วางบิล/ระหว่าง 5-6 ตุลา 19

Des policiers ÈquipÈs de gilets pare-balles surveillent des Ètudiants aprËs de violents incidents qui ont fait 41 morts, ‡ Bangkok le 06 octobre 1976. Les forces de l'ordre ont pris d'assaut l'universitÈ de Thammassat o˘ 1500 Ètudiants armÈs s'Ètaient retranchÈs. / AFP PHOTO / AFP FILES

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ระหว่าง 5-6 ตุลา 19

นับแต่ปลายเดือนกันยายนต่อต้นเดือนตุลาคม 2519 ใครที่อยู่ในช่วงเวลานั้น ทราบดีว่า มีเหตุวุ่นวายโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร

นับตั้งแต่การแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่นครปฐม

การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของสามเณรถนอม กิตติขจร ไปที่วัดบวรนิเวศฯ

มีกลุ่มเดินขบวนประกาศจะไปเผาวัดบวรนิเวศ มีกลุ่มคัดค้านเกือบจะปะทะกัน และการชุมนุมในสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตลอดทั้งวันที่ 5 ตุลาคม รายการของชมรมวิทยุเสรีโหมกระหน่ำปลุกระดม สลับกับเปิดเพลงหนักแผ่นดิน และเพลง “เปรี้ยง เปรี้ยง ดังเสียงฟ้าฟาด…” เกือบทุกสถานี

ในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติระดมผู้สื่อข่าวไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง ที่ต้องทำงานหนักกว่าเพื่อน นักข่าวเศรษฐกิจ ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา ออกระดมไปทำข่าวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณรอบสนามหลวง และบริเวณใกล้เคียง สมัยที่ยังไม่มีโทรศีพท์มือถือ จึงต้องตระเวนหาตู้โทรศัพท์สาธารณะ และยอมเสียเงินให้กับร้านค้าที่มีโทรศัพท์ติอต่อเข้ากองบรรณาธิการตลอดเวลา

บรรณาธิการ หัวหน้าข่าวทุกคนต่างประชุมประเมินสถานการณ์แทบว่าทุกชั่วโมง

ขรรค์ชัย บุนปาน ติดต่อกับผู้ใหญ่เพื่อขอทราบสถานการณ์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร รับฟังรายงานข่าวแล้วประเมินสถานการณ์ที่ควรเป็นไป ด้วยเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาก่อน พยายามอ่านทิศทางข่าวและความเป็นไปตลอดเวลาเหล่านั้น

บริเวณสนามหลวงด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีกลุ่มกระทิงแดง และฝูงชนเต็มไปหมด ริมรั้วด้านในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรดาผู้ชุมนุมต่างคอยป้องกันการบุกเข้าของฝ่ายตรงข้าม ปิดประตูเข้าออก เข้มงวดกับผู้จะผ่านเข้าออก ป้องกันบุคคลแปลกปลอม

ยิ่งเวลาผ่านไปถึงค่ำ รัฐบาลประกาศห้ามประชาชนเข้าไปบริเวณสนามหลวง หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยิ่งประกาศห้ามเหมือนยิ่งยุ ใครที่ได้ข่าวทางวิทยุบ้าง ได้ข่าวจากพรรคพวกที่เดินทางกลับบ้านบ้าง จำนวนไม่น้อยที่ทยอยออกมาร่วมชุมนุมบริเวณสนามหลวง และในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่คือนิสิตนักศึกษา ตั้งเวทีอภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลป้องกันการบุกเข้ามาในมหาวิทยาลัย

ตกค่ำ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อมีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะจากภายนอกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านหอประชุมใหญ่

นักข่าวช่างภาพบางคนกลับเข้ามาในกองบรรณธิการย่านถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุงเพื่อรายงานข่าวและเขียนข่าว

ช่างภาพเข้ามาล้างฟิล์มอัดภาพที่ถ่ายมานับร้อยภาพออกมาดูเพื่อเลือกภาพลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์เช้าวันรุ่งขึ้น 6 ตุลาคม 2519

ปิดข่าวกรอบกรุงเทพฯ 6 ตุลาคม 2519 เรียบร้อยแล้ว หนังสือขึ้นแท่นค่อนดึก เนื่องจากต้องรอข่าวถึงที่สุด ด้วยตลอดเวลานาทีต่อนาทีนั้น สถานการณ์ภานนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่น่าไว้วางใจด้วย เหตุที่วันเดียวกันนั้น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจาก นายวีระ มุสิกพงศ์ กลุ่ม 10 มกรา อดีตพรรคประชาธิปัตย์อภิปรายในเชิงที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ชุมนุมชุลมุนวุ่ยวายในขณะนั้นได้ ปล่อยให้เกิดการฆาตกรรมขึ้น และยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้นำนักศึกษาหลายคนขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบุกเข้ากวาดล้างผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กลุ่มกระทิงแดงพยายามเข้าก่อกวนผู้ร่วมชุมนุมด้วยการยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นครั้งคราว กลุ่มลูกเสือชาวบ้านพากันไปชุมนุมกันที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจำนวนไม่น้อย

ตลอดทั้งคืนวันที่ 5 ถึง 6 ตุลาคม ในกองบรรณาธิการลืมนอน ใครง่วงงีบหลับกันตรงเก้าอี้ที่ทำงาน เสียงวิทยุดังปลุกระดมตลอดเวลา พร้อมรายงานงานข่าวผ่านวิทยุจากสนามหลวง

กระทั่งเช้ามืด เหตุการณ์บริเวณสนามหลวงด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รุนแรงขึ้น ไม่มีนักข่าวช่างภาพอยู่ในสำนักงานสักคน อาจารย์ป๋อง – พงษ์ศักดิ์ จัดการให้ผมนำกล้องเทเลสโคป คือกล้องถ่ายภทพระยะไกลติดตัวออกไปพร้อมกับอาจารย์ “ไป-ไปสนามหลวงกัน”

ระยะทางจากสำนักงานไปสนามหลวงไม่ไกล ติดขัดการจราจรในช่วงถนนราชดำเนินหน่อยหนึ่ง แล้วผมกับอาจารย์ป๋องก็เข้ามาอยู่ในล็อบบี้โรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่มีผู้คนขวักไขว่ ได้ยินเสียงปืนเป็นระยะ บนท้องฟ้า เฮลิคอปเตอร์บินว่อน แล้วเราสองคนออกจากโรงแรมข้ามสนามหลวงมุ่งตรงไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราแยกกันตรงไหนไม่ทราบ แต่ผมพร้อมกล้องเทเลฯ มาถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มีตำรวจถือปืนเดินกันขวักไขว่ ผู้บังคับการตำรวจกองปราบปรามอยู่ตรงนั้น พร้อมผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อเกิดเสียงปืนถี่ขึ้น ไม่ทราบจากข้างนอกหรือจากข้างใน ตำรวจกองปราบปรามคนหนึ่งสะพายปืนกลสั้นกระชับเข้ากับอกเตรียมวิ่งไปทางหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงผู้บังคับการตำรวจกองปราบฯ ตะโกนเรียกชื่อตำรวจคนนั้น พร้อมกำชับว่า “อย่าเข้าไป”

สักพักใหญ่ มีรถตำรวจพลร่มสามสี่คันที่มาจากหัวหินจอดหน้าพิพิธภัณฑ์ นายตำรวจกองบัญชาการตำรวจนครบาลคนหนึ่งไปที่ท้ายรถ ร้องสั่งตำรวจเหล่านั้นให้ลงจากรถ พร้อมออกคำสั่ง “ทุกคนตามข้าพเจ้า” แล้วพากันวิ่งเหยาะๆ ผ่านเข้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านนั้นเข้าไปในสนามฟุตบอล

ผมถือโอกาสนั้นทำใจดีสู้เสือ เดินยิ้มๆ แทรกตัวเข้าไปข้างในธรรมศาสตร์ด้านหน้าหอประชุม ระหว่างนั้น มีทั้งคนเจ็บ หรือคนตายไม่ทราบ ถูกหิ้วมาขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งออกไปโรงพยาบาลน่าจะเป็นศิริราชหลายคัน มีนิสิตนักศึกษาวิ่งหนีออกมาจากหอประชุมหลายคน

บางคนถูกกลุ้มรุมทำร้ายตรงนั้น

บางคนประชาชนกันให้วิ่งหนีออกไปได้

บริเวณด้านข้างทางขึ้นหอประชุม มีศพชายเกลื่อนหลายศพในลักษณะสุมทับกัน สภาพร่างกายมีบาดแผล ถูกถอดเสื้อออก

ในสนามฟุตบอลเสียงประกาศให้บรรดาผู้ที่หลบภัยบนอาคารตึกบัญชีลงมารวมกันในสนาม เสียงปืนยังยิงขึ้นไปบนตึกเป็นระยะ ตำรวจพลร่มยืนถือปืนยาว เอ็ม 16 เรียงรายรอบผู้ที่มารวมตัวกันในสนาม

ผู้ที่ลงมาจากตึกบัญชีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ทั้งนิสิตนักศึกษา และประชาชนผู้ร่วมชุมนุมได้รับคำสั่งให้ถอดเสื้อแล้วนอนคว่ำหน้าลงบนสนามหญ้า มีเสียงตำรวจบางคนถามว่า ผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในไหมครับ

เสียงตอบพอได้ยินว่า ถอดเฉพาะชั้นนอก นับว่าผู้สั่งการยังมีสติสัมปชัญญะรู้ว่าอะไรควรไม่ควร