หมากฝรั่งของโลลา กับปริศนายุคหิน 5,700 ปี/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

หมากฝรั่งของโลลา

กับปริศนายุคหิน 5,700 ปี

 

ในตอนเด็กๆ การเป่าลูกโป่งจากหมากฝรั่ง เป็นอะไรที่ทำให้ผมรู้สึกเท่มาก

รู้ทั้งรู้ว่าที่จริงมันไม่มีสาระอะไรเลย แต่พอหยิบใส่เข้าไปในปากแล้ว เท็กซ์เจอร์หนึบๆ ของมันช่างยั่วยวน พอนึกถึงแล้ว แอบน้ำลายสอ

จำได้ว่าเมื่อก่อน ปากว่างเมื่อไร ถ้ามีในกระเป๋าต้องหยิบมาเคี้ยว แก้เหงาปาก ไม่ว่าจะไปดูหนัง หรือว่านั่งเล็กเชอร์ก็มักจะมีติดไว้ตลอด โดยเฉพาะตอนเล็กเชอร์นี่ขาดไม่ได้ ต้องมีติดไว้เคี้ยวกันง่วงเสมอ เพราะหากนั่งหน้า แต่ว่าคอยแต่จะคำนับอาจารย์ ผงก ผงก ก็เกรงว่าท่านจะเสียกำลังใจ และอาจจะทำลายบรรยากาศของห้อง

แต่ประเด็นถัดมาก็คือ ที่ใดจะกลายเป็นไฟนัลเดสติเนชั่นของหมากฝรั่งเหล่านี้

“เคี้ยวแล้วไปไหน”

สําหรับผมและหลายๆ คน หลังจากแกะห่อแล้ว ก็จะเก็บห่อไว้ เคี้ยวเสร็จก็คายกลับใส่ห่อ แล้วค่อยกำจัดหลักฐานปล่อยลงถังขยะไป

หากแต่ยังมีนักเคี้ยว (และเป่าลูกโป่ง) มากมายที่เปี่ยมไปด้วยน้ำใจโอบอ้อมอารีจนถึงขั้นน่าประณาม ครั้นเคี้ยวเสร็จ แทนที่จะห่อแล้วหาที่ทิ้งให้เป็นที่เป็นทาง กลับเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แปะไว้ให้คนข้างหลังได้ดูต่างหน้าก็มีไม่น้อย

และถ้าของที่ระลึกที่ทิ้งไว้ให้มันไปติดผม หรือถ้าโชคร้าย มีคนนั่งทับเข้าไปเต็มๆ นี่ เจ้าของก็อาจจะได้รับการสรรเสริญเยินยอกันไปชุดใหญ่ (แม้เจ้าตัวจะไม่ได้ยินก็ตาม)

ตอนที่ผมทำงานที่แคลิฟอร์เนีย ผมมักจะทำงานจนถึงดึกจนเพื่อนๆ หลายคนบอกว่าราวกับอยู่รอปิดตึก โดนัลด์ ภารโรงชราประจำตึกจึงเป็นคนหนึ่งที่แวะมาเมาธ์มอยด้วยกันบ่อยๆ

เขามักจะบ่นให้ฟังว่า สิ่งที่เขาเกลียดที่สุดในการทำความสะอาดห้องเล็กเชอร์ของมหาวิทยาลัย ก็คือการที่ต้องมาคอยก้มๆ เงยๆ แกะซากหมากฝรั่งที่อยู่ตามใต้เก้าอี้

การกำจัดซากหมากฝรั่งเคี้ยวแล้วนั้นเป็นอะไรที่น่ารังเกียจมาก เพราะความหนึบสุดแสน แปะถูกอะไรก็ติดหนืด จึงมักทิ้งคราบเกรอะกรังเอาไว้เสมอ

ชัดเจนว่านักศึกษาบางคนก็อาจจะมักง่ายและไร้ความรับผิดชอบไปสักหน่อย

คุณจะคาดหวังให้ทุกคนนั้นศิวิไลซ์เหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งตามที่มีมหรสพรื่นเริงเป็นที่นิยมและมีนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน ก็ยิ่งจะเป็นแหล่งสะสมของเศษซากหมากฝรั่งไปด้วย เป็นปัญหาใหญ่ของแหล่งท่องเที่ยว เล่นเอาทีมบริหารของ Pike Place Market หนึ่งในตลาดสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองซีแอตเทิล (Seattle) ต้องกุมขมับ

เพราะเมื่อพวกเขาเปิดตัวการแสดงละครด้นสด (theatresports) ที่โรงละครมาร์เก็ต (Market theatre) ในต้นยุค 90s ทางเดินแถบใกล้ๆ โรงละครก็เริ่มแปรสภาพเป็นสุสานหมากฝรั่งน้อยใหญ่มากมายหลายร้อยหลายพันชิ้น

บางก้อนก็มีเหรียญแปะอยู่ แม้ว่าทางทีมผู้บริหารตลาดจะส่งคนมาทำความสะอาดอยู่เป็นนิจ สำหรับเหรียญนั้น แป๊บเดียวก็ไปหมด คลีนได้ไม่ยากเย็น

แต่ซากหมากฝรั่งนี่สิ ยิ่งกำจัด ก็ยิ่งเยอะ จนท้ายที่สุด ทางผู้บริหารก็ยอมแพ้ และออกนโยบายใหม่ เปิดแคมเปญเชิญแปะได้ตามใจ เอาให้เป็นงานอาร์ตแบบหนึบๆ กันไปเลย

ท้ายที่สุด กลายเป็น “กำแพงหมากฝรั่ง (gum wall)” หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสุดประหลาด จุดปักหมุดห้ามพลาดแห่งเมืองซีแอตเติล

ลองจินตนาการการถ่ายเซลฟี่กับทางเดินระหว่างตึกที่ประดับประดาไปด้วยหมากฝรั่งหลากสีสารพัดกลิ่นที่เคี้ยวมาแล้วจากปากมนุษย์หลากหลายเชื้อชาติจากทั่วทุกสารทิศจนแทบมองไม่เห็นก่อนอิฐข้างใต้ แล้วจะรู้ว่ามันโฟโตจีนิกขนาดไหน

หลายคนบอกว่ากำแพงหมากฝรั่งสีพาสเทลแห่งมหานครแห่งสายฝนนี้ถือว่าเป็นงานศิลป์ของเหล่าปวงประชาอย่างแท้จริง

ส่วนตัว ผมไม่ค่อยอินเท่าไร ไม่ได้คิดอะไร แค่มองว่ามันแปลกดี

แต่พักหลังๆ พอเริ่มได้คุ้ยงานวิจัยเกี่ยวกับหมากฝรั่งมาอ่าน ก็ทำให้ความน่าพิศมัยของงานอาร์ตจากปากปวงประชาชิ้นนี้หมดไปเสียแทบสิ้น เพราะว่านอกจากสีสันที่สดใสและเหนียวหนึบ หมากฝรั่งยังเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคมหาศาลหลากหลายสายพันธุ์

ในปี 2015 ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (University of Groningen) ประเทศเนเธอแลนด์ ได้ทดลองให้อาสาสมัครลองเคี้ยวหมากฝรั่งที่ระยะเวลาต่างๆ กัน ที่นานที่สุดคือ 10 นาที ก่อนที่จะเอามาลองเพาะเชื้อดูว่ามีแบคทีเรียหลุดติดออกมากับก้อนหมากฝรั่งเยอะแค่ไหน

ปรากฏว่าในแต่ละก้อนของหมากฝรั่งที่เคี้ยวแล้วนั้นจะมีเชื้อแบคทีเรียติดออกมามากถึงกว่าร้อยล้านเซลล์ ซึ่งจากตัวเลขถือว่าเยอะมากๆ เทียบๆ ได้กับการแปรงฟันแบบฟูลคอร์สด้วยแปรงเปล่าๆ ไม่ใส่ยาสีฟัน และการใช้ไหมขัดฟันกำจัดเศษอาหารหลังกินข้าว

“เคี้ยวหมากฝรั่งชิ้นหนึ่ง คุณจะลดปริมาณแบคทีเรียในน้ำลายได้ราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์” เฮงก์ บุสส์เชอร์ (Henk Busscher) หัวหน้าทีมวิจัยโกรนิงเงินเผย

แบคทีเรียจะติดอยู่ในก้อนหมากฝรั่ง ถูกตรึงไว้ด้วยเนื้อสัมผัสอันเหนียวหนึบ ภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนของเฮงก์ในรายงานวิจัยที่เขาเผยแพร่ออกมานั้น สามารถบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าหมากฝรั่งสามารถดึงเอาแบคทีเรียจากปากของเราออกมากักไว้ได้จริงๆ

การค้นพบนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะนั่นหมายความว่าเราอาจจะออกแบบหมากฝรั่งที่สามารถเน้นการดึงแบคทีเรียที่ไม่พึงประสงค์ออกมาได้โดยเฉพาะ แทนที่จะต้องมานั่งแปรงฟัน บ้วนปาก หรือพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบคทีเรียทุกตัวที่อาศัยอยู่ในปาก ไม่ต้องแล้ว แค่เคี้ยวหมากฝรั่งก็ฟันขาววิ้งสวยวับ

แต่กว่าจะถึงจุดนั้นยังคงต้องรอกันอีกยาว ตอนนี้ก็ยังต้องแปรงฟัน ขัดฟันกันไปก่อน

 

อีกงานวิจัยที่น่าตกใจไม่แพ้กันก็คือ งานวิจัยที่ชื่อว่า The wasted chewing gum bacteriome ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports จากทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย (University of Valencia) ประเทศสเปน ในปี 2020

ทีมวิจัยนี้ตามไล่เก็บซากหมากฝรั่งที่ถูกทิ้งหรือแปะอยู่ตามที่ต่างๆ จากหลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย รวมถึงฝรั่งเศส กรีซ สเปน ตุรกี และสิงคโปร์ แล้วนำมาวิเคราะห์ชนิดของเชื้อแบคทีเรียทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่ในก้อนหมากฝรั่งนั้น

สิ่งที่เขาพบน่าสนใจมาก แบคทีเรียในช่องปากจะอยู่ทนได้นานหลายสัปดาห์ในก้อนหมากฝรั่งที่เขาเก็บมา ซึ่งต้องบอกว่านานจนแม้แต่ตัวแมนูเอล พอร์คาร์ (Manuel Porcar) นักวิจัยหลักของโครงการยังออกมายอมรับเองเลยว่าแปลกใจมาก

แต่นั่นหมายความว่า “หมากฝรั่งจะสามารถเป็นพาหะนำโรคแบคทีเรียได้นานหลังจากที่ถูกทิ้งไปแล้ว” แมนูเอลกล่าว

คิดไปคิดมา ก็แอบเหมือนดาบสองคม เพราะหากสังคมไม่ศิวิไลซ์ ดึงออกมาจากปาก แต่มาฝากแปะอยู่บนกำแพง อันนี้ต้องบอกว่าซ่อนความน่ากลัว และอาจจะเป็นจุดเสี่ยงของการระบาดโรคได้

“และเมื่อเวลาผ่านไป ชนิดของแบคทีเรียจะค่อยๆ วิวัฒน์ไปจากพวกแบคทีเรียในช่องปาก กลายเป็นแบคทีเรียที่พบมากในสิ่งแวดล้อม” แมนูเอลเผยต่อ

แต่กรอบเวลาที่แมนูเอลว่าไว้นั้นไม่ชัดเจน เพราะการสลายตัวของหมากฝรั่งนั้นเกิดขึ้นได้ช้ามาก แบคทีเรียส่วนใหญ่แทบจะเติบโตไม่ได้เลยในเนื้อหมากฝรั่ง และนั่นทำให้หมากฝรั่งกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานยอดนิยมในทางนิติวิทยาศาสตร์

และถ้าถามว่าที่ว่าสลายช้านั่นคือ ช้าแค่ไหน ต้องบอกเลยว่าช้าม้ากกกก เป็นที่รู้กันว่าหมากฝรั่งนั้นแทบจะไม่เกิดการย่อยสลายเลยในสิ่งแวดล้อม ความอึดถึกทนต่อการย่อยสลายของหมากฝรั่งนี้ทำให้ก้อนหมากฝรั่งเคี้ยวแล้วกลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางโบราณคดีที่ทำให้เราสามารถไขปริศนาวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยโบราณได้อีก

 

งานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Nature Communications โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) เผยว่า หมากฝรั่งก้อนหนึ่งที่เก็บมาจากทางตอนใต้ของประเทศเดนมาร์ค สามารถบ่งชี้อดีตของคนที่เคี้ยวมันในอดีตเมื่อ 5700 ปีก่อนได้อย่างกระจ่างชัด

ก้อนยางไม้โบราณที่เหนียวหนึบสามารถเก็บชิ้นส่วนของดีเอ็นเอผู้เคี้ยวไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ถึงขนาดที่ทีมโคเปนเฮเกนสามารถวิเคราะห์จีโนมของคนเคี้ยวได้อย่างละเอียด

เจ้าของก้อนหมากฝรั่งชิ้นนี้ เป็นสตรีผิวเข้ม ผมดำ ตาสีฟ้า ที่มีชีวิตอยู่ในยุคหินใหม่ (neolithic) ตั้งแต่สมัยที่มนุษย์ยังมีวิถีชีวิตแบบนักล่า-นักกักตุน (Hunter-Gatherer) ก่อนที่จะรู้จักการทำเกษตรกรรมเสียอีก พวกเขาตั้งชื่อเธอว่า โลลา (Lola)

ข้อมูลจากก้อนหมากฝรั่งบ่งชี้ว่า โลลานั้นแพ้แลคโตส (lactose intolerance) และเพิ่งจะกินเป็ดและเฮเซลนัทเข้าไป นอกจากจะบอกเกี่ยวกับวิถีชีวิตได้แล้ว สารพันธุกรรมจากก้อนหมากฝรั่งนี้ยังระบุถึงชนิดของจุลินทรีย์ที่พบในช่องปากของโลลาได้อีกด้วย

“นี่เป็นครั้งแรกที่เราหาลำดับพันธุกรรมของมนุษย์โบราณได้อย่างสมบูรณ์จากสิ่งที่ไม่ได้มาจากกระดูก (หรือร่างกายมนุษย์)” ฮานส์ ชโรเดอร์ (Hannes Schroeder) หัวหน้าทีมวิจัยโคเปนเฮเกนกล่าว

 

ความเข้าใจในเรื่องของสังคมจุลินทรีย์ในช่องปากมนุษย์โบราณอาจจะช่วยทำให้เราเข้าใจบทบาทของสังคมจุลินทรีย์ที่อยู่กับตัวเราที่อาจจะส่งผลกับสุขภาพของเราได้มากขึ้น เพราะการมีสุขภาพปากที่ดี ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องกำจัดจุลินทรีย์ทิ้งไปทั้งหมด แต่อยู่ที่การควบคุมสังคมจุลินทรีย์ให้อยู่ในสมดุล ลดจำนวนจุลินทรีย์ที่เป็นโทษ และส่งเสริมจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปาก

ไม่แน่ว่าหมากฝรั่งแบบใหม่ที่อาจจะช่วยตอบโจทย์ อาจจะถูกสรรค์สร้างขึ้นมาได้ในไม่ช้า

แต่ตอนนี้ ใครอยากชวนไปชมกำแพงหมากฝรั่งแห่งซีแอตเติล ขอยืนยันคำเดียวเลยครับ “โนววววววววววว”

ใต้ภาพ

1-ของที่ระลึกจากปากของลอรา ก้อนหมากฝรั่งอายุ 5,700 ปีจากเดนมาร์ก ภาพโดย Theis Jensen

2-ส่วนหนึ่งของกำแพงหมากฝรั่ง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวดังของซีแอตเติล
—————————————————————————–


🔥 “มติชนสุดสัปดาห์-ศิลปวัฒนธรรม-เทคโนโลยีชาวบ้าน” ส่งเร็ว-อ่านเร็ว “วันเดียวถึงมือคุณ”🔥
.
📣 “กลุ่มมติชน-งานดี” ผนึกกำลัง “ไปรษณีย์ไทย” เอาใจสมาชิกนิตยสาร ทั้ง “มติชนสุดสัปดาห์-ศิลปวัฒนธรรม-เทคโนโลยีชาวบ้าน” ยกระดับความรวดเร็วในการจัดส่ง ด้วยบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ EMS เสิร์ฟสาระความรู้สุดเข้มข้น จัดเต็มเรื่องเด่น ประเด็นดัง ส่งตรงถึงมือสมาชิกนักอ่านทั่วประเทศแบบทันใจ! 📣
.
🎯 บริการ EMS การันตีถึงมือคุณด้วยความรวดเร็ว
🎯 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพียง 1 วัน
🎯 ต่างจังหวัดเขตอำเภอเมือง 1-2 วัน
🎯 ค่าจัดส่งราคาเดิม
(การจัดส่งเป็นไปตามมาตรฐาน EMS ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด)
.
สนใจสมัครสมาชิกนิตยสาร “มติชนสุดสัปดาห์-ศิลปวัฒนธรรม-เทคโนโลยีชาวบ้าน” ติดต่อได้ที่
📍 LINE ID: @matichonbook
📍 เว็บไซต์: https://www.matichonbook.com/category/index?id=480
📍 โทร. 089-531-0718
.
#มติชน #งานดี #สมัครสมาชิก #นิตยสาร #มติชนสุดสัปดาห์ #MatichonWeekly #ศิลปวัฒนธรรม #SilpaMag #เทคโนโลยีชาวบ้าน #Technologychaoban