได้

คนจำนวนมากรู้ว่า ในป่าจำเป็นต้องมีเสือ รู้ถึงความสำคัญ แต่กระนั้นก็เถอะ มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เชื่อว่า เสือที่ดีคือเสือที่ตายแล้ว ซาก รวมทั้งอวัยวะนำไปเข้าเครื่องยา เป็นที่นิยม มีมูลค่าสูง

เรารู้แล้วว่า สัตว์ป่ากำลังเผชิญหน้าปัญหา แหล่งอาศัยเหลือเป็นหย่อมๆ สร้างปัญหามากมาย ทั้งในด้านพันธุกรรม และปัญหาการกระทบกระทั่งกับคน พวกมันต่างล้วนดำเนินชีวิตไปอย่างยากลำบาก

ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเดิมๆ คล้ายกับมีถนนสองเส้นขนานกันไป

มีผู้คนจำนวนมากเดินอยู่ทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งรู้ว่าในป่าจำเป็นต้องมีเสือ

อีกฝั่งเห็นความสำคัญเสือเช่นกัน แต่เป็นเสือที่ไร้วิญญาณ…

 

คืนข้างแรม ลำห้วยโล่งเตียน และอยู่ในตำแหน่งที่สูง ท้องฟ้าคล้ายจะกว้างกว่าเดิม ดาวส่องประกาย

ครั้งยังเยาว์วัย ในวันที่ไม่รู้ว่าเมื่อใดงานจะเสร็จ ผมแหงนหน้ามองความระยิบระยับ

ดูเหมือนว่า เวลาส่วนใหญ่ต้องอยู่บนเส้นทางกันดาร อาจมีใครเป็นผู้กำหนดให้เป็นแบบนี้

บางทีคำตอบอาจอยู่ในความระยิบระยับนั่น

 

ถึงวันนี้ วันที่ยืนดูความระยิบระยับในที่เดิม ผมรู้แล้วว่า ต้องก้มหน้าลงมองข้างในตัวเอง เพราะ “คำตอบ” มันอยู่ในนั้น

เส้นทางนี้ไม่ได้ยากลำบากหรือพิเศษกว่าเส้นทางอื่น อีกทั้งผมย่อมไม่ใช่คนแรกที่เดินบนเส้นทางนี้

ผมเลือกเส้นทางนี้เอง เลือกและยอมรับว่า ทางที่เลือกนี้ทุรกันดาร •