นงนุช สิงหเดชะ : หลังประชามติ รธน. ผ่านฉลุย ฝ่ายอกหักหา “เหตุผลที่สบายใจ” มาอธิบาย

หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา ปรากฏผลว่าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนร้อยละ 61.4 และไม่รับร้อยละ 38.6 ซึ่งชัดเจนว่าฝ่ายรับทิ้งห่างฝ่ายไม่รับแบบขาดลอย

ก็เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม คสช. ด้วยการหาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ แต่เป็นการหาเหตุผลแบบให้ตัวเอง “สบายใจ” เพื่อจะได้ไม่รู้สึกผิด เพื่อบรรเทาความโกรธ เครียด เป็นกลไกจิตวิทยาเยียวยาความรู้สึกแบบหนึ่ง

เหตุผลของคนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักจะออกไปแนวว่า เป็นเพราะ คสช. ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเรื่องเนื้อหาสาระรัฐธรรมนูญ ทำให้ชาวบ้านได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ

บางคนก็บอกว่าเป็นเพราะชาวบ้านอยากเลือกตั้งเพื่อให้บ้านเมืองกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว (เหตุผลจากพรรคเพื่อไทยและ นปช.)

และที่เน้นๆ เลยก็คืออ้างว่าการที่ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนไว้ใจทหารมากกว่านักการเมืองหรือเบื่อนักการเมือง (เหตุผลจากพรรคชาติไทยพัฒนา)

ไม่มีใครพูดเลยว่าบางทีชาวบ้านเขาอาจอยากให้มีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปนักการเมือง ไม่มีใครพูดเลยว่าบางทีอาจเป็นเพราะชาวบ้านเบื่อนักการเมืองโกง ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ปฏิรูปการเมือง-นักการเมือง จึงเข้าตา

นักการเมืองเหล่านี้ ไม่ค่อยกล้าอธิบายแบบกระจ่างชัดว่าทำไมประชาชนจึงโหวตสวนทางนักการเมืองแบบกลับตาลปัตรมากขนาดนี้

โค้งสุดท้ายก่อนลงประชามติ จะเห็นว่า พรรคเพื่อไทย นปช. และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งองค์กรด้านต่างๆ นับร้อยองค์กร แม้แต่องค์กรผู้บริโภค (ที่ไร้สี) ต่างออกมาแถลงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

แล้วเหตุไฉนชาวบ้านทั่วประเทศ ยังโหวตร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหล่านี้ โดยเฉพาะซีกที่อิงการเมือง ถูกเสนอข่าวในสื่อกระแสหลักทุกครั้ง ไม่ว่าจะสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและโซเชียลมีเดีย ดังนั้น การจะอ้างว่าประชาชนไม่รู้ข้อมูลจึงฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ ความเห็นของฝ่ายตรงข้าม คสช. ที่เกิดขึ้นตลอด 2-3เดือนก่อนจะลงประชามติ ก็ได้รับการเสนอทางสื่อกระแสหลักอย่างต่อเนื่อง คนไหนโพสต์เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ตราบที่ไม่เป็นความเท็จบิดเบือน ต่างได้รับการเสนอผ่านสื่อกระแสหลักตลอดเวลา การวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นตลอดเวลา

ที่อ้างว่าเพราะประชาชนไม่รู้เนื้อหารัฐธรรมนูญ ก็เลยโหวตให้ผ่าน ยิ่งเป็นเหตุผลที่พิลึกใหญ่

หากคิดอย่างง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ธรรมชาติของคนโดยเฉพาะชาวบ้านที่อาจไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือรู้วิธีหาข้อมูลด้วยตัวเองนั้น ยิ่งไม่รู้ข้อมูลพวกเขาก็จะยิ่งปฏิเสธรัฐธรรมนูญ

และหากยิ่งพวกเขาเกลียดเผด็จการ ครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะแก้แค้นหรือฉีกหน้ารัฐบาลทหารอย่างจังที่สุด แต่ทำไมผลออกมาเช่นนั้น

บางคนก็อ้างว่าชาวบ้านโหวตให้ผ่านเพราะความกลัว โดยที่ไม่ดูเนื้อหาหรืออ่านรายละเอียดรัฐธรรมนูญ

แต่ถามหน่อยเถอะ มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนบ้าง แม้แต่ฉบับปี 2540 ที่คนส่วนใหญ่อ่านจบทั้งเล่ม หรือแม้แต่อ่านสาระสำคัญด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านก็อาศัยการสดับตรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อหรือผู้รู้ในประเด็นหลักๆ

ในครั้งนี้ก็เช่นกัน ใช่ว่าสาระสำคัญที่ฝ่ายต่อต้านนำมาวิพากษ์วิจารณ์จะไม่ไปถึงหูประชาชน เพราะออกมาพูดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่อง การให้ ส.ว. มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือการอ้างว่า คสช. ต้องการสืบทอดอำนาจ หรือแม้กระทั่งปล่อยข่าวน่ากลัวว่ารัฐธรรมนูญนี้จะยกเลิกโครงการ 30 บาท โครงการเรียนฟรี เลิกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ฯลฯ

มีอย่างเดียวที่ฝ่ายต่อต้านทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่สะดวกก็คือการลงพื้นที่กรอกหูชาวบ้านด้วยเนื้อหาที่บิดเบือน (ไม่ทิ้งนิสัยเดิม) เพราะถูก คสช. จับตา ส่วนพวกที่บิดเบือนก็โดนจับไปแล้ว

การที่นักการเมืองถูกตรึงไม่ให้เคลื่อนไหวในพื้นที่แบบใต้ดินและบิดเบือน แสดงว่าชาวบ้านเป็นอิสระจากการครอบงำของนักการเมือง จึงตัดสินใจด้วยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเกรงใจใครเวลามายกมือไหว้วานขอให้ช่วยลงคะแนนไปตามที่นักการเมืองต้องการ

พูดอีกอย่างคือชาวบ้านมีโอกาสเป็นตัวของตัวเอง หลุดพ้นจากระบอบอุปถัมภ์

อีกอย่างอย่าลืมว่าแม้ซีกต่อต้านจะอ้างว่าชาวบ้านถูกปิดกั้นข้อมูล แต่สังคมต่างจังหวัดเป็นสังคมที่แคบ แม้จะเปิดเวทีแสดงความเห็นเปิดเผยอย่างกว้างขวางไม่ได้ แต่ชาวบ้านสามารถสื่อสารกันตัวต่อตัว ปากต่อปากได้

แม้ในครั้งนี้ อีสานจะเป็นภาคเดียวที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะเห็นว่าเปอร์เซ็นต์การไม่รับลดลง และเปอร์เซ็นต์การรับเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับการลงประชามติปี 2550 คะแนนระหว่างรับกับไม่รับ ไม่ทิ้งห่างกันมาก

ยิ่งในกรุงเทพฯ ยิ่งดูไม่จืด เพราะทุกเขต แม้แต่พื้นที่ของพรรคเพื่อไทย ยังรับร่างรัฐธรรมนูญกันสนั่นหวั่นไหว เขตของเพื่อไทย รับไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เขตของประชาธิปัตย์รับสูงเฉลี่ย 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป และที่น่าสังเกตคือเขตวัฒนา ซึ่งเป็นเขตของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปรากฏว่าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญสูงเป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ ที่ 76 เปอร์เซ็นต์ หากจะให้คาดเดาก็น่าจะเป็นเพราะกระแสตีกลับในโค้งสุดท้าย จากการที่ 1.นายอภิสิทธิ์ ประกาศไม่รับร่าง 2.อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งออกมาไล่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ซีก กปปส. ให้ออกจากพรรค ฐานแสดงความคิดเห็นสวนทางหัวหน้าพรรค

สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็น่าจะแสดงว่าประชาชนไม่ฟังนักการเมือง ทั้งที่ว่าไปแล้วฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเคลื่อนไหวบ่อย ถี่และคึกคักกว่าฝ่ายสนับสนุนเสียอีก

บางคนอุตส่าห์ลงทุนไปฉีกบัตร ตั้งแต่ตอนเที่ยง แล้วตะโกนว่าเผด็จการจงพินาศ เพื่อหวังให้เป็นข่าว และหวังจะให้คนเอาอย่างตาม ยังเอาไม่อยู่ โน้มน้าวชาวบ้านไม่ได้ ทั้งที่สื่อ โดยเฉพาะทีวีก็ออกข่าวกันครึกโครมก่อนปิดหีบหลายชั่วโมง

ข้ออ้างทั้งหมดทั้งปวงของนักการเมืองหลังผลประชามติออกมาครั้งนี้ สะท้อนว่า นักการเมืองบางกลุ่มบางคนยังวนเวียนอยู่ที่เดิม ไม่อยากปฏิรูปตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงว่าบางทีการที่ประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญมากขนาดนี้เพราะอยากให้นักการเมืองมีคุณภาพ มีจิตสำนึกมากขึ้น

ยิ่งมาดูท่าทีของนักวิชาการบางคนยิ่งไปกันใหญ่ ออกอาการหงุดหงิด ที่เคยพร่ำประชาธิปไตย ที่เคยเรียกร้องให้เคารพเสียงประชาชน (ในคราวที่ตัวเองถือหางฝ่ายชนะ) คราวนี้กลับมีท่าทีทำนองว่าแปลกใจ บางคนก็หาว่าประชาชนลงมติไปด้วยความไม่รู้ ดูถูกประชาชนไปเสียนั่น

หมายเหตุไว้ด้วยว่า ปีนี้คนไปออกเสียงลงประชามติร้อยละ 58 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด มากกว่าปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 57 ดังนั้น การที่ฝ่ายต่อต้านจะหยิบยกประเด็นนี้มาอ้างว่าไม่ชอบธรรมเพราะคนไปออกเสียงน้อย ก็อ้างไม่ได้อีก