อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (18)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (18)

 

ไร่ผักชี

บนเชิงเขารูปเดือนเสี้ยว

เมื่อเรามาเที่ยวแถวนี้ในช่วงแรกๆ ผ่านหมู่บ้านชาวบ้านที่มีไม่กี่หลัง เข้ามาถึงแนวภูเขาแล้วก็แทบไม่มีบ้านใครเลย ตามแนวตีนเขาฝั่งทิศใต้มีแต่พืชสวนพวกกล้วยมะละกออยู่ที่เดียว นอกนั้นเป็นป่าล้วนๆ

ถ้ายืนอยู่ไกลๆ จะมองเห็นภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาเตี้ยๆ เรียบๆ ต่อเนื่องกันในแนวเหนือ-ใต้ ยาวสักไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร แต่ด้านหลังเขาลูกนี้เป็นหุบใหญ่ที่มีภูเขาทำนองเดียวกันทั้งเล็กทั้งใหญ่ทับซ้อนต่อเนื่องกันไกลออกไปถึงถนนอีกเส้นหนึ่ง ไม่ทราบว่ากี่กิโลเมตร

ถ้าเข้ามาอยู่ใกล้ๆ ตรงแนวกลางๆ ภูเขาทั้งลูกที่เราจะปลูกบ้าน มันก็ไม่ใช่พื้นที่เรียบๆ ตามที่เห็นแต่ไกล แต่มีหินมีดินยุบเข้ายื่นออกมานอกแถวเป็นระยะ

โดยเฉพาะจากปลายสุดด้านใต้ลึกเข้ามาสักสามสี่ร้อยเมตรมันเป็นแนวโค้งยื่นออกมาจนดูเหมือนว่าส่วนนี้คือภูเขาลูกหนึ่งรูปเดือนเสี้ยวที่มีความยาวแค่สองสามร้อยเมตร (ตามแนวยาว) ซ้อนทับอยู่กับภูเขาใหญ่ทั้งลูก

ในเวิ้งเข้ารูปเดือนเสี้ยว เป็นที่อยู่ของคนที่เข้ามาปลูกบ้านไล่เลี่ยกับเรา 5-6 หลังคาเรือน แต่ละหลังอยู่ห่างกันไม่ต่ำกว่าร้อยสองร้อยเมตร (ตามแนวกว้างและยาว) บ้านเราอยู่เกือบกลางเดือนเสี้ยวดวงนี้ สูงกว่าระดับน้ำทะเลราว 120 เมตร

แต่เราเดินทางขึ้นมาโดยไม่รู้สึกว่ามันสูงอะไรเลย เพราะพื้นที่มันค่อยๆ สูงขึ้นๆ มาตั้งแต่สี่แยกทางเข้าเมืองซึ่งห่างจากตรงนี้เกือบสามกิโลเมตรแล้ว

เจ้าหล่อนก็หั่นรากฉับๆ หมดทั้งเข่ง

ก่อนที่จะปลูกบ้าน ชาวบ้านปลูกผักชีกันเกือบตลอดแนวภูเขา ดังที่เคยกล่าวไว้ว่าเมื่อก่อนเขาเผาถ่านขาย หลังจากเผาถ่านก็ปลูกพืชเศรษฐกิจ พวกยูคา มันสำปะหลัง หรือข้าวโพด สุดท้ายกลับมาเป็นผักชี

มันเป็นภาพที่โรแมนติกมาก ผักชีท่วมเชิงเขา ชาวบ้านทำงานในไร่ของเขา แต่ละคนทำได้ไม่มากนัก 2 ไร่ก็เก่งแล้ว และยังพอมีระบบลงแขกเหลืออยู่ ถึงเวลาถอนหญ้าหลายคนช่วยกัน และพออีกแปลงหนึ่งจะถอนหญ้าหรือถอนต้นขายเพื่อนแปลงอื่นก็ลงแขกกัน

ฉันมองภาพชาวบ้านแบกกระบุงใส่ผักชีไปวางริมถนนสองข้างทาง

ภาพชาวบ้านร่วมกันแต่งรากผักชีที่เก็บขึ้นมาในเพิงหลังคาที่สร้างขึ้นมาใช้ร่วมกันในการนี้ ดูมีความสุขดีเหลือเกิน มันเป็นภาพเจริญตาเจริญใจอย่างบอกไม่ถูก

น่าเสียดายที่ภาพเหล่านี้หายไปอย่างถาวรหลังจากที่เราได้เห็นแค่ปีสองปี

สาเหตุเพราะพื้นที่นี้ดินไม่ค่อยเหมาะสมกับการเกษตร ไม่อุ้มน้ำ หินเยอะ แล้วก็ร้อนแล้ง ฝนไม่ตกนานผักชีก็อยู่ไม่ได้

และยังมีสาเหตุที่ฟังแล้วช่างขัดแย้งกับความรู้สึกดีๆ แต่แรกเห็นมากเหลือเกิน

ที่เราเห็นเขาปลูกกันสวยงามเต็มเชิงเขานั้น เจ้าของที่ดินยกให้ชาวบ้านปลูกเอง

ชาวบ้านหลายๆ คนรวมกันมีตัวแทนคนหนึ่งมาเจรจาขอใช้ที่ฤดูกาลละแค่ 2-3 เดือน

เจ้าของที่ส่วนมากก็ยกให้ปลูกเฉยๆ ไม่คิดค่าเช่าซึ่งก็ไม่มากมายอะไร

ผ่านไปจนจบ คุยกันไปมาอย่างไรไม่ทราบจึงรู้ความจริงว่า ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับอนุญาตใช้ที่ดินนั้น กลับนำไปให้ชาวบ้านอื่นๆ เช่าจากตนนับสิบคน โดยไม่ต้องส่งให้เจ้าของที่ดิน

เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้กับชาวบ้านด้วยกันเองใน พ.ศ.2554-2555 นี้

แต่เวรกรรมมีจริง กรรมสมัยนี้ก็อย่างที่เขาว่ามันติดจรวด ตัวแทนชาวบ้านที่ทำผักชีปีนั้นได้กำไรมากมาย จนตั้งตัวได้

ไม่ทันไรก็มีปัญหาครอบครัว หย่าร้างกับภรรยาและตนเองก็ไปทำไร่ที่อื่น ขับรถไถตกอะไรไม่รู้บาดเจ็บสาหัส มีคดีฟ้องร้องเรื่องไถที่ผิดแปลง ทำที่ดินของคนอื่นเป็นเหมือนของตนจนเจ้าของที่ฟ้อง ฯลฯ

แม่ค้ารับซื้อ มองผักชีแล้วบอกว่า ผักชีใบลาย ราคาตก ซื้อแต่ราก

จากเรื่องผักชีของชาวบ้าน มาถึงผักชีของเราเอง พูดให้ถูก…ผักชีของนายจักร

ปีนั้น 2558 นายจักรเขาอยากปลูกผักชี เขามีเวลามาก เรียนปริญญาตรีหลักสูตรพิเศษเสาร์-อาทิตย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีเวลาว่างอาทิตย์ละหลายวัน ฉันฟังแล้วหวนคำนึงถึงไร่ผักชีแสนโรแมนติกที่หายไปนานแล้วเลยรีบเห็นด้วย มันเป็นพืชที่ใช้เวลาสั้นมากๆ ไม่ถึงสามเดือนก็จบ

ระยะเวลาเริ่มต้นมักเป็นปลายๆ ฝนผักชีต้องการน้ำเป็นระยะ แต่ต้องไม่ใช่ฝนชุก รากจะเน่า

ที่ดินแปลงที่ติดแปลงปลูกบ้านนี้ลงไปข้างล่าง มีว่างอยู่สามไร่ ดินตรงนั้นดูดีกว่าบนบ้านด้วย เขาจะใช้ที่ไม่เกินสองไร่

เริ่มต้นก็ต้องเตรียมดิน และสั่งฟางข้าวเป็นมัดๆ ใหญ่ๆ มากองรอไว้เยอะพอสมควร แล้วก็ลงมือเป็นขั้นตอนคร่าวๆ

คือ…

ไร่ผักชี ไถสองรอบ หว่าน ปูฟางแล้ว

วันแรก เอารถไถมาไถดิน ผึ่งดินตากแดดไว้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งอาทิตย์

การไถนี้มันก็เป็นร่องเล็กๆ ตามแนวการไถอยู่แล้ว ไม่ต้องไถทำร่องเป็นแปลงใหญ่เหมือนปลูกผักทั่วไป

ตากดินจนหญ้าตายหมด แล้วก็ไถรอบสอง ฉีดพ่นดินด้วยยาฆ่าหญ้าทิ้งไว้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง ก็หว่านเมล็ดให้กระจายสม่ำเสมอทั่วถึงทั้งหมด

ระหว่างตากดินก็คลี่ฟางจากมัดหนาๆ แน่นๆ ออกกองรอไว้ หว่านเสร็จก็เอาฟางที่คลี่ไว้แล้วลงคลุมให้ทั่ว ต้องคลุมให้หนาพอที่แดดส่องไม่ทะลุลงไปถูกเมล็ดที่หว่านไว้

คอยดูด้วยว่ามีนกมาจิกกินเมล็ดที่หว่านไว้มากไหม เพื่อการนี้ นายจักรเขาทำหุ่นไล่กาไว้ด้วย ดูตลกพิลึก จะได้ผลไม่ได้ผลต้องถามคุณลุงที่อยู่บ้านตรงข้ามกับที่ดินแปลงนี้ เพราะเราได้ยินแกซึ่งออกมานั่งที่ระเบียงหน้าบ้านคอยเคาะกะละมังโครมครามๆ ช่วยไล่นกให้นายจักรแทบทุกเช้า

เมล็ดพันธุ์ผักชีนี้มีหลายยี่ห้อ ต้องถามคนขายและถามพวกรับซื้อผักชีและคนเคยปลูกด้วยว่ายี่ห้อไหนเป็นอย่างไร เลือกพันธุ์ให้ดีด้วย

ผักชีที่ปลูกกันอยู่มีสองพันธุ์ พันธุ์ที่ต้นสูงยาวจะได้ราคาได้น้ำหนักมากกว่า แต่มันขาดน้ำไม่ได้ ถ้าน้ำพอดีจะเจริญงอกงาม นิยมปลูกกัน แต่ไม่ทนแล้ง อีกพันธุ์หนึ่งต้นเตี้ยเล็กกว่า น้ำหนักน้อยกว่า แต่ทนแล้งได้ ชาวบ้านบางคนแนะนำให้ใช้ทั้งสองพันธุ์ปลูกผสมกัน เผื่อเหนียว ถ้าร้อนแล้วก็ยังพอมีให้เก็บบ้าง ถ้าน้ำดีก็ดีได้ทั้งสองชนิด ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็ตาม เมื่อหว่านแล้วก็ต้องคอยดู ไม่มีฝนเลยก็ต้องรดน้ำ ส่วนมากสองวันครั้ง

วันที่ 10-2 อาทิตย์ เมล็ดจะเริ่มงอก ใบแหลมๆ เล็กๆ ยังไม่มีรอยหยักจะทะลุฟางขึ้นมาน่าตื่นเต้นเหมือนภาพศิลป์ไม่มีผิด เป็นศิลปะธรรมชาติสดๆ ล้วนๆ

อาทิตย์ที่ 3-4 ใบจะงอกเพิ่ม 4-6 ใบ เริ่มมีใบหยักๆ แล้ว ตอนนี้จะมีหญ้าขึ้นเบียด ต้องถอนหญ้ารอบแรก แล้วหว่านปุ๋ยบางๆ สูตร 46-0-0 เร่งใบ-ก้าน ถ้ามีน้ำค้างลงก็ต้องพ่นยาป้องกันเชื้อราบางๆ

อาทิตย์ที่ 5 เริ่มมีต้นใหญ่ให้ต้องถอนบ้างแล้ว เลือกถอนตรงที่ขึ้นเป็นกลุ่มเป็นก้อนเบียดกันแน่นๆ เพื่อแยกต้นออกให้มันเหลือห่างกันพอสมควร ถอนแล้วก็หว่านปุ๋ยบางๆ เป็นปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ตอนหว่านเมล็ดถ้าให้เมล็ดมันกระจายสม่ำเสมอก็จะไม่มีปัญหาเบียดกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งจะทำให้เติบโตไม่เต็มที่ เก็บก็ยากขึ้น

ผักชีนี้ถ้าปลูกรวมๆ กันหลายคนเป็นแปลงใหญ่ เวลาถอนขายก็ง่าย พ่อค้าคนกลางจะมารับซื้อตามจุดที่มีเยอะ ถ้าทำลำพังเดี่ยวๆ ไม่กี่ไร่ก็ต้องเอาไปขายเองตามแหล่งที่เขามารับซื้อ

อาทิตย์ที่ 6-7 เป็นต้นไป

เป็นระยะที่เก็บขายได้หมดรอบแรก แล้วก็เก็บขายได้เรื่อยๆ จนหมด

เก็บขายหมดรอบทีก็ใส่ปุ๋ยบางๆ เสียที

ส่วนหญ้าถอนรอบแรกมากที่สุด แล้วก็ถอนมาเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสม

น้ำถ้าขาดก็ต้องรดเป็นระยะ ดูความชื้นของดินตามความเหมาะสม ถ้าฝนตกพอชื้นบ่อยก็แทบไม่ต้องรดน้ำเพิ่มเลย

ถ้าผักชีงามมาก น้ำกำลังดี อาจเก็บได้ 3-5 รอบใหญ่ๆ

ต้องคอยถอนหญ้าบ่อยๆ

สรุปผักชีปีนี้ ขาดทุนยับเยิน เมื่อแรกปลูกราคากิโลกรัมละ 200 ตอนขายจริงเหลือกิโลกรัมละ 40-50

ส่วนหุ่นไล่กาสงสัยจะหล่อและสวยเกินไป เรียกนกมาลงพรึ่บพรั่บทุกวัน จนเมล็ดงอกหมดแล้ว นกจึงหายไป

เสร็จไปหนึ่งปียังไม่เข็ด ต่อมานายจักรยังอยากทำอีกหน

คราวนี้ทำที่เดิมราว 2 ไร่ มีประสบการณ์แล้ว ชำนาญพอสมควรแล้ว ผลผลิตดูดีขึ้น วันเอาผักชีไปขาย ฉันอยากไปดูว่าเขาซื้อขายกันยังไง

ไม่ไกลจากที่นี่นัก หมู่ 4 ด้วยกันนี่แหละ มีคนปลูกผักชีรวมหลายเจ้า เอาผักชีที่เลือกทำเป็นมัดๆ จนสวย (คือลอกก้านใบล่างสุดที่อาจเหี่ยว เหลือง แก่ ออกหมด เหลือแต่โคนสวยๆ กับรากมัดรวมเป็นกำใหญ่ๆ) ใส่เข่งขึ้นรถไป เขากำลังซื้อขายกันตรงริมทางนั่นแหละ

ชาวบ้านผู้ปลูกแบกเข่งผักชีของตนมาวาง ผู้ซื้อเอาขึ้นชั่งกิโล จ่ายราคาตามราคาประจำวันที่ขึ้นลงตามตลาดค้าส่งในกรุงเทพฯ พอถึงของเรา เขาหยิบมาดูแล้วเอามีดตัดฉับทิ้งยอดไปครึ่งต้น เหลือไว้แต่โคนกับราก

“อ้าว ทำไมทำงั้นล่ะ”

“มันขายไม่ได้ ใบมันลาย เลยต้องขายแต่ราก”

ใบมันลาย คือผักชีที่โดนน้ำมากไป พอน้ำที่เกาะใบแห้งแล้วมันจะกลายเป็นรอยด่างเป็นจุดๆ จากใต้ผิวใบทำให้สีเขียวกลายเป็นเขียวๆ ขาวๆ กระดำกระด่าง

ขายได้แต่รากแปลว่าราคาลดลงกว่าครึ่ง! อนิจจัง

เก็บผักชี

ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ อาจินต์นั่งเฉยๆ คอยฟัง จำ รับรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทุกคนพูดกัน ทำกัน อาจินต์รู้หมด นานๆ จะแสดงความเห็นสักที แต่เกือบทุกกรณี จะให้กำลังใจทุกคนเสมอ

จักรเก็บผักชีจากไร่ข้างล่างใส่เข่งขึ้นมาวางที่โรงรถใต้ถุนบ้าน ตั้งกองทำผักชีคือแต่งโคนให้สะอาดเกลี้ยงเกลา ทำเป็นมัดๆ วางเรียงในกะละมังแช่รากในน้ำก้นกะละมัง เสร็จหมดแล้วทยอยเอาลงเข่ง ขนไปขาย

อาจินต์บอกฉันช่วยอะไรไม่ได้ ได้แต่ลงไปนั่งมองดูทุกคนช่วยกันทำทุกอย่าง ขอผักชีสองกำใหญ่ๆ ไปถือในมือทั้งสอง ยกชูให้กำลังใจคนปลูกผักชีที่กำลังจะออกไปส่งขายให้แม่ค้าส่ง ให้มีกำลังใจทำงาน

อนิจจา

ผักชีใบลาย!

กำลังใจจากอาจินต์!

ถึงอย่างไรก็ชื่นใจ!!

อาจินต์ยกผักชีสองกำชูให้กำลังใจ