‘ทวารวดี’ มีในบันทึกจีน แต่บางส่วน ‘ถูกทำให้สูญหาย’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ทวารวดี มี “หลักฐานตั้งต้น” จากบันทึกจีน แต่ “หลักฐานตั้งต้น” บางส่วน “ถูกทำให้สูญหาย” โดยไม่มีคำอธิบาย จึงส่งผลถึงตำแหน่งที่ตั้งคลาดเคลื่อนของทวารวดี

สังคมไทยเรื่องทวารวดีถูกครอบงำด้วยข้อมูลชุดเดียว ที่บางส่วน “ถูกทำให้สูญหาย” จากนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลป์อนุรักษนิยม (แบบ “สุดโต่ง”) ซึ่งมีมากหรือเกือบหมดประเทศ

แผนที่แสดงตำแหน่ง (โดยสังเขป) ชื่อเมืองในบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง ตามแนวสันนิษฐานของนักค้นคว้าและนักวิชาการนานาชาติ

ข้อมูลเป็นทางการจาก “ศิลปากร”

หนังสือวิชาการ 3 เล่ม จากมหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมศิลปากร บอกข้อมูลคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับทวารวดี ดังนี้

[1.] “นักพรตจีนชื่อเหี้ยนจัง (Hiuan Tsang) หรือพระถังซัมจั๋งซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนายังประเทศอินเดียเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ได้จดไว้ในรายงานการเดินทางของท่านว่า ทางทิศตะวันตกของอิศานปุระ คือประเทศกัมพูชาปัจจุบัน และทิศตะวันออกของศรีเกษตร คือประเทศพม่านั้น มีอาณาจักรอยู่อาณาจักรหนึ่งชื่อ โถโลโปตี้ (To-lo-po-ti) นักปราชญ์ทางโบราณคดีสันนิษฐานกันว่าชื่อนี้คงจะตรงกับคำว่าทวารวดี”

[จากหนังสือ ศิลปะในประเทศไทย ของ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2506) มหาวิทยาลัยศิลปากร พิมพ์ครั้งที่ 13 พ.ศ.2550 หน้า 30]

[2.] “นายแซมมวล บีล เป็นนักวิชาการท่านแรกที่ได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐหรืออาณาจักรทวารวดี โดยสอบค้นจากบันทึกของภิกษุจีนเหี้ยนจังหรือซวน ซัง (Hsuan Tsang) และอี้จิง (I-Tsing) ซึ่งบันทึกในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ว่ามีอาณาจักรโตโลโปตีหรือตว้อหลอปอตี่ (To-lo-po-ti) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของศรีเกษตร (ประเทศพม่า) และทางทิศตะวันตกของอิศานปุระ (ประเทศกัมพูชา)

[จากหนังสือ ทวารวดี การศึกษาเชิงวิเคราะห์จากหลักฐานทางโบราณคดี (Dvaravati A critical study based on archaeological evidence) โดย รศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ (ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร) พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542 หน้า 4]

[3.] “ทวารวดี เป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์ชาวต่างประเทศ เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเพื่อเรียกชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยสอบค้นจากจดหมายเหตุการเดินทางของชาวจีนที่บันทึกไว้ว่า มีอาณาจักรชื่อ ตว้อหลอปอตี่ ตั้งอยู่ระหว่างศรีเกษตร (ประเทศเมียนมา) และอีสานปุระ (ประเทศกัมพูชา) และนำมาเทียบเคียงกับคำว่า ทวารวดี ซึ่งใช้เป็นสร้อยนามของชื่อเมืองหลวงของไทย”

[จากหนังสือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ของ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2564 หน้า 38]

บันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง จากภาษาจีนถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย ซามูเอล บีล อย่างไม่ตกหล่นแม้แต่ชื่อเดียว (ถ่ายแบบจากหนังสือ BUDDHIST RECORDS OF THE WESTERN WORLD โดย Samual Beal, Frist Published 1884 Reprinted in India 1995.)

ข้อมูลตั้งต้นจากบันทึกจีน

(1.) ทวารวดีเป็นที่รู้จักครั้งแรกในโลกจากบันทึกจีน 2 ฉบับ ได้แก่ ของพระถังซำจั๋ง (ระหว่าง พ.ศ.1170-1188) กับของพระอี้จิง (ระหว่าง พ.ศ.1214-1238)

(2.) บันทึกจีนทั้งสองฉบับ บอกชื่อเมืองเรียงลำดับตามแนวราบ (เส้นรุ้ง) หรือระนาบไล่เลี่ยใกล้เคียงกันจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก

(3.) เริ่มจากบริเวณชมพูทวีปซึ่งปัจจุบันเป็นอินเดีย-บังกลาเทศ

ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มี “ซิหลีซาต้าหลอ” คือเมืองศรีเกษตรในพม่า

ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มี “เกียม้อลังเกีย” คือเมืองอะไรยังไม่รู้?

ถัดไปทางทิศตะวันออก มี “โตโลโปตี” คือเมืองทวารวดี ที่ยังไม่ยุติ?

ถัดไปทางทิศตะวันออก มี “อีเซี้ยน้าโป้หลอ” คือเมืองอิศานปุระในกัมพูชา

ถัดไปทางทิศตะวันออก มี “ม่อโหเจนปอ” คือเมืองมหาจามปาในเวียดนาม

ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มี “เย็นเนี้ยน่าฉือ” คือเกาะชวาในอินโดนีเซีย

ซามูเอล บีล นักค้นคว้าชาวอังกฤษ อ่านและศึกษาบันทึกจีนของพระถังซำจั๋ง แล้วเสนอว่าชื่อ “โตโลโปตี” ตรงกับ “ทวารวดี” พร้อมกันนั้นได้แปลบันทึกพระถังซำจั๋งทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษแล้วระบุตำแหน่งชื่ออื่นๆ ไว้ด้วย แล้วพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก ค.ศ.1884 (ตรงกับแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2427)

บ้านเมืองชื่อต่างๆ ที่พระถังซำจั๋งเขียนบอกเป็นภาษาจีน หลังจากนั้น ซามูเอล บีล ศึกษาแล้วระบุชื่อตามสำเนียงจีน พร้อมถ่ายแปลงเป็นชื่อบาลี-สันสกฤต โดยทำเชิงอรรถระบุที่ตั้งตามแนวสันนิษฐานระนาบเดียวกัน แต่ยังไม่ถือเป็นยุติ

 

ทวารวดีจาก “หลักฐานตั้งต้น”

(1.) ทวารวดีเป็นที่รับรู้ครั้งแรกของนักค้นคว้ากับนักวิชาการทั่วโลก จากบันทึกจีนของพระถังซำจั๋งกับพระอี้จิง ซึ่งนับเป็น “หลักฐานตั้งต้น”

(2.) ทวารวดีตั้งอยู่ระหว่าง “เกียม้อลังเกีย” (“ลังเกียฉู่”, “หลั่งยะสิว”) กับ “อีเซี้ยน้าโป้หลอ” คืออิศานปุระในกัมพูชา

(3.) “เกียม้อลังเกีย” (“ลังเกียฉู่”, “หลั่งยะสิว”) มีใน “หลักฐานตั้งต้น” คือบันทึกจีน แต่ไม่มีในข้อมูลของกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่อธิบายว่าหายไปไหน? เพราะอะไร? ฯลฯ

(4.) ชื่อ “เกียม้อลังเกีย” ถูกทำให้สูญหาย ส่งผลให้มีปัญหาเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของ “โตโลโปตี” คือทวารวดี

“เกียม้อลังเกีย” ต้องคืนมา ทวารวดีถึงจะชอบธรรม •