ในประเทศ : เกมวัดพลัง กับปริศนา “เงื่อนไขพิเศษ” หลังการเมืองไทยไร้เงา “ปู”

ภายหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจหนี ไม่มารับฟังคำพิพากษาศาล ในข้อหาปล่อยปละละเลยคดีโครงการรับจำนำข้าว ได้เกิดเครื่องหมายคำถามที่ยากเกินการคาดเดาถึงคำตอบ คือ หลังจากนี้ทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ความขัดแย้งที่มีมานมนานนับ 10 ปี จะยุติลง คงอยู่ หรือเพิ่มอุณหภูมิมากขึ้น

ที่สำคัญกระบวนการปรองดองที่รัฐบาล คสช. หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นผลงานโบแดงของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเสร็จสำเร็จลุล่วงหรือไม่ อย่างไร

มีเสียงสะท้อนจากนักปรองดองขั้นเทพ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” ที่ล่าสุดได้นั่งในตำแหน่งประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง นายเอนกพูดเป็นนัยให้คิดตาม โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้กระบวนการปรองดองจะผ่านอุสรรคไปได้ นักการเมือง พรรคการเมืองจะเอาด้วย คือในอนาคตจะตั้งรัฐบาลได้ แม้จะเป็นการจัดตั้งด้วยความจำเป็น

ที่สำคัญการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังเป็น “เงื่อนไขพิเศษ” ให้การปรองดองของรัฐบาลสัมฤทธิผล เพราะมีอำนาจบางอย่างแสดงแสนยานุภาพ ช่วยให้ปัญหาจบ

ถามว่าอะไรคือ “เงื่อนไขพิเศษ” ที่นักปรองดองผู้นี้หมายถึง

 

หากจะให้วิเคราะห์ก็สามารถแยกออกเป็นข้อๆ จากมีความเป็นไปได้น้อย ไปถึงมีความเป็นไปได้สูง ดังนี้

1. การหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ผ่านการต่อรองจนเป็นข้อตกลงกับผู้กุมอำนาจเรียบร้อยแล้ว

2. สองพี่น้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ นายทักษิณ ชินวัตร อยู่อย่างสงบ เลิกยุ่งการเมือง

3. แกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทิ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์และนายทักษิณ แล้วเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นอิสระ

4. แกนนำเสื้อแดงไม่มีทางเลือก เพราะถูกบีบทุกทาง

5. กลไก คสช. ได้บีบจนพรรคเพื่อไทยแตกสลาย ต่อมาสมาชิกพรรคต้องหาที่พึ่งใหม่

นั่นคือเงื่อนไขหลังไร้เงา น.ส.ยิ่งลักษณ์

แต่ก็ใช่ว่าจะเป็น “เงื่อนพิเศษ” ที่นายเอนกหมายถึง

 

ทว่า นายเอนกยังเชื่อมั่นว่ากระบวนการปรองดองจะสร้างความหวังใหม่แก่ประเทศ เป็นความเชื่อมั่นแบบเมื่อครั้งก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง

นายเอนกโพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย ทำงานใหญ่ต่อไป” โดยเขียนบทความยาวเหยียดเกี่ยวกับการพัฒนาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่ออธิบายประเทศไทยในอนาคต

ก่อนลงท้ายว่า “ยังมีงานใหญ่กว่านี้รออยู่มากครับ แต่รถไฟกรุงเทพฯ-โคราช ย่อมเป็นเพียงก้าวแรกในการสร้างพื้นฐานการขนส่งคมนาคมและโลจิสติกส์ในยุคบูรพาภิวัฒน์ ไทยเราจะต้องก้าวต่อไปครับ ไม่หยุดยั้ง อย่างเร่งรีบจริงจัง แต่ก็ไม่ผลีผลาม รอบคอบที่สุด ยอมปรับปรุงแก้ไขได้ มากหรือน้อย ทั้งต้องน้อมใจรับฟังกันได้เสมอ เชื่อใจกันได้ ทนได้ ชื่นชมได้ ต่อทุกเสียงและทุกความคิดเห็น”

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าในอดีต “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” เป็นใคร

 

นายเอนก เป็นนักศึกษายุค 6 ตุลา ที่เคยหลบภัยทางการเมืองไปอยู่ในป่านานถึง 4 ปี เริ่มเส้นทางการเมืองโดยเป็นที่ปรึกษาของ ศ.มารุต บุนนาค อดีตประธานสภา ต่อมาได้เป็นที่ปรึกษา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมช.การคลัง ในรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนจะมาเป็นที่ปรึกษา พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รมว.มหาดไทย ในรัฐบาลชวน 2

นายเอนกสนิทกับ เสธ.หนั่นอย่างมาก เขาเป็นเหมือนตัวแทนของเสธ. ตอนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. นายเอนกเคยเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก่อนจะลาออกเมื่อ พล.ต.สนั่นมีความขัดแย้งกับพรรค

ต่อมาจึงได้ร่วมกันตั้งพรรคมหาชน แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 ปรากฏว่าพรรคมหาชนได้มาเพียง 2 ที่นั่ง จากนั้นเขาจึงลาออก

ต่อมาปี 2550 เขาได้ตั้งพรรคการร่วมใจไทยพัฒนา กระนั้นก็ลาออกในเวลาต่อมา

 

หลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช. ได้ตั้งแม่น้ำ 4 สาย ปรากฏว่าชื่อของนายเอนกผงาดขึ้นเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมการชุดนี้ได้ศึกษาปัญหาทางการเมือง ก่อนสรุปประเด็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นข้อๆ

1. การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้ง

2. การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง

3. การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดและการให้อภัย

4. การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ

5. การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน

6. มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ทำงานได้ 1 ปี สปช. ก็ถูกยุบในเดือนกันยายน 2558 ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เส้นทางชีวิตก็พาเขากลับมาที่เดิม เพราะได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.ประวิตร รับผิดชอบดูแล

ก่อนที่จะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ในเดือนสิงหาคม 2560 เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง วาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี

 

จะเห็นว่าที่ผ่านมา นายเอนกทำงานร่วมกับรัฐบาลและ คสช. มาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่เขาจะเชื่อมั่นว่างานของ คสช. จะสำเร็จลุล่วง

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทุกอย่างกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐประหารครั้งล่าสุดนี้ นอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตแล้ว ยังกลับซ้ำเติมแผลเก่าให้เจ็บลึกลงไปอีก แน่นอนในบรรยากาศเช่นนี้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่สามารถพูดอะไรได้มาก แต่นั่นก็เท่ากับเหยียบปัญหาไว้ใต้พรม

ผนวกทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วมองได้ว่า “เงื่อนไขพิเศษ” ที่นายเอนกหมายถึงคือ คสช. กุมอำนาจไว้นานพอที่จะลดความบาดหมางทางการเมืองลงได้ เพราะ “เงื่อนไขพิเศษ” นี้ นอกจากจะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่นายเอนกรวมอยู่ด้วยแล้ว ยังมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, ส.ว.สรรหา 250 คน โดยทั้งหมดนี้จะอยู่ในวาระนานถึง 5 ปี และนี่ยังไม่รวมนายกฯ คนนอก ที่รัฐธรรมนูญเปิดทางไว้

และปฏิเสธไม่ได้ว่าการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้นเพิ่มความชอบธรรมแก่รัฐบาลและ คสช. เพราะสามารถอ้างได้ว่า “ถ้าไม่ผิดเหตุใดต้องหนี” หรือแสดงว่า “หนีเพราะรู้แน่ชัดว่าศาลจะตัดสินอย่างไร”

ที่สำคัญการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมจะทำให้พลังฝ่ายตัวเองอ่อนแรงลง ซึ่ง 5 ปี คงมากพอที่จะถูกกดให้อ่อนแอ จนไม่เหลือพลังทางการเมือง