นงนุช สิงหเดชะ : อาการ “เข้างับ” และห้อยโหนโดยพลัน หลังไทยถูกซัก “สิทธิมนุษยชน”

หลังจากหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำโดยปลัดกระทรวงยุติธรรม นำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย ต่อที่ประชุมยูพีอาร์ ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ไปเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม และปรากฏว่ามีสมาชิกยูเอ็นจำนวน 10 กว่าประเทศซักถามแสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย โดยอ้างว่ารัฐบาลปัจจุบันลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น

ก็ปรากฏว่าเกิดปฏิกิริยาในลักษณะฉวยโอกาสเข้าขย้ำและห้อยโหนกระแสแบบตีเหล็กตอนร้อนๆ จากฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

ขณะเดียวกัน ปฏิกิริยาของต่างชาติที่มีต่อไทยนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายเพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ต่อให้ทำดีกว่านี้หรือปล่อยให้มีเสรีภาพกว่านี้ ก็จะโดนตำหนิอยู่ดี เพราะเป้าหมายของต่างชาติคือเร่งให้เลือกตั้งเพื่อกลับสู่รัฐบาลพลเรือนเร็วๆ โดยไม่ได้สนใจบริบทหรือปัญหาเฉพาะภายในของไทย

นอกจากนี้ สังเกตว่า หลายประเทศที่พ่วงเรื่องมาตรา 112 เข้ามาด้วย โดยเรียกร้องให้ไทยยกเลิกหรือทบทวนกฎหมายดังกล่าว ล้วนเป็นประเทศตัวเอ้ ที่ให้การพักพิง ส่งเสริมและช่วยเหลือแก๊งล้มเจ้าจากประเทศไทย

 

อันที่จริง การที่ไทยไปรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนต่อที่ประชุมยูพีอาร์ ครั้งนี้เป็นไปตามวงรอบปกติ (4 ปีครั้ง) ไม่ใช่เป็นการถูกเรียกไปซักถามและตำหนิเป็นกรณีพิเศษอย่างที่คนบางกลุ่มพยายามตีปี๊บ

แถมสมาชิกยูเอ็นนับร้อยประเทศก็ต้องรายงานลักษณะนี้เช่นกันต่อยูพีอาร์ ไม่ได้มีเพียงประเทศไทย และไม่ได้มีแต่ไทยเท่านั้นที่ถูกคณะทำงานตั้งข้อกังวลหรือเสนอแนะ หลายประเทศอย่างอเมริกาก็โดนตั้งคำถามแสดงความกังวลและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน 388 เรื่อง แต่อเมริการับไปดำเนินการเพียง 175 เรื่อง

ไทยได้รับข้อเสนอแนะ 249 เรื่อง และตอบรับทันที 181 เรื่อง รับไปพิจารณา 68 เรื่อง

การไปรายงานครั้งนี้เป็นการไปรายงานยูพีอาร์รอบที่ 2 จากที่เคยไปรายงานครั้งแรกเมื่อปี 2554 แต่บังเอิญว่าปีนี้ไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์รัฐประหาร ก็เป็นธรรมดาที่ไม่มีทางจะมีเสรีภาพ-สิทธิมนุษชนเต็มที่เหมือนสภาวะปกติ

เมื่อมีการรัฐประหาร ก็ย่อมหมายถึงว่าเสรีภาพตามปกติที่เคยมีสิ้นสุดลง คณะรัฐประหารเป็นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (กฎหมายสูงสุด) ตรากฎหมายพิเศษขึ้นมาใช้เพื่อควบคุมสถานการณ์ชั่วคราว

ดังนั้น การจะใช้มาตรฐานประชาธิปไตยปกติ มาวัดระดับเสรีภาพ-สิทธิมนุษยชนไทย จึงไม่สมเหตุผลและยากที่จะทำตามได้ทั้งหมด

เสรีภาพเต็มที่ตามปกติ ไม่มีตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ยอมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบางส่วน เพื่อแลกกับการอยู่อย่างเงียบหู เงียบสงบสักพัก เดินทางไปไหนมาไหนสะดวก ปลอดภัย (ไม่ต้องกลัวระเบิดเอ็ม 79 ของพวกที่อ้างว่ารักประชาธิปไตยยิงใส่)

หากจะถามว่าคนไทยส่วนใหญ่พอใจร้อยเปอร์เซ็นต์กับการถูกจำกัดเสรีภาพไหม ก็ย่อมไม่พอใจบ้าง แต่เชื่อว่าความไม่พอใจนั้นไม่ได้ถึงระดับคับข้องใจ อึดอัดจนทนไม่ได้

คือส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตได้อย่างค่อนข้างสบายดี

 

ส่วนพวกที่ทนไม่ได้เป็นอย่างมาก ก็เห็นกันอยู่ว่าเป็นหน้าเดิม กลุ่มเดิม และมีไม่น้อยที่จงใจยั่วยุ ฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. เพื่อนำไปขยายผลให้ดูใหญ่โตร้ายแรงในสายตานานาชาติ

แน่นอนว่าเหตุการณ์นี้ ฝ่ายตรงข้ามถือโอกาสกระหน่ำรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า คำชี้แจงของฝ่ายไทยสอบตก น่าขายหน้าตั้งแต่มีประชุมมา

หรือ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์สายสีแดงเข้ม (ที่ไม่ใช่รถไฟฟ้า) ซึ่งได้ทีก็ลงศอกตีเข่า ใส่ดราม่าเข้มข้น บอกว่าไทยเป็นที่รังเกียจของนานาชาติและตกต่ำที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 (เอาสถิติมาจากไหน) หากฟังและดูเผินๆ นึกว่าเป็นทีมงานโฆษกพรรคเพื่อไทย

รวมทั้ง ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่ออกมาโจมตี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่เรียกทูตสหรัฐเข้าพบเพื่อสอบถามกรณีสหรัฐประณามไทย

มองอย่างปล่อยวาง ปฏิกิริยาของทั้งสามคนนี้ไม่น่าประหลาดใจสำหรับคนทั่วไป เพราะเป็นปฏิกิริยาที่คาดหมายได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ถ้าแทงหวยก็ถูกรางวัลที่ 1

มองอย่างปล่อยวางอีก ปฏิกิริยาของคนเหล่านี้เจือด้วยอคติขั้นรุนแรง พร้อมจะหาช่องโหว่โจมตีรัฐบาลอยู่แล้วตามประสาคนมีแค้นกันอยู่

 

อย่างไรก็ตาม สิทธิมนุษยชนไทยยุคนี้ ทั้งสามคนก็ลองนำไปพิจารณาดูว่าน่าขายหน้ามากไปกว่ายุคทักษิณหรือไม่ ทั้งกรณีล้อมยิงมัสยิดกรือเซะตาย 32 ศพ จนถูกทั้งโลกประณามอย่างกระหึ่ม โดยเฉพาะประเทศมุสลิม หรือคดีตากใบ 86 ศพ ฆ่าตัดตอน 3,000 ศพ ไม่นับการอุ้มหาย อุ้มฆ่า บุคคลที่ซีกรัฐเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ (ส่วนใครต่อต้านผู้นำรัฐบาลยุคนั้น ไม่โดนเรียกไปปรับทัศนคติ แต่จะมีมวลชนนักเลงของรัฐบาลไปทำร้ายร่างกาย)

ตอนนั้นรัฐบาลของใครเอ่ย วิ่งตีนพลิก เหงื่อแตก วิ่งโร่ชี้แจงนานาชาติไม่เว้นวัน

เทียบกับการละเมิดฯ ในยุคนี้ ที่อย่างมาก ก็แค่เรียกไปปรับทัศนคติหรือติดคุกเล็กๆ น้อยๆ กับยุคทักษิณ อะไรน่าขายหน้า น่ารังเกียจกว่า

นายจาตุรนต์ ในฐานะคนเดือนตุลาฯ ที่รังเกียจการเข่นฆ่า เคยเพ่งพิจารณาพฤติกรรมของรัฐบาลที่ตัวเองมีส่วนสนับสนุนอุ้มชูหรือไม่ เคยรู้สึกสะท้อนใจหรือละอายใจหรือไม่กับเหตุการณ์หฤโหดนั้น

ส่วนนายปวินนั้น แม้จะชื่นชอบเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น แต่ก็มักจะกล้าด่ารัฐบาลของประเทศตัวเองต่อเมื่อรัฐบาลนั้นไม่ใช่รัฐบาลยิ่งลักษณ์-ทักษิณ

จำได้ว่าสมัยประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล (ช่วงปี 2552 ถึงกลางปี 2554) และนายปวินเป็นนักวิจัยประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาแห่งสิงคโปร์ (น่าจะได้รับทุนจากสิงคโปร์) ก็ปรากฏว่านางชอบโผล่หน้าให้สัมภาษณ์ทีวีสิงคโปร์ (แชนแนลนิวส์เอเชีย) อยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่แล้วจะโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า ไม่ชอบประชาธิปไตย

ฟังแล้วก็ตลกดี เพราะประเทศสิงคโปร์ที่ปวินไปรับทุนอยู่ ก็ไม่ได้มีประชาธิปไตย-เสรีภาพ-สิทธิมนุษยชน อะไรมากมายนัก แต่ปวินกลับเงียบ ไม่กล้าแตะหรือวิจารณ์ (คงเพราะเกรงใจเจ้าของเงิน) ดังนั้น เมื่อใดที่ปวินพูดเรื่องประชาธิปไตย โดยอาศัยสื่อทีวีสิงคโปร์ด่ารัฐบาลไทย จึงน่าขำและไร้น้ำหนัก

 

ฝ่ายตรงข้าม คสช. เน้นย้ำว่าปัญหาสิทธิมนุษยชน ทำให้ไทยเป็นที่รังเกียจของนานาชาติ

แต่แปลกที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทุบสถิติในรัฐบาลนี้ ปีนี้คงทุบสถิติอีก นอกจากนี้ ส่งออกไทยไตรมาสแรกปีนี้เป็นบวก 0.9% เป็นชาติเดียวในโลกที่ส่งออกเป็นบวก (แสดงว่าต่างชาติยังคบหาซื้อของจากเรา)

ที่จริง สหรัฐเองก็ไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสมาชิกยูเอ็นหลายเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทำไมไทยต้องปฏิบัติตามคำขอของสหรัฐทุกเรื่อง

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องมือถือสากปากถือศีลของพวกตะวันตก ตัวอย่างล่าสุด แองเจลิน่า โจลี่ ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง ในฐานะทูตพิเศษยูเอ็น ได้ออกมาตำหนิบรรดาผู้นำชาติยุโรปว่ากีดกันผู้อพยพที่หนีภัยสงครามและก่อการร้าย พร้อมกับย้ำว่า หวังว่าพวกเขาจะไม่ลืมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นมากับมือ พร้อมกันนี้เธอยังตำหนิสหรัฐด้วยในประเด็นเดียวกัน

ไล่เลี่ยกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ออกมาระบุว่าที่ผ่านมาประเทศตะวันตกพยายามส่งออกประชาธิปไตยไปยังประเทศต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงและไม่เคารพวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่น

กลุ่มรัฐสภายุโรปที่เพิ่งบินมาเมืองไทย เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อพบกับคุณยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย จะได้ยินเสียงจากแองเจลิน่าบ้างหรือไม่ และหวังว่าคงไม่มารับฟังข้อมูลข้างเดียว ถือหางฝ่ายเดียว หากมีความปรารถนาดีต่อเมืองไทยจริง

เกรงแต่ว่าการมาเมืองไทยของพวกนี้ จะทำให้การเมืองไทยระอุขึ้นมาอีก