กว่าจะถึง SCBX ตอนที่ 5 ยุควิชิต สุรพงษ์ชัย / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

กว่าจะถึง SCBX

ตอนที่ 5 ยุควิชิต สุรพงษ์ชัย

 

พัฒนาการธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนจะเป็น SCBX เป็นไปอย่างซับซ้อน

เป็นยุคเฉลิมฉลองศตวรรษธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย โดยได้จัดทำหนังสือชุด 100 ปี อย่างตั้งใจ ทั้งฉบับภาษาไทย “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์” (2550) เรียบเรียงโดยนวพร เรืองสกุล และฉบับภาษาอังกฤษ “Century of Growth” (2007) Text by Stephen Lowy (EDITIONS DIDERS MILLET, Singapore)

จึงน่าสนใจไม่น้อย หนังสือข้างต้น เชื่อว่าอยู่ภายใต้การกำกับอย่างเข้มงวด จะอรรถาธิบายยุคตนเองไว้อย่างไร

เมื่อพ้นงานฉลองศตวรรษไทยพาณิชย์ (2449-2559) มีการปรับเปลี่ยนผู้นำองค์กรอีกครั้ง ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการ (2541-2550) ลาออก โดยอานันท์ ปันายารชุน เข้ารับตำแหน่งแทน (2550-2562) และจากชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ (2542-2550) มาเป็นกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วงต่อมา (2550-2558)

ถือกันว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น เป็นการก้าวเข้าสู่ยุค ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย อย่างแท้จริง

 

เมื่อย้อนกลับไปช่วง 7-8 ปีก่อนหน้านั้น (2542-2550) ช่วงเวลา ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ทำงานร่วมกับชฎา วัฒนศิริธรรม ด้วยทั้งสองมีภูมิหลังและที่มาแตกต่างกันมาก จึงเป็นช่วงแห่งการปรับตัวที่น่าสนใจไม่น้อย

อย่างที่ทราบ ชฏา วัฒนศิริธรรม มาจากโมเดลคลาสสิค มีภูมิหลังที่เชื่อมโยงธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยนามสกุลเดิม-กฤษณามะระ บุคคลสำคัญในตระกูลมีบทบาทเกี่ยวกับธนาคาร ตั้งแต่ยุคก่อตั้ง จนถึงอีกคนเป็นผู้บริหารที่ยาวนาน

ที่สำคัญ ชฏา วัฒนศิริธรรม มีประสบการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ปี 2510-2518) เข้ามาธนาคารไทยพาณิชย์ มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กรเก่าที่อนุรักษนิยม ไปสู่องค์กรธุรกิจแบบใหม่ ผ่านผู้นำหลายคน จากประจิตร์ ยศสุนทร ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และโอฬาร ไชยประวัติ เป็นช่วงเวลาธนาคารไทยพาณิชย์ดำเนินธุรกิจเชิงรุกมาก และมากขึ้น เป็นโมเมนตัม หรือแรงเหวี่ยงให้ช่วงท้ายๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกินพอดี

สำหรับบทบาทชฎา วัฒนศิริธรรม ในไทยพาณิชย์ เป็นไปอย่างมีจังหวะจะโคน ดูไม่หวือหวา ด้วยดูแลการวางเครือข่ายธนาคารในต่างประเทศ และลูกค้าที่เป็นสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกิจการร่วมทุน หรือกิจการต่างประเทศในประเทศไทย

จึงว่ากันว่า ชฏา วัฒนศิริธรรม ผู้จัดการใหญ่ไทยพาณิชย์ช่วงเปลี่ยนผ่าน สามารถทำงานเข้ากันกับประธานกรรมการบริหารที่มีมาอย่างแตกต่างได้ ทั้งชุมพล ณ ลำเลียง และ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย

 

อย่างที่เคยว่าไว้ ในที่สุดได้ก้าวสู่อีกยุค “ยุคผู้นำซึ่งไม่ได้มาจากโมเดล และสายสัมพันธ์ดั้งเดิม” ปลายปี 2542 (10 ธันวาคม) ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เข้ามาเป็นประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้ประสบการณ์บริหารอันเข้มข้น “ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย มีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารกรุงเทพเกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนหันเหสู่ตำแหน่งการเมือง เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในช่วงสั้นๆ จากนั้นเข้ามาวงการเดิม ในวงจรการแก้ปัญหาระบบธนาคารไทยอันเป็นผลพวงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ”

ในช่วงปี 2546 ผมมีโอกาสสนทนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวกับ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย พอสัมผัสซึ่งความตั้งใจ และแนวทางในการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์

เขาว่า แนวคิดเกี่ยวเกี่ยวกับ Change Program เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งก็ว่าได้ ด้วยบทสนทนาที่ว่า “…ต้องเปลี่ยนแนวคิด ทำธนาคารสมัยก่อนมันสบาย ลูกค้าต้องวิ่งเข้าไปหาเอง… ที่เห็นสร้างสำนักงานใหญ่โต ก็ไม่ใช่เพื่อให้ลูกค้า แต่เพราะต้องการความสะดวกสบาย แต่หลังจากนี้ไปความคิดนี้ต้องเปลี่ยนใหม่ ให้ยึดถือลูกค้าเป็นหลัก…”

แต่ก็ยังไม่ทำในทันที “ผมใช้เวลาจัดการเรื่องหนี้เกือบ 2 ปี กว่าจะเสร็จ…” ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียรายใหญ่ๆ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สำคัญคือ กรณีไอทีวี ซึ่งมีมูลหนี้ 8,000 ล้านบาท และกรณีบริษัทสยามสินธร มีมูลหนี้สูงถึง 10,000 ล้านบาท

เกี่ยวกับ Change Program ทำหนังสือชุด 100 ปี ทั้งสองเล่มข้างต้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ “จุดเปลี่ยนที่สำคัญมากสำหรับอนาคตธนาคารไทยพาณิชย์ …เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2544…” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”) คือการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการปรับปรุงธนาคาร (Change Program Steering Committee) โดย ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นประธาน และชฎา วัฒนศิริธรรม เป็นรองประธาน ทั้งนี้ ได้ว่าจ้าง McKinsey & Co. เป็นที่ปรึกษา โดยได้ใช้เวลา 12 สัปดาห์ในการศึกษาข้อมูลธนาคาร รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้บริหาร

ก่อนจะมีบทสรุปแนวทางธนาคารไทยพาณิชย์ ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Universal Banking

 

ขณะหนังสืออีกเล่ม (“Century of Growth”) กล่าวถึงเรื่อง “Focus in retail banking” อย่างเจาะจง ด้วยการมาของกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ มาเป็นกรรมการธนาคาร (ปี 2545) และดูแลธุรกิจเกี่ยวกับ retail banking ในฐานะอดีตผู้บริหารบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างที่เรียกกันว่า Fast-moving consumer goods (FMCG) ทั้งนี้ ได้อ้างบทสนทนากับกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ “จำได้ว่า ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย พูดว่า ถ้าคุณมีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจธนาคาร เราก็ไม่จ้าง”

หนังสือทั้งสองเล่ม สละพื้นที่พอสมควร ลงรายละเอียด Change Program ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ พอสรุปอย่างคร่าวๆ มากๆ ดังนี้ Change Program 1 “ปรับองค์กรและกระบวนการทำงาน กลุ่มธุรกิจ ทั้งให้บริการลูกค้ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อย” Change Program 2 “ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ กระบวนการทำงานและคุณภาพการให้บริการลูกค้า” จนมาถึง Change Program 3 อยู่ในช่วงปี 2549 ช่วงเวลาฉลองครบรอบศตวรรษ “มีเป้าหมายสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ธนาคารเติบโตอย่างรวดเร็ว”

พิจารณาจากดัชนีที่นำเสนอไว้หนังสือทั้งสองเล่ม ทำให้เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะการเติบโตของสินทรัพย์ จากกว่า 8 แสนล้านบาทในปี 2548 เป็นทะลุ 1 ล้านล้านบาทในปีถัดมา (2549)

 

ดัชนีว่าด้วยเติบโตทางธุรกิจอีกบางอย่างในปรากฏการณ์ Change Program น่าสนใจ ต่อมาได้กลายเป็นปัญหาอีกด้านที่สำคัญ นั่นคือการขยายของสาขาธนาคารดำเนินไปอย่างรวดเร็ว “ธนาคารมีกลยุทธ์ในการเป็นผู้นำด้านเครือข่าย จึงได้เปิดสาขาใหม่จำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2547…” (หนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”) จากเครือข่ายสาขา 473 แห่งในปี 2543 เพิ่มขึ้นค่อนข้างก้าวกระโดดเป็น 692 สาขาในปี 2538 จนถึงสิ้นปี 2549 มีเครือข่ายสาขามากถึง792 สาขา “ธนาคารมีเครือข่ายสาขา…มากที่สุดในประเทศไทย” เท่าที่มีข้อมูล จำนวนสาขาธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เพิ่มขึ้นตลอด อีกทศวรรษถัดมา (2559) จึงมีจำนวนสาขาที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ราวๆ 1,200 แห่ง

ทั้งนี้ ยังรวมถึงการเพิ่มจำนวนพนักงานด้วย “…มีการรับพนักงานจำนวนมากอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ.2547-2548 ธนาคารได้ตั้งศูนย์พัฒนาพนักงานธนกิจฝึกหัด ซึ่งสามารถฝึกอบรวมได้มากกว่าเดือนละ 100 คน” (อีกตอนในหนังสือ “100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์”)

จากจุดตั้งต้น Change Program ตั้งแต่ปี 2545 ตกผลึก พลิกแผนสู่แผนการที่เรียกว่า ‘Going Upside Down’ (กลับหัวตีลังกา) ในปี 2562 และล่าสุด (ปี 2564) ก้าวไปอีกยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ ไปยัง “ยานแม่” (Mothership) ใหม่ ภายใต้ชื่อ SCBX ได้ผลัดเปลี่ยนผู้บริหารถึง 3 คน จากชกา วัฒนศิริธรรม กรรณิกา ชลิตอาภรณ์ และอาทิตย์ นันทวิทยา ทั้งนี้ ถือว่าอยู่ในยุคเดียวที่มี ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นผู้นำอย่างแท้จริง

เป็นอีกยุคธนาคารไทยพาณิชย์ เดินทางมาไกลกว่า 2 ทศวรรษ จึงมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ •