สำรวจชีวิต-ทัศนคติ หลังสละ ‘ผ้าเหลือง’ ของ ‘อดีตเณรโฟล์ค’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

สำรวจชีวิต-ทัศนคติ

หลังสละ ‘ผ้าเหลือง’

ของ ‘อดีตเณรโฟล์ค’

 

“โฟล์ค-สหรัฐ สุขคำหล้า” หรือ “อดีตสามเณรโฟล์ค” เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเป็น “แคร์รอต” ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นเวทีปราศรัยของคณะราษฎร 2563

อย่างไรก็ตาม การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยนุ่งห่มผ้าเหลือง กลับนำไปสู่แรงบีบคั้น-ต่อต้านมากมายจากฝ่ายอำนาจรัฐ ที่หนักหนาสาหัสสุด คือ การโดนดำเนินคดี ม.112

จนในที่สุด “โฟล์ค” ซึ่งเริ่มบวชเรียนมาตั้งแต่ตอนอายุ 12 ปี ก็ตัดสินใจสละสมณเพศ โดยเจ้าตัวอธิบายว่านี่เป็นการสึกอย่าง “ไม่เต็มใจ” ด้วยเหตุผลเพราะ “การถูกกดดัน” หลังเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมือง

รายการ “เอื้อย talk” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งไปพูดคุยกับโฟล์คในฐานะฆราวาสหนุ่ม ผู้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างมหาศาล แต่เขายังมีความสนใจในเรื่องบ้านเมืองเหมือนเคย

ชายหนุ่มยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน “อำนาจทางวัฒนธรรม” ที่ตนเองเคยมีในฐานะสามเณรนั้นไม่หลงเหลืออยู่แล้ว ดังนั้น เขาจึงต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างในแบบคนเสมอกันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น อดีตสามเณรที่มีสถานะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ก็ต้องเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเอง

ปัจจุบัน โฟล์คทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยของโปรเจ็กต์การศึกษาในหัวข้อ “บัณเฑาะก์สามารถบวชได้หรือไม่?” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นประเด็นน่าสนใจ ในการพยายามค้นหาคำตอบว่าพุทธศาสนาสามารถเปิดรับความหลากหลายทางเพศได้มากน้อยเพียงใด?

ส่วนในแง่บุคลิกภาพภายนอก “อดีตเณรโฟล์ค” ยอมรับตรงๆ ว่าเขายังเดินเหินหรือเคลื่อนไหว “ช้า” อยู่ เนื่องเพราะติดนิสัยแบบนักบวชที่ต้องมีความเคร่งครัด-สำรวม

ที่ผ่านมา ความใฝ่ฝันถึงอนาคตของโฟล์คนั้นเปลี่ยนแปลงหรือมีพลวัตไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัยและประสบการณ์การเรียนรู้

แรกสุด เขาเคยฝันอย่างเป็นนักฟุตบอล แต่พอเริ่มเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เป้าหมายก็ผันแปรไปสู่การอยากจะทำงานช่วยเหลือสังคมและชาวบ้าน

มีห้วงเวลาหนึ่ง ที่โฟล์คอยากประกอบอาชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่คิดอีกที เขาก็รู้สึกว่าตนเองยังอ่านหนังสือไม่เยอะพอ

และล่าสุด เขาก็มีความฝันครั้งใหม่ หลังติดตามสถานการณ์การเมืองมาระยะใหญ่

“แต่พอการเคลื่อนไหวขึ้นมาเรื่อยๆ เราอยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ เราต้องเข้าไปในการเมือง คือผมคิดว่ามันต้องบีบให้เราไปจบลงตรงสภา เพื่อหลีกหนีความรุนแรงแบบพม่าหรือการจลาจลที่อื่น”

อดีตนักบวชหนุ่มไม่ปฏิเสธว่าเขาอยากทำงานการเมือง ทว่า “สภาพการเมือง” ณ ตอนนี้ กลับมีบางอย่างที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังสักเท่าใดนัก

“แต่ผมคิดว่ารัฐสภาเองต้องตอบโจทย์ให้ได้ ไม่ใช่แบบว่าไม่มาประชุม สภาล่มตลอด มันไม่ไหว เพราะประชาชนเขาก็อึดอัด”

ในวันข้างหน้า ถ้าต้องเลือกพรรคการเมืองต้นสังกัด โฟล์คยืนยันว่าปัจจัยแรกที่เขาต้องพิจารณา คือ อุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้นๆ

เมื่อพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง ทางรายการจึงสอบถามว่า ทำไมตอนลาสิกขา เขาจึงเอ่ยประโยคว่า “ข้าพเจ้าคือคอมมิวนิสต์” ออกมา?

โฟล์คให้คำตอบที่ลึกซึ้งและไม่ได้รุนแรงสุดขั้วอย่างที่หลายคนหวาดหวั่น ผ่านการตีความว่า “นักบวช” นั้นช่วยเหลือผู้คนที่ยากไร้ผ่าน “การสงเคราะห์” ขณะที่ “คอมมิวนิสต์” มุ่งแก้ปัญหาเดียวกัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

“ผมกำลังจะบอกว่าเวลาผมให้ของหรือช่วยคนอื่น เขาหาว่าผมเป็น ‘นักบวช’ ใช่ไหม? แต่เวลาผมอยากจะเปลี่ยนแปลงความจน เขาก็หาว่าผมเป็น ‘คอมมิวนิสต์’ คือคำนี้มันมาจากนักบุญที่อยู่ในบราซิล ที่เขาอยากจะแก้ไขปัญหาเรื่องความจน

“แล้วทีนี้ ผมก็คิดว่าวิถีชีวิตของพระมันก็เป็นคอมมิวนิสต์ดีๆ นี่เอง ถ้าในตามคัมภีร์พุทธศาสนา ทุกอย่างต้องเอามารวมเป็นส่วนกลาง แล้วก็จัดสรรผลประโยชน์โดยให้สงฆ์มาแบ่งกัน คำว่า ‘สังฆะ’ นี่มันก็แปลว่า ‘หมู่เหล่า’ อยู่แล้วตั้งแต่แรก การให้ของมันต้องถูกตรวจสอบอยู่แล้วด้านการกระจายที่เท่าเทียมกัน”

 

เมื่อชวนคุยถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองร่วมสมัย ว่าเขาคิดเห็นอย่างไรต่อการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี?

ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันอยากทำงานการเมืองตอบชัดถ้อยชัดคำว่า

“การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะทำให้ชนชั้นนำหรือคนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทางเศรษฐกิจในยุคนี้คิดว่าสินทรัพย์ของเขาไม่หาย เมื่อไรที่สินทรัพย์ของชนชั้นนำหาย อย่างเช่น เขารู้สึกว่าเงินในกระเป๋าเขาเหลือน้อย หรือว่าเงินในกระเป๋าเขาลดลง พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ไม่ได้…

“ผมคิดว่าชนชั้นนำก็คิดหนักว่าจะเอาใครมาแทนประยุทธ์ หรือถ้าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อ มันจะเดินไปได้อีกสักกี่ก้าว ซึ่งเราก็เห็นว่าในช่วงนี้ ก็เหมือนกับเรือแพมันจะแตก เชือกมันหายไปแล้ว เหลือแต่คุณแรมโบ้กับขอให้คุณอนุทินช่วยด้วย”

 

ท้ายสุดก่อนยุติการบันทึกเทป เราถาม “อดีตสามเณรโฟล์ค” ว่าอยากฝากอะไรถึง “อดีตพระมหาสมปอง” และ “อดีตพระมหาไพรวัลย์” สองอดีต พส. รุ่น “พี่-อาจารย์” ที่อำลาผ้าเหลืองหลังโฟล์คไม่นาน แต่ชีวิตในเพศฆราวาสกลับดูคล้ายจะเต็มไปด้วยความชุลมุนวุ่นวาย

“คือผมไม่สามารถตัดสินแกได้ เพราะว่าจุดยืนที่แกอยู่ ผมไม่รู้ว่าแกต้องเจออะไรบ้าง แต่ด้วยกัลยาณมิตรนะครับ ผมอยากให้อาจารย์มีความสุขมากๆ แล้วก็ใช้สติมากๆ ที่เราเคยร่ำเรียนกันมา หรือแม้กระทั่งคบเพื่อนให้ดีมากขึ้น หรือว่ารับฟังกัลยาณมิตรให้มากขึ้น เพราะว่ากัลยาณมิตรมักจะพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง”

นี่คือความปรารถนาดีที่กัลยาณมิตรชื่อ “สหรัฐ สุขคำหล้า” ส่งผ่านไปถึง “สมปอง นครไธสง” และ “ไพรวัลย์ วรรณบุตร”