E-DUANG : เรื่อง “เรือเหาะ” ไฉน “น้ำลอด” ใต้พื้นทราย

หากไม่มีความจำเป็นต้องปลดระวาง”เรือเหาะ”คงไม่เกิดอาการอื้ออึงขึ้นในวงการ”อากาศยาน”

หลายคนนึกถึง “น้ำลด”

ผลก็คือ เมื่อคำว่า “น้ำลด” เผยแสดงออกมาก็นำไปสู่อีกคำอันต่อเนื่อง

ตามสำนวนไทย “น้ำลด ตอผุด”

เป็นไปดังที่ “ท่านเทียนวรรณ” มิตรร่วมยุค กศร.กุหลาบ ซึ่งประพันธ์ออกมาเป็นกลอน

“คราวน้ำลดบทแล้งติดแก่งคา”

ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนาคพันธุ์)ไขว่า น้ำเวลาขึ้นเต็มฝั่งก็มองไม่เห็นตอที่อยู่ใต้น้ำ พอน้ำลดแห้งก็เห็นตอสะพรั่ง

ยิ่ง “ขอเวลานาน” ก็ยิ่งจะเห็น

 

ความสงสัยของผู้คนต่อกรณี”เรือเหาะ”ก็เหมือนกับกรณี “จีที 200” นั่นก็คือ เป็นเรื่องไร้ประโยชน์

เรือเหาะจึงเป็น “เรือเหี่ยว”

จีที 200 ค้นหาวัตถุระเบิด จึงมีสภาพเป็นเหมือนกับ “ไม้ล้างป่าช้า” ในสายตาชาวบ้าน

คล้ายกับเป็นเรื่อง “น้ำลอดใต้ทราย”

เป็นการเอาน้ำที่ไหลซึมอยู่ใต้ทรายมาเปรียบ คือ พื้นทรายถ้าถูกผิวข้างบนจะเห็นว่าแห้งผาก ไม่มีน้ำ แต่ถ้าขุดลึกลงไปจะเห็นมีน้ำซึมอยู่

แสดงว่า น้ำเดินซึมอยู่ข้างใต้พื้นทรายนั้น

น้ำลอดเลศลับล้ำ เหลือเข็ญ / ใต้ทรายห่อนแลเห็น เหตุรู้ / เดือนหงายบ่ายเที่ยงเป็น ปางค่ำ / กลางป่าไป่หาผู้ จักรู้เห็นฤา

ต่อเมื่อ “ขุด” จึงค่อย “ประจักษ์”

 

ไม่ว่าเรื่อง “เรือเหาะ” ไม่ว่าเรื่อง “จีที 200” ดำเนินไปในแบบแยกส่วน แต่ก็สัมพันธ์กัน

เพราะล้วนแต่มี “กลิ่น”

กลิ่นเหล่านี้จะโทษ “นักการเมือง” ก็ลำบาก เพราะว่าเกิดขึ้นจากสมองก้อนโตของผู้คนในแวดวง

แวดวงของ “ข้าราชการ”

ในเบื้องต้นอาจไม่ได้มีใครสงสัย แต่ผ่านไปนานเข้าก็เปิดเผยตัวเองออกมาให้ชาวบ้านได้เห็น

ได้กลิ่นจาก “เรือเหาะ” ได้กลิ่นจาก “ทีจี 200”