สุชีพ ปุญญานุภาพ : เสถียร โพธินันทะ

เรื่องนี้ต้องเริ่มต้นจาก สุชีพ ปุญญานุภาพ

“ที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข ด.ช.เสถียรได้มีโอกาสรู้จักกับเด็กชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของ สุชีโว ภิกขุ วัดกันมาตุยาราม

“เมื่อสอบได้มัธยมปีที่ 5 แล้ว ด.ช.เสถียรได้ติดต่อกับเพื่อนของตนผู้นี้ขอให้นำเข้าพบ สุชีโวภิกขุ และตั้งแต่นั้นมาก็ไปมาที่วัดกันมาตุยารามเป็นประจำ คือ มาเช้า กลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านแล้วกลับมาที่วัด

“ตอนเย็นกลับไปรับประทานอาหารที่บ้าน ต่อมาก็เลยเป็นศิษย์รับประทานอาหารกลางวันเสียที่วัดด้วย

“เมื่อ สุชีโว ภิกขุ มีกิจไปนอกวัด เช่น สวดมนต์หรือเทศน์ ก็เป็นศิษย์ถือพัด ถือคัมภีร์เทศน์ติดตามไปด้วยเป็นส่วนมาก”

สุชีโว ภิกขุ นั้นดังเป็นพลุแตกจากนวนิยายเรื่อง “ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์” และ “กองทัพธรรม”

การเข้าหา สุชีโว ภิกขุ ของ ด.ช.เสถียร กมลมาลย์ จึงเท่ากับเป็นการเข้าหา “ปราชญ์” ซึ่งรอบรู้ในพระพุทธศาสนา เท่ากับเป็นการย้ายจากการเรียนในโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุขมาเรียนกับ สุชีโว ภิกขุ ณ วัดกันมาตุยาราม

ยิ่งเห็นที่ สุชีพ ปุญญานุภาพ เขียนถึง ยิ่งมองเห็นภาพได้เด่นชัด

ย้อนกลับมากล่าวถึงเหตุการณ์ในวันแรกที่ นายเสถียร โพธินันทะ ไปที่วัดกันมาตุยาราม ได้ตั้งปัญหาถามเกี่ยวกับข้อความที่สำคัญในพระสูตรหลายสูตร

เช่น โปฏฐปาทสูตร ในทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค (พระไตรปิฎก เล่ม 9)

และอัคคัญญสูตร ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค (พระไตรปิฎก เล่ม 11)

ซึ่งได้ทำความแปลกใจให้แก่ผู้ถูกถามเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กอายุยังน้อย เหตุไฉนจึงมีความรู้ความสนใจในพระพุทธศาสนามากอย่างนั้น

ความรู้สึกประทับใจและเอ็นดูในเด็กชายผู้แสดงปรีชาสามารถให้ปรากฏในวันแรกที่ได้พบปะและรู้จักกันนั้น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ไปหาและผู้ต้อนรับทั้ง 2 มีความเกี่ยวข้องกันในทางส่วนตัวและในทางพระพุทธศาสนา

จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่ นายเสถียร โพธินันทะ ได้จากไป

กิจวัตรประจำวันของ นายเสถียร โพธินันทะ เมื่อไปถึงวัดภายหลังรับประทานอาหารเช้าจากที่บ้านไปแล้วก็คือ ตั้งปัญหาถามบ้าง แสดงความคิดเห็นของตนบ้างเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา

ทำหน้าที่เป็นเลขานุการเขียนตามคำบอกบทความทางพระพุทธศาสนาบ้าง เขียนตามคำบอกคำแปลจากบาลีพระไตรปิฎกบ้าง

และยิ่งมองเห็นภาพชัดขึ้นเมื่อ สุชีโว ภิกขุ แนะนำ ใน “ธรรมจักษุ” ฉบับสันติภาพ

ยุวชน เสถียร กมลมาลย์ อายุ 17 ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข สอบได้ชั้น ม.5 เป็นผู้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ได้ประหยัดค่าขนมที่มารดาให้ซื้อหนังสือทางพระพุทธศาสนาทุกชนิดเท่าที่จะหาอ่านได้ในประเทศไทย

และได้รวบรวมแม้หนังสือทางศาสนาอื่นเพื่อศึกษาเปรียบเทียบ

ความรู้ ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาของยุวชนผู้นี้มีในขนาดไร และพระพุทธศาสนาได้ชนะหัวใจของเขาอย่างใด ท่านผู้อ่านจะพิจารณาได้จากเรื่องนี้

อนึ่ง ควรบันทึกไว้ในที่นี้ด้วยว่า บางเรื่องที่นำลงในธรรมจักษุฉบับนี้ ที่เป็นเรื่องแปลหรือแต่งก็ดี ยุวชนผู้นี้ได้มีส่วนช่วยเป็นเลขานุการ เขียนตามคำบอกแห่งเจ้าหน้าที่ของเราด้วยความสมัครใจและยินดีที่ได้รับใช้พระพุทธศาสนา

อันเราละเว้นเสียมิได้ซึ่งความรู้สึกอนุโมทนาในกุศลเจตนาของยุวชนผู้นี้

กองบรรณาธิการธรรมจักษุ

นิตยสาร “ธรรมจักษุ” อันเป็นของสภาการศึกษา มหามกุฏราชวิทยาลัย อันเป็นมหาวิทยาลัยทางสงฆ์ผู้มากด้วยเกียรติภูมิ

ฉบับที่ตีพิมพ์บทความของ เสถียร กมลมาลย์ เรื่อง “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม”

เป็นฉบับอันได้ชื่อว่าฉบับ “สันติภาพ” เล่ม 30 ตอนที่ 3-12 ประจำเดือนธันวาคม 2487 ถึงเดือนกันยายน 2488

นั่นเป็นบรรยากาศหลังสิ้นสุดสงครามเมื่อเดือนสิงหาคม 2488