วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (18)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในยุคสามรัฐ (ต่อ)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมรณกรรมของข่งหมิงไปแล้ว รัฐสู่ก็ยังมีขุนนางและขุนศึกที่มากความสามารถอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

บุคคลเหล่านี้โดยมากได้รับการวางตัวมาก่อนแล้วจากข่งหมิงในระหว่างที่เขายังมีชีวิตอยู่

จากเหตุนี้ รัฐสู่จึงยังคงยืนหยัดต้านทานหรือต่อสู้กับอีกสองรัฐที่เหลือมาได้อีกยาวนานเกือบ 20 ปี

ตราบจน ค.ศ.263 เมื่อรัฐเว่ยภายใต้การนำของซือหม่าเจา (สุมาเจียว) บุตรของซือหม่าอี้กรีธาทัพมาบุกรัฐสู่ หลิวซ่านผู้ซึ่งนิยมแต่การเสพสุขก็หมดหนทางสู้ โดยยอมเปิดประตูเมืองยอมแพ้ให้แก่รัฐเว่ย

รวมความแล้วรัฐเว่ยตั้งแต่แรกก่อตั้งโดยหลิวเป้ยใน ค.ศ.220 จนถึงล่มสลายในปี ค.ศ.263 รัฐสู่สามารถอยู่ได้ยาวนานถึง 43 ปี

ด้วยเหตุนี้ หากพิจารณาจากที่ข่งหมิงเสียชีวิตไปใน ค.ศ.234 แล้วก็แสดงว่ารัฐสู่ยังอยู่ต่อมาได้อีกเกือบ 30 ปี

เพราะฉะนั้นแล้ว หากรัฐสู่ปราศจากขุนนางหรือขุนศึกที่มีความสามารถและจงรักภักดี และตัวหลิวซ่านเป็นคนโง่เง่าเต่าตุ่นหรือไม่เอาไหนจริงแล้ว รัฐสู่ก็ไม่น่าที่จะอยู่มาได้ยาวนานเช่นนี้เป็นแน่

และที่พ่ายแพ้ให้รัฐเว่ยนั้น เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากขุนนางและขุนศึกรุ่นเก่าได้ทยอยล้มหายตายจากไป

ในขณะที่รุ่นใหม่เองก็อ่อนประสบการณ์ ซึ่งก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะพ่ายแพ้ไป โดยเฉพาะเมื่อรัฐเว่ยที่มีมหาอำมาตย์มากความสามารถอย่างซือหม่าอี้

 

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้เห็นต่อไปว่า การที่รัฐสู่อยู่ได้อย่างยืนยาวหลายสิบปีนั้น ในด้านหนึ่งย่อมแสดงให้เห็นด้วยว่า หากรัฐสู่ไม่มีการพัฒนาใดๆ

เลยก็คงยากที่จะอยู่ได้ยืนยาวเช่นนั้นเช่นกัน และความจริงก็คือว่า รัฐสู่ได้มีการพัฒนาในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะการตัดถนนเพื่อการคมนาคม ตลอดจนการสร้างเขื่อนทั้งเพื่อป้องกันน้ำท่วมและการเกษตร

และหากกล่าวเฉพาะบุคคลอย่างข่งหมิงด้วยแล้วก็ได้ฝากผลงานเอาไว้จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า ผลงานทั้งหมดเป็นงานเขียน เช่น เจียงย่วน (แวดวงขุนศึก), เปี้ยนอี๋สือลิ่วเช่อ (แนวทางผ่อนคลายสิบหกประการ) และ ซินซู (ใจสมุด) เป็นต้น

กล่าวกันว่า ผลงานของข่งหมิงมีถึง 24 ม้วนหรือรายการ และเรียกกันว่า จูเก๋อเลี่ยงจี๋ (สรรนิพนธ์จูเก๋อเลี่ยง)

เรารู้เรื่องผลงานของข่งหมิงจากบันทึกใน จดหมายเหตุสามรัฐ ของเฉินโซ่ว แต่ผลงานเหล่านี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว จนถึงสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) และราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) จึงได้มีผู้นำเอาหลักคิดหรือผลงานของเขามาเขียนต่อเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหากออกไป

นอกจากผลงานเขียนแล้วข่งหมิงยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์อีกด้วย นั่นคือ โคม้าไม้กล (มู่หนิวหลิวหม่า) ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการศึก แต่ก็เช่นเดียวกับงานเขียนที่สิ่งประดิษฐ์นี้ไม่เหลือตกทอดให้เห็น ได้แต่จินตนาการเอาว่าน่าจะมีรูปร่างหน้าตาและใช้ประโยชน์อย่างไรเท่านั้น

 

ถัดจากรัฐสู่ก็มาถึงรัฐเว่ย ซึ่งปรากฏว่า เฉาพีที่ตั้งตนเป็นจักรพรรดินั้นปกครองได้เพียงประมาณหกปีก็เสียชีวิต ผู้ที่ขึ้นมาสืบอำนาจต่อคือ เฉาญุ่ย (ปกครอง ค.ศ.226-239) ขณะมีอายุได้ 22 ปี

ตอนที่ขึ้นมาสืบทอดอำนาจนั้น รัฐเว่ยยังคงมีขุนนางและขุนศึกรุ่นเก่าอยู่ในตำแหน่งที่จะคอยรับใช้เขา โดยหนึ่งในนั้นคือ ซือหม่าอี้ (ค.ศ.179-251) แต่ภายหลังจากนั้นต่อมา ขุนนางและขุนศึกรุ่นเก่าเหล่านี้ได้ทยอยจากไปทีละคนสองคนจนเหลือซือหม่าอี้เพียงคนเดียว

จากเหตุนี้ ซือหม่าอี้จึงได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทั้งสายพลเรือนและสายทหาร และภายใต้ตำแหน่งสูงสุดเช่นนี้ ซือหม่าอี้ก็ได้แสดงให้ประจักษ์ถึงความสามารถของเขาด้วยเช่นกัน

เช่นใน ค.ศ.226 เขาสามารถต้านทานการบุกของรัฐอู่ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เป็นการนำทัพครั้งแรกของเขา

พอปีถัดมาเขายังได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการทางการทหาร หรือใน ค.ศ.238 เขายังนำทัพบุกเข้าตีแมนจูเรียจนยึดเมืองหลวงได้ เป็นต้น

หลังจากนั้นในระหว่าง ค.ศ.244-245 รัฐเว่ยก็สามารถยึดครองอาณาบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของจีนซึ่งเป็นชายแดนเอาไว้ได้ และทำให้รัฐเว่ยมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่เฉาญุ่ยได้เสียชีวิตไปใน ค.ศ.238 แล้ว รัฐเว่ยก็ประสบกับปัญหาการเมืองภายใน ด้วยเกิดการแก่งแย่งอำนาจกันในหมู่พี่น้องตระกูลเฉา ส่วนตระกูลซือหม่าที่เป็นเสาหลักให้แก่รัฐเว่ยก็เจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนบุตรหลานของตระกูลนี้ต่างก็ถูกบรรจุให้เข้าไปอยู่ในตำแหน่งสำคัญต่างๆ โดยทั่ว

กระทั่งกล่าวได้ว่า ตระกูลซือหม่าได้ครอบครองรัฐเว่ยในทางพฤตินัยก็ไม่ผิด

จนถึง ค.ศ.265 รัฐเว่ยซึ่งมีเฉาห้วน (โจฮวน) เป็นจักรพรรดิก็ถูกบุตรของซือหม่าเจาคือ ซือหม่าเอี๋ยน (สุมาเอี๋ยน) บีบบังคับให้สละบัลลังก์ และเฉาห้วนก็ยอมสละแต่โดยดี จากนั้นซือหม่าเอี๋ยนก็ประกาศสถาปนาราชวงศ์จิ้นขึ้นมา

กลุ่มอำนาจของตระกูลเฉาที่เริ่มจากเฉาเชาเป็นต้นมาจนถึงเฉาห้วนก็เป็นอันจบบทบาทของตนลง

การล่มสลายของรัฐเว่ยนี้เห็นได้ชัดว่า หากไม่นับบุตรหลานของตระกูลเฉาในชั้นหลังๆ ที่ด้อยความสามารถแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งยังมาจากการขาดความจงรักภักดีของซือหม่าอี้อย่างแท้จริงอีกด้วย ทั้งนี้ เห็นได้จากการสร้างสมอิทธิพลให้กับตระกูลของตนเองจนแข็งแกร่งขึ้นมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานทางการเมืองอย่างชัดเจน

ในกรณีนี้ช่างตรงกันข้ามกับข่งหมิงแห่งรัฐสู่อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะรัฐสู่ที่อยู่ในมือของหลิวซ่านหรืออาเต๊าที่เอาแต่เสพสุขและไร้ความสามารถนั้น ข่งหมิงกลับไม่มีความคิดที่จะแย่งยึดอำนาจมาเป็นของตน

 

รัฐเว่ยถือเป็นรัฐที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับรัฐสู่และรัฐอู่ โดยเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรมนั้น นักประวัติศาสตร์ต่างยอมรับกันว่า รัฐเว่ยได้สร้างสรรค์เอาไว้ไม่น้อย ผลงานบางชิ้นยังกลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องแรกคือ การเกิดขึ้นของสำนักเต้าที่มีนามว่า สวนเสีว์ย หรือ เสีว์ยนเสีว์ย หรือสำนักรหัสธรรม อันเป็นสำนักที่ใช้ปรัชญาเต้ามาอธิบายปรัชญาหญูของขงจื่อ ผู้ที่เป็นตัวแทนของสำนักนี้มีอยู่ด้วยกันสามคนคือ เซี่ยโหวสวน (ค.ศ.208-254) เหอเอี้ยน (ค.ศ.190-249) และหวังปี้ (ค.ศ.226-249)

โดยเฉพาะบุคคลหลังนั้นมีผลงานที่สำคัญ เช่น โจวอี้จู้ (อรรถกถาอนิจปกรณ์) โจวอี้เลี่ว์ยลี่ (สังเขปกรณีอนิจปกรณ์) เหลาจื่อจู้ (อรรถกถาเหลาจื่อ) หลุนอี่ว์ซื่ออี๋ (อรรถาธิบายหลุนอี่ว์วิกัป) เป็นต้น

 

นอกจากนี้ กล่าวเฉพาะบุคคลในตระกูลเฉาแล้ว สองพ่อลูกเฉาเชากับเฉาจื๋อ (โจสิด, ค.ศ.192-232) ยังมีผลงานกวีเป็นที่กล่าวขานกันอีกด้วย โดยกวีของเฉาเชานั้นมักจะสะท้อนเจตนารมณ์ในอันที่จะรวบรวมแผ่นดินจีนเป็นเอกภาพ

ที่น่าสังเกตคือ บทกวีบางบทของเขาได้ฉายภาพความขัดแย้งและแก่งแย่งอำนาจระหว่างรัฐต่างๆ ในขณะนั้น ที่นำความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสมาให้แก่ราษฎร จนทำให้รู้สึกว่าเฉาเชามีอุดมการณ์ที่แก่กล้าในอันที่จะรวมจีนให้เป็นเอกภาพ ทั้งๆ ที่เขาเองก็เป็นคู่ขัดแย้งและแก่งแย่งอำนาจด้วยเช่นกัน

จากข้อสังเกตนี้ทำให้มีคำถามว่า หรือจริงๆ แล้วเฉาเชามีอุดมการณ์เช่นนั้น มิได้มักใหญ่ใฝ่สูงแต่อย่างไร

ส่วนบุตรของเขาคือเฉาจื๋อนั้นกล่าวกันว่า แต่เดิมเป็นบุตรที่เฉาเชารักมากที่สุดและตั้งใจที่จะให้บุตรคนนี้สืบทอดอำนาจต่อจากเขา แต่ด้วยความอิจฉาริษยา เฉาพีจึงได้ใช้กลอุบายทำให้เฉาเชารังเกียจเฉาจื๋อได้สำเร็จ ครั้นเฉาพีเสียชีวิตแล้วเฉาญุ่ยบุตรของเขาก็ก้าวขึ้นมาแทน เฉาญุ่ยก็กีดกันเฉาจื๋อด้วยความระแวง และพยายามหาเรื่องกลั่นแกล้งปองร้ายเฉาจื๋ออยู่เสมอ

จากเหตุนี้ ผลงานของเฉาจื๋อจึงถูกแบ่งออกเป็นสองช่วง

ช่วงแรก เป็นช่วงก่อนที่เฉาพีจะก้าวขึ้นมาแทนเฉาเชา ในช่วงนี้กวีของเฉาจื๋อจะสะท้อนอารมณ์ที่ภาคภูมิใจและเจตนารมณ์ที่จะทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

และช่วงหลัง เป็นช่วงหลังจากที่เฉาพีก้าวขึ้นมามีอำนาจแล้ว ในช่วงนี้บทกวีของเขาจะสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ เช่น เจ็บปวดรวดร้าว เคียดแค้น และใฝ่หาอิสรภาพ จนทำให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่พี่น้องตระกูลเฉานั้นเป็นเรื่องจริง

อย่างไรก็ตาม นอกจากสองพ่อลูกเฉาเชากับเฉาจื๋อแล้ว รัฐเว่ยเวลานั้นยังมีกวีท่านอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ล้วนมีผลงานกวีที่มีชื่อเสียงด้วยเช่นกัน