สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/ยาดีอีสานจากหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ยาดีอีสานจากหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ

งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติประจำปี 2560 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพิ่งสิ้นสุดไปหมาดๆ

แต่เรื่องราวดีๆ ของ “เสน่ห์ไทย ภูมิปัญญาสมุนไพรไทย 4.0” ยังคงเป็นที่เล่าขานและพัฒนาต่อไปไม่สิ้นสุด

จุดเด่นของงานมหกรรมครั้งนี้ก็คือการมอบรางวัลในพิธีการเปิด

ที่เริ่มจากการกลับไปหารากเหง้าของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ด้วยการประกาศเกียรติคุณ “หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปีนี้คือ พ่อหมอทองสา เจริญตา ปราชญ์หมอสมุนไพร ใจพระ แห่งบ้านห้วยคล้อ ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด

กว่า 56 ปีในวีถีหมอพื้นบ้านอีสาน พ่อหมอทองสาให้บริการเยียวยารักษาความเจ็บไข้ของชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนรอยต่อ 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์

เป็นการบริการแบบให้เปล่าที่ได้รับเพียงค่ายกขันครูตามธรรมเนียมและค่าสมนาคุณตามแต่คนไข้จะให้โดยไม่มีการเรียกร้องใดๆ

แต่สิ่งตอบแทนที่มีค่ามากกว่าเงินตรา คือ ความอิ่มใจที่ลูกไข้หายป่วย และความรักความศรัทธาที่ชุมชนมอบให้

นี่คือเมตตาคุณของหมอพื้นบ้าน ซึ่งควบคู่ไปกับวิทยาคุณอันเป็นความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรบำบัด และพิธีกรรมบำบัดที่ท่านคร่ำหวอดกับการรักษาสารพัดโรคกายโรคจิตของชาวบ้าน ตั้งแต่ โรคไข้ชนิดต่างๆ โรคโลหิตสตรี โรคกษัย ไตพิการ โรคตับ รักษากระดูกหัก กระดูกแตก งูสวัด อีสุกอีใส แผลฝีเรื้อรัง แก้พิษงู ไปจนถึงพิษแมลงสัตว์กัดต่อยอื่นๆ และในสมัยที่ยังไม่มีสถานีอนามัยและโรงพยาบาลอำเภอ

ท่านยังเป็นหมอตำแยทำคลอดในชุมชน บ่อยครั้งการรักษาต้องมีการเป่าคาถาอาคม และพิธีกรรมการบายศรีสู่ขวัญประกอบด้วย เพื่อบำรุงขวัญกำลังใจให้คนไข้หายเป็นปกติทั้งกายและใจ

ในที่นี้ขอกล่าวถึงความเชี่ยวชาญการรักษาโรคที่เลืองลืออย่างหนึ่งของพ่อหมอทองสาคือ การรักษา “โรคหล่อย” อันเป็นภาษาอีสาน หมายถึง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต นั่นเอง

ซึ่งท่านมีวิธีจำแนกโรคดังนี้คือ ถ้าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง กะปลกกะเปลี้ย แต่ยังสามารถขยับแขนขา ลุกนั่ง เดินได้แม้ไม่ปกติ ก็เทียบได้กับโรคอัมพฤกษ์

แต่ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถขยับแขนขา อวัยวะซีกใดซีกหนึ่งหรือทั้งสองซีกได้ ก็เท่ากับเป็นโรคอัมพาต

และที่เป็นหนักคือ อาการลิ้นกระด้างคางแข็ง ขยับขากรรไกรไม่ได้ พูดไม่ได้เลย ซึ่งอาการที่ต่างกันเหล่านี้ท่านมีวิธีการรักษาและให้ยาสมุนไพรต่างกัน

ระบบยาที่ใช้รักษาโรคหล่อยมีทั้งยากินและยาภายนอก แบ่งเป็น 4 ประเภทคือ

(1) ยาสมุนไพรสำหรับกิน มีทั้งยาฝนและยาต้ม

(2) ยาตั้งหรือยาประคบสมุนไพร

(3) ยาอบสมุนไพร

และ (4) ยาอาบสมุนไพร

ในที่นี้จะกล่าวถึงยากินเป็นหลักซึ่งมีอยู่ 3 ตำรับ ที่ต้องใช้ควบคู่กันไปตามความหนักเบาของโรค ได้แก่

1) ตำรับยาฝน แก้เลือดหรือยาแก้เลือดลม เพื่อช่วยให้เลือดลมเดินสะดวกทั่วร่างกายไม่ติดขัด อาจเทียบได้กับอาการลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดสมองหรือความดันโลหิตสูง ยาตำรับนี้ประกอบด้วย รากโลดทะนงแดง รากกำจาย (กระจาย) ตะไคร้ต้น (สิงไค้ต้น) รากเต่าเกียด (แฮนปลากั้ง) รากสะค้านและหัวข้าวเย็นเหนือ ใช้รากยาทั้งหมดฝนกินแทนน้ำจนกว่าจะหาย

2) ตำรับยาต้ม แก้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ใช้ยาตัวเดียวคือ แก่นต้นมะกล่ำ ตอกเป็นแท่งขนาดเท่านิ้วมือใช้จำนวนหนึ่งกำมือของผู้ป่วย ต้มดื่มแทนน้ำจนยาจืด (ประมาณ 7 วัน) แล้วเปลี่ยนยาต้มกินจนกว่าอาการจะดีขึ้น ยาฝนและยาต้มทั้ง 2 ตำรับ ใช้ในกรณีผู้ป่วยโรคหล่อย ประเภทอัมพฤกษ์ แต่ถ้าถึงขั้นอัมพาตจะต้องเพิ่มยาฝนอีกหนึ่งตำรับคือ

3) ตำรับยาฝนแก้อัมพาต มีอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง เว้าบ่ออก (พูดไม่ได้) ประกอบด้วยตัวยาสมุนไพรประเภท สัตว์วัตถุล้วนๆ หรือกระดูกคางสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่างๆ ได้แก่ คางจระเข้ คางกิ้งก่ายักษ์ (ตัวกระท่าง) คางตุ๊กแก คางตัวเงินตัวทอง และคางตะกวด (ตัวแลน)

ถ้าให้ได้ผลดีต้องใช้ลิ้นตะกวด ฝนร่วมด้วยกินต่างน้ำจนกว่าอาการดีขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยในรายที่เป็นสตรีหลังคลอดบุตร ซึ่งเกิดอาการอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต กะทันหัน นอกจากใช้ยา 3 ตำรับข้างต้นแล้วต้องใช้ยาฝนเพิ่มอีกตำรับหนึ่ง เพื่อแก้อาการผิดสำแดง ซึ่งประกอบด้วย รากชมชื่น รากกระเบา รากรางจืด รากเครือขาว และเปลือกตะไคร้ต้น

ยาทั้งหมดนี้ใช้ฝนกินเมื่อมีอาการเท่านั้น ในระหว่างกินยาฝน ยาต้ม ดังกล่าวแล้ว ผู้ป่วยยังต้องเข้าคอร์สการบำบัดด้วยการประคบ อบ และอาบด้วยสูตรตำรับสมุนไพรอีสานขนานแท้ ทำทุกวันจนกว่าอาการโรคจะทุเลาลง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิใช่เป็นการแนะนำให้ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตรักษาด้วยตัวเอง แต่เพื่อสาธิตการรักษาโรคเรื้อรังดังกล่าวด้วยกระบวนการเยียวยาของหมอพื้นบ้านอีสานที่ปฏิบัติได้ผลสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

ที่สำคัญคือหมอพื้นบ้านเหล่านี้ท่านใช้ตัวยาสมุนไพรใหม่ๆ ที่แสวงหาได้ในป่าไม้ใกล้ชุมชนของท่านนั้นเอง

มีภาษิตบู๊ลิ้มหนึ่ง กล่าวว่า ระยะทางหมื่นลี้ เริ่มต้นจากหนึ่งก้าวแรก ดังนั้น สมุนไพรไทยจะก้าวสู่ 4.0 ได้ ย่อมต้องเริ่มต้นได้ข่าวแม่กิ่งเสียแล้ว ฝากแสดงความเสียใจด้วยนะ จากภูมิปัญญา 1.0 ของการแพทย์ดั้งเดิมของไทย