เกษียร เตชะพีระ : หนทางรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์

เกษียร เตชะพีระ

โลกแปรสัณฐาน (5) : หนทางรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์

ย้อนอ่านตอน 4 3

ตามทฤษฎี “หนทางการเมืองสามแพร่ง” (The Political Trilemma) ในเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์ปัจจุบันของ ศ.แดนี รอดริก แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในหนังสือ The Globalization Paradox : Democracy and the Future of the World Economy (ค.ศ.2011) นั้น หากประเทศใดต้องการทั้ง [อธิปไตยแห่งชาติ+ประชาธิปไตยเต็มใบ] ก็จำต้องปฏิเสธไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ โดยเลือกหนทางการเมืองรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods compromise) แทน

ชื่อเรียกหนทางแพร่งที่สามดังกล่าวหวนรำลึกอ้างอิงถึงการประชุมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปลายสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจโลกสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ดังปรากฏเรื่องราวสังเขปบนป้ายรำลึกการประชุมดังกล่าว ณ สถานที่ประชุมจริงในมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐอเมริกา ว่า :

“การประชุมการเงินเบรตตัน วูดส์

“สถานที่แห่งนี้ในเมืองคาร์รอลล์ซึ่งถูกขนานนามว่า “เบรตตัน วูดส์” ในปี ค.ศ.1903 เพื่อเตือนใจให้ระลึกถึงการโอนที่ดินผืนนี้ให้ตอนแรกเริ่มเมื่อปี ค.ศ.1772 นั้น ได้ถูกเลือกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1944 ให้เป็นที่จัดการประชุมสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การประชุมเบรตตัน วูดส์ ซึ่งบรรดาชาติฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกประชุมขึ้นก่อนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองและมีผู้แทนจาก 44 ประเทศเข้าร่วมประชุมนั้น ได้สถาปนากฎระเบียบสำหรับระบบการเงินระหว่างประเทศหลังสงคราม ที่ประชุมได้ก่อกำเนิดกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกในอนาคตขึ้น รวมทั้งผูกโยงอัตราเงินตราสกุลต่างๆ ของโลกเข้ากับค่าทองคำ”

ป้ายรำลึกการประชุมการเงิน

สองมันสมองหลักทางเศรษฐศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ ได้แก่ แฮร์รี่ เดกซ์เตอร์ ไวต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศสังกัดกระทรวงการคลัง สหรัฐอเมริกา ซึ่งรับผิดชอบยกร่างเค้าโครงจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) กับ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับยกย่องว่าทรงอิทธิพลที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายอังกฤษในที่ประชุม ซึ่งรับผิดชอบยกร่างเค้าโครงจัดตั้งธนาคารโลก (World Bank) ขึ้น

ปรากฏว่าความเห็นของไวต์กับเคนส์ไม่ตรงกันในหลายประเด็น

โดยไวต์โน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมและเน้นเสริมสร้างอำนาจครอบโลกทางเศรษฐกิจของอเมริกาหลังสงคราม

ทว่า เนื่องจากอำนาจในการเจรจาต่อรองของฝ่ายอเมริกาเหนือกว่าหลายขุม สุดท้ายเคนส์ต้องรอมชอมยอมตามแผนการของไวต์เสียส่วนใหญ่

(ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน เกษียร เตชะพีระ, “ภาค 2 ระเบียบการเงินโลกเบรตตัน วูดส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง”, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555, น.92-108)

ข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ถือเป็นการรอมชอมตรงที่มันสละทิ้งซึ่งไฮเปอร์โลกาภิวัตน์ และเปิดทางให้นานาชาติบริหารจัดการเศรษฐกิจตามแนวทางแห่งชาติของตนเองได้ตราบเท่าที่ประเทศเหล่านั้นยอมขจัดข้อจำกัดกีดขวางการค้าข้ามพรมแดนจำนวนหนึ่งออกไปและปฏิบัติต่อคู่ค้าทั้งปวงอย่างเสมอหน้ากัน (= เปิดการค้าเสรี)

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเบรตตัน วูดส์หาได้เปิดเสรีทางการเงินด้วยไม่ (= ปฏิเสธไฮเปอร์โลกาภิวัตน์) หากสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ คงข้อจำกัดการไหลเวียนเข้าออกของเงินทุนไว้ เนื่องจากบรรดาผู้ยกร่างข้อตกลงไม่เชื่อว่าการปล่อยให้กระแสเงินทุนไหลเข้าออกอย่างเสรีจะเข้ากันได้กับการธำรงรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้นถือว่าอยู่นอกขอบเขตของวินัยระหว่างประเทศดังกล่าวนี้

จะเห็นได้ว่าข้อตกลงเบรตตัน วูดส์เปิดพื้นที่กว้างพอให้ชาติต่างๆ คงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยในการเลือกเดินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบต่างๆ อันหลากหลายของตัวเองได้

ส่งผลให้ช่วงราวสี่ทศวรรษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศเขตแคว้นภูมิภาคของโลกต่างเดินเส้นทางพัฒนาไปต่างๆ กัน อาทิ :

– ยุโรปตะวันตกเลือกบูรณาการเข้าด้วยกันเป็นภูมิภาคและก่อตั้งรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น

– ญี่ปุ่นวิ่งกวดไล่ทันตะวันตกด้วยทุนนิยมที่มีบุคลิกเอกเทศของตนเอง ซึ่งผสมผสานภาคส่งออกพลวัตสูงเข้ากับภาคเกษตรและบริการในประเทศที่ค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพ

– เสือเศรษฐกิจตัวอื่นในเอเชียตะวันออก (เกาหลีใต้, ไต้หวัน, สิงคโปร์, ฮ่องกง) สร้างปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพานโยบายอุตสาหกรรม (ซึ่งมาถูกองค์การการค้าโลกสั่งห้ามในชั้นหลัง)

– หลายสิบประเทศในลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยอัตราสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนจนกระทั่งถึงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1970 โดยดำเนินนโยบายสร้างอุตสาหกรรมในประเทศทดแทนการนำเข้า ซึ่งเป็นฉนวนคุ้มกันเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ไว้จากเศรษฐกิจโลก

– ส่วนจีนพอหันไปยอมรับและปลดปล่อยพลังริเริ่มสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ชนิดฉีกกฎเกณฑ์ในคู่มือพัฒนาเศรษฐกิจไปมากมายหลายข้อทีเดียว

ทว่า พอถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 หนทางรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์ก็กลับถูกนานาประเทศทยอยยกเลิกไปเสียส่วนใหญ่ ภายใต้กระแสเปิดเสรีทางการเงินให้ทุนไหลเข้าออกประเทศอย่างเสรีซึ่งกระพือสะพัดแรง และประดาข้อตกลงทางการค้าที่เริ่มล้วงเข้ามาเบื้องหลังพรมแดนแห่งชาติทั้งหลายลึกขึ้นเรื่อยๆ

พร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจาก [ระเบียบการเงินโลกเบรตตัน วูดส์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง] -> ไปสู่ [ระเบียบการเงินโลกโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ ค.ศ.1975-ปัจจุบัน] เห็นได้ชัดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลกโดยเฉลี่ยลดต่ำลง จากที่เคยเกินกว่าปีละ 6% ในยุคเบรตตัน วูดส์ มาเป็นไม่เคยเกิน 5% เลยในยุคโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ มิหนำซ้ำยังผันผวนขึ้นลงกว่าก่อนมากด้วย (ดูแผนภูมิประกอบ)

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคืออัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริงทั่วโลก เมื่อคำนวณเฉลี่ยเป็นคริสต์ทศวรรษแล้ว ปรากฏว่าจากที่เคยสูงถึง 5.5% ในยุคเบรตตัน วูดส์ (ค.ศ.1961-1970) ลดเหลือเพียงไม่ถึง 4% ในช่วง 4 ทศวรรษหลังจากนั้น (ค.ศ.1971-1980, 1981-1990, 1991-2000, 2001-2010)

การเมืองของนานาประเทศในเศรษฐกิจโลกหลังยุคเบรตตัน วูดส์ ก็ลอยเคว้งไปมาอยู่ระหว่างหนทางการเมืองสามแพร่งนั้นเอง (กล่าวคือ เสื้อรัดแขนทองคำ, โลกาภิบาล และรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์) โดยที่ผู้วางนโยบายส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยตระหนักรับอย่างเปิดเผยและเผชิญหน้าจ้องตรงๆ เต็มตากับความจริงที่ว่าเราต้องยอมลดละเป้าหมายโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจให้ต่ำลง ถ้าหากเรายังต้องการให้รัฐชาติเป็นที่สถิตหลักของการเมืองแบบประชาธิปไตยต่อไป

หากเราจะเลือกเอา [อธิปไตยแห่งชาติ+ประชาธิปไตยเต็มใบ] แล้ว ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมรับโลกาภิวัตน์ฉบับเบาบาง (a “thin” version of globalization) ด้วยการประดิษฐ์คิดสร้างหนทางรอมชอมแบบเบรตตัน วูดส์ขึ้นมาใหม่ในแบบฉบับที่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ต่างไปของเราในปัจจุบัน อย่างมีจินตนาการ กล้าริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ และกล้าทดลอง