อัศจรรย์ในวรรณคดี (3) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

อัศจรรย์ในวรรณคดี (3)

 

แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง เป็นหนึ่งในเหตุอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นเสมอแก่ผู้มีบุญบารมี โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์ (ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) และพระพุทธเจ้า (พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม เป็นพระศาสดาให้กำเนิดศาสนาพุทธ)

ดังจะเห็นได้จากวรรณคดีเรื่อง “พระปฐมสมโพธิกถา” สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงเล่าถึงพุทธประวัติตอนประสูติว่า ‘บังเกิดกัมปนาทหวาดไหวแลรัศมีสว่างไปทั่วหมื่นโลกธาตุ…”

ทรงอธิบายที่มาของเหตุอัศจรรย์ให้สาวกฟังดังนี้

“ดูกรภิกษุสงฆ์ เบื้องว่าพระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลกลงสู่ครรภ์พระพุทธมารดาในกาลใด อันว่าทวัตติงสบุพพนิมิตร์มหัศจรรย์มีโอภาษแลหวาดไหวทั่วหมื่นโลกธาตุเปนอาทิ ก็บังเกิดมีในกาลนั้น”

สอดคล้องกับบันทึกใน “พระไตรปิฎกเล่มที่ 10” พระสุตตันตปิฏก เล่มที่ 2 ทีฆนิกายมหาวรรค พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอานนท์ว่า

“คราวที่พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา แผ่นดินนี้ก็ไหวสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น นี้เป็นเหตุปัจจัยประการที่ 3 ที่ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรง”

 

พระไตรปิฎกเล่มนี้ยังกล่าวถึงเหตุอัศจรรย์แผ่นดินไหวที่ปรากฏเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ เทศนาธรรมครั้งแรก และเสด็จปรินิพพานตามลำดับ ทำนองเดียวกับที่ “พระปฐมสมโพธิกถา” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) พรรณนาถึงตอนตรัสรู้อริยสัจ 4 ว่า

“กาลบัดนี้ตถาคตก็ยังกิเลส 1500 ให้สูญสิ้นจากสันดาน ได้พระโลกุตรธรรมสำเร็จมโนรถประสงค์แล้ว อัศจรรย์ในขณะนั้นก็บังเกิดมี อันว่ามหาปฐพีอันมีประมาณกำหนดโดยหนาได้สองแสนสี่หมื่นโยชน์ก็อุโฆษนาการบันลือลั่นดังกังสดาลอันประหารด้วยค้อนเหล็กดังสนั่นได้ละร้อยพันหมื่นแสนเสียงสเทือนสท้านสำแดงวิจลจลาการกัมปนาท มหาสาครก็ตีฟองนองคลื่นดื่นดาษรดมศัพท์สำเนียงโครมครึกกึกก้อง”

เหตุอัศจรรย์ครั้งนั้นบังเกิดเสียงดังสนั่นสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นไปทุกทิศทุกทาง ครอบคลุมทั่วถึงทั้งแผ่นดินและแผ่นน้ำ ไม่ต่างกับตอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา เทศนาครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เมื่อวันเพ็ญเดือน 8 แต่อย่างใด

“กาลเมื่อจบพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรลงครั้งนั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์บันดาลทั้งหมื่นโลกธาตุก็กัมปนาการไหวหวั่น แลผัดผันแห่งดุมเกวียนปรากฏบันดาล มหาสาครสมุทรก็นฤโฆษณาการกำเริบคลื่นฟื้นฟองกึกก้องโกลาหลนฤนาท ทั้งเขาพระสิเนรุราชก็น้อมยอดอย่างจะอภิวันทนาประณต แลอเนกมหัศจรรย์ทั้งหลายก็ปรากฏเหมือนกาลเมื่อครั้งปถมาภิสัมโพธิญาณ”

 

ช่วงเวลาจวนจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าบรรทมใต้ต้นสาละ เหตุอัศจรรย์ล้วนสื่อถึงความอาลัยรักอย่างลึกซึ้ง

ดอกสาละที่บานเต็มต้นพร้อมใจร่วงพรูบูชาพระพุทธองค์ ระงมเสียงแมลงดังเสียงร่ำไห้ของต้นไม้ดอกไม้

ท่าทีโศกเศร้ามิรู้คลายของดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ เทวดาและมวลมนุษย์เป็นดังที่ “พระปฐมสมโพธิกถา” พรรณนาว่า

“ในสมัยนั้นอันว่าศาลบุปผชาติทั้งหลายก็ขยายแย้มกลีบเกสรแบ่งบานตั้งแต่ลำต้นตราบเท่าถึงยอดแลตลอดศาลวันวิกสิตบุปผาเปนอกาลผกาปรากฏ กุสุมเสาวคนธรศก็ปวัตนาการหล่นลงเรี่ยรายทั่วพระพุทธสริรกายาบูชาพระสัพพัญญู หมู่ภมรผึ้งภู่บินมาเชยซราบอาบรศเกษรมาลาบันลือศัพท์สำนาน ปานประหนึ่งว่าสำเนียงแห่งยมกศาลพฤกษาปริเทวนาการ แลบุปผชาติแห่งนางรังหล่นลงเปนนิรันดร ก็เปรียบปานประดุจอสุชลหล่นไหลพิลาปโศกี สัมผัศกับพระฉัพพิธพรรณรังศรีโศภณโอภาษเพียงจะครอบงำเสียซึ่งพรรณประภาแห่งภาณุมาศให้เสื่อมแสงเศร้าศรีมีครุวนาปานฉนั้น ฝ่ายพระสุริยาก็สายัณห์ยอแสงอัสฎงคต เหมือนดุจบมิอาจอดกลั้นซึ่งความโศก อันจะวิโยคพลัดพรากจากพระบรมโลกนารถ ฝ่ายพระรัชนีกรก็ลินลาศเลื่อนลอยขึ้นมาเบื้องบุรพทิศาดล ดุจดับเสียซึ่งดวงหฤทัยแห่งเทพยดามนุษย์นิกรชนอันอาดูรด้วยความโศก ซึ่งจะวิโยคจากพระภควันตมุนีให้รำงับด้วยหยาดรัศมีอันเย็นยิ่งอย่างอมฤตยธารา”

ในเวลาเดียวกันเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง แรงสั่นสะเทือนทำให้เกิดคลื่นคลั่งทั่วทั้งมหาสมุทร ภูเขาพระสุเมรุเอนอ่อนลงสู่พื้น อลวนด้วยเสียงครั่นครื้นของก้อนเมฆมหึมาและแสงสายฟ้าแลบแปลบปลาบเต็มท้องฟ้า ห่าฝนที่ตกตามฤดูพรั่งพรู ธุมเกตุอุกกาบาตตกลงทุกที่ เสียงกลองระคนเสียงดนตรีดังกึกก้องแสดงอาการรับรู้ถึงความสูญเสียใหญ่หลวง ดังที่ “พระปฐมสมโพธิกถา” พรรณนาว่า

“ขณะนั้นพื้นพสุธากัมปนาการ มหาสมุทรก็บันดาลกำเริบคลื่นคลั่งประนังนฤนาท ทั้งขุนเขาพระสิเนรุราชก็โอนอ่อนดุจยอดหวายอันอัคคีลามลน มหาเมฆก็ครื้นครั่นคำรนกึกก้อง ท้องทิฆัมพรพร่างพรายสายแสงวิชุลดาเฉวียนฉวัด ทั้งห่าฝนขณิกพรรษก็ปวัตนาการ ธุมเกตุอุกกาบาตก็บันดาลตกลงทั่วทิศาดล เทวทุนทภีก็บันฦาศัพท์กาหลในคัคนานต์ ทั้งทิพย์สังคีตก็ประโคมขานไขศัพท์จำเรียง เสียงเสนาะสนั่นบนอากาศ”

 

ข้อความว่า ‘ธุมเกตุอุกกาบาตตกลงทั่วทิศาดล’ เป็นเหตุอัศจรรย์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะพระพุทธเจ้าใกล้จะดับขันธปรินิพพาน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิยสถาน” อธิบายความหมายไว้หลากหลาย

“ธุมเกตุ หมายถึง ไฟ ดาวหาง ดาวตก สิ่งที่เป็นหมอกเป็นควันเกิดขึ้นในอากาศผิดธรรมดา มีรูปคล้ายธง เชื่อกันว่าเป็นลางร้าย”

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ให้ความหมายว่า

“ธุมะเกตุง, คือ ควันเปนยอดพลุ่งขึ้นไปนั้น, เหมือนพระเกตุที่พลุ่งขึ้นอย่างควัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘ธุมเกตุ’ ใน “พระปฐมสมโพธิกถา” น่าจะหมายถึง ดาวตก หรือ อุกกาบาตที่ตกลงมาพร้อมๆ กันในทุกที่ ดังข้อความว่า ‘ธุมเกตุอุกกาบาตตกลงทั่วทิศาดล’

นอกจากนี้ ‘ธุมเกตุ’ ยังเป็นเหตุอัศจรรย์วันที่พระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคต เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีตในรูปของหมอกควันบอกเหตุสำคัญของแผ่นดิน

คุณพุ่ม สมญา ‘บุษบาท่าเรือจ้าง’ กวีสตรีมีชื่อสมัยรัตนโกสินทร์บรรยายเหตุอัศจรรย์วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไว้ดังนี้

“ประธุมเกตุเกิดครันควันตระหลบ เมื่อจวนพลบโพล้เพล้คะเนหวัง

ทรงประชวรจวนจะค่ำย่ำระฆัง มีรับสั่งกระษัตราสมาพระ”

เป็นเหตุอัศจรรย์วันเดียวกับที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ เรื่อง “อภินิหารการประจักษ์” ว่า

“ทุ่มเศษวันนั้น ท้องฟ้าเปนควัน หมอกกลุ้มโตใหญ่

ใช่น่าน้ำค้าง หมอกลงเหลือใจ บูราณว่าไว้ ทุมเกตุเกิดมี

แลดูท้องฟ้า เตี้ยต่ำเต็มที ดวงพระจันทร์นี้ แดงคล้ำหมองไป

ครั้นถึงเวลา พระสงฆ์ปวารณา เสด็จสวรรคาไลย”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ไม่ต่างกับเหตุการณ์วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (พระธิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ทรงบันทึกไว้ในหนังสือ “พระราชนิพนธ์และพระนิพนธ์” (พิมพ์เนื่องในงานฉลองพระชันษา ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ครบ 84 พรรษา) ดังนี้

“ข้าพเจ้าก็ไปเฝ้าคอยเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนินแถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียว ทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส อากาศมืดคลุ้มมีหมอกขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละคือหมอกธุมเกตุ ที่ในตำราเขากล่าวถึงว่า มักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆ เกิดขึ้น”

การจากไปของบุคคลสำคัญแต่ครั้งพุทธกาลเป็นต้นมา ธุมเกตุเป็นหนึ่งในเหตุอัศจรรย์ บันทึกไว้ทั้งในวรรณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ธุมเกตุบอกเหตุวิปโยค แม้จะแปลกประหลาดผิดธรรมดา แต่ก็เคยเกิดขึ้นจริง

โดยเฉพาะหมอกธุมเกตุในวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือความทรงจำที่ไม่มีวันลืม •