การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ : หรือลมจะพัดหวน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

: หรือลมจะพัดหวน

 

ประเด็นสูตรการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เคยเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาหยิบยกถกเถียงกัน เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 4 ร่างที่ผ่านการลงมติรับหลักการในวาระที่หนึ่งของรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 มีข้อความที่แทบจะเหมือนกันในวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าเป็นการนับแบบคู่ขนาน โดยคิดสัดส่วนเป็นร้อยละจากบัตรลงคะแนนใบที่สอง

ไม่ว่าจะเป็นร่างของคณะรัฐมนตรี ของพรรคร่วมรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย หรือของพรรคก้าวไกล ล้วนเสนอแนวคิดหลักการเดียวกันที่ใช้ตัวเลข 100 เป็นตัวหารจำนวนบัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมดเพื่อเป็นค่าเฉลี่ยเบื้องต้นในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่น บัตรบัญชีรายชื่อทั้งหมดมี 35 ล้านใบ หาร 100 ได้ 350,000 คะแนน หมายถึงคะแนนที่พรรคต้องได้ขั้นต้นต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

เรียกว่า เทียบบัญญัติไตรยางศ์ได้แบบไม่มีอะไรซับซ้อน และเป็นที่เข้าใจว่าทุกอย่างน่าจะจบลงแล้วด้วยวิธีการคิดแบบนี้ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นไปได้

แต่เหตุใด กลับมีเสียงอื้ออึงไม่น้อยว่า แม้เป็นบัตรสองใบแต่อาจพลิกกลับไปใช้วิธีการคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562

 

การแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่สะเด็ดน้ำ

เหตุของการที่รัฐสภามีมติในวาระที่สามให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งโดยใช้ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ เป็นผลให้มีการแก้ไขเพียง 3 มาตรา คือ มาตรา 83 เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เป็นเขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 มาตรา 86 การคำนวณจำนวน ส.ส.ที่มีในแต่จังหวัดเมื่อจำนวน ส.ส.เขตเพิ่มเป็น 400 คน และ มาตรา 91 เกี่ยวกับการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ

โดยยังค้างมาตราที่ไม่มีการแก้ไขอีก 3 มาตรา คือ มาตรา 90 การกำหนดให้รับสมัครเขตจึงจะส่งบัญชีรายชื่อได้ มาตรา 93 การคำนวณ ส.ส.พึงมี กรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ และมาตรา 94 การคำนวณ ส.ส.พึงมีใหม่ในกรณีมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ด้วยเหตุทุจริตการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะเนื้อหาสำคัญของมาตรา 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 ที่เป็นหัวใจของการคำนวณ จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ได้เขียนไว้เพียงข้อความสั้น ๆ ดังนี้

“มาตรา ๙๑ การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งมีรายชื่อในบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองได้รับเลือกตามเกณฑ์คะแนนที่คำนวณได้เรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อการออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผลการเลือกตั้งและการอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

ไม่มีการเขียนเป็นลำดับขั้นตอน (1) (2) (3) (4) (5) เหมือนที่เคยมีในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งหากรับร่างของพรรคพลังประชารัฐ หรือรับร่างของพรรคเพื่อไทย ที่ทั้งสองร่างถูกตีตกในวาระที่หนึ่งเข้ามาด้วย ทั้งสามมาตราที่เหลือจะมีการแก้ไขให้สอดคล้องกัน และประกอบด้วยการแสดงรายละเอียดการคำนวณในแต่ละวงเล็บของมาตรา 91 ไว้อย่างชัดเจน

หากแต่เป็นเรื่องความผิดพลาด หรือเป็นความตั้งใจที่รัฐสภาจะเลือกรับร่างที่ไม่สมบูรณ์ให้เกิดปัญหาการตีความและสามารถเขียนขั้นตอนการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อแตกได้เป็นสองแนวทาง

 

เหตุผลที่ลมอาจพัดหวน

มีเหตุผลที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสนับสนุนแนวคิดการกลับไปใช้วิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วน นับแต่เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนไว้ในเอกสารความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ที่จัดทำโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นั้นต้องการให้ “คะแนนเสียงของประชาชนทุกคะแนนมีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง”

หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านที่คุ้นเคยว่า ไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำสูญหายไป โดยคะแนนของผู้ที่แพ้การเลือกตั้งยังถูกนำมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงมี ก่อนจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อให้ได้สัดส่วนตามคะแนนนิยมของพรรคที่ประชาชนทั้งประเทศเลือก

อีกทั้งมาตรา 93 และมาตรา 94 ที่ยังไม่มีการแก้ไข ยังคงค้างกรณี “การคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับไว้” ซึ่งหากแก้เป็นนับแบบคู่ขนาน ก็จะเกิดปัญหาว่า หากเกิดกรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ หรือกรณีเลือกตั้งใหม่ภายในหนึ่งปี ต้องคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีใหม่ แล้วตัดรายละเอียดดังกล่าวหรือไม่มีการกล่าวถึงในกฎหมายลูก ก็จะเกิดกรณีไปต่อไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนให้ทำ แต่ พ.ร.ป.ส.ส. กลับบอกไม่ต้องทำ

จะกลายเป็นว่า กฎหมายลูก คือ พ.ร.ป.ส.ส. ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายพ่อ เข้าทำนองเขียนให้ลูกฆ่าพ่อ

นี่คือเหล่าเหตุผลที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาหากจะใช้ในการย้อนกลับไปใช้การคำนวณแบบจัดสรรปันส่วน แต่แท้จริงแล้วเหตุผลหลักของผู้ที่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกติกา น่าจะเป็นประเด็นที่หากเปลี่ยนเป็นระบบบัตรสองใบและนับคะแนนแบบคู่ขนานแล้ว อาจเกรงว่าพรรคที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงคือ พรรคการเมืองที่อยู่ซีกตรงข้ามกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน

โดยประเมินว่า การที่พรรคดังกล่าวมีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งในเขตจำนวนมากแล้ว หากผนวกกับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่จะได้จากบัตรใบที่สองด้วยวิธีการนับคะแนนแบบคู่ขนาน จำนวน ส.ส.ที่พรรคดังกล่าวจะได้รับจะมากท่วมท้นขนาดที่เรียกได้ว่า แตกต่างขนาดฟ้าถล่มแผ่นดินทลาย

การหวนคืนไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนจึงเป็นทางออกที่ต้องประเมินใหม่ว่าต้องหันกลับแบบ 360 องศาหรือไม่

 

ตัวแปรสำคัญที่ต้องจับตา

โดยลำพังของฝ่ายค้านที่ยังขาดเอกภาพในวิธีการคิด โดยพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยเห็นประโยชน์ของการนับแบบคู่ขนาน แต่พรรคกลางพรรคเล็กกลับหนุนวิธีนับแบบเดิม จะไม่สามารถมีพลังเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงได้

สิ่งที่ต้องจับตาคือ ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกวุฒิสภา ว่าจะมีความเห็นอย่างไรในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะขั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในช่วงปิดสมัยการประชุมของรัฐสภา

ถึงวันนี้ เราได้ยินความเห็นจากทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายวุฒิสภา ถึงแนวคิดการย้อนกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนจากบัตรสองใบบ้างแล้ว รวมทั้งความเห็นที่กลางๆ ว่า ขอฟังเหตุและผลของแต่ละฝ่ายก่อนตัดสินใจซึ่งคล้ายจะเปิดกว้างต่อการรับฟังเหตุผลในสิ่งที่ดีที่สุดต่อบ้านเมือง

แต่โดยข้อเท็จจริงที่ยังไม่ฟันธงกัน อาจเพราะผู้มีอำนาจยังอยู่ในสภาวะมึนงงทางการเมือง อับจนปัญญาในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเป็นไปในอนาคต

หากวิเคราะห์ไม่ได้ ก็อย่าอับอายที่จะพ่ายแพ้